Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

             หากการตีแผ่ความฉ้อฉลและการเอาเปรียบ หลอกลวงของกษัตริย์...
การทำลายโซ่ตรวนแห่งความเชื่องมงายทางการเมือง และการยกระดับมนุษย์ที่ต่ำต้อยให้มีฐานะอันสมค่า
หากสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการหมิ่นประมาทกล่าวร้าย
ก็ขอให้จารึกนามบนหลุมฝังศพข้าพเจ้าว่านักหมิ่นประมาทเถิด
[1]

 โทมัส เพน (Thomas Paine)
 
มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไทย หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (นี่คือชื่อเรียกที่ถูกต้อง โทษที่เรียกว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นั้นเป็นคำเรียกในทางสามัญที่ไม่ตรงกับหลักการของลักษณะโทษในมาตรานี้) นั้นกล่าวได้ว่า เป็นคดีที่มีบทลงโทษที่รุนแรงมากทั้งโดยตัวมันเอง และโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในอีกหลายด้าน อาทิ การตีความ, การนำมาใช้, การลงโทษ, ความล้าหลัง, ความเป็นการเมืองในตัวข้อกฎหมาย เป็นต้น
มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้นเป็นเพียงข้อความสั้นๆ ที่ทรงพลังทางการเมืองตลอดมา (ดังจะอธิบายต่อไป) และได้สร้างกระบวนการ และโครงสร้างทางความรุนแรงผ่านตัวบทกฎหมายนี้ด้วย มาตรา 112 นี้ ความว่า;
ผู้ใดหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึงสิบห้าปี[2]
โดยหลักการแล้ว ในทางสากลนั้นการดำรงอยู่ และมีผลบังคับใช้ของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยแยกแยะมาตรฐานออกจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปนั้น ย่อมเป็นการขัดต่อระบบตรรกะของระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงการสร้างหลักความไม่เท่าเทียมกันภายใต้คติของความเสมอภาคของประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังขัดกับหลัก King can do no wrong, because King can do nothing.[3] อีกด้วย และได้ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในหลายระดับ ซึ่งเอกสารชิ้นนี้ (ด้วยพื้นที่นำเสนอ และเวลาที่จำกัด คงไม่สามารถนำเสนอทุกรายละเอียดได้ จึงขอนำเสนอเฉพาะในส่วนที่คิดว่าสำคัญที่สุด) จะนำเสนอภาพความรุนแรง 3 ประการของมาตรา 112 คือ 1) การตีความ และโทษ, 2) การเป็นเครื่องมือทางการเมือง, และ 3) การบังคับกล่อมเกลา แล้วจากนั้นเอกสารชิ้นนี้จะนำข้อสรุปจากความรุนแรงทั้ง 3 ประการนี้ มาอธิบายระบบโครงสร้างที่ได้เกิดขึ้นกับ “เหยื่อคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” นี้ต่อไป โดยเอกสารชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งอภิปรายว่ากฎหมายมาตรานี้ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ (ซึ่งจะต้องแยกประเด็นไปอีกต่างหาก) แต่จะพูดถึง “ผลของการมีอยู่ของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในฐานะเครื่องมือก่อความรุนแรงในเชิงโครงสร้างขึ้น” หลังจากนั้นแล้ววิญญูชนพึงพิจารณาด้วยตัวปัจเจกบุคคลเองต่อได้ว่า กฎหมายข้อนี้พึงมีต่อไปหรือไม่ อย่างไร
 
0 0 0
การตีความ และโทษ
กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหากกล่าวกันตามหลักการที่สุดแล้ว กฎหมายดังกล่าวนี้เป็นกฎหมายที่ต้องตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด โดยห้ามนำจารีตประเพณี หรือกฎหมายเทียบเคียงมาลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้โดยเด็ดขาด[4] ฉะนั้นหากจะว่ากันตามหลักการอย่างแท้จริงแล้ว กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมการหมิ่นประมาทบุคคลเพียง 4 บุคคลเท่านั้น คือ 1) พระมหากษัตริย์, 2) พระราชินี, 3) รัชทายาท, และ 4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรืออีกนัยยะหนึ่ง หากตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษรอย่างแท้จริงแล้ว กฎหมายนี้ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาท‘สถาบัน’ พระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ เพราะพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ย่อมไม่มีสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายนี้ นอกจากนี้การตีความคำว่า ‘หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย” นั้นยังคงอยู่ในขอบเขตของการโต้เถียงที่ไม่รู้จักสิ้นสุดอีกด้วย
คำว่าหมิ่นประมาทนี้ มีรากฐานมาจากคำว่า Libel ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นมาตราที่ประเทศไทยนั้นคัดลอก (แปล) มาจากกฎหมายของอังกฤษโดยตรง[5] ซึ่ง Oxford Advanced Learners’ Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า;
noun [U, C] : the act of printing a statement about somebody that is not true and that gives people a bad opinion of them: He sued the newspaper for libel.a libel action (= a case in a court of law)
verb [vn] : to publish a written statement about somebody that is not true: He claimed he had been libelled in an article the magazine had published.[6]
(My Emphasis)
จากจุดนี้เราจะพบว่า รากทางความหมายของคำว่าหมิ่นประมาทนั้นอยู่บนฐานของ 1) เป็นข้อมูลเท็จ (Statement that is not true) และ 2) ข้อมูลเท็จดังกล่าวส่งผลในแง่ลบต่อบุคคลนั้น (that [statement] gives people a bad opinion of them) ฉะนั้นตามหลักการแล้วการจะพิจารณาว่าบุคคลใด กระทำการหมิ่นประมาทต่ออีกบุคคลหนึ่งนั้นควรจะอยู่บนฐานของปัจจัยทั้งสองนี้อย่างเคร่งครัด คือ ต้องเป็นข้อมูลเท็จที่ส่งผลในด้านลบแก่ชีวิตของอีกบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การตีขลุมไปทั่วอย่างไร้หลักเกณฑ์ (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)
แต่ปัญหาสำคัญในเรื่องการตีความนี้คือ 1) การตีความอย่างไม่ตรงตามหลักการ และ 2) การตีความอย่างไร้มาตราฐาน ซึ่งในที่สุดแล้วจะก่อร่างเป็นระบบโครงสร้างความรุนแรงที่สำคัญของสังคมไทย ที่ (ในระดับหนึ่ง) ผูกติดชีวิตคนไว้กับอัตตวิสัยทางความคิด ความนิยมชมชอบ และอคติของสถาบันตุลาการ
แท้จริงแล้วสองประเด็นดังกล่าวนั้นก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างสูงมากในระดับที่พอจะกล่าวได้ว่าประเด็นที่ 2 เป็นผลต่อเนื่องจากประเด็นที่ 1 (หรือคิดในอีกแง่ ก็อาจจะบอกได้อีกว่า 1 เป็นผลของ 2) การตีความอย่างไม่ตรงหลักการนั้น เริ่มมาจากการไม่ปฏิบัติตามกระบวนการพิจารณากฎหมายอาญาในระดับพื้นฐานที่สุด (ที่แม้แต่เด็กมัธยมก็ต้องรู้กันแล้ว) นั่นเอง ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติตามหลักการอย่างเคร่งครัดนั้นย่อมหมายถึงการจำกัดขอบเขตอำนาจของตุลาการลงด้วย และในกรณีของประเทศไทยนี้การพิจารณาอย่างอยู่ในขอบเขตของหลักการอย่างเคร่งครัดยังหมายถึง “การอนุญาตให้ก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์[7] (ที่บังคับให้ศักดิ์สิทธิ์) มากจนเกินไป” ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อตุลาการไม่พยายามดำเนินการตัดสินตามหลักการ (จนในระยะหลังสำหรับประเทศไทย ในบางแง่อาจจะกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ไม่จำเป็นต้องตัดสินตามหลักการอีกต่อไป) นอกจากจะเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของตัวผู้พิพากษาหนึ่งๆ ให้มีอำนาจเหนือความศักดิ์สิทธิ์แท้จริงของตัวบทกฎหมายแล้ว ยังก่อให้เกิดประเด็นความรุนแรงอีกประเด็นคือ “ความไม่มีมาตราฐานในการตัดสิน” ตามมาด้วย
เมื่อความไม่ต้องมีหลักการในการตีความกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว นั่นย่อมหมายความว่าอำนาจในการตีความกฎหมายทั้งหมด ขึ้นอยู่กับ “ตัวตน, อคติ, และอัตตวิสัย” แห่งผู้พิพากษา (ผู้ซึ่งได้รับอำนาจมา โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบ และการตรวจสอบจากสังคมใดๆ เลย) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าผู้พิพากษานั้นก็ย่อมเป็น “มนุษย์” ที่หาได้ไร้ความรู้สึกผิดชอบ และอุดมการณ์ส่วนบุคคลไป ฉะนั้นการสร้างระบบอันบิดเบี้ยวที่กองอำนาจในการตัดสินชะตาบุคคลใดๆ ไว้กับการพิจารณาโดยปราศจากหลักเกณฑ์ จากบุคคลากรผู้ซึ่งกอปรด้วยอคติได้โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบ และตรวจสอบทางสังคมใดๆ ย่อมนำพามาซึ่งความไร้ หรือไม่ได้มาตราฐานในการพิจารณาคดี (Autonomous Jurisdiction) ซึ่งหากกล่าวไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรไปจากอำนาจเผด็จการในทางศาล (แต่พยายามเรียกกันให้เสนาะหูขึ้นว่า “ตุลาการภิวัตน์”) และนั่นทำให้โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่มีความเกี่ยวพันธ์กับ “อุดมการณ์, สำนึกทางการเมือง และอคติส่วนบุคคล” อย่างลึกซึ้งนั้นกลายมาเป็นมาตราหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดโครงสร้างความรุนแรงในการพิพากษามนุษย์ด้วยกัน ด้วยความไม่เท่าเทียมกัน
ดังเราจะเห็นการทำงานของระบบอันบิดเบี้ยวนี้ได้จากกรณีของดา ตอปิโด หรือชื่อจริงว่า ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ต้องโทษคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ด้วยการจำคุกเป็นเวลา 18 ปีและเป็นการดำเนินคดีอย่างลับ ที่ไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวแต่อย่างใด ในขณะที่ข้อความดังกล่าวที่ดารณีกล่าวนั้น ได้ถูกกล่าวซ้ำอีกโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งสุดท้ายกลับ “หลุด” จากคดีนี้ ด้วยเหตุว่า “กระทำไปด้วยความจงรักภักดี” ทั้งที่ตามหลักการแล้วผู้ที่เผยแพร่ซ้ำนั้นต้องระวางโทษเดียวกับผู้ริเริ่มถ้อยคำนั้นๆ (จุดนี้แสดงชัดเจนถึงความ “ไร้หลักการ และไม่ได้มาตราฐานในการพิจารณาไปพร้อมๆ กัน”)
ไม่ต้องเอ่ยถึงกรณีของ ส.ศิวลักษณ์ หรือสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ที่กล่าว “โจมตี/วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หลายต่อหลายครั้ง และรุนแรงมากๆ (เช่น มีการใช้คำว่า “เหี้ย” ประกอบ)” กลับ “หลุด” จากคดีลักษณะนี้ทุกครั้ง ด้วยอคติว่า “จงรักภักดี” แต่ดารณีนั้น ไม่ได้กล่าวโจมตีโดยตรงเลย เพียงแต่เอ่ยถึงสีเหลือง, สีฟ้า, ฯลฯ เท่านั้นกลับโดนโทษถึง 18 ปี[8]
ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า เอกสารนี้ไม่ได้มุ่งจะบอกว่าสนธิ ลิ้มทองกุล หรือสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นั้นสมควรโดนจับเข้าคุก หรือเป็นเหยื่อทางตรงต่อมาตรา 112 นี้อีก เพียงแต่มุ่งจะเทียบเคียงให้เห็นภาพถึงภาวะ “อัตตวิสัยในการตัดสินคดีของโครงสร้างเผด็จการทางการศาล” ที่เกิดขึ้นจากมาตรา 112 นี้ เท่านั้น (ยังไม่นับกรณีที่เพียงแค่ ไม่ยืนในโรงหนัง ของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และอีกหลายๆ กรณีที่ล้วนแต่ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันทั้งในทางตรง และเชิงสัมพัทธ์)
ในแง่ของโทษนั้นค่อนข้างจะชัดเจน (และมีการเอ่ยถึงประเด็นนี้หลายครั้งแล้ว) ถึงความไม่ได้สัดส่วนตามหลักความได้สัดส่วน (Proportionality / Proportional Justice / Retributive Justice) ซึ่งเป็นหลักที่อธิบายถึงคติว่าด้วยการกำหนดโทษต่อผู้กระทำผิดอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมกับความผิดที่กระทำนั้นๆ[9] โดยมาตรา 112 นี้มีการกำหนดโทษสูงสุดไว้มากถึง 15 ปี (ซึ่งมากกว่าในช่วงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งระวางโทษสูงสุดเพียง 7 ปีเสียอีก) ซึ่งระดับโทษของการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ มีมากในระดับเดียวกับ ป. อาญา มาตรา 114 ซึ่งว่าด้วยการตระเตรียมการเพื่อก่อกบฏ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า โทษของมาตรา 112 นี้ได้ให้สัดส่วนความสำคัญกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สำคัญเทียบเท่ากับการพยายามก่อกบฏล้มล้างการปกครอง และยังมีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าการวางยาพิษคนทั้งชุมชน อย่างในมาตรา 237 ของ ป.อาญา อีกต่างหาก (ไม่ต้องเอ่ยถึงที่หลายต่อร้ายครั้งแม้แต่คดีฆ่าคนตาย ยังได้รับลดหย่อนโทษไปมา จนกระทั่งโทษน้อยกว่านักโทษคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้เลย)
ด้วยความที่โทษของ มาตรา 112 มีความรุนแรงมาก และวางอยู่บนฐานของอัตตวิสัยในการตัดสินความ จึงส่งผลให้การนำมาใช้นั้นกลายมาเป็นเครื่องมือชั้นยอดในทางการเมือง และความเป็นเครื่องมือดังกล่าวนั้นก็ได้ก่อระบบความรุนแรงที่น่าสะพรึงกลัวขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย
 
0 0 0
 
การเป็นเครื่องมือทางการเมือง (การนำมาใช้)
 
กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้น เป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ในฐานะ เครื่องมือ (Mechanism)” ที่สำคัญในทางการเมืองไทยมาตลอดหลายทศวรรษทั้งในแง่ผล 1) ทางตรง (คือการส่งคนเข้าคุก), และ 2) ทั้งในฐานะข้ออ้างทางการเมือง (ทั้งสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน และความน่ารังเกียจเดียดฉันท์ให้แก่ผู้อื่น และรวมถึงการเป็นการ “ข่มขวัญ” ไปด้วยในที) ซึ่งประเด็นการนำมาตรา 112 มาใช้เหล่านี้ได้ก่อร่างระบบความรุนแรงในเชิงโครงสร้างในสังคมไทยขึ้นมา
การนำมาใช้ลงโทษในทางตรงนั้น กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นอย่างถี่มาก (โดยเฉพาะในกรณีที่ผ่านเข้าสู่สื่อสารมวลชนหลัก) นับตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของขบวนการที่เรียกว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)” และการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยผลจากการที่การพิจารณา และตัดสินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นอยู่บนฐานของความ “ไร้หลักการ และมากด้วยอคติ” ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น ทำให้การใช้มาตรา 112 มาลงโทษนี้ (เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับข้อเสนอของวรเจตน์ ภาคีรัตน์) เป็นการพิจารณาลงโทษด้วยอุดมการณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่อุดมการณ์ตามแบบรัฐธรรมนูญนิยม[10]
การนำโทษมาใช้ในทางตรง คือกระบวนการส่งคนเข้าคุกนั้น เป็นทั้งการสร้างความรุนแรงทางตรง (จากความรุนแรงทางโครงสร้าง) และในขณะเดียวกันยังเป็นกระบวนการที่สำคัญมากๆ ในการก่อตัวของชุดโครงสร้างความรุนแรงที่เป็นผลต่อเนื่องกันมา คือ การใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเครื่องข่มขวัญ กล่อมเกลา กล่าวคือเอกสารนี้ต้องการจะนำเสนอว่า “การมีอยู่ของตัวมาตรา 112 นั้นไม่ใช่สารถะสำคัญในกระบวนการสร้างความรุนแรง หากแต่เป็นกระบวนการนำมันมาใช้จนปรากฏผลแก่สายตา” ต่างหาก ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศอังกฤษเองก็ยังคง “มีตัวกฎหมาย” ในลักษณะนี้อยู่ “แต่ไม่มีการบังคับใช้ (แม้จะยังคงอยู่ในอำนาจการบังคับใช้ได้)” ระบบความรุนแรงของตัวกฎหมายนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เช่นกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทประมุข/พระประมุขของรัฐอื่น ในประมวลกฎหมายอาญาของไทยเอง[11] ที่แม้จะเป็นโทษในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่มีการบังคับใช้ ก็ย่อมไม่ได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัว และความรุนแรงขึ้นทั้งในทางตรง และเชิงโครงสร้าง ดังจะเห็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่า ประณามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นประมุขของประเทศอเมริกา หรือรัฐอื่นๆ ได้อย่างออกนอกหน้า และไม่ต้อง “หลบๆ ซ่อนๆ” หรือกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปราศัยประณามสมเด็จฮุนเซ็นข้ามวันข้ามคืน ในช่วงที่มีการประท้วงเรื่องกรณีพิพาทเขาพระวิหาร เป็นอาทิ ที่แม้จะเป็นโทษในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่มีการบังคับใช้ ก็ย่อมไม่ได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัว และความรุนแรงขึ้นทั้งในทางตรง และเชิงโครงสร้าง ดังจะเห็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่า ประณามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นประมุขของประเทศอเมริกา หรือรัฐอื่นๆ ได้อย่างออกนอกหน้า และไม่ต้อง
ด้วยเหตุนี้เองกระบวนการลงโทษโดยตรง ให้ปรากฏแก่สายตานั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด เกี่ยวกับมาตรา 112 นี้ (หากไม่นับประเด็นเรื่อง “การตีความ” ซึ่งกล่าวไปแล้ว) และดังได้กล่าวไปคือ ในบางแง่สำคัญเสียยิ่งกว่าการคงอยู่ของตัวบทมาตราเองเสียอีก เพราะการลงโทษโดยตรงคือการปูทางให้กับความสามานย์อีกหลายประการที่จะกล่าวถึงต่อไป
การถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองประเด็นนี้เป็นภาพที่ชัดเจนมากมาตั้งแต่สมัยนายปรีดี พนมยงค์แล้ว และก็ยังคงใช้อยู่เรื่อยๆ และหนักข้อขึ้นทุกที เหตุผลสำคัญที่มำให้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอนั้นก็เพราะ 1) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ (เชิงบังคับ) ของชาวไทยโดยตรง, 2) เป็นมาตราที่ใครอยากจะกล่าวอ้าง กล่าวหาก็ได้ นอกจากนี้หลักการในการพิจารณาคดีนั้นยังอยู่บนฐานของอัตตวิสัยที่มีความเลื่อนลอยสูง, และ 3) การมีบทลงโทษที่รุนแรง (ซึ่งเป็นผลโดยอ้อมในกรณีนี้ ดังจะอธิบายต่อไป)
สำหรับภาวะของเรื่องพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ (เชิงบังคับ) และผลโดยอ้อมของการมีบทลงโทษที่รุนแรงนั้น จะขอยกไปพูดในตอนหลังเนื่องจากจำเป็นจะต้องเข้าใจในประเด็นเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ก่อน (ประเด็นเหล่านี้จะชัดเจนในหัวข้อการบังคับกล่อมเกลา ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)
ในกรณีสำคัญของส่วนนี้นั้นคือประเด็นเรื่องการที่มาตรา 112 นี้อยู่บนฐานที่ว่า “ใครจะฟ้องร้องก็ได้” ไม่จำเป็นจะต้องเป็นตัวเจ้าทุกข์เองโดยตรง (ดังเช่น กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลโดยทั่วไป) ประเด็นนี้เองทำให้เกิด “ความลื่นไหลในการใช้งาน (Fluency)” และเป็นสิ่งที่ “เมื่อเกิดการฟ้องแล้ว (และหากคดีเกิดดังขึ้นมา)” ในระดับหนึ่งนั้นจะก่อให้เกิด “ความยากในทางเลือกในการตัดสิน ด้วยพลังทางสังคม ที่ไม่ต้องการให้ตัดสินว่าไม่ผิด” เพราะประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่ถูกทำให้รู้สึกว่า เพียงแค่เรื่องนิดๆ หน่อยๆ ก็ผิดแล้ว กล่าวคืออ่อนไหว (sensitive) เอาเสียมากๆ ฉะนั้นการกล่าวหาแบบด้วยประเด็นเล็กๆ น้อยๆ (เช่น การไม่ลุกยืนในโรงภาพยนตร์ ของโชติศักดิ์ อ่อนสูง เป็นอาทิ) หรือการกล่าวหาอย่างยังไม่รู้หลักฐานที่แน่ชัด หรือมีความคลุมเครือสูง (เช่น กรณีที่คณะรัฐประหารกล่าวหาทักษิณ ชินวัตร, หรือกรณีการไปกล่าวปาฐกถาของจักรภพ เพ็ญแข – กรณีหลังนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่ได้มีความผิดเลย – จนต้องลาออกจากตำแหน่ง และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี, เป็นอาทิ) ประเด็นนี้ เมื่อยิ่งเข้าไปผนวกกับภาวะอัตตวิสัยในการตัดสินความด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้ระบบความรุนแรงนี้ฝังรากอย่างเหนียวแน่นในสังคมอย่างหนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก
ความง่ายในการฟ้องร้อง ที่ใครคิดจะฟ้องก็ได้นี้เองที่ได้แพร่กระจายระบบแห่งความรุนแรงให้สะพัดไปทั่ว เพราะกลายเป็นระบบที่ ทำให้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ (แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดภาพลบ) ไม่สามารถพูดในที่แจ้งได้ ต้องอาศัยการพูดกันอย่างลับๆ หรือกล่าวในอีกทางหนึ่ง มาตรา 112 นี้สร้างโครงสร้างแห่งความรุนแรง โดยการทำให้ ประชาชนกลายร่างเป็นตำรวจแห่งอัตตวิสัย ภายใต้ภาวะอ่อนไหวอย่างวิตกจริต นั่นเอง ในทางหนึ่งเราจึงพอจะกล่าวได้ว่า การนำมาตรา 112 มาใช้นั้น คือการมอบอำนาจให้ประชาชนก่อความรุนแรงให้กัน และกันเอง
เมื่อผนวกเรื่องการฟ้องร้องจากผู้ใดก็ได้ เข้ากับระบบอคติตัดสินความแล้ว ทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายมากในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ในทางการเมือง ในประเด็นนี้สุธาชัย ยิ้มประเสริฐได้เสนอไว้ในงานสัมนาว่าด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ กับสิทธิมนุษยชนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยสุธาชัยได้เสนอว่า ในระยะที่ผ่านมา (หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) ซึ่งมีการแบ่งฝากทางการเมืองอย่างชัดเจน เป็นฝ่ายเสื้อเหลือง (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) และฝ่ายเสื้อแดง (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ – นปช.) นั้นสุธาชัยชี้ให้เห็นว่า แทบทุกกรณีที่เป็นคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่มีโด่งดังในสังคมนั้นมีแนวโน้มที่จำเลยฝ่ายเสื้อแดง หรือมีแนวโน้มไปทางเสื้อแดงมากกว่าเสื้อเหลือง จะโดนตัดสินว่ามีความผิด โดยสุธาชัยได้ยกกรณีตัวอย่างที่สุธาชัยนับได้ประกอบ 17 กรณีมาชี้ให้เห็นว่าทำคนที่โดนตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นมีแนวโน้มอยู่ทางฝ่ายเสื้อแดง (หรือต่อต้านเสื้อเหลืองอย่างชัดเจน) ทั้งสิ้น ในขณะที่คดีที่ฝ่ายเสื้อเหลืองเป็นจำเลยในคดีแทบไม่มี (หรือไม่มีเลย) ที่โดนตัดสินว่ามีความผิด ทั้งที่ลักษณะทางการกระทำคล้ายกัน หรือเหมือนกันเลย หรือโดยสรุปก็คือ สุธาชัยได้เสนอกับว่าในระยะที่ผ่านมานี้ มาตรา 112 คือเครื่องมือที่ฝ่ายเสื้อเหลือง และ “อำมาตย์ (ซึ่งหมายรวมถึงตุลาการ และที่เหนือกว่านั้นขึ้นไปด้วย)” ใช้ในการข่มเหงทางการเมืองต่อฝ่ายเสื้อแดง (ซึ่งก็คงกล่าวได้ว่าจริงโดยมาก)
งานเขียนชิ้นนี้อยากจะเสนอเพิ่มเติมจากข้อเสนอของสุธาชัยด้วยว่า ประเด็นสำคัญ “ในนัยยะทางการเมือง” ต่อการนำมาตรา 112 มาลงโทษประชาชน (ฝ่ายเสื้อแดง) นั้นไม่ใช่การหมายหัวรายบุคคลต่อผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่การลงโทษคนๆ หนึ่งนั้น เพื่ออาศัยพลังทางสัญญะในตัวมันมาสะท้อน / กล่าวหา (แบบเชิงบังคับ) ตัวตนของทั้งขบวนการ ที่กล่าวเช่นนี้หาได้ต้องการลด “คุณค่า และศักดิ์ศรี” ของผู้ถูกกล่าวหาไม่ (อนึ่งผู้เขียนนั้นมีคติในทางตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ) แต่ที่ต้องการจะสื่อนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะได้เห็นหน้าที่ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองอย่างแท้จริง ของมาตรา 112 ว่า การเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น ไม่ใช่ความคิดคับแคบอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล พยายาม “จัดการ” ดารณี หรือจักรภพ ในฐานะการจัดการปัจเจกนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยที่สุด “ไม่มีทางเป็นเป้าหมายหลัก” แต่การ “จัดการ” ดารณี หรือจักรภพนั้นคือ การจัดการขบวนการเสื้อแดงทั้งขบวนการต่างหาก เช่นเดียวกันกับภาพที่กว้างขึ้น กับบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับขบวนการเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง อย่างแฮร์รี่ นิโคไลเดส (Harry Nicolaides)[12] นั้นก็เป็นไปด้วยตรรกะแบบเดียวกัน เพียงแต่เป็นเครื่องมือทางการเมืองในระนาบที่ใหญ่กว่า สูงกว่ากรณีเสื้อเหลือง – เสื้อแดง คือ การจัดการนิโคไลเดสนั้น คือการจัดการ “ขบวนการไม่นิยมเจ้า” หรือ “ขบวนการไม่นิยมการนิยมเจ้า” ทั้งขบวนการ โดย “ขบวนการนิยมเจ้า[13] นั่นเอง
 
0 0 0
การบังคับกล่อมเกลา[14]: ประชาชนชาวไทยทุกคน
(รวมถึงชาวต่างชาติในอาณาเขตประเทศไทย)

ล้วนคือเหยื่อของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
 
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “เหยื่อคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” แล้ว โดยมากจะพาลนึกถึง “ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” กัน ซึ่งเป็นเรื่องจริง และชัดเจนว่าพวกเขาเหล่านั้นคือ “เหยื่อที่ชัดเจน และรุนแรงที่สุดจากมาตรา 112 นี้” แต่จากที่งานชิ้นนี้อธิบายมาทั้งหมดนั้น ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดถึงทิศทางที่งานชิ้นนี้จะนำเสนอ นั่นก็คือ ระบบความรุนแรงจากกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้น ทำให้ทุกคนที่เป็นคนไทย หรือต่างชาติในไทย ตกเป็นเหยื่อความความรุนแรงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิยมเจ้า หรือไม่นิยมเจ้า หรือกลุ่ม / ขบวนการ / สำนักคิดแบบอื่นๆ
ระบบความรุนแรงที่มาตรา 112 และการบังคับใช้มันได้ร่วมกันสร้างขึ้นนั้น ได้ก่อให้เกิดภาวะ “สงัดเงียบทางความคิด และแน่นิ่งทางความคิดความเชื่อ” ขึ้น กล่าวคือ มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องกักกันความคิด ที่ไม่อนุญาตให้มีการนำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และด้วยการบังคับใช้ที่เข้มข้นนั้นทำให้ การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ถูกรีดเร้นเค้นออกมาแต่เพียงด้านเดียว คือ การเยินยอ สรรเสริญ
ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียนจึงกล่าวว่าประชาชนชาวไทยทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติในประเทศไทยนั้นล้วนตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 นี้ เพราะวาทกรรมด้านเดียวที่ผลิตขึ้นจากระบบความรุนแรงของมาตรา 112 ได้ทำการกล่อมเกลาเชิงบังคับ ให้เกิดความรู้สึกด้านบวกเท่านั้น ต่อสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้น “ความเป็นเหยื่อขั้นพื้นฐาน” ที่ทุกคนได้รับเมื่อเกิดบนแผ่นดินนี้ก็คือ ค่านิยมตามแบบคติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องถูกบังคับให้เป็นไพร่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเชื่อฟังประหนึ่งสุนัขทรงเลี้ยงนั่นเอง
สภาพการถูกกล่อมเกลาเชิงบังคับจากระบบความรุนแรงของมาตรา 112 นี้ทำให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนถูกกดให้โงหัวไม่ขึ้น หรือจะเงยขึ้นก็ยากนัก และไม่สู้จะเงยได้อย่างเต็มกำลังอย่างที่อยากจะเงย และนั่นทำให้ในหลายๆ ระดับ ไม่เปิดช่องทางอื่นให้ประชาชนเลือกเดิน นอกจากแหงนคอรอความช่วยเหลือจากสถาบันกษัตริย์ (หรือเครือข่าย) และนั่นหมายถึงการเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ลงมาคลุกคลีกับการเมืองทั้งที่ไม่ควรมีสิทธินั้น “ไม่ว่าจะกรณีใดๆ (นอกเสียจากจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ และตรวจสอบได้อย่างเต็มที่)” ตามหลัก The King can do no wrong, because The King can do nothing.หรือกล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ในแง่หนึ่งนั้นระบบความรุนแรงของมาตรา 112 ก็คือระบบที่ (เครือข่าย)สถาบันพระมหากษัตริย์สร้างขึ้นมา เพื่อเปิดประตูสู่การเข้าไปคลุกคลีในเวทีการเมืองของตนนั่นเอง
ระบบความรุนแรงของมาตรา 112 นั้นเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญมากๆ ของพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งนั่นทำให้ความรุนแรงทวีกำลังมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับเหยื่อผู้ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยตรง กล่าวคือ เมื่อระบบความรุนแรงดังกล่าวนี้ได้สร้างวาทกรรมด้านเดียวมากล่อมเกลาเชิงบังคับอยู่ตลอดเวลาแล้ว จึงก่อให้เกิดภาวะ “การอะลุ่มอลวย หรือผ่อนผันเพื่อสถาบันกษัตริย์” เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการ “ปล่อยนักโทษผู้มีความประพฤติดี ในวันเฉลิมฉลองเสด็จพระราชสมภพ (5 ธันวาคม ของทุกปี)” เป็นอาทิ (ไม่ต้องเอ่ยถึง อำนาจการนิรโทษกรรม ที่ให้เอกสิทธิ์สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายทั้งมวล รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย)
ภาวการณ์ “อะลุ่มอลวยเพื่อพ่อ” นี้นี่เองที่ทำให้ผู้ต้องหา/ต้องขัง คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ยิ่งขึ้นไปอีก จากที่เดิมทีก็ตกเป็นเป้าประณามของมวลมหาประชาชนที่ตกอยู่ใต้ภวังค์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว เมื่อมาอยู่ในคุกนั้น แม้คดีที่พวกเขาเหล่านั้นก่อนั้น “โดยหลักการ” แล้วจะต้องนับว่าเบากว่าการฆ่าคน หรือค้ายาเสพติดจำนวนมหาศาลมาก แต่ก็จะถูกผลักดันให้อยู่ในระดับเดียวกัน หรืออาจะเหนือกว่านักโทษคดีร้ายแรงทั้งสองประเภทเสียอีก ทั้งนี้แน่นอนว่าในระดับหนึ่งนั้นเป็นเพราะนักโทษเหล่านั้นเองก็มีส่วนที่ตกอยู่ใต้ภวังค์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย แต่ประเด็นสำคัญนั้นคือ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์คือผู้ซึ่งกระทำผิดต่อบุคคลซึ่งนักโทษเหล่านั้นหวังว่าสักวันหนึ่งจะมาช่วยปลดปล่อยพวกตนไปสู่อิสรภาพ (จากโครงการอะลุ่มอล่วยเพื่อพ่อ, หรือนิรโทษกรรม, ฯลฯ) และนั่นทำให้ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นตกอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่มาก
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาที่คุณ ประเวศน์ ประชานุกูล ทนายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุลในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้พูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของคุณดารณีในเรือนจำ และได้มีโอกาสพูดคุยเป็นการส่วนตัวเล็กน้อย[15] จึงขอนำมาสรุปไว้ ณ ที่นี้ พอสังเขป เพื่อเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายของเอกสารชิ้นนี้
คุณ ประเวศน์ได้ให้ข้อมูล ไว้ว่าเริ่มแรกเลยนั้นสิ่งที่คุณดารณีต้องถูกกระทำก็คือการโดน “กักเดี่ยว”[16] ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ต้องขังทุกคนจะต้องประสบเหมือนกันทั้งหมด โดยผู้ต้องขังจะต้องโดนกักเดี่ยวนี้ประมาณคนละ 1 เดือน (คุณ ประเวศน์เล่าว่า เป็นเหมือนการ “รับน้อง” ของเรือนจำ) แต่กรณีของคุณดารณีนี้เมื่อแรกเข้า กลับโดนกักเดี่ยวมากกว่าผู้ต้องขังผู้อื่นถึง 2 เท่าตัว คือ ประมาณ 2 เดือน (ไม่ได้เข้าสังคมเลยในช่วงกลางวันเป็นเวลา 2 เดือน)
จากนั้นเมื่อพ้นระยะกักเดี่ยวแล้วคุณดารณีก็พบว่า ชื่อและหน้าตาของเธอเป็นที่รู้จักของคนแทบทั้งเรือนจำ เนื่องจากมีการปิดประกาศป้ายชื่อ ซึ่งการปิดประกาศป้ายชื่อดังกล่าวนี้จะปิดเฉพาะนักโทษที่มีคดีร้ายแรงที่สุด 5 คนเท่านั้น (ผู้เขียนเข้าใจว่า นัยหนึ่งก็เพื่อให้มีการระวังตัวกันเองในหมู่ผู้ต้องขังด้วย) ซึ่งคุณดารณี ผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นได้อยู่บนทำเนียบเดียวกันกับนักโทษคนอื่นๆ อีก 4 คน ผู้มีคดีฆ่าคนตายบ้าง หรือค้ายาเสพติดเกินกว่าหนึ่งหมื่นเม็ดบ้าง ซึ่งนั่นทำให้คุณดารณีเป็นที่จับตามองทั้งในหมู่ผู้ต้องขังเอง และต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วย
จากการเป็นที่จับตามองนี้เอง (ดาราเรือนจำจำเป็น?) ทำให้ในระยะแรกคุณดารณีได้รับเลือกให้เป็น “แม่ห้อง” (คล้ายกับหัวหน้าห้อง ในห้องขังหนึ่งๆ) ซึ่งทำให้เธอมีภาระหน้าที่มากขึ้น แต่ในจุดนี้นั้นคุณ ประเวศน์เล่าว่าตัวคุณดาเองไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่การมีภาระหน้าที่มากขึ้นนั้นย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสให้จับผิดได้มากขึ้นด้วย ซึ่งคุณดารณีเองก็โดน และถูกปลดออกจากตำแหน่งแม่ห้อง เมื่อนักโทษคนอื่นขึ้นมาเป็นแม่ห้อง ก็ได้มีส่วนในการกลั่นแกล้งคุณดารณี เช่น การไม่อนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำ (คือ เมื่อนักโทษต้องการจะเข้าห้องน้ำจะต้องขออนุญาตแม่ห้องทุกครั้ง และหากแม่ห้องไม่อนุญาตก็จะต้อง “กลั้น” ไว้เช่นนั้นจนกว่าจะถึงเวลาพัก) เป็นต้น
ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อคุณดารณีป่วย (จนถึงปัจจุบันนี้ด้วย) ซึ่งทางโรงพยาบาลของทางราชทัณฑ์เองรักษาให้ไม่ได้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ จึงมีการทำเรื่องขอต่อศาลเพื่อนำตัวออกจากเรือนจำเป็นการชั่วคราว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น โดยศาลอ้างว่าทางราชทัณฑ์เองก็มีโรงพยาบาลอยู่ (ในขณะที่โรงพยาบาลของราชทัณฑ์นั้นเอง บอกให้คุณดารณีหาทางออกมารักษาข้างนอก!!!)
นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากในสายตาผู้เขียนก็คือ การบีบให้คุณดารณียอมเซ็น “ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม” ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ และทางราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจเหนือสิทธินี้ (มีเพียงแค่อำนาจในการตรวจค้น) ผู้ซึ่งตัดสินใจว่าจะให้ญาติเยี่ยมหรือไม่คือตัวผู้ต้องขังเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้เองคุณประเวศน์ได้เล่าว่าทางราชทัณฑ์ได้บังคับให้คุณดารณีเซ็นไม่ยินยอมดังกล่าว
อนึ่งคุณประเวศน์ได้(ฝาก)ไว้อีกว่า ทุกๆ ครั้งที่มีการกระจายข่าวเรื่องความไม่ยุติธรรมของคุณดารณีที่เกี่ยวพันธ์กับทางราชทัณฑ์ให้เป็นที่รู้กันในทางสาธารณะจะเป็นการช่วยลดความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดกับผู้ต้องขังผู้นี้ได้ เพราะทางราชทัณฑ์จะทำการระงับ “บทลงโทษ” ที่จัดหามาให้คุณดารณีทันที เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ข้อความส่วนที่เกี่ยวกับราชทัณฑ์ออกไป
จากข้อมูลที่เราได้รับจากคุณประเวศน์นี้ทำให้เราได้เห็นถึงวิถีของการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และรุนแรงต่อผู้ต้องหา/ต้องขังในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ว่าไม่ยุติธรรมยิ่งนัก ทั้งจากสังคมภายนอก, เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ (บางส่วน), และในหมู่ผู้ต้องขังด้วยกันเอง โดยเฉพาะกรณีของคุณดารณีนี้ ที่ยังยืนยันจนถึงบัดนี้ว่าจะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ (Royal Pardon) ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของ (เครือข่าย)สถาบันกษัตริย์อย่างหนักข้อขึ้นไปอีก
0 0 0
โดยสรุป มาตรา 112 และการนำมาใช้นั้น ได้ก่อระบบความรุนแรงทางโครงสร้างขึ้น ที่บังคับให้ทุกคนคิดได้ในทางเดียว และกำจัดสิ้นความเห็นอีกทางหนึ่งด้วยทุกวิถีทาง โครงสร้างความรุนแรงดังกล่าวนั้นได้ทำให้ประชาชนทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยกลายเป็นเหยื่อของวาทะ เป็นเหยื่อในระบบความรุนแรง ที่เป็นเบี้ยในการทำลายคู่ตรงข้ามของเจ้าของวาทะนั้น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าอาลัย และรุนแรงยิ่งบนดินแดนที่ (พยายาม) จะเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย
 
ด้วยความเคารพ


[1] อ้างใน จรัล โฆษณานันท์, ความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้น “ความจริง” ในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2552), (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน), หน้า 91.
 
[2] เข้าถึงได้จาก; http://www.lawyerthai.com/law/articles.php?articleid=9&cat=524
 
[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้จาก พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, หลักการประชาธิปไตยว่าด้วย พระราชอำนาจ (ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม – สมบูรณ์), กระดานสนทนาฟ้าเดียวกัน, เข้าถึงได้จาก http://sameskyboard.com/index.php?showtopic=37069&st=0&p=424584&fromsearch=1&#entry424584 [เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552].
 
[4] โปรดดู ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, หลักกฎหมาย: กฎหมายอาญาภาคทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 9, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550), หน้า 147 – 148.
 
[5] คำอภิปรายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ใน ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ปาจารยสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน – ธันวาคม) 2530, หน้า 39 – 40. อ้างใน จรัล โฆษณานันท์, ความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้น “ความจริง” ในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา, อ้างแล้ว, หน้า 90.
 
[6] เข้าถึงได้จาก http://www.oup.com/oald-bin/web_getald7index1a.pl
 
[7] คำของ นิธิ เอียวศรีวงศ์
 
[8] คม ชัด ลึก, ฉบับ 28 สิงหาคม 2552.
 
[9] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Proportionality_(law) และ http://en.wikipedia.org/wiki/Retributive_justice
 
[10] วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอไว้ว่า “มาตรา 112 จะตีความโดยใช้อุดมการณ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาปรับไม่ได้ จะต้องตีความให้สอบรับกันกับหลักในทางรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินี้ต้องตีความในแง่ที่ เป็นการคุ้มครองบุคคลของรัฐ” อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน;    วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับความมั่นคงของรัฐ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2552), (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน), หน้า 110 – 118. [ส่วนที่ยกมานั้นปรากฏในหน้า 115]
 
[11] มาตรา 133 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (เน้นคำโดยผู้เขียน)
 
[12] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกรณีของนิโคไลเดสได้จาก Times Online (19 January 2009), Writer Harry Nicolaides jailed for insulting Thai King, available at http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article5544354.ece [Date of Access 30 October 2009]
 
[13] คำว่าขบวนการนิยมเจ้าในที่นี้นั้นหมายรวมถึง “ราชสำนัก” เองด้วย ซึ่งในทางหลักการแล้ว ต้องนับว่าเป็นขบวนการนิยมเจ้าที่นิยมเจ้ามากที่สุด
 
[14] เนื้อหาในส่วนนี้อาจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ถึงบรรดาผู้จงรักภักดี เวลาคุณพูดว่า “ในหลวงทรงทำความดี” (คนไทยจึงเคารพ): “ถ้าผมถามว่าคุณรู้ได้อย่างไร?” คุณตอบไม่ได้หรอก, กระดานสนทนาฟ้าเดียวกัน, เข้าถึงได้จาก http://sameskyboard.com/index.php?showtopic=20957&st=0&p=239813&fromsearch=1&#entry239813สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ความจงรักภักดี/ความเป็นศูนย์รวม แท้จริงต้องวางอยู่บนฐานของเสรีภาพ, กระดานสนทนาฟ้าเดียวกัน, เข้าถึงได้จาก http://sameskyboard.com/index.php showtopic=13789&st=0&p=146118&fromsearch=1&#entry146118 . ;
 
[15] ในเบื้องแรก ผู้เขียนมีความตั้งใจจะไปสัมภาษณ์กับคุณดารณีโดยตรง แต่เมื่อได้คุยกับคุณประเวศน์เป็นการส่วนตัวแล้ว จึงทราบว่า มีโอกาสจะทำเช่นนั้นได้น้อยมากๆ จึงได้ล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าวไป แต่ความหวังดีต่อคุณดารณีนั้นหาได้เปลี่ยนแปลงไป และหากงานชิ้นนี้มีประโยชน์บ้าง สักเพียงน้อยนิด ก็ขอยกประโยชน์เหล่านั้นแด่คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล มา ณ ที่นี้ด้วย
 
[16] การกักเดี่ยวนั้น ไม่ใช่การ “ขังเดี่ยว” แต่เป็นการ กัก หรือ กัน ตัวผู้ต้องขังไม่ให้เข้าร่วมสังคมใดๆ กับผู้อื่นในช่วงกลางวัน ในขณะที่การขังเดี่ยวคือการขังแยกคนเดียวโดดๆ (คำอธิบายจากคุณประเวศน์)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net