ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยผิดหวัง‘ไม่มีประชาชน’ในที่ประชุมอาเซียน

 
 
24 ต.ค.52 ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) ออกแถลงการณ์เรื่อง การประชุมอาเซียนที่ไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ระบุ รู้สึกผิดหวังกับท่าทีของผู้นำชาติอาเซียนหลับตาข้างหนึ่งโดยไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมอาเซียน  เลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของของภาคประชาสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของอาเซียนเองที่มีวิสัยทัศน์ให้ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” พร้อมสนับสนุนสนับสนุน “แถลงการณ์เวทีมหกรรมอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 2 การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที 5” และสนับสนุนให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน (AICHR) ดำเนินการตรวจสอบและผลักดันบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนในอาเซียน อย่างเป็นอิสระและโปร่งใส โดยเฉพาะต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบที่กำลังดำเนินอยู่
 
 

แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD)
เรื่อง การประชุมอาเซียนที่ไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
 
จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย ในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้  ซึ่งเดิมได้มีกำหนดการให้ผู้แทนภาคประชาสังคมทั้ง 10 ประเทศเข้าพบผู้นำอาเซียนในวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อร่วมหารือและเสนอแนะความเห็น ตลอดจนข้อเสนอของภาคประชาชนอาเซียน ต่อที่ประชุมสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน(ASEAN) ตามเจตนารมณ์ที่อาเซียนต้องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งหวังให้เกิดบทบาทความร่วมมืออันดีต่อกันระหว่างผู้นำรัฐบาลและภาคประชาสังคมในการพัฒนาสังคม ความมั่นคงมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
 
แต่ปรากฏว่าผู้นำชาติอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา พม่า ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ กลับกีดกันไม่ให้ผู้แทนจากที่ประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชนของชาติตนเองเข้าพบ แต่ให้ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ตนเองคัดเลือกเข้าพบแทน ในขณะที่ผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียนจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ แต่ห้ามแสดงความคิดเห็นใดๆ นอกจากแถลงการณ์ เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจของภาคประชาสังคมอาเซียนอย่างรุนแรง ต่อความไม่จริงใจของผู้นำอาเซียน และมีมติคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมตามนัดหมายในวันดังกล่าว 
           
นอกจากนี้ กำหนดการเดิมที่จะให้มีการพบปะระหว่างภาคประชาชนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ต่อจากการพบผู้นำประเทศอาเซียนก็ได้ถูกยกเลิกไปด้วย เพราะการตั้งเงื่อนไขว่า ไม่ให้ชาวโรฮิงญา ชาวขะแมกรอม และพม่า เข้าพบ ซึ่งเป็นการปฏิเสธการยอมรับชนพื้นเมืองและชาติพันธุ์
           
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD)ในฐานะองค์กรเยาวชนคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอาเซียน โดยเป็นสมาชิกของ Young Progressives South East Asia(YPSEA) และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ASEAN Youth Forum รวมทั้งมหกรรมภาคประชาสังคมอาเซียน หรือ  ASEAN People Forum ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 – 20 ตุลาคมที่ผ่านมา มีข้อเสนอและความคิดเห็นดังต่อไปนี้
 
1.เรารู้สึกผิดหวังกับท่าทีของผู้นำชาติอาเซียนดังกล่าว ที่หลับตาข้างหนึ่งโดยไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมอาเซียน  เลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของของภาคประชาสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของอาเซียนเองที่มีวิสัยทัศน์ให้ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
           
2.เราขอสนับสนุน “แถลงการณ์เวทีมหกรรมอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 2 การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที 5” ที่เน้นย้ำถึงภารกิจของอาเซียนจะต้องให้บทบาทของภาคประชาสังคมอาเซียน ในการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)  ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) และประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community - APSC) เข้ามีส่วนสำคัญในทางนโยบายและการแก้ไขปัญหาร่วมกันของชาติสมาชิกประชาคมอาเซียน รวมถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร้ความรับผิดชอบของบรรษัทและกลุ่มทุนต่างๆ
           
3.เราขอคัดค้านการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวินและในภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งที่จะมีผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำอย่างรุนแรง รวมถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปีหน้านั้น ยังไม่เกิดรูปธรรมในการเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจสำมะโนครัวประชากร การยกเลิกการปิดกั้นสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง การปลดปล่อยนางอองซาน ซูจีและนักโทษทางการเมืองทั้งหมด การยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชนและการปิดกั้นสิทธิทางความคิด การออกกฎหมายการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยและเปิดให้มีการจดทะเบียนพรรคอย่างเป็นธรรมท่ามกลางทางเลือกที่หลากหลาย โดยขอให้สมาคมอาเซียน มีบทบาทในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง และให้ภาคประชาสังคมอาเซียนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด
 
           
4.เราขอสนับสนุนให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน (AICHR) ดำเนินการตรวจสอบและผลักดันบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนในอาเซียน อย่างเป็นอิสระและโปร่งใส โดยเฉพาะต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของอาเซียนที่ข้ามพ้นพรมแดนแห่งรัฐและเป็นปัญหาร่วมของอาเซียน โดยการเข้าตรวจสอบ ดูแล เสนอแนะการแก้ไขปัญหาต่อรัฐใดๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐ ตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการข่มขืนอย่างเป็นระบบและความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่น ๆ ที่กระทำต่อผู้หญิงและเด็ก การใช้หรือการจัดหาทหารเด็ก แรงงานบังคับ การฆ่าตัดตอน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ประเทศใดละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง ทั้งการละเมิดต่อหลักธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม จะต้องมีการหยิบยกเพื่อแก้ไขปัญหาในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เราขอเรียกร้องให้ผู้นำชาติอาเซียน สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนอย่างเต็มที่ รวมถึงดำเนินการและสนับสนุนกลไกและตัวแทนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค อย่างเช่นผู้ตรวจสอบพิเศษ (Special Rapporteurs) ในกรณีประเทศพม่าและกัมพูชา รวมทั้งกลไกอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน ความรุนแรงต่อผู้หญิง ความเป็นอิสระของหน่วยงานตุลาการและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
 
ด้วยความคาดหวังต่ออนาคตอาเซียน
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD)
24 ตุลาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท