สามัญชนที่ยิ่งใหญ่ 'นิคม จันทรวิทุร'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วิภา ดาวมณี เขียนรำลึกการจากไปของนิคม จันทรวิทุร 'พ่อพระของผู้ใช้แรงงาน' ผ่านงานและการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่สี่แยกคอกวัว

 

วันที่ 31 ตุลาคม 2544 หลังจากร่วมงานเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่สี่แยกคอกวัวเพียง 2 สัปดาห์ อาจารย์นิคมก็จากพวกเราไป

เวลา 2 ปีสุดท้ายที่วิภาได้ช่วยงานของ อ.นิคมในฐานะที่ท่านเป็นประธานมูลนิธิ 14 ตุลา นับเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก และยิ่งเมื่อทราบว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมากว่า 40 ปี ท่านได้สร้างคุณูปการไว้มากมายในแวดวงผู้ใช้แรงงาน ด้วยความริเริ่ม กล้าหาญ จริงจัง ผลักดันกฎหมายแรงงานสำคัญๆ หลายต่อหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการประกันสังคม การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การดูแลสวัสดิการ คัดค้านการนำรัฐวิสาหกิจออกนอกระบบ รวมทั้งนโยบายก้าวหน้าอีกมากมาย เพื่อประโยชน์ของสามัญชน คนเล็กๆ ที่ด้อยโอกาส ก็ยิ่งรู้สึกเสียดายเวลา เสียดายว่า เราไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ตั้งคำถาม และไม่ได้ลงเรี่ยวลงแรงกับ ‘งาน’ อีกมากมายที่ท่านตั้งใจจะทำและมอบหมายให้…..
9 โมงตรง เช้าวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อปี 2544 หลังจากงานสมโภชน์สถูปดวงวิญญาณวีรชนประชาธิปไตยเพิ่งผ่านพ้นไป เสียงโทรศัพท์ดังมา คาดไม่ผิดว่า ต้องเป็นโทรศัพท์จาก อ.นิคม คำแรกที่อาจารย์ทักทายก็คือ “เป็นยังไง เหนื่อยไหม” ต่อด้วย “….งานสำเร็จเรียบร้อยดี ต้องขอบใจหนูมาก? ”  คนรับโทรศัพท์อย่างเราย่อมรู้สึกหัวใจพองโตเป็นธรรมดา….จนยิ้มออกมานอกหน้า เสียงอาจารย์ฟังดูสดชื่น กระชุ่มกระชวย ไม่หลงเหลือความเจ็บป่วยผ่านน้ำเสียงเหมือนหลายวันก่อนหน้า…. เราได้แต่คิดในใจว่า ภารกิจที่อาจารย์พยา ยามผลักดัน ได้สำเร็จลงไปแล้วในระดับหนึ่ง อาจารย์คงดีใจ อิ่มใจ เราเองก็พลอยดีใจไปด้วย
“เอ้อ…หนูพักสัก 2-3 วัน แล้วมาคุยกันว่า จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเรื่องดูแลอนุสรณ์สถาน 14 ตุลากันยังไงอีกทีนะ เอาล่ะไม่รบกวน ไปพักผ่อนต่อ…..” แม้ท่านจะเคยดำรงยศ ตำแหน่งทางราชการใหญ่โต แต่มักจะพูดอย่างเกรงใจอย่างนี้เสมอ
ผ่านไปหลายวัน เสียงโทรศัพท์ที่มักจะดังมาทุกเช้าก็ดูจะหายไป เมื่อโทรไปตามที่บ้านสัมมากร ก็ทราบว่าท่านป่วยเข้าโรงพยาบาล คิดในใจว่าคงเหมือนที่ผ่านมา คือท่านจะเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นระยะๆ แต่ก็จะโทรศัพท์มาสั่งงาน ตามงาน เกี่ยวกับการเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาอย่างสม่ำเสมอ….
มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านถึงกับฝืนคำสั่งแพทย์มาร่วมประชุมเตรียมงานเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาที่ ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งวันนั้นมีรัฐมนตรีสุธรรม แสงประทุม เป็นประธานการประชุม เหตุที่อาจารย์ต้องมาเอง และพยายามมาทั้งๆ ที่สุขภาพไม่อำนวย ใบหน้าอิดโรยจนดูขาวซีด เพราะอาจารย์เป็นผู้เสนอให้จัดการประชุม และหมายมั่นที่จะให้ที่ประชุมรับข้อเสนอที่เตรียมไว้เกี่ยวกับการเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
อาจารย์กล่าวถึงจดหมายที่ส่งให้รัฐมนตรี และแสดงความยินดีที่จัดให้มีการประชุม ด้วยเสียงเบาและแหบพร่า คนรถที่พามาแจ้งว่า ขอหมอออกมา บอกว่าจะมาไม่เกินชั่วโมง จะให้กลับก็ไม่ยอม อาจารย์อยู่ร่วมการประชุมจนครบวาระ
คราวนี้อาจารย์เงียบหายไปนาน และทางบ้านแจ้งว่า ไม่อยากให้รบกวน ที่ผ่านมาอาจารย์จะกำชับว่า “อย่าบอกใครว่าเข้าโรงพยาบาล” “ไม่ต้อง มาเยี่ยม หรอก” …“ไม่เป็นไรมาก นิดหน่อย..” ต้องยอมรับว่าท่านเป็นคนที่คิดถึงตัวเองน้อยมาก หรือแทบจะไม่คิดถึงเลย ดูราวกับทุกนาทีมีแต่เรื่อง งาน…งาน…งาน วัยเกษียณ กับฐานะของท่านไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องตรากตรำทำงานอะไรเลย ท่านสามารถจะพักผ่อนอยู่กับหลานๆ มีความสุขในบั้นปลายชีวิต แต่ท่านกลับเลือกที่จะทำงานต่อไป
นอกจากเรื่องของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แล้วยังมีบทความสุดท้ายเกี่ยวกับปัญหาแรงงานที่อาจารย์ฝากให้นำส่งหนังสือพิมพ์มติชน ในโอกาสครบรอบ ‘มติชน 24 ปี’ เมื่อ มกราคม 2544 แม้จะเป็นบทความสั้นๆ แต่ก็สะท้อนความใส่ใจในผู้ใช้แรงงาน ปัญหาของกรรมกร และสะท้อนวิสัยทัศน์ที่มองไปถึงอนาคต สุ้มเสียงที่จริงจังของบทความนี้สะท้อนตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ว่า ‘ระเบิดเวลาของรัฐบาลใหม่’ ท่านวิเคราะห์ว่า
“....ปัญหาระเบิดเวลา ซึ่งจะรุนแรงกว่าเรื่องแรก ก็คือ ปัญหาของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในช่วงเดือนที่แล้วได้ประท้วงการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจชุดใหม่ โดยฝ่ายรัฐบาลได้นำบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ไกล้ชิดนักการเมืองที่ไม่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามที่ระเบียบตั้งไว้ เข้ามา พนักงานที่รัฐวิสาหกิจเกรงว่าการนำบุคคลใกล้ชิดเข้ามาจะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ทำ ให้รัฐวิสาหกิจต้องเสียผลประโยชน์จากการประมูลการก่อสร้างโครงการสำคัญๆ การประท้วงการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและไม่ควรให้เกิดขึ้น รัฐบาลมีรัฐวิสาหกิจอยู่ทั้งหมดในขณะนี้ประมาณ 30 แห่ง มีทรัพย์สินมูลค่าหลายแสนล้านบาท และเท่าที่ผ่านมาเป็นขุมทองของนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินนี้ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่ตนไว้ใจ ให้ดำเนินการกำกับควบคุม พนักงานรัฐวิสาหกิจตระหนักดีที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลรวมถึงการปรับปรุงกิจการต่างๆ เชื่อได้ว่าพนักงาน รัฐวิสาหกิจซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานทุกองค์กรแล้วจึงได้ถือเรื่องนี้เป็นสำคัญที่จะทำงานต่อไป …..”
ระเบิดเวลาลูกต่อไปคือเรื่องแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนงานหลายแสนคน......
“....กฎหมายแรงงานฉบับแรกออกมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กำหนดกรอบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง เวลาลูกจ้างนายจ้างมีปัญหาให้พูดจาหารือและเจรจากัน 50 ปีผ่านไป ก็ไม่ได้ปฏิบัติกันมาก ในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างกลับยุ่งยากเลวร้าย ขณะนี้เรามีโรงงานอยู่ประมาณ 2 แสนแห่ง แต่การพูดจาหารือเจรจากัน ปฏิบัติกันเพียงปีละ 4-5 ร้อยราย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้กฎหมายจะวางกรอบให้ นายจ้างก็ไม่ยอมพูดจาหารือกับลูกจ้าง เกิดปัญหาความขัดแย้งจนลุกลามไปถึงการประท้วงและการนัดหยุดงาน ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ แทนที่นายจ้างจะพูดคุยหารือและต่อรองไกล่เกลี่ย กลับใช้กำลังคนจากบุคคลภายนอกเข้าเผชิญหน้า และบางครั้งถึงกับทำร้ายคนงาน เช่น กรณีที่เกิดขึ้นที่โรงงานไทยเกรียง ชายฉกรรจ์ถืออาวุธทุบตีคนงานหญิงจนได้รับบาดเจ็บ เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมาก มีการเสนอข่าวไปทั่วโลก ทำให้ภาพพจน์ด้านแรงงานของไทยเป็นที่เสื่อมเสียและเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันในต่างประเทศ….”
คนงานไทยเกรียงกว่า 300 ชีวิต ไม่ได้กลับเข้าทำงาน กฎหมายแรงงานทำอะไร นายจ้างที่ละเมิดกฎหมายยังลอยนวล การกลั่นแกล้งผู้นำสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรถูกต้องชอบธรรมยังมีสม่ำเสมอ คนงาน กรรมกร ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการไม่มีปากไม่มีเสียง สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ ขบวนการกรรมกรอ่อนแอ ฝ่ายนายทุนฮึกเหิมเอาเปรียบ ลอยแพ ปิดงาน ฟ้องสวนเอาความกับผู้นำกรรมกรเป็นว่าเล่น… อาจารย์นิคมได้บรรจุความหวังดีฝากไว้ให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ด้วยความห่วงใย แต่เสียงของท่านอาจจะไม่ดังพอที่รัฐบาลจะใส่ใจและรับฟัง
“……..ปัญหาบ้านเมืองของเรามีมากมาย บางปัญหาสะสมเรื้อรังมานาน บางปัญหาก็เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ฉะนั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะต้องเตรียมรับปัญหาเหล่านี้ บทความนี้จะกล่าวถึงปัญหาที่สะสมมานานและรุนแรงขึ้นทุกวัน จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้….” อาจารย์นิคม ฟันธงไว้ในบทความเพื่อบอกกล่าวกับรัฐบาลใหม่ขณะนั้น แต่ 8 ปีมาแล้วทุกสิ่งอย่างในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ยังเหมือนเดิม
อาจารย์นิคมจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ท่านถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในงานสวดพระอภิธรรม ศพ ที่วัดเบญจมบพิตร คุณป้าน้อย (ภริยาอาจารย์นิคม) เล่าว่า “ ช่วงที่อยู่ไอซียู ยังเพ้อแต่เรื่อง ‘งาน’ ให้ตามวิภามาจัดเตรียมการประชุม ….ท่านเพ้อซ้ำๆ เช่นนั้น”  ศาลา 100 ปี คลาคล่ำด้วยผู้คนทั้งผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำกรรมกร นักวิชาการ ญาติวีรชนเดือนตุลา ข้าราชการ กระทั่งรัฐมนตรีผู้ที่ให้ความเคารพรักใคร่ และลูกศิษย์ลูกหาต่างมาร่วมคารวะและรดน้ำศพ เพื่ออำลาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย  ในงานศพ ต่างคนต่างกล่าวว่าจะสืบทอดอุดมการณ์ของท่าน หรีดมากมายหลายร้อยจนเป็นพันไม่มีที่จะแขวน
 

 
ภายหลังการจัดงานเดือนครบรอบ 24 ปี 6 ตุลาที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์นิคมได้นัดให้วิภามาพบที่คณะสังคมสงเคราะห์ ท่านถือไม้เท้าพยุงตัวขึ้นบันไดทีละก้าวโดยไม่ยอมให้ช่วย เมื่อใครทำท่าจะเข้าไปพยุง ท่านจะจ้องหน้าไม่พูดอะไร…. แล้ว ก็ก้าวต่อ เราได้แต่คาดเดาว่า ท่านไม่ต้องการให้ใครเห็นว่าเป็นคนชรา และไม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือแม้แต่ความรู้สึกสงสาร การแนะนำและคำชี้แจงที่พรั่งพรูจากปากท่านเมื่อแรกพบกันเพื่อให้เป็นต้นร่างประกอบการประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ในเดือนมกราคม ล้วนชัดเจน เป็นระบบ วัยและสังขารไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานแต่อย่างใด ท่านทบทวนวัตถุประสงค์ของมูลนิธิซึ่งมีอยู่ 6 ประการ ให้เราฟัง อย่างแม่นยำ….โดยไม่ต้องใช้เอกสารประกอบ
1.ร่วมดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 และร่วมในการดำเนินกิจการของอนุสรณ์สถานฯ
2.ส่งเสริมให้ความสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้าและเผยแพร่ด้านประชาธิปไตยและการพัฒนา
3.จัดกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
4.ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อุทิศตนเพื่อการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย
5.ร่วมมือและประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน มูลนิธิจะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการแสวงอำนาจ หรือประโยชน์ทางการเมือง การฝักใฝ่ทางการเมืองหรือการสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ
6.เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
และท่านยังได้ขยายความถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของมูลนิธิ 14 ตุลาไว้ เพื่อให้บทบาทและภาระหน้าที่ของมูลนิธิมีความชัดเจน และสามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และภารกิจในระยะ 3 ปี (Mission) จนถึงวาระครบรอบ 30 ปี 14 ตุลาไว้ดังนี้
วิสัยทัศน์ของมูลนิธิ 14 ตุลา คือ “....เป็นสื่อกลางในการสนับสนุนพลังใหม่ทางสังคม โดยเฉพาะสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เข้าใจอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นศูนย์เครือข่ายและแกนกลางข้อมูลเกี่ยวกับจิตวิญญาณของวีรชน 14 ตุลา และส่งเสริมให้เจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาไปสู่การปฏิบัติ โดยมีภารกิจในการสร้างฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมอันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมูลนิธิ เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในการสร้างเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในสังคมไทย ศึกษารวบรวมเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลา และ เผยแพร่และส่งเสริมเจตนารมณ์ตามเป้าหมายของวีรชน 14 ตุลาคม …….งานหลักในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือ เราจะเป็นศูนย์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ 14 ตุลาครบถ้วนที่สุด เป็นแหล่งที่ใครอยากรู้เรื่อง 14 ตุลามาติดต่อเรา และส่งเสริมให้เห็นว่าเจตนารมณ์แท้จริงไม่ใช่การก่อความไม่สงบ แต่เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย ทำให้ทราบว่าจิตวิญญาณ 14 ตุลาว่าอยู่ที่นี่ และต้องอุปการะดูแลญาติวีรชนทั้ง 2 เหตุการณ์ ทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ” เกี่ยวกับอาคารใช้สอย อาจารย์นิคมได้ยืนยันว่า อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จะเป็นอาคารเล็กๆ เรียบๆ ไม่หรูหรา ไม่โอ่อ่า แสดงถึงจิตวิญญาณประชาธิปไตยของวีรชน 14 ตุลา และอนุสรณ์สถานนี้จะเป็นสถานที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และให้ความรู้ให้การศึกษาถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลาและความรู้เรื่องประชาธิปไตย
คุณป้าน้อยเล่าย้อนหลังให้ฟังว่า วันที่ 14 ตุลาคม อาจารย์นิคมสวมเสื้อชุดเก่งสีน้ำเงินที่สั่งให้เด็กรีดไว้เมื่อสามวันก่อน เตรียมออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่ไม่มีใครอาสาพาท่านไปเพราะเห็นว่าป่วย และนั่งรถเข็นตลอด หลังจากออกจากโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย พอบอกว่าจะไม่มีใครพาไป ท่านก็เงียบนิ่งไม่พูดอะไร แต่พอได้เวลา 8 โมงก็บอกลูกชายคนโตให้พาพ่อไป ลูกเค้าก็ยอมพาไป…หน้าตาก็ดูดีขึ้นมาทันที แล้วตอนเย็นยังให้ป้าพาไปอีก แต่ฝ่าฝูงคนเข้าไปไม่ไหว ได้แต่นั่งฟังนายกทักษิณพูดบนเวที อยู่ห่างๆ…..” เย็นวันนั้น ท่านต้องอยู่นอกบริเวณอนุสรณ์สถาน ทั้งๆ ที่สร้างมากับมือ นักการเมืองพากันขึ้นเวที่ที่อยู่บนรถ 10 ล้อขนาดใหญ่ ปิดทางเข้าอนุสรณ์ไว้
ในคำปราศรัย ครั้งสุดท้ายซึ่งท่านได้ร่างขึ้นก่อนหน้างานร่วม 2 สัปดาห์ มีความตอนหนึ่งว่า
“……อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นที่รวบรวมตั้งแต่อัฐิของผู้เสียชีวิต 14 ตุลา และประวัติศาสตร์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งรวม ไม่ใช่เฉพาะอิฐปูนและวัตถุต่างๆ ตรงกันข้ามรากฐานของอนุสรณ์สถานเป็นที่ตั้งและรวมจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตย เป้าหมายสำคัญของอนุสรณ์สถานอยู่ที่จะเป็นประจักษ์พยานของนักต่อสู้ผู้ส่งเสริมประชาธิปไตย พร้อมทั้งสืบทอดปณิธานของวีรชนเดือนตุลาเป็นสำคัญ  ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ เราควรจะแสดงความยินดีแก่ตัวเราเองและผู้ที่เกี่ยวข้องที่สามารถสร้างอนุสรณ์สถานสำเร็จในครั้งนี้ ซึ่งเป็นงานที่ยาก ต้องอาศัยความอดทน และการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ยากที่จะกล่าวนามของผู้มีส่วนสำคัญได้ครบถ้วน เพียงแต่จะขอกล่าวว่าอนุสรณ์สถานนี้เป็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งชาติ และหวังอย่างยิ่งว่า พื้นฐานดังกล่าวจะดำรงคงอยู่ และสถิตสถาพร ตลอดเวลาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และตลอดไป "
เมื่อได้พิมพ์ร่างคำปราศรัยนี้ให้อาจารย์ ก็เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของท่านมากขึ้น ในการประชุมครั้งหนึ่งของคณะกรรมการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติอาจารย์นิคม มีการอภิปรายกันเรื่องการตั้งสถาบัน หรือมูลนิธิในนามท่าน ลูกชายคนเล็กของอาจารย์กล่าวว่า “พ่อพูดกับผมว่า….ให้เอา ‘งาน’ ไว้ก่อน อย่าไปสนใจชื่อนิคม แม่ก็ภูมิใจ แต่ไม่อยากให้ติดชื่อ นิคม จันทรวิทุร สิ่งสำคัญที่ผมอยากถามทุกท่านคือ เมื่อพ่อผมเสียไปแล้ว มี ‘งาน’ อะไรที่ไม่ได้ดำเนินการต่อไปบ้าง?? …. อีก 2-3 ปี สังคมไทยจะเกิดอะไรขึ้น งานวิจัยด้านแรงงาน การระดมสมองเกี่ยวกับสังคม และวิวัฒนาการของแรงงาน ใครจะผลักดันเพื่อผู้ด้อยโอกาส…. ควรจะ พิจารณาที่ ‘งาน’ เป็นหลัก ให้ลืมคำว่า ‘นิคม’ ไปเลย….”
สถาบันนิคม หรือมูลนิธินิคม หรือห้องสมุดนิคม ห้องประชุมนิคม จะมีความหมายก็ต่อเมื่อ สามารถสืบสาน ‘งาน’ ที่อาจารย์นิคมยังทำค้างไว้ต่อไป………เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ขบวนการกรรมกรที่เข้มแข็งและเพื่อผู้ด้อยโอกาสที่จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป
ณ วันนี้อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่สร้างขึ้นแล้ว ไม่ใช่แค่อิฐปูนที่สร้างไว้กราบไหว้ หรือสร้างให้ยิ่งใหญ่ หรูหรา อลังการ เช่น เดียวกับการรำลึกถึงท่านอาจารย์นิคม จันทรวิทุร ก็ย่อมไม่ใช่จำนวนหรีดนับพันที่นำมาแสดงคารวะ ไม่ใช่ปิยะวาจาหรือสัญญาที่สวยหรู ไม่ใช่สายน้ำตาที่หยาดริน หากคือการสืบทอดอุดมการณ์ตามรอยปณิธานของท่าน คือการปฏิบัติ คือการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยมีคำว่าหยุดพัก…….การคารวะท่านเช่นรูปเคารพจะไม่มีคุณค่าอะไรเลย !! เราเตือนใจตนเองเช่นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท