เปิดตัวเว็บใหม่ร่วมนิยาม “ประชาธิปไตย” - เสวนาสื่อหลัก-สื่อทางเลือก

 
 
เมื่อวันที่ 29 ต.ค.52 ที่ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิศักยภาพชุมชนเปิดตัวโครงการ "เวทีเปิดเพื่อการสนทนาเรื่องประชาธิปไตย" และเว็บไซต์ http://openthaidemocracy.com โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มักมีการผูกขาดการให้นิยามของประชาธิปไตยในสังคมไทย ไม่ว่านิติรัฐ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ธรรมาภิบาล ฯลฯ นอกจากในห้องเรียนนิติศาสตร์แล้วไม่เคยมีใครบอกว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร มูลนิธิศักยภาพชุมชนซึ่งทำงานกับชุมชนและภาคประชาสังคม จึงคิดว่าน่าจะมีพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ เข้ามากำหนดนิยามของคำเหล่านี้ร่วมกัน โดยมีเว็บไซต์ http://openthaidemocracy.com เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
 
 
เกรียงศักดิ์ เล่าว่า http://openthaidemocracy.com ไม่ใช่เว็บข่าวหรือเว็บบอร์ด แต่เป็นเว็บที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามานิยามความหมายของคำต่างๆ สำหรับในสองเดือนแรกนี้จะพูดถึงนิติรัฐ โดยชวนให้นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และนักเคลื่อนไหว มาตั้งคำถามต่อนิยามต่างๆ และเปิดให้ผู้ใช้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เหมือนเป็นห้องเรียนที่มีการพูดคุยกัน โดยนอกจากเว็บไซต์แล้ว ในทุกๆ สองเดือน โครงการฯ จะจัดสัมมนาย่อยตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีสัมมนาใหญ่เรื่องประชาธิปไตยไทยในช่วงปลายปี รวมถึงจัดทำคู่มือประชาธิปไตยฉบับประชาชนแจกจ่ายในชุมชนต่อไปด้วย
 
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ ‘สื่อทางเลือกกับการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย’ โดยมี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
จอม เพชรประดับ สื่อมวลชน กล่าวว่า สื่อทางเลือกเกิดจากการที่สื่อหลักไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในการทำให้เกิดความเข้าใจหรืออธิบายข้อเท็จจริงได้ สื่อทางเลือกจึงกำลังเป็นที่จับตาและมีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อทางเลือกควรเกิดจากความต้องการให้เกิดการเรียนรู้ทางปัญญาและสร้างสรรค์ เพราะหากเกิดจากความชิงชังโมโหโทโส ก็จะเป็นพิษต่อประชาชนผู้รับสื่อ และถ้าสื่อทางเลือกต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยจะต้องนำเสนอโดยไม่มีความรู้สึกโกรธแค้นหรืออคติ และรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากตัวเอง
 
จอม กล่าวว่า จากปรากฎการณ์สื่อทางเลือก ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวสูงมาก มีหลายเรื่องที่ค้างคาใจประชาชน แต่สื่อกระแสหลักก็ยังกล่าวถึงอย่างผิวเผิน ดังนั้น สื่อกระแสหลักก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานใหม่ ไม่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์รวมของความถูกต้องเสมอไป ทั้งนี้ เขาเชื่อว่า การเกิดของสื่อทางเลือกจะปฏิวัติสื่อกระแสหลักไปในตัว
 
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า แม้ว่าสื่อทางเลือกจะนำเสนอไปอย่างไม่จำกัด เป็นตัวของตัวเอง วิจารณ์ใครก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อทางเลือกจะต้องไม่มองข้ามคือ ประเทศไทยมีการปกครองที่มีชนชั้นผู้มีอำนาจซึ่งต้องการควบคุมให้มีคุณธรรมและศีลธรรม ไม่นำมาไปสู่ความแตกแยก ความขัดแย้ง ซึ่งจะถูกนำมาอ้างมากขึ้นเพื่อจัดการกับสื่อทางเลือก ดังนั้น สื่อทางเลือกจะต้องพิจารณาว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรในอนาคต นอกจากนี้ แม้จะจะนำเสนออย่างเป็นตัวของตัวเอง แต่สื่อทางเลือกก็ต้องนำเสนออย่างมีจรรยาบรรณด้วย ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจรรยาบรรณเพื่อวัดความสูงส่ง แต่สื่อต้องมีกรอบว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่หลากหลาย และไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง
 
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า สื่อทางเลือกยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้จริง แม้ที่ผ่านมาอาจจะมีแฟลชม็อบ ซึ่งเป็นการนัดกันผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อรวมตัวแสดงจุดยืนบางอย่าง แล้วหายตัวไป เช่น วันที่ 20 ก.ย.2549 ที่มีการนัดกันออกมาต้านรัฐประหาร มีกันประมาณ 30 คน แม้ถือว่าไม่น้อย แต่ก็ยังไม่มีแรงกดดันอะไรที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงมองว่า สื่อทางเลือกยังไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างน้อยก็ในยุคนี้ แต่อาจเกิดในรุ่นใหม่ๆ
 
เขากล่าวด้วยว่า หากกล่าวถึงประชาธิปไตยในความหมายที่กว้างกว่าการเมืองการปกครอง แต่หมายถึงวิถีชีวิต การเป็นเจ้าของชีวิต สื่อทางเลือกได้ทำหน้าที่ในการทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเท่ากัน ทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึง เผยแพร่ให้คนเห็นมันเท่าๆ กัน แต่คำถามอยู่ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในต้นทุนที่ถูกได้อย่างไร
 
“เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านใช้มันเป็นไลฟ์สไตล์ ใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็นปกติ อาจจะอีก 10-20 ปี เมื่อนั้นมันจะเปลี่ยนระดับสำนึกประชาธิปไตย เพราะจะไม่มีใครมาให้ความหมายหรือให้นิยามอะไรแบบเดียวอีกแล้ว เช่น วันนี้หากลองค้นหาความหมายของคำว่า democracy ก็พบว่ามีคนให้ความหมายเป็นล้านๆ แบบ เพราะฉะนั้นแนวโน้มข้างหน้าจึงน่าจะไม่มีใครกำหนดความหมายหรือคุณค่าอะไรแบบเดียวหรือผูกขาดได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นจะทำให้คนเราเท่ากันมากขึ้น”
 
ชูวัส ขยายความว่า โลกใหม่ในอินเทอร์เน็ตได้ละลายวาทกรรม ศีลธรรม นิยามความดี ความชั่วใหม่ ชาติไม่ได้มีแค่สองร้อยกว่าชาติ แต่มีหกพันล้านชาติ มีศาสนาเป็นล้านๆ ศาสนา อาจจะพุทธมาก พุทธน้อย เกิดความหลากหลายขึ้น ซึ่งเขามองว่า ความหลากหลายหรือที่หลายคนมองว่าเป็นความขัดแย้งในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น จะช่วยลดความขัดแย้งในโลกจริงได้ เพราะได้ขัดแย้งกันไปแล้วในโลกเสมือน
 
ส่วนเรื่องการเปิดพื้นที่ในเว็บบอร์ดนั้น ชูวัสบอกว่า คงหนีไม่พ้นการแบ่งข้างแบ่งฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา เพราะประชาธิปไตยเกิดระหว่างทาง ไม่ได้เกิดขึ้น ณ นาทีนั้น สังคมไทยเพิ่งจะหัดเขียนจริงๆ ก็เมื่อสองสามปีมานี้ ทักษะการเขียนย่อมไม่เหมือนการอ่านอย่างเดียว ต้องเปิดพื้นที่และรอเวลา
 
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากยุคเก่าที่ชาวบ้านเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือจากนักศึกษา ยุคที่นักศึกษาทำวิจัยและวิจารณ์ว่า ทำไมสื่อไม่มีพื้นที่ของคนยากคนจน มาวันนี้ พอเดินไปในม็อบ ชาวบ้านถามก่อนเลยว่า มาจากไหน ถ้าเป็นสื่อจะเสี่ยงมาก มันมาถึงยุคที่ชาวบ้านก็เลือกใช้สื่อด้วย ถึงยุคที่สื่อเป็นสื่อพลเมือง คนสร้างสื่อได้ด้วยตัวเองแล้ว คำถามใหญ่จึงไม่ใช่สังคมขาดแคลนสื่ออีกต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม พิชญ์มองว่า การมีสื่อเยอะไม่ได้เท่ากับการมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่มันอาจนำไปสู่เสรีภาพในการแสดงความเกลียดชัง ปัญหาในทางนิเทศศาสตร์ คือ เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า สื่อไหนถูกสื่อไหนผิด ประชาชนจะมี media literacy รู้ว่าจะพิสูจน์สื่อได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะอ่านออกเขียนได้ในทางสื่อ จะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเป็นสีสันอะไรเป็นความจริง ในสังคมที่จะเอาเปลือกทุเรียนไปไล่ตบนางร้ายได้ ในสังคมที่เอามือตบ ตีนตบออกมาไล่ตบคนได้
 
พิชญ์กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อทางเลือกกับสื่อหลักว่า ตอนนี้สื่อทางเลือก กำลังเผชิญปัญหาถูกครอบงำโดยผู้มีบารมี โดยหลังรัฐประหาร สถิติของเว็บถูกปิดเยอะขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยมีคำสั่งศาลปิดเว็บโป๊ไม่เกินสิบเว็บ แต่ปิดเว็บหมิ่นฯ เป็นพัน แต่พอกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยแล้ว เขารู้สึกว่า เรื่องอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องหวือหวาอีกต่อไป
 
"มันก้าวสู่ยุคใหม่ซึ่งคนที่มีอำนาจในโลกออฟไลน์ ก็ใช้โลกออนไลน์เป็นการเสริมอำนาจของตัวเองอีก" พิชญ์กล่าวและว่า สุดท้ายทักษิณ ชินวัตรที่มีทักษะด้านการใช้สื่อสูงสุดก็กลับมาครอบงำสื่อทางเลือกได้อีก เมื่อทักษิณทวิตอะไร ไทยรัฐก็หยิบไปรายงานต่อ
 
ส่วนความเชื่อที่ว่า ในอินเทอร์เน็ตมี identity ที่หลากหลาย มีเรื่องหมิ่นฯ เรื่องที่เคยต่อสู้กัน พิชญ์มองว่า สุดท้ายมันเงียบลง สื่อใหญ่ไม่ได้ควานหาประเด็นหมิ่นฯ แล้ว แต่สนใจแค่ว่า ทักษิณทวิตอะไร อภิสิทธิ์ตอบอะไร
 
พิชญ์บอกว่า ตอนนี้ปัญหาของสื่อทางเลือกอาจไม่ได้อยู่ที่การเซ็นเซอร์ แต่มันถูกทำให้เงียบ เพราะรัฐบาลเรียกคนที่เรียกร้องไปร่วมประชุม รับฟังข้อเสนอ และสุดท้ายก็ต้องรอ
 
นอกจากนี้ พิชญ์ กล่าวถึง ‘สื่อสาธารณะ’ อย่างทีวีไทยว่า ขณะที่สื่อหลักเหมารวมว่า ทำสื่อตามผู้บริโภค สื่อทางเลือกทำสื่อตามรสนิยมของผู้ผลิต แต่สื่อสาธารณะยังไม่เคยตอบได้ว่าทำไมจึงเลือกฉายอะไรและไม่ฉายอะไร
 
"ถึงเวลาที่กระบวนการตัดสินใจในประเทศต้องโปร่งใส ไม่ใช่เทวดาตัดสิน" พิชญ์กล่าวและยกตัวอย่างว่า อาจนำเอาชื่อรายการจำนวนหนึ่งมาประกาศลงหนังสือพิมพ์เพื่อให้ผู้ชมได้โหวตว่าอยากจะดูอะไร แทนการที่ต้องเข้าไปอยู่ในสภาผู้ชมจึงจะมีส่วนตัดสินใจ
 
พิเชษฐ์ ยิ่งเกียรติคุณ เครือข่ายพลเมืองเน็ต เล่าว่า เคยทำงานในสื่อหลักอย่างผู้จัดการมาก่อน และมีครั้งหนึ่งที่งานของเขาไม่ได้รับการตีพิมพ์ จึงเกิดคำถามว่า เสรีภาพในการแสดงออกนั้นมีจริงหรือเปล่า จากนั้น เขาได้ลาออกมาอยู่ในสื่อทางเลือก 
 
พิเชษฐ์มองว่า สื่อหลักมีข้อจำกัดมากทั้งเรื่องแหล่งทุนและการเมือง ซึ่งนั่นทำให้สื่อทางเลือกเกิดขึ้นมา ตอนนี้ทุกคนจึงเป็นสื่อได้ เว็บอย่างทวิตเตอร์ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ว่าจะทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือคนธรรมดาก็มีพื้นที่เขียนข้อความ 140 ตัวอักษรเท่ากัน ถ้าคนสนใจเขาก็จะติดตามเอง มันไม่ต้องมีทุนหนา มีโฆษณาแบบสื่อหลักแล้ว
 
เขาวิจารณ์ว่า สื่อกระแสหลักมักพูดแต่เรื่องเดิมๆ แต่สื่อทางเลือกเกิดจากคนหลายๆ คน เรื่องที่เสนอจึงมีความหลากหลาย เช่น มีเรื่องที่สื่อหลักไม่เคยสนใจ เช่น เรื่องของคนงานไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น
 
"สื่อกระแสหลักอาจจะไม่รู้ว่ามันมีปัญหา มากกว่าแพนด้าและเคอิโงะหรือเปล่า ... จริงๆ แล้ว สื่อหลักทำอะไรอยู่" พิเชษฐ์ตั้งคำถามและกล่าวเสริมว่า ยังมีความสับสนเกี่ยวกับสื่อทางเลือกและสื่อใหม่ นั่นคือ หากเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตยังพูดเรื่องเดิมแบบสื่อหลัก ก็ถือว่าเป็นสื่อหลักในช่องทางใหม่เท่านั้น ไม่ใช่สื่อทางเลือก
 
จอน อึ๊งภากรณ์ กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีสื่อทางเลือก สื่อทางเลือกเต็มไปหมด ทุกคนมีสื่อทางเลือกของตัวเองได้ แต่ปัญหาคือ มีสื่อทางเลือกแล้วจะทำอย่างไรให้คนมาอ่าน ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น สื่อทางเลือกต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วย เพราะการเปิดเวทีให้คนด่ากันไปเถียงกันมานั้นง่าย แต่การพัฒนาขึ้นไป เช่น ให้ข้อมูลที่ถูกต้องที่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องยาก
 
เขายกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นสื่อทางเลือกของคนใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์ต้องสามารถให้ข้อมูลที่สังคมมีโอกาสได้รับรู้ยากจากสื่ออื่นๆ แต่การให้ข้อมูลต้องลดโทนของโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เช่นนั้น จะไม่มีความน่าเชื่อถือ
 
ส่วนประเด็นทีวีสาธารณะ จอน บอกว่า เขาไม่ได้มองสื่อสาธารณะต่างจากสื่อหลัก แต่ควรต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์และกระบอกเสียงของรัฐ คือควรมีลักษณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งนี้สื่อสาธารณะต้องเปิดพื้นที่หลากหลายให้ประชาชน ใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับสื่อทางเลือกให้มากที่สุด ซึ่งทีวีไทยเองตอนนี้ยังไม่เป็น ก็ต้องช่วยกันต่อไป
 
จอน มองว่า สิ่งที่ท้าทายทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกคือ การเป็นสื่อที่มีคุณภาพ จรรยาบรรณที่ไม่ต้องมีใครสร้างให้ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวัง คือการมองว่า สื่อทางเลือกดีไปหมด สื่อหลักเลวไปหมด สื่อทั้งสองแบบมีทั้งที่ดีและไม่ดี สื่อทางเลือกที่ดี เช่น เว็บไซต์นิวแมนดาลา ที่รายงานแบบมืออาชีพ อาทิ การรายงานเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 2551 มีทั้งภาพถ่ายและบรรยายจากพยานในเหตุการณ์ เขียนสิ่งที่เห็น ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้ หรือกรณีวิกิพีเดีย ที่ทำให้จากเดิมที่เชื่อกันว่า ต้องหาความรู้จากที่ซึ่งเป็นที่รับรองแล้ว หรือเป็นที่ยอมรับอย่างสารานุกรม encyclopedia เท่านั้น มาเป็นวิกิพีเดีย ที่รวมความรู้จากประชาชน เป็นต้น
 
จอนกล่าวต่อว่า ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ควรอยู่ในกรอบ ไม่ยกเว้นว่ากับใคร ไม่ควรล้ำเส้น เช่น เอาเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องทางสังคมมาพูดถึง การใช้คำหยาบ สังคมไทยต้องเติบโตมากขึ้นในการแสดงความเห็นในสื่อทางเลือก และสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่แค่สามารถแสดงความเห็นที่กล้าหาญ แต่ต้องมีเหตุมีผลที่จะนำสังคมไปข้างหน้า
 
สุดท้าย จอนมองว่า ต้องช่วยกันพัฒนาสื่อทั้งสองแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อกระแสหลัก เพราะหากสื่อหลักไม่เปลี่ยนหรือพัฒนาขึ้น จะถ่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ เพราะประชาชนยังเสพสื่อหลักมากกว่า
 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง หัวหน้าภาควิชาการปกครอง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งร่วมรับฟังการเสวนา ได้แสดงความเห็นว่า การเติบโตของสื่อใหม่ต่างๆ อย่างในเว็บผู้จัดการ หรือประชาไท มันโตด้วยอารมณ์ร่วมของผู้คนที่เข้าไป แบ่งแยกพวกเขาพวกเรามากกว่าจะหาข้อเท็จจริง หลายเรื่องก็เหมือนนิทานวงเหล้า ด่าพระไปจนถึงเรื่องอื่นๆ แต่ยังไม่ได้มีผลสะเทือนต่อสังคมเท่าใดนัก ซึ่งส่วนตัวก็อยากเห็นข้อมูล การถกเถียงที่เป็นเหตุเป็นผลกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท