เปิดคำวินิจฉัยผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อย ปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหาร!!!!!

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป”...........

28 กันยายน 2552 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเสียงข้างมากพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา5 ปี กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งยังพิพากษาให้มีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีคำสั่งให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 4 พันบาท แต่โทษจำคุกให้รอไว้ก่อน 1 ปี

คดีดังกล่าว มี ป.ป.ช.เป็นผู้ร้อง โดยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า นายยงยุทธ อาจเข้าข่ายจงใจปกปิดการยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2548
 

ข่าวเลือนหายไปจากความสนใจอย่างเงียบเชียบในเวลาไม่นาน แม้แต่ตัวของนายยงยุทธเองก็น้อมรับคำวินิจฉัยอย่างไม่ยี่หระพร้อมกล่าวว่า "คมช.เข้ามา ผมก็ถูกดำเนินคดีโหลนึง วันนี้เป็นคดีที่ 4 ยังมีคดีที่เหลือต้องขึ้นศาลอีก รอดครั้งนี้ ก็ไม่รู้ว่าครั้งหน้าจะรอดหรือไม่"

ทว่ามติของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ จะกลายเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์กระบวนการกฎหมายไทยที่ผู้พิพากษารายหนึ่งมีคำวินิจฉัยปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมอ้างอิงหลักกฎหมายในการวินิจฉัยความไม่ชอบธรรมของคณะรัฐประหารผ่านคำวินิจฉัยส่วนตนซึ่งใช้ประกอบการลงมติตัดสินคดีดังกล่าว และนี่คือคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อย

000

"ส่วนหนึ่งจากคำวินิจฉัยส่วนตนของนายกีรติ กาญจนรินทร์ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๙/๒๕๕๒"

.................................................
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้ อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน

นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย

การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์

ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้ อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

วินิจฉัยให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
นายกีรติ กาญจนรินทร์

หมายเหตุ คำวินิจฉัยมีทั้งหมด 10 หน้า ประชาไทลงเฉพาะคำวินิจฉัยหน้า 8-10 จากเนื้อหาทั้งหมด 10 หน้า เนื่องจากก่อนหน้านั้นเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคำร้องของป.ป.ช.

เมื่อศาลปฏิเสธรัฐประหาร : ก้าวแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
 
ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
หากพิจารณาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยยุคใหม่ คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายไปแล้วที่ศาลไทยยอมรับ-ให้ความสมบูรณ์แก่รัฐประหาร และผลิตผลของรัฐประหาร
 
เมื่อเผชิญหน้ากับรัฐประหาร ศาลไทยไม่เคยปฏิเสธรัฐประหาร ไม่เคยประกาศผ่านคำพิพากษาว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงกันข้ามในคำพิพากษาศาลฎีกาหลายกรณี ศาลยอมรับการดำรงอยู่ของคณะรัฐประหาร โดยถือหลักว่าเมื่อเริ่มแรกรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งคณะรัฐประหารได้กระทำการจนสำเร็จและยึดอำนาจได้อย่างบริบูรณ์ สามารถยืนยันอำนาจของตนและปราบปรามอำนาจเก่าหรือกลุ่มที่ต่อต้านให้เสร็จสิ้น เมื่อนั้นคณะรัฐประหารก็มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกรัฐธรรมนูญใหม่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ตลอดจนการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายได้
 
พูดง่ายๆก็คือ ศาลไทยให้ความสำคัญ อำนาจ ในความเป็นจริงเป็นสำคัญ มากกว่าจะพิจารณาถึงความถูกต้องของ กระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ นั่นเอง
 
เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๖๒/๒๕๐๕ ในพ.ศ.๒๕๐๑ คณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกด้วยคำแนะนำหรือยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรก็ตามหรือคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๓๔/๒๕๒๓ แม้จะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองผ่นดินไม่ ประกาศหรือคำสั่งนั้นจึงยังคงเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่
 
ถึงกระนั้นก็ตาม ศาลไทยพยายามใช้และตีความกฎหมายเพื่อพิพากษาไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากประกาศคณะรัฐประหารอยู่บ้าง โดยพิจารณาว่าประกาศของคณะรัฐประหารขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังกรณี “กฎหมายควบคุมอันธพาล” หรือกรณีประกาศ รสช.เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง กรณี “กฎหมายควบคุมอันธพาล” นั้น ศาลแขวงอุบลราชธานีในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๑๘/๒๕๑๒ เห็นว่าประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๓ พ.ศ.๒๕๐๓ เกี่ยวกับการควบคุมตัวอันธพาลนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นอันธพาล และมีอำนาจส่งตัวบุคคลนั้นไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพจึงมีผลเท่ากับเป็นการตั้งให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิจารณาคดีชี้ความผิดและลงโทษบุคคลได้ นอกจากนี้ประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาการลงโทษที่แน่นอนชัดเจน และโทษที่จะลงนั้นหนักเบาสถานใด สุดแท้แต่คณะกรรมการจะพิจารณา ทำให้โทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยืนยันในคำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๑๓ ว่าประกาศฉบับนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
แม้ศาลจะไม่ปฏิเสธความเป็นกฎหมายของประกาศคณะรัฐประหาร แต่ศาลก็พยายามใช้และตีความเพื่อลดความเข้มข้นของประกาศคณะรัฐประหารและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามประกาศคณะรัฐประหารต่างๆ เพื่อควบคุมตัวในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงบ้าง ในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ในข้อหาเป็นภัยต่อสังคมบ้าง ศาลก็จะใช้และตีความกฎหมายไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยการสั่งให้ปล่อยตัวบ้าง ลดจำนวนวันคุมตัวบ้าง ตลอดจนพิจารณาว่ามูลเหตุแห่งการควบคุมตัวนั้นตรงตามที่ประกาศคณะรัฐประหารกำหนดหรือไม่
 
มีข้อควรสังเกตว่า เมื่อศาลไทยเผชิญหน้ากับรัฐประหาร ผลิตผลของคณะรัฐประหาร คำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารแล้ว ศาลจะรับรองการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ เว้นเสียแต่ว่า ผลิตผลของคณะรัฐประหารเข้ามารุกล้ำศาล มีผลกระทบกระเทือนต่อศาล หรือลิดรอนอำนาจของศาล เมื่อนั้นศาลก็ไม่ลังเลที่จะปฏิเสธคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธผ่านทางคำพิพากษา หรือปฏิเสธผ่านทางการแสดงออกด้วยการกดดัน
 
การปฏิเสธประกาศคณะรัฐประหารผ่านทางคำพิพากษา ก็โดยการวินิจฉัยว่าประกาศคณะรัฐประหารขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ “ตั้ง “คณะบุคคลที่มิใช่ศาล” ให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล” หรือ “ใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษบุคคล” ส่วนการปฏิเสธประกาศคณะรัฐประหารด้วยการกดดัน ก็เช่นกรณี “กฎหมายโบดำ” ที่คณะรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ตราประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ เกี่ยวกับระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการเห็นกันว่าประกาศนี้ส่งให้ฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงความเป็นอิสระของศาล มีการรณรงค์คัดค้านประกาศนี้อย่างกว้างขวาง ประธานศาลฎีกาออกโรงมาเขียนแถลงการณ์สาธารณะแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศนี้ เพียงสองสัปดาห์ รัฐบาลถนอมก็ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องผลักดันให้ตราพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๙
 
คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า ศาลไทยพร้อมจะ “ชน” กับคณะรัฐประหาร ถ้าคณะรัฐประหารเข้ามาล้ำแดนความเป็นอิสระของศาลหรือเข้ามาแตะต้องวัฒนธรรมองค์กร แต่กับกรณีที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอันขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงนั้น ศาลไทยกลับยอมรับ หรือกรณีที่หัวหน้าคณะรัฐประหารใช้อำนาจเผด็จการตามมาตรา ๑๗ แบบสฤษดิ์ ศาลไทยกลับนิ่งเฉยไม่รับคำฟ้องโดยให้เหตุผลว่าไม่มีอำนาจ ตลอดจนกรณีที่คณะรัฐประหารตราธรรมนูญการปกครองชั่วคราวเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญเดิม โดยมีเนื้อหาที่ขัดกับหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ให้อำนาจเผด็จการแก่หัวหน้าคณะรัฐประหารเพียงผู้เดียว ศาลไทยกลับยืนยันว่าทำได้
 
อาจเหมือนที่เสน่ห์ จามริกตั้งข้อสังเกตไว้ใน “การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ” ว่าท่าทีของฝ่ายตุลาการที่ต่อต้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ อย่างจริงจังถึงขั้นชุมนุมประท้วงนั้น เพราะเนื้อหาของประกาศฉบับนี้กระทบต่อการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการ น่าเสียดายที่ท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนรุนแรงขององค์กรตุลาการเช่นนี้กลับไม่เกิดขึ้นกับการก่อการรัฐประหารหรือประกาศคณะรัฐประหารที่มีเนื้อหาไม่เป็นธรรมอื่นๆ
 
เมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คงแทบไม่ต้องคาดหวังเลยว่าศาลไทยจะประกาศไม่ยอมรับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน
 
นับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีบททดสอบหลายกรณีขึ้นไปสู่ศาล ศาลมีโอกาสหลายครั้งในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับรัฐประหารหรือผลผลิตของรัฐประหาร แต่คำตอบที่สังคมได้รับยังคงอยู่ในสูตรเดิมๆ ประเภทที่ว่า “คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์” หรือทันสมัยหน่อยก็เช่น “บทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ของรัฐธรรมนูญรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้กับรัฐประหารและผลผลิตของคณะรัฐประหาร”
จนกระทั่งมาถึงคดีที่สังคมสนใจไม่มากเท่าไรนัก อย่างคดีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ (คดีหมายเลขแดงที่ อม.๙/๒๕๕๒) ดังที่ปรากฏตามข่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า นายยงยุทธจงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จโดยปกปิดข้อเท็จจริงไม่แจ้งให้ทราบ จึงต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ให้จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๔,๐๐๐บาท แต่นายยงยุทธไม่เคยมีคดีถูกลงโทษจำคุก จึงให้รอลงโทษไว้ ๑ ปี
ผลของคำวินิจฉัยอาจไม่เกินความคาดหมายของนายยงยุทธ ผู้สนับสนุนนายยงยุทธ ผู้สนับสนุนขั้วการเมืองขั้วเดียวกับนายยงยุทธ ตลอดจนศัตรูทางการเมืองของนายยงยุทธ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ ในคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่ร่วมเป็นองค์คณะในคดีนี้ (เสียงข้างน้อย) ได้ประกาศชัดเจนและตรงไปตรงมาถึงการไม่รับรองรัฐประหาร
 
ผมมีข้อสังเกตสั้นๆ สามประเด็น
 
หนึ่ง ผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าศาลมีพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และปกปักรักษาประชาธิปไตย
 
สอง ผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าหากศาลรับรองรัฐประหาร ย่อมเป็นการส่งเสริมให้เกิดรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป
 
สาม ผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าโลกปัจจุบัน นานาอารยะประเทศไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อกาละและเทศะเปลี่ยนไปจากเดิม ศาลจึงไม่อาจรับรองรัฐประหาร ดังที่เคยปรากฏตามคำพิพากษาในอดีต
 
ขอคารวะในความกล้าหาญ ความกล้าที่จะเป็นหินก้อนแรกของท่านผู้พิพากษากีรติ กาญจนรินทร์ หินก้อนแรกที่หย่อนลงไปในสายธารประวัติศาสตร์ ประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่า...
 
ในนิติรัฐ “แบบไทยๆ” และประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” เป็นไปได้ที่ศาลจะไม่ยอมรับรัฐประหาร
 
....
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท