Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในกรณีสวนป่าคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับเวลากว่า 30 ปีแล้ว กระทั่งช่วงกลางปี พ.ศ. 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้เข้าพื้นที่ทำกินเดิม เพื่อปฏิรูปที่ดิน ตามข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลนั้น ได้สร้างกระแสความสนใจโดยทั่วไปว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร และกระบวนการแก้ไขปัญหาควรจะเป็นไปเช่นไร รวมทั้งจะยุติปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไรในท้ายที่สุด

หากมองในทางข้อเท็จจริง พื้นที่บริเวณสวนป่าคอนสารปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านในเขตตำบลทุ่งพระ ทุ่งนาเลา ได้ถือครองทำกินเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 กระทั่งปี พ.ศ. 2516 กรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ซึ่งชาวบ้านหลายรายได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามกระบวนการที่ต้องมีการปิดประกาศหน้าที่ว่าการอำเภอ และสถานที่ราชการ ภายใน 90 วัน และในปี พ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) จึงเข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ และเป็นที่มาของการคัดค้านของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ มีมติว่า การปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรจริง และให้ดำเนินการยกเลิกเพิกถอนสวนป่าต่อไป จากนั้นให้นำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน ทั้งนี้ การบริหารจัดการที่ดินดังกล่าวชาวบ้านได้พัฒนาโครงการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อกำหนดแบบแผนรองรับการจัดการที่ดินและการพัฒนาระบบการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่ามติและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างที่กล่าวแล้วจะชัดเจนเป็นที่ยุติร่วมกัน แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้กลับเพิกเฉยไม่นำพาต่อมติเหล่านั้น อีกทั้งยังปฏิบัติการตอบโต้ชาวบ้านอย่างแข็งกร้าว เช่น การดำเนินคดีกับชาวบ้านและที่ปรึกษารวม 31 ราย ในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 การไม่ยอมรับแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วม และยังคงขยายพื้นที่ปลูกป่าในเขตสวนป่าต่อไป

มูลเหตุสำคัญที่ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน กรณีสวนป่าคอนสาร รวมถึงปัญหาที่ดินในเขตสวนป่าทั่วประเทศ ยังคงยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่มีข้อยุติอย่างที่กล่าวแล้ว คือ การอ้างสิทธิเหนือที่ดินและทรัพยากรของทั้งฝ่ายชาวบ้านและ ออป. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออป. อ้างถึงกฎระเบียบ คำสั่งต่างๆ ซึ่งไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การหาข้อยุติที่เป็นไปได้ ดังนี้

1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานระดับพื้นที่ พบว่า การเข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าของ ออป. เริ่มจากการชักชวนให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยจะได้สิทธิทำงานเป็นลูกจ้างของ ออป. ได้ที่ดินทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ ส่วนกรณีที่ชาวบ้านไม่ยินยอม จะมีการข่มขู่ คุกคาม และใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าดำเนินการกับชาวบ้าน รวมทั้งมีการจ้างผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้ามาข่มขู่

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ของชาวบ้าน โดยเจ้าหน้าที่สวนป่าสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน ไร่ละ 100 ลักษณะการเรียกเก็บหลักฐานข้างต้น จะใช้วิธีข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ผู้ปกครองท้องถิ่น เพื่อบังคับให้ชาวบ้านยินยอมมอบหลักฐานให้

การดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า ในช่วงระยะแรกจะให้ผู้นำหมู่บ้าน หรือผู้มีอิทธิพล เป็นผู้คุมคนงานปลูกป่า เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกับเจ้าของที่ดิน โดยจะปลูกทับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านที่อยู่ในช่วงของการผลิต และการเก็บเกี่ยวพันธุ์ไม้ที่ปลูกในระยะแรกจะเป็นไม้เบิกนำ เช่น ไม้เลื่ยน กฐินณรงค์ นนทรี ส่วนไม้ยูคาลิปตัส นำเข้ามาปลูกในปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา

จากการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ได้ก่อผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เดือดร้อนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยสามารถจำแนกสภาพปัญหาผลกระทบ ได้แก่ กรณีผู้เดือดร้อนที่เกิดจากการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกินที่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย อยู่ในพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่าปัจจุบัน กรณีผู้เดือดร้อนที่เป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ได้แก่ ชาวบ้านที่ยินยอมเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ที่ได้รับสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยให้ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินได้ และกรณีผู้เดือดร้อนที่เป็นครอบครัวขยาย หมายถึง ชาวบ้านที่เป็นบุตร เขย สะใภ้ หรือทายาท ของเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องที่ดิน กล่าวคือ ไร้ที่ดินทำกิน หรือที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

การคัดค้านโครงการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารของชาวบ้าน เริ่มต้นมาตั้งแต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มเข้ามาดำเนินโครงการ เมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกสร้างสวนป่าโดยเด็ดขาด และคืนสิทธิที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อน แต่อย่างไรก็ตาม ออป. ยังคงเข้าดำเนินการกระทั่งปัจจุบัน กระทั่งปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านได้จัดตั้งองค์กรในนาม “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน” เพื่อเคลื่อนไหวติดตามปัญหาของตัวเอง และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังที่กล่าวแล้ว

วันที่ 7 กรกฎาคม 2548 คณะทำงานได้ประชุมสรุปผลการตรวจสอบ และมีมติว่า ราษฏรที่ร้องเรียนดังกล่าวมีความเดือดร้อนจริง และให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับราษฎรที่เดือดร้อน

วันที่ 28 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีสวนป่าคอนสาร มีมติว่า การกระทำของกรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของผู้ร้อง ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง คณะอนุกรรมการฯ จึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. ให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสวนป่าคอนสาร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้

2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ร้อง โดยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ จัดทำแผนการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดเป็นป่าชุมชน ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ยกเลิกสวนป่าคอนสาร

นอกจากนี้ วันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระได้มีมติยกเลิกสวนป่าคอนสาร และให้นำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน โดยในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในระหว่างร่องได้ก่อน 1,500 ไร่

ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงข้างต้น พบว่ามีหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์ของราษฎร อาทิเช่น ใบแจ้งการครอบครองที่ดินช่วงประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา สค.1 ร่องรอยการทำประโยชน์จำพวกไม้ผล ไม้ยืนต้น ฝายกั้นน้ำ หลุมฝังศพ บัตรประจำตัวประชาชนที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเดิมก่อนถูกอพยพ เป็นต้น

2. นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับที่ดิน รัฐบาลได้กำหนดแนวทาง และมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ไว้ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ในหัวข้อที่ 4.2.1.8 ดังนี้ “คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจน และชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร” ต่อมา เครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าในการทำงานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2552 เพื่อพิจารณากรอบแนวทาง และกลไกในการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย ผลปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71 / 2552 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนำคำสั่งดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารับทราบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552

วันที่ 11 มีนาคม 2552 คณะกรรมการดังกล่าว ได้จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาแก้ไขปัญหาเร่งด่วน กรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย ผลการประชุม คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย กล่าวคือ “ให้ยึดหลักการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามสภาพพื้นฐานของแต่ละปัญหาและยึดหลักนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นความสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานเป็นสำคัญ

ดังนั้น กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบ แต่สามารถอะลุ่มอล่วย ให้ดำเนินการได้โดยให้ดำเนินการต่อไป โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบก็ให้คณะอนุกรรมการฯที่จะแต่งตั้งไปดำเนินการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และนำเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป” พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธาน จำนวนทั้งสิ้น 6 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง และการเหมืองแร่ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ราชพัสดุ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ สปก. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัย และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหานโยบายกระจายการถือครองที่ดิน โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา

ผลจากการทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้นำมาสู่การผลักดันข้อเสนอและแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชนในรูปแบบ โฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน ซึ่งมีนัยถึงการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการถือครองที่ดินและระบบการผลิตของเกษตรกร ทั้งนี้ ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกรณีสวนป่าคอนสาร ได้เข้าพื้นที่ทำกินเดิมเพื่อทำการปฏิรูปที่ดินตามแนวทางข้างต้น

กระทั่งวันที่ 3 และ 5 สิงหาคม 2552 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายนิพนธ์ บุญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามลำดับ โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหาคือ ให้แต่งตั้งคณะทำงานสำรวจและกำหนดพื้นที่เตรียมการพัฒนาระบบโฉนดชุมชนก่อน 1,500 ไร่ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ยังไม่มีความคืบหน้า และเจ้าหน้าที่ ออป. ได้ฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่ในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 รวมทั้งการข่มขู่คุกคามชาวบ้านมาโดยตลอด

3.ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานราชการ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งกำกับดูแลพื้นที่ป่าไม้โดยตรง มักจะอ้างถึงมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าไม้ โดยอาศัยแนวทางตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ทั้งนี้ ในมติดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ โดยจำแนกพื้นที่ป่าเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายป่าไม้ และพื้นที่อื่นๆ ที่สงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อกิจการป่าไม้

ในกรณีสวนป่า ซึ่งอยู่ในประเภทพื้นที่อื่นๆ ที่สงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อกิจการป่าไม้ ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาดังนี้ “กรณีที่มีราษฎรร้องเรียนเสนอปัญหา ให้จังหวัดดำเนินการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีทั้งฝ่ายราชการและราษฎรฝ่ายละเท่าๆ กัน การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้พิสูจน์การอยู่อาศัย ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ให้ชัดเจนว่ามีมาก่อนหรือไม่ ราษฎรเดือดร้อนอย่างไร เคยได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการมาแล้วหรือไม่ แล้วเสนอมาตรการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามมาตรการและแนวทางของแต่ละพื้นที่ที่เป็นปัญหา ทั้งนี้ให้หน่วยงานรับผิดชอบให้ความเป็นธรรมกับราษฎรให้มากที่สุด” พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังได้ตั้งข้อสังเกตให้กรมป่าไม้รับไปพิจารณาไว้ในข้อที่ 2.4 ดังนี้ “กรณีที่มีราษฎรร้องเรียนเกี่ยวกับการปลูกป่าในพื้นที่ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เช่าจากกรมป่าไม้ว่าปลูกป่าทับที่ของราษฎร กรมป่าไม้ควรประสานกับ ออป. ให้ระงับการปลูกป่าในพื้นที่ที่มีข้อพิพาทไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ และหากพิสูจน์ได้ว่า ออป. ปลูกป่าทับที่ราษฎรจริง ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าไม้ที่ได้ปลูกไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร”

หากนำนัยตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 มาพิจารณาเทียบเคียงกับปัญหาสวนป่าคอนสาร จะพบว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารมีความสอดคล้องกับมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ (นายประภากร สมิติ) ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปัญหากรณีราษฎรอำเภอคอนสารชุมนุมเรียกร้อง ตามคำสั่งที่ 2302 / 2547 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ภายหลังการชุมนุมของราษฎร และนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ นายอำเภอคอนสาร มีคำสั่งอำเภอคอนสารที่ 61 / 2548 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาราษฎรกรณีปลูกป่าทับที่ดินทำกิน โดยกรณีสวนป่าคอนสาร มีนายประกาศิต ปริมา หัวหน้าสวนป่าคอนสาร เป็นประธาน

ผลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานข้างต้น ที่ประชุมได้ลงมติว่าสวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ราษฎรจริง สมควรให้ยกเลิกเพิกถอนสวนป่า และนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรต่อไป พร้อมกับรายงานผลการประชุมคณะทำงานต่อหน่วยงานระดับจังหวัด และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากรายละเอียดข้างต้น จะเห็นว่ากระบวนการทำงานร่วมของฝ่ายที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ได้ข้อยุติแล้ว และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ราชการอ้างเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอยู่โดยตลอด เพียงแต่ว่าปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 4 ปีเข้าไปแล้ว

4. สถานภาพขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในปัจจุบัน ออป. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัจจุบันอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2499 ด้วยทุนแรกเริ่มที่รัฐจัดสรรให้จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่หลักคือการทำไม้ในเขตสัมปทาน การทำไม้นอกเขตสัมปทานในพื้นที่โครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น พื้นที่สร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ และการใช้หรือขายไม้ที่อายัดจากการลักลอบตัดไม้หรือการทำไม้เถื่อน เป็นต้น โดยการก่อตั้งดังกล่าวเป็นผลจากที่บริษัททำไม้จากอังกฤษและบริษัทต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งทำไม้สักในประเทศไทยมานานเกือบ 100 ปี และสิ้นอายุการสัมปทานลงในปี พ.ศ. 2497

ดังนั้น จากการที่ ออป.เป็นผู้สัมปทานไม้รายใหญ่ของประเทศ (ประมาณร้อยละ 80) และมีช่วงระยะเวลาการสัมปทานที่ยาวนานทำให้รายได้ของ ออป.ในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2490-2515 ออป.มีกำไรสุทธิรวม 1,739.91 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 66.9 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2516-2533 ออป. มีกำไรสุทธิรวม 5,276.41 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 293 ล้านบาท ก่อนรายได้จะลดลงในปี 2534 และประสบภาวะขาดทุนในอีก 2 ปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี พ.ศ. 2529-2530 กระแสการตื่นตัวเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้นำไปสู่การลุกฮือของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เกิดกระแสการคัดค้านการสัมปทานไม้จากชุมชนในหลายพื้นที่ กระทั่งในเดือนมกราคม 2532 รัฐบาลจึงประกาศยุติการทำไม้ในพื้นที่สัมปทานป่าบกทั่วประเทศ (ยกเว้นป่าชายเลน) ภายหลังเกิดพายุเกย์ถล่มภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กรณีดังกล่าวส่งผลให้ ออป.ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักจนต้องหาทางออกด้วยการเข้าไปทำไม้ในประเทศพม่า แต่ทว่าทำได้เพียง 3 ปีรัฐบาลพม่าก็ยกเลิกการอนุญาต

ด้วยเหตุดังนี้ รายได้ของ ออป. จึงลดลงอย่างมาก จาก 303.87 ล้านบาทในปี 2533 หรือเพียงแค่ 35.86 ล้านบาทในปี 2534 และ 24.76 ล้านบาทในปี 2535 หลังจากนั้น ออป.ก็หนีไม่พ้นภาวะขาดทุนซึ่งมากถึง 71.40 ล้านบาทในปี 2536 และขาดทุนสะสมเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2541 ออป.ขาดทุนสูงถึง 225.88 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ ออป.ไม่สามารถทำไม้ในเขตสัมปทานได้ แต่ยังมีกิจกรรมบางอย่างที่ ออป.ใช้เพื่อสร้างรายได้ให้องค์กรอยู่รอด เช่น การประมูลขายไม้ของกลางจากการตรวจยึดจับกุมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการแปรรูปไม้จากสวนป่าที่ ออป.ใช้เป็นแหล่งรายได้หลัก ทั้งนี้ ในแต่ละปี ออป.ต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการสวนป่าที่อยู่ในความดูแลทั้งหมดว่า 200 แห่ง รวมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ ราว 1,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างยิ่ง

ในการนี้ ออป. จึงมีความพยายามในการแสวงหารายได้เพื่อรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจขององค์กร เช่น การใช้ประโยชน์จากไม้ในพื้นที่สวนป่าที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มีนาคม 2535 แก้ไขปรับปรุงโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 มีนาคม 2536 อนุมัติให้ ออป. ใช้ประโยชน์สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ซึ่งไม่อยู่ในเขตอนุรักษ์ โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการดูแลและใช้ประโยชน์สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ ระหว่างกรมป่าไม้กับ ออป. และบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ในวันที่ 8 มิถุนายน 2538 ซึ่งทำให้ ออป.สามารถตัดไม้สวนป่าในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ ในระยะต่อมา ออป. ได้ดำเนินการปลูกยางพารา ในพื้นที่สวนป่า ออป. ซึ่งในหลายพื้นที่มีความไม่เหมาะสมในทางนิเวศวิทยา เช่น เป็นพื้นที่ลาดชันที่เสี่ยงต่อการพังทลายของดิน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการก่อตั้งของ ออป.ตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อการทำไม้โดยเฉพาะ ดังนั้นหลังรัฐบาลจะประกาศปิดป่าสัมปทานในวันที่ 17 มกราคม 2532 จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันสถานภาพของ ออป. ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมได้ลดบทบาทลงอย่างมาก รวมทั้งเป็นภาระที่รัฐต้องดูแลค่าใช้จ่ายตลอดทุกปี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาความขัดแย้ง การเผชิญหน้ากับชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ที่นำที่ดินของชาวบ้านไปดำเนินการ ดังนั้น การทำไม้ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ ออป. ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว บทบาทของ ออป. จึงควรที่จะยุบไปด้วยหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่สังคมต้องช่วยกันพิจารณาอย่างยิ่ง

ข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา

1. รัฐบาลควรนำเรื่องสวนป่าคอนสารเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกเพิกถอนสวนป่าดังกล่าว แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้เดือดร้อน โดยให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรในลักษณะแปลงรวม ทั้งนี้ การดำเนินการบริหารจัดการที่ดินภายหลังการยกเลิกสวนป่า ให้เป็นไปในรูปแบบสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินของกลุ่มเกษตรกรผู้เดือดร้อน เพื่อวางแผนการจัดการที่ดินและพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืนต่อไป

การจัดการที่ดินและพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืนดังกล่าวข้างต้น ควรมีหลักการสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ยั่งยืน การป้องกันการเปลี่ยนมือที่ดิน และการสร้างความร่วมมือของภาคีในท้องถิ่นและประชาสังคม ทั้งนี้ รัฐบาลอาจพิจารณาเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาที่ดินสวนป่าที่มีข้อพิพาทในปัจจุบัน

2. รัฐบาลควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพ และบทบาทขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ต่อเศรษฐกิจ และสังคมไทย เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net