Skip to main content
sharethis

กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐระงับโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจำนวน 76 โครงการ เป็นปัญหาจากการที่กฎหมายเก่าตามไม่ทันรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ได้กำหนดให้โครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะต้องผ่านการพิจารณา อย่างรอบคอบ โดยจะต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน (Health Impact Assessment หรือ HIA) ต้องมีการรับฟังความเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และต้องให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบก่อนจะมีการดำเนิน โครงการได้

แต่ทว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2550 ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับมาตรา 67 อย่างครบถ้วน จึงมีโครงการลงทุนจำนวนหนึ่งได้รับอนุญาตให้เริ่มดำเนินโครงการได้ โดยมีเพียงผลการศึกษา EIA ประกอบเท่านั้น

การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับโครงการในเขตมาบตาพุดจึง ก่อให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความเปราะบาง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้จำแนกผลกระทบในกรณีนี้ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผลกระทบจากโครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกับโครงการที่ถูกระงับ และสุดท้ายเป็นผลกระทบจากความเสียหายของบรรยากาศการลงทุนโดยรวมซึ่งเป็นผล กระทบที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นระลอก (ripple effect) ในระยะยาวที่ยากแก่การประเมินและอาจส่งผลรุนแรง

โดยมีตัวอย่างของกรณีที่มีความอ่อนไหวในอดีตที่มีผลในระยะยาวต่างกัน เช่น เมื่อปี 2550 กรณีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นั้น ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากและส่งผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงสั้นๆ แต่ในที่สุดก็กลับมิได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มากนัก ต่างกับอีกกรณีหนึ่งคือการปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปลายปี 2551 ที่ในวันเดียวกันนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้แสดงสัญญาณถึงการได้รับผลกระทบ ทว่าผลกระทบจากการปิดสนามบินยังมีอยู่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน คือทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทรุดตัวลงอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ทั้งนี้ ในกรณีของมาบตาพุดนั้น แม้ว่าจะยังไม่อาจคาดเดาผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นได้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด และการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่หวั่นไหวต่อคำสั่งที่ปรากฏออกมาในวันที่มีคำสั่งระงับ ก็ไม่อาจชี้ได้ว่าผลสืบเนื่องในอนาคตของกรณีนี้จะมีน้อย (ดังเช่นกรณี พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว) หรือมาก (ดังเช่นกรณีการปิดสนามบิน) อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนนี้ได้ส่งผลเสียต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวมแล้ว ซึ่งคงทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาวอย่างมาก

ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น เนื่องจากทั้ง 76 โครงการ ยังมิได้มีการดำเนินงานเต็มรูปแบบ ดังนั้นผลผลิตของโครงการจึงยังไม่ถูกนับรวมในสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมของ อุตสาหกรรมนั้นๆ แต่จากการประเมินของ SCB EIC เห็นว่าในจำนวน 76 โครงการนี้ มีเพียง 11 โครงการ (คิดเป็น 20% ของการลงทุนรวม) ที่น่าจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อ เนื่องจากมีผล EIA ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ ส่วนอีก 65 โครงการมีโอกาสถูกสั่งระงับต่อ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 2.3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้บางโครงการยังไม่มีผลการศึกษา EIA เลย ส่วนบางโครงการมีผลการศึกษา EIA แล้ว แต่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ แต่เป็นช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นกังวลคือ ในอนาคตอาจมีการฟ้องร้องในลักษณะเดียวกันกับโครงการในนิคมอุตสาหกรรมแห่ง อื่นๆ ด้วย ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบโดยตรงต่อ GDP ในระยะสั้นจะมีไม่มาก เนื่องจากอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกับ 65 โครงการนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ น้ำมัน ก๊าซ การกลั่น และโลหะ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้แม้จะมีมูลค่าเกือบ 7% ของ GDP แต่มีการจ้างงานเพียง 0.5% ของการจ้างงานรวม อีกทั้งยังมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบที่สูง ผลสุทธิที่จะเกิดกับเศรษฐกิจและบัญชีเดินสะพัดจึงมีกรอบที่จำกัด อย่างไรก็ดี ความสำคัญของอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่ที่ความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์พื้นฐาน และเหล็ก

SCB EIC เห็นว่าผลกระทบจากกรณีมาบตาพุดใน ระยะยาวเกี่ยวกับความเชื่อมั่น การลงทุน และผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมเป็นประเด็นที่น่าจับตามองมากกว่าผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต้องอาศัยการลงทุนที่ต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจุบันนี้ก็นับว่าไทยมีปัญหาในเรื่องของการลงทุนอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว ยังมีระดับการลงทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับในอดีตด้วย ซึ่งมูลค่าการลงทุนที่แท้จริงในขณะนี้ยังคงต่ำกว่าระดับที่ถือว่าต่ำอยู่ แล้วในปี 2536 ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับภาครัฐและกระบวนการทางกฎหมายว่าจะชัดเจน และอำนวยให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินไปได้มากน้อยเพียงใด
 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net