Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.52 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้าน การลงทุนอาเซียน ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช” เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้สรุปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การสัมมนาหัวข้อย่อย “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ: ศักยภาพการพัฒนาและผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปิดเสรี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการประมง รับ เปิดเสรีลงทุน “เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” กระทบผู้เพาะเลี้ยงรายย่อย

นายพงศ์พัฒน์ บุญชูวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการประมง ผู้แทนจากกรมประมง กล่าวให้ข้อมูลว่าปัจจุบันผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงในการประมงของไทยอยู่ในอันดับ 4 ของโลก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อรวดเร็ว โดยเกิดจากหลายกระบวนการ ที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศและมาพัฒนาต่อในรูปแบบของตนเอง เช่น กรณีการเลี้ยงกุ้ง ประเทศไทยสามารถเลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ล่มสลายไปเกือบหมด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นแต่โครงสร้างภายในยังต้องอาศัยการผลิตของผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ผลิตรายย่อยทั้งหมด

ผู้แทนจากกรมประมง กล่าวต่อมาว่าหากมีการเปิดเสรีการลงทุนภาคของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยโดยตรง ทั้งในส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่เป็นการผลิตอาหารที่สำคัญของเกษตรกรในชนบท และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งโดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้ง ผู้เพาะเลี้ยงรายย่อยมีสภาพค่อนข้างย่ำแย่เพราะการแข่งขันในการส่งออกมีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดเสรีจะทำให้มีการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงและต้นทุนต่ำกว่าทำให้การแข่งขันยิ่งยากขึ้น ส่วนผลกระทบอื่นๆ ก็จะมีในเรื่องเทคโนโลยี เช่น การเลี้ยงกุ้งที่ไทยมีภูมิปัญญาของตนเอง ในวงการเพาะเลี้ยงกุ้งจะพูดกันว่าเทคโนโลยีและวิธีการเลี้ยงของไทยค่อนข้างตกผลึก ใครๆก็เข้ามาได้ เราแข่งขันเฉพาะการค้าเท่านั้น

ในส่วนมาตรการที่จะรองรับหากมีการเปิดเสรี นายพงศ์พัฒน์กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นมาตรการภายใต้กฎหมายประมงโดยเฉพาะการประกาศเขตในการเพาะเลี้ยง และการขออนุญาตเข้ามาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตที่มีการประกาศ มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ควบคุมโดยตรง แต่จากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว ประเด็นหลักที่ควรให้ความสนใจและควรต้องร่างเป็นนโยบาย คือ 1.การเข้าถึงที่ดินและแหล่งน้ำ 2.การเข้ามีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยง ในเรื่องการออกใบอนุญาติ การประกาศเขตในแต่ละพื้นที่ และแผนงานการเพาะเลี้ยงที่ชัดเจน 3.การขึ้นทะเบียนซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประมง และ 4.นโยบายชัดเจนเรื่องการเข้าถึงและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ตรงนี้สำคัญเพราะถ้าเข้ามาถึงระบบการพัฒนาพันธุกรรมแล้ว จะทำให้แนวโน้มการเพาะเลี้ยงของบ้านเราจะด้อยลงเมื่อเทียบกับของต่างประเทศ

ตัวแทนชาวประมงใต้ ชี้ "เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ" ยิ่งทำมากยิ่งทำให้ทะเลเสื่อมโทรมมาก
นายสะมะแอ เจ๊มูดอ สหพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ จ.ปัตตานี กล่าวว่าในฐานะชาวประมง การเปิดเสรีในการเพาะเลี้ยงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กลุ่มชาวประมงมีคำถามและข้อเสนอต่อการเปิดเสรีการลงทุนตรงนี้คือ 1.ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดสรรทรัพยากรที่เป็นของสาธารณะประโยชน์ เช่น ทะเลหลวง ทะเลสาบ แม่น้ำ ที่ดินชายฝั่ง ที่ริมน้ำ ฯลฯ ให้เป็นของปัจเจก 2.นโยบายที่จะส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของชุมชน มีการวิเคราะห์ทุกแง่ทุกมุมหรือยัง 3.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะยิ่งทำให้ทะเลมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น เพราะพื้นที่ชายฝั่งเป็นพื้นที่เพาะพักสัตว์น้ำ ถ้ามีการจัดสรรให้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงทั้งหมด สัตว์น้ำวัยอ่อนตรงนั้นจะสูญเสียไป 4.การขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำให้ความต้องการ ปลาเป็ดปลาไก่ (ปลาขนาดเล็ก) เพื่อใช้เป็นอาหารมากขึ้น จะส่งเสริมให้การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างยิ่งทำลายมากขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อนายทุนเข้ามาประชาชนจะเป็นหนี้นายทุนมากกว่าเดิมและจะกลานเป็นลูกจ้างของนายทุน ซึ่งปัจจุบัน เรามีพื้นที่ที่ดำเนินการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่แล้วประมาณ 1.5 แสนไร่ ถ้าเปิดเสรีตรงนี้ พื้นที่จะต้องเพิ่มอีกกี่หมื่นไร่ และการเลี้ยงในระบบฟาร์มนี้เกษตรกรรายย่อยจะได้ประโยชน์ตรงไหน เพราะการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปัจจัยการผลิตก็ได้มาจากนายทุนขายก็ขายให้นายทุน กระบวนการตรงนี้ไม่ต่างอะไรจากการใช้แรงงานให้นายทุนอยู่ดี

นายสะมะแอตั้งคำถามต่อมาถึงการใช้พื้นที่ว่า ในส่วนของชาวประมงพื้นบ้านที่จนจริงๆ ไม่มีเรือ ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้วิธีจับปลาด้วยการทอดแห การตกเบ็ดตามริมชายฝั่ง จะมีพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้บ้างหรือเปล่า ผลประโยชน์ที่แท้จริงของการเปิดเสรีการลงทุนนี้จะตกอยู่กับใคร สุดท้ายทรัพยากรของไทยใครเป็นเจ้าของ หรือต่อไปจะกลายเป็นของคนต่างชาติ

นายอดุลย์ จิ้วตั้น สหพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ จ.ตรัง กล่าวว่าในเรื่องทะเลเสื่อมโทรมควรต้องมองถึงปัญหาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย ถ้ายังหลงว่าเกิดจากประชากรเพิ่มขึ้น สัตว์น้ำน้อย เครื่องมือทำลายล้าง ฯลฯ แสดงว่าจะต้องมีการหนุนเสริมในเรื่องการเพาะเลี้ยง แต่ที่อยากเสนอคือการหนุนเสริมในเรื่องการดูแลทรัพยากรทางทะเล ทั้งในเรื่องเครื่องมือ นโยบาย และแผนพัฒนาการประมง ชาวบ้านตามชายฝั่งและพื้นที่อ่าวอยู่ร่วมและดูแลทรัพยากรเพราะตระหนักดีว่าเป็นแหล่งทำมาหากิน

นายอดุลย์ กล่าวต่อมาถึงผลกระทบของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อประมงพื้นบ้านว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งจะกระทบต่อพื้นที่ทำมาหากินของประมงชายฝั่ง และที่ผ่านมาการรณรงค์การเลี้ยงกุ้ง ได้ส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนเป็นแสนไร่ ซึ่งเป็นที่เพาะเลี้ยงอนุบาลสัตว์น้ำตัวอ่อน ตรงนี้กระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำและการทำประมงค์ชายฝั่งแล้วใครรับผิดชอบ นอกจากนั้น ใน จ.ตรัง ถ้ามีการเปิดเสรีลงทุนเพาะเลี้ยงชายฝั่ง จะส่งผลต่อพะยูน ส่วนเกาะแก่งต่างๆ ถ้าน้ำเสียจะมีผลกับบรรยากาศชายหาด กระทบการท่องเที่ยว สัตว์น้ำต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบ

ส่วนนายสกุล คงชล เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าแค่ยังไม่มีการเปิดเสรี การลงทุนของทุนในประเทศก็แย่อยู่แล้ว ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกันทั้งหมด 7 อำเภอที่ติดริมอ่าวยาวประมาณ 153 กิโลเมตร เป็นสมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวบ้านดอนทั้งหมด ร่วมอนุรักษ์กันมา 7 ปี ป้องกันนายทุนเรืออวนรุน อวนลาก ขนาดใหญ่ โดยลงมติให้กันเขตอ่าวเป็นเขตอนุรักษ์จากชายฝั่งมา ครั้งแรกได้แค่ 3,000 เมตร แต่ตอนนี้มีกฎหมายออกมาใหม่ให้ 5,000-5,400 เมตร ทำให้มีพื้นที่เขตอนุรักษ์ 280,000 กว่าไร่ในทะเล ได้ผลดีขึ้นมาก แต่ปัญหาที่ชาวบ้านประสบขณะนี้ คือการที่นายทุนทำคอกหอยแครงรายละ 1,000-3,000 ไร่ ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านและได้เคยกันเขตไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าป่าชายเลนดี อวนรุน อวนลากไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ต้องทำการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำก็จะเกิดขึ้นจากธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการเปิดเสรีเลี้ยงกุ้ง นายทุนต้องไปซื้อที่ชาวบ้าน ถ้าไม่ขาย นายทุนจะให้ราคาสูง ชาวบ้านก็จะขายหมด

ผู้แทนภาครัฐ แจงเปิดเสรีลงทุน ไม่กระทบประมงพื้นบ้าน ชี้ต่างชาติเลี้ยงได้เฉพาะที่ไทยไม่มีเทคโนโลยี

ผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตอบคำถามถึงการเปิดเสรีที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ของชาวบ้านว่า พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ระบุแล้วว่า ผู้ที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่สาธารณะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น หากเปิดเสรีก็จะไม่น่าจะเป็นการลงทุนโดยคนไทยอยู่ดี ดังนั้น ผลกระทบจากการลงทุนของนักลงทุนไทยไม่เกี่ยวกับการเปิดเสรีลงทุนนี้

การเปิดเสรีมีข้อกฎหมายภายในประเทศอยู่ ถึงแม้เปิดเสรีแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าให้ต่างชาติเข้ามาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และในส่วนที่กรมประมงเคยมีหนังสือมาถึงบีโอไอนั้นสามารถกำหนดได้ว่าการเปิดเสรีลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะให้กับการเพาะเลี้ยงอะไร ซึ่งกรมปะมงแนะนำแค่ให้เลี้ยงล็อบสเตอร์ หรือสัตว์น้ำที่ไทยไม่มี และควรให้ไปเลี้ยงที่ในทะเลลึก ดังนั้น หมายความว่าแม้เปิดเสรีก็ไม่สามารถเปิดให้นักลงทุนมาเพาะเลี้ยงอะไรก็ได้ที่กรมประมงไม่เห็นด้วย

ด้านนายพงศ์พัฒน์กล่าวว่า ในส่วนนี้กรมประมงแสดงความเห็นไปว่าเห็นด้วยกับการเปิดเสรี แต่ขอสวงไว้ให้ต้องเปิดเฉพาะที่ไทยไม่มีเทคโนโลยี เช่น การเลี้ยงปลาทูน่าในกระชังในทะเลลึก การเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ และการเพาะเลี้ยงปลาทูหน่า ส่วนตัวอื่นยังเห็นควรว่าไม่ให้เปิดเสรี ทั้งนี้เห็นด้วยกับการทำประเด็นการคุ้มครองการลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งกรมประมงจะได้นำไปพิจารณาต่อ และมาตรการที่ได้กล่าวไว้แล้วเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น และกรมประมงได้ทำบันทึกถึงบีโอไอแล้วว่ายังกังวลผลกระทบต่อชาวประมงรายย่อย

ปัจจุบัน พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องเลี้ยงภายใต้ประกาศของกรมประมง ที่ประกาศให้พื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรณีอ่าวบ้านดอน กรมประมงประกาศเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยแครง เพียงแต่ว่าเป็นพื้นที่ของประมงพื้นบ้านด้วย เลยเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นถ้าคุยกันได้ว่าประมงพื้นบ้านจะไม่เข้าไปทำลายหอยที่เพาะเลี้ยงเขาก็น่าจะทำได้

นายพงศ์พัฒน์ กล่าวชี้แจงด้วยว่า ในเรื่องพื้นที่มี 1.5 แสนไร่ที่เป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้ง ซึ่งเดิมมีถึง 4 แสนไร่ เพราะที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่ไว้เยอะแต่กลายเป็นพื้นที่ร้าง เหลือพื้นที่ที่มีศักยภาพจริงๆ ไม่กี่แสนไร่ หากมีการเปิดให้ลงทุนคงจะเป็นพื้นที่ที่เคยทิ้งร้างจากการใช้ประโยชน์ ส่วนในเรื่องอาหาร การเลี้ยงกุ้งจะใช้ปลาเป็ดซึ่งมีคุณภาพดีจากการนำเข้า ส่วนปลาเป็ดในประเทศจะใช้เลี้ยงปลา และในอนาคตจะใช้ปลาเป็ดจากธรรมชาติน้อยลง เพราะแนวโน้มโรงงานผลิตอาหารสัตว์จะใช้เศษปลาที่เหลือจากการแปรรูปมากขึ้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการ หากมากกว่าศักยภาพที่ผลิตได้มีก็จะมีผลกระทบแน่

ส่วนในเรื่องผลกระทบจากการปล่อยน้ำทิ้งลงชายฝั่งของการเลี้ยงกุ้งซึ่งกระทบประมงชายฝั่ง นายพงศ์พัฒน์กล่าวว่าปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งไม่ได้ปล่อยน้ำทิ้ง แต่ใช้ระบบปิดโดยมีเทคโนโลยีนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จะมีปัญหาอย่างเดียว คือ การใช้พื้นที่ที่จะกระทบกับแหล่งที่อยู่อาศัยของประชาชน

เอ็นจีโอ ชี้กฎหมายภายในไม่ได้ป้องกันนักลงทุนต่างชาติ หากเปิดเสรีการลงทุน

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอทช์) กล่าวว่าเมื่อมีการเปิดเสรีการลงทุนโดยให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเยี่ยงคนชาติ หมายความว่ากฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องที่ขัดหรือขัดขวางไม่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.เลื่อยยนต์ หรือการให้เอกชนไทยเช่าสวนป่าหรือใช้พื้นที่เพื่อปลูกป่า นักลงทุนต่างชาติก็จะได้สิทธิเช่นเดียวกัน การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ต้องมีการสงวนไม่ในตารางสงวนไม่เช่นนั้นแล้วการมีกฎหมายภายในไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลยถ้าข้อตกลงระหว่างประเทศได้เปิดเสรีการลงทุน ในประเด็นนี้ต้องศึกษาเรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความชัดเจน

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ
กล่าวให้ข้อมูลต่อมาว่า ตอนนี้มี 2 เรื่อง คือ การเปิดเสรี และการคุ้มครองการลงทุน ประเด็นหลังยังไม่มีการตอบตรงนี้ กรณีนักลงทุนต่างชาติ 49 % กับนักลงทุนไทย 51% การยึดทรัพย์ทางอ้อมทำไม่ได้ เช่น กรณีกุ้ง ถ้าหน่วยงานประกาศพื้นที่ที่เขาจะลงทุนเป็นเขตอนุรักษ์ทางทะเล เขาสามารถฟ้องร้องได้ กรณีนี้เราจะมีมาตรการอย่างไร เพราะกฎหมายที่มีอยู่เป็นเฉพาะเรื่องการเปิดเสรี ไม่ครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุน

ส่วนตัวแทนจากอ็อกซ์แฟม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนว่า เมื่อพูดเรื่องเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ใช่แค่การเลี้ยงปลาเท่านั้น แต่หมายถึงระบบนิเวศน์ในการเพาะเลี้ยงด้วย อย่างเรื่องกุ้งที่ว่าเปิด 4 แสนไร่แต่สำเร็จเพียงแค่ 1 แสนกว่าไร่ ดังนั้น จึงต้องมีระบบนิเวศน์ชายฝั่งที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อโยงกับการใช้พื้นที่ป่าเลนที่ผ่านมา การทำลายพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 50% เนื่องจากการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่สำคัญ และเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ของชาวบ้านที่มีการเปลี่ยนถ่ายที่ดินบริเวณชายฝั่งด้วย เพราะการลงทุนเพาะเลี้ยงกุ้งคนที่อยู่ได้คือชาวบ้านที่มีเงิน หรือไม่ก็ถูกครอบงำโดยธุรกิจเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่

การเพาะเลี้ยงที่ทำลายระบบนิเวศน์ นอกจากเรื่องป่าชายเลน ในเรื่องอาหาร ยังมีการจับปลาขนาดเล็กเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยง ตัวอย่างชัดเจนในพื้นที่ จ.ประจวบฯ อวนล้อมจับปลาทูขนาดใหญ่เพื่อขาย เมื่อถึงเวลามีขนาดโลละ 5 บาทก็ยังจับ โดยคืนหนึ่งจับหลายๆ ตัน ดังนั้น เมื่อยังมีความต้องการปลาเล็ก ชาวประมงก็จะยังจับส่งโรงงานปลาเป็ดอยู่ ปัญหาอาหารที่จะเข้าสู่การเพาะเลี้ยงจึงเป็นปัญหาใหญ่ ในส่วนผลกระทบจากน้ำเสียที่ปล่อยจากการเพาะเลี้ยง ปัจจุบันชาวประมงที่ทำประมงชายฝั่งยังได้รับผลกระทบอยู่เป็นประจำ แม้ในบางพื้นที่มีระบบที่ดีขึ้นแต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่มันเกิดขึ้นยังเป็นปัญหาอยู่แม้ว่ากรมประมงจะบอกว่ามีแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต

ตัวแทนจากอ็อกซ์แฟม กล่าวด้วยว่าการเปิดเสรีลงทุนต้องตอบคำถามว่าใครได้ประโยชน์ เพราะท้ายที่สุดแล้วประเด็นเรื่องฐานทรัพยากรชายฝั่งเป็นวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ชายฝั่ง การลงทุนต้องตอบคำถามว่าไทยขาดเงินลงทุนหรือเปล่า ปัจจุบันไทยไม่มีศักยภาพการลงทุนในเรื่องของการเพาะเลี้ยงหรือ วัตถุประสงค์ของการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนคืออะไร ต้องมีการตอบคำถามนี้ เพราะส่วนตัวคิดว่าคนไทยน่าจะมีศักยภาพในการ แต่ปัญหาอยู่ที่จะจัดระบบอย่างไร

“ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนในประเทศ และเลี้ยงประชากรของโลกด้วย เรากำลังจะขายกิจการการผลิต หรือเราต้องการจะขายผลผลิตอาหารของเรา ถ้าเมื่อไหร่เราปล่อยให้มีการลงทุนโดยต่างชาติเท่ากับว่าเราแบ่งกิจการการผลิตวส่วนหนึ่งให้เขา” ตัวแทนจากอ็อกซ์แฟมตั้งคำถาม

ตัวแทนจากอ็อกซ์แฟมกล่าวต่อมาถึง พ.ร.บ.ประมง 2490 ที่ระบุว่า คนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องเป็นคนไทยเท่านั้น อันนี้หมายถึงว่าต้องเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของทุน หรือเป็นแรงงาน เพราะภาษากฎหมายไทยมักจะดิ้นได้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net