Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

  

สื่อมวลชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชี้นำกระแสทางการเมือง เป็นกลุ่มคนสำคัญที่นำเสนอข่าวสาร ที่ส่งผลและมีอิทธิพลต่อทุกคน ทำให้คนจำนวนมากสามารถรับรู้เรื่องราวในแง่มุมที่หลากหลายได้ในหลายรูปแบบ ทั้งวิทยุ สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และโฆษณาต่างๆ หรือเราอาจจะเรียกสั้นๆว่าสื่อ ซึ่งเป็นเหมือนกับ กระจกเงา ที่สะท้อนทั้งภาพ เสียง และข้อมูล ต่างๆที่ได้รับไปสู่มวลชนนั้นเอง แน่นอนว่าถ้าประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารด้านใดด้านหนึ่งเข้าไป ก็จะติดและเชื่อตามนั้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เกือบทุกบ้านมีวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วตลอดเวลา บทบาทของสื่อจึงมีความสำคัญมากที่จะสื่อสารให้คนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ไม่ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออก หรือเขียนไม่ได้ก็ตาม แต่พวกเขาก็สามารถที่จะรับรู้ข่าวสารได้ และจะตามกระแสนั้นโดยไม่ได้ตั้งคำถามและหาคำตอบว่าความจริงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังข่าวนั้นเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะเชื่อในภาพแรกที่เห็น เป็นธรรมชาติของคนไทยที่เชื่อคนง่าย
 
 
สื่อสามารถกู้ชาติได้อย่างไร ?
กรณีของประเทศอินโดนีเซีย ที่เคยตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดามาเป็นเวลานานตั้งปี ค.ศ.1614 ชาวอินโดนีเซียยอมจำนนต่อชะตากรรม ยอมให้ฝรั่งขูดรีดอย่างไม่ปราณี โดยไม่ได้คิดที่จะต่อสู้ แต่ต่อมายุคของคนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก นำโดย ระเด่น มัสติรโตอดิสุระโย (Raden Mas Tirtoadisurjo) ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ชื่อ Suenda Berita(ข่าวซุนดา) และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ชื่อ Medan Prijaji ซึ่งต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน  ปี ค.ศ.1910 มีการเผยแพร่ข่าวสารปลุกระดมมวลชนให้เกิดกระแสชาตินิยม ให้จินตนาการถึงความเป็นชาติแบบไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ จากการรับรู้ข่าวสารที่ตอกย้ำทุกวันว่าเราคือคนอินโดนีเซีย  ทำให้พวกเขาเริ่มมีจิตสำนึกร่วมถึงความเป็นชาติเดียวกัน การเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้คนอินโดนีเซียมีความตื่นตัว และลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น จนในที่สุดก็สามารถประกาศเอกราชได้ในปี ค.ศ.1945 โดยถือได้ว่า สื่อ (หนังสือพิมพ์) เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง จากหลายๆปัจจัยรวมกัน นำมาซึ่งเอกราชของประเทศอินโดนีเซียในทุกวันนี้
 
สำหรับสังคมไทย ตัวอย่างที่ทุกคนอาจเคยเจอกับตัว เช่น การเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงก้าวแรกของนักการเมือง ที่ต้องอาศัยสื่อ ถ้าพวกเขาเหล่านั้นลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่มีการโฆษณา ไม่มีการสื่อสาร เพื่อหาเสียง เขาเหล่านั้นก็จะไม่เป็นที่รู้จัก ยากที่จะมีคนยอมรับ เพราะไม่เป็นที่รับรู้ว่าเขามีดีอย่างไร อาจส่งผลต่อการไม่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าคนเหล่านั้นมีการโฆษณา หาเสียง ประกาศกิตติศัพท์ เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง นอกจากญาติก็อาจจะทำให้มีคนส่วนใหญ่เชื่อเขาเพราะการโฆษณาหาเสียงนั้นเอง ก็คืออิทธิพลของสื่อที่นักการเมืองสามารถซื้อได้ด้วยเงิน และสามารถนำมาซึ่งอำนาจทางการเมือง นี้ซึ่งเป็นเพียงภาพเริ่มต้นในบ้านเรา
 
นอกจากสื่อสามารถสร้างกระแสให้คนคล้อยตามจนถึงขั้นเปลี่ยนอุดมการณ์ของคนได้แล้ว สื่อยังมีพลังอำนาจในการสร้างแรงกดดันให้คนยอมทำตามได้
 
กรณีของน้อง เคอิโงะ ที่ถูกพ่อชาวญี่ปุ่นทอดทิ้งไปนานแล้ว ถึงแม้เขาจะมีเหตุผลใดก็ตาม แต่ถ้ากรณีของน้อง เคอิโงะ ไม่เป็นข่าว ไม่เป็นกระแสที่คนส่วนใหญ่ติดตาม ชายชาวญี่ปุ่นคนนี้ ก็อาจจะยังไม่มีจิตสำนึกมาหาลูกในเร็ววันแน่ หรือไม่รู้หรอกว่ายังมีลูกที่ตามหาเขาอยู่ แต่ด้วยอิทธิพลของสื่อ ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ และตกเป็นเป้าสายตา ต้องคอยตอบคำถาม ทำให้ชีวิตของเขาไม่ปกติสุขอีกต่อไป มันกลายเป็นแรงกดดันให้เขาต้องเลือกทำตามกระแส ทำตามความต้องการของสังคม ถึงแม้ว่าเขายังไม่พร้อมและไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเขาก็ตาม
 
จากทั้งสามตัวอย่างที่ได้ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยชน์ของสื่อ ที่สามารถนำเสนอข่าวสารได้รวดเร็ว ให้ความรู้ ความบันเทิง แต่มีคนบางกลุ่มที่มองเห็นถึงประโยชน์ของการควบคุมสื่อ และต้องการที่จะเข้าไปแทรกแซง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง เข้าไปครอบครองสื่อให้นำเสนอแต่ด้านดีๆของฝ่ายตนเอง เพื่อสร้างภาพและปิดบังความจริงบางอย่างที่ไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ คือสื่อของใครก็นำเสนอให้เข้าข้างฝ่ายตนเอง เช่น สื่อของรัฐบาลที่เสนอให้รัฐบาลมีแต่ความถูกต้อง แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเสนอข่าวสารเข้าข้างฝ่ายค้าน ซึ่งจากการที่สื่อถูกครอบงำเช่นนี้ ผลที่ตามมาคือเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม ประชาชนจะถูกครอบงำด้วยอำนาจของสื่อที่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ยากที่จะสามารถรับรู้ความจริงบางอย่างได้อย่างรอบด้านโดยเสรี
 
 
อิทธิพลคนกุมสื่อ จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะสื่อนั้นถูกแทรกแซงหลายครั้งหลายคราว การนำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมา ถูกต้องตามความจริง เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะนอกจากต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแล้ว ยังอยู่ภายใต้อำนาจบางอย่าง ที่คอยควบคุมตรวจสอบไม่ให้ข่าวบางข่าวเล็ดลอดออกมาได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสื่อมวลชน ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และน่าหนักใจแทนประชาชนชาวไทย ที่ไม่สามารถรับรู้ความจริงได้อย่างหมดเปลือก ซึ่งบางเรื่องถูกปล่อยให้คลุมเครือแล้วก็เงียบไป หรือข่าวบางเรื่องไม่มีโอกาสที่จะออกมาเผยแพร่ได้
 
ดังกรณี คำสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยจอม เพชรประดับ ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะไม่มีอิสระในการทำงาน เกือบทุกฝ่ายมีคนที่มีอิสระเหนือรัฐบาลเข้าไปแทรกแซง ทำให้เขาไม่เชื่อในกระบวนการความยุติธรรมของสังคมไทย ดังกรณีซื้อที่ดินที่รัชดา ที่คนซื้อไม่ผิด คนขายไม่ผิด แต่ตลกที่คนผิดเป็น ทักษิณ ที่เขาเอาบัตรประชาชนไปค้ำประกันให้ภรรยาซื้อที่ดิน”
 
จะเห็นได้ว่าเนื้อหาบางส่วนนั้นเป็นการโจมตีรัฐบาล จึงทำให้โดนสั่งห้ามเผยแพร่ข่าวนี้ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิของนักข่าวที่จะสัมภาษณ์ใครก็ได้ แม้แต่นักโทษประหารยังมีโอกาสให้สัมภาษณ์ได้ และอดีตนายกฯก็มีสิทธิ์ในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งน่าจะไม่ผิดที่สื่อให้ความเป็นกลางนำเสนอข่าวทั้งสองด้าน แต่รัฐบาลไม่ต้องการให้ข่าวนี้นำเสนอออกไป เท่ากับว่ารัฐบาลใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงสื่อไม่ให้นำเสนอข่าวของคนฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่เป็นแค่ให้สำภาษณ์ทั่วไปอาจจะเป็นความจริงหรือเป็นแค่การกล่าวอ้าง แต่มันก็คือข่าวที่เป็นการเคลื่อนไหวอยู่ขณะนั้น ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรู้
 
ในทางกลับกันกรณี ของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้จัดรายการสนทนาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ชื่อรายการความจริงวันนี้ โดยมีเนื้อหาโจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างรุนแรง เท่ากับว่ารัฐบาลสมัยนั้นเลือกปฏิบัติและเปิดโอกาสใช้สื่อไม่เท่าเทียมกันทุกฝ่าย โดยใช้สื่อเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลฝ่ายเดียว
 
ทั้งสองกรณีตัวอย่างเป็นการแทรกแซงสื่อโดยรัฐบาลที่ได้ตัดสินใจแทนประชาชนว่าไม่ควรรู้ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเชื่อคำพูดของใคร การทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะรับรู้ในสิ่งที่อีกฝ่ายตอบโต้ได้ คือประชาชนต้องรับรู้ข่าวสารเพียงด้านเดียว เมื่อรับรู้ซ้ำๆ นานๆ เข้าคนส่วนใหญ่จะเกิดความเชื่อว่านั้นคือเรื่องจริงที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงข่าวลวงก็ตาม เพราะสื่อสามารถสร้างความเชื่อได้ (เป็นโชคดีของผู้เป็นใหญ่ทุกยุคทุกสมัยที่ใช้อำนาจสร้างความเชื่อได้)
 
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อให้เห็นภาพของอิทธิพลของสื่อ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างมีพลัง อำนาจ แต่ไม่มีโอกาสอยู่เหนือการควบคุม เพราะสื่อเป็นเครื่องมือ ที่ถูกแทรกแซงโดยผู้ที่มีอำนาจรัฐ ดังนั้นความถูกต้องเที่ยงตรง จริงแท้และยุติธรรม จึงยากที่จะเกิดขึ้นในสังคมข่าวสารของไทย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความสับสน ซับซ้อนและซ่อนเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง เต็มไปด้วยผลประโยชน์ตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่างก้าวเข้ามาเล่นเกมการเมือง และต้องใช้กระแสสื่อเป็นตัวหล่อเลี้ยงอำนาจของตนให้อยู่รอดต่อไป ดังนั้นมันก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักการเมืองที่ต้องเข้าไปดึงสื่อมาไว้เป็นพวก
 
สำหรับประชาชนทั่วไปผู้เสพสื่อ ควรจะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณา คิดตั้งคำถามความเป็นไปได้ของกระแสข่าวและควรหาคำตอบเพิ่มเติม ก่อนรับเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อจดจำและวิพากษ์วิจารณ์
 
สำหรับสื่อมวลชน ผู้นำสื่อ ผู้สื่อสาร ควรที่จะคำนึงถึงจรรยาบรรณ ความถูกต้องและความเป็นธรรมแก่ประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่นำพาแต่ข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นกลาง ไร้การควบคุม โดยคำนึงถึงความสมานฉันท์ในสังคมเป็นสำคัญ เพราะสื่อมวลชนคือคนกลางที่สามารถประสานความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายได้ ด้วยพลังที่ยิ่งใหญ่ของสื่อที่ซื่อตรง ที่อาจนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net