บันทึกการเดินทางนักวิจัยในอาเจะห์: เมื่อฉันถูกเจ้าหน้าที่จับตาดู

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังทำวิจัยเรื่อง “การเจรจาและการรักษาสันติภาพในอาเจะห์: บทเรียนสำหรับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย” ร่วมกับ อ.ดร.ชนินทิรา ณ ถลาง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.)

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในตอนค่ำวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมกลางเมืองหลวงของจังหวัดอาเจะห์ ฉันรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมการส่งข้อความหรือ sms เนื่องจากว่าค่าโทรศัพท์ในประเทศอินโดนีเซียแพงมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพหรือเมื่อเทียบกับค่าโทรศัพท์ของประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นคนที่นี่มักจะส่งข้อความหากันมากกว่าจะใช้การโทรศัพท์

เบอร์ที่โชว์บนโทรศัพท์เป็นเบอร์ของเพื่อนที่ทำงานองค์กรเอ็นจีโอแห่งหนึ่งในบันดา อาเจะห์ เมื่อรับสาย เสียงจากอีกด้านก็ส่งมาว่า

“อรอนงค์, ผมได้รับข่าวจากเพื่อนที่ Takengon (เมืองเอกของอาเจะห์ภาคกลาง) ว่าคุณกำลังถูกเจ้าหน้าที่ (ด้านความมั่นคง) จับตาดูอยู่”

เมื่อได้ยิน ฉันรู้สึกขำเพื่อนมากกว่า เพราะคิดว่าเขาล้อเล่น

“(ชื่อเพื่อน) ล้อเล่นน่า ไม่กลัวหรอก”

ฉันตอบกลับไปเช่นนั้น เพราะคิดว่าเพื่อนล้อเล่นจริงๆ เมื่อเห็นฉันอยู่คนเดียว เนื่องจากว่าเพื่อนร่วมวิจัยของฉันมีภารกิจต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนหน้าฉัน คือเธอกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2552
“อรอนงค์..นี่ซีเรียสนะ ....(เขาเอ่ยถึงชื่อเพี่อนที่ทำงานองค์กรเอ็นจีโอด้านช่วยเหลือกฎหมายในพื้นที่อาเจะห์ภาคกลาง) จาก Takengon ฝากให้มาบอก คุณต้องการจะย้ายโรงแรมไหม มาอยู่ใกล้ๆ กับที่ทำงานผมไหม เผื่อมีอะไรจะได้เป็นหูเป็นตาได้”

ฉันอึ้งไปเล็กน้อยเมื่อได้ทราบว่าเพื่อนไม่ได้ล้อเล่น

“..... ซีเรียสมากไหม และเป็นพวกไหนทหารหรือตำรวจ แล้วอย่างมากที่สุดที่ฉันจะโดนคืออะไร”
ฉันถามเพื่อน

“ก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะแค่ตามๆ ดู แต่เพื่อความสบายใจ ย้ายโรงแรมดีกว่าผมแนะนำ”
เพื่อนตอบกลับมา

“อืม ขอคิดดูก่อนนะ..... เพราะเหลืออีกแค่สามคืนเองรวมคืนนี้ด้วยที่ฉันจะอยู่ที่บันดาอาเจะห์นี่”
ฉันตอบกลับไป วินาทีนั้น คิดเป็นห่วงว่าจะขนของทั้งหมดไปโรงแรมใหม่อย่างไร มากกว่าเรื่องความปลอดภัย

“โอเค...อรอนงค์คิดดูก่อนแล้วกัน ถ้าจะย้ายพรุ่งนี้พวกผมไปช่วยขนของได้”

“ขอบคุณมาก (ชื่อเพื่อน) ถ้ายังไงพรุ่งนี้จะส่งข่าวนะ”

เมื่อเพื่อนวางสายไป...ฉันยังงงๆ อึ้งๆ อยู่หลายนาทีและเมื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วก็มั่นใจว่าเพื่อนไม่ได้ล้อเล่นแน่ๆ

วันที่ 25 พฤษภาคม หลังจากไปส่งเพื่อนร่วมวิจัยที่สนามบินแล้ว ฉันก็กลับไปที่โรงแรม นั่งทำงาน อ่านข้อมูล ก็มีเสียงเคาะประตูดังขึ้น ฉันแปลกใจเล็กน้อยว่าใครมาเคาะ เพราะห้องก็ทำความสะอาดแล้ว ปกติอาหารเช้าจะถูกเอามาส่งตั้งแต่แปดโมง เมื่อเปิดประตูก็เจอผู้ชายแต่งชุดทางการใส่สูท เหมือนพนักงานโรงแรม แต่ฉันไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เขามาถามหาขอดูพาสปอร์ตของฉัน

ฉันงงๆ ถามว่าเป็นใครมาจากไหน เขาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรม ฉันถามกลับไปว่าทำไมไม่ขอดูพาสปอร์ตตั้งแต่วันที่เข้าพัก นี่อีกสองวันฉันจะกลับอยู่แล้ว (วันที่เข้าพักทางโรงแรมไม่ได้ขอสำเนาพาสปอร์ตหรืออะไร และฉันคิดว่าเพราะฉันเคยมาพักที่นี่แล้ว เขาคงมีข้อมูลหมดแล้ว) ... ชายคนดังกล่าวบอกว่าจริงๆ แล้วต้องขอดูตั้งแต่วันเข้าพัก

ฉันก็โอเคเอาพาสปอร์ตมาให้เขาดู ... เขาถามว่าขอวีซ่าอะไรเข้ามา นี่เป็นความผิดพลาดของฉันเอง เพราะไม่ได้ขอวีซ่ามา เพราะคิดว่าเป็นสมาชิกประเทศอาเซียนด้วยกัน สามารถอยู่ได้สามสิบวันโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ฉันเข้าออกอินโดนีเซียนับครั้งไม่ถ้วน นอกจากครั้งแรกแล้วนอกจากนั้นฉันไม่เคยขอวีซ่าเลย

“ไม่ได้ขอวีซ่าค่ะ เพราะสมาชิกอาเซียนได้รับอนุญาตให้อยู่ได้สามสิบวันโดยไม่ต้องใช้วีซ่า”

หน้าตาคนที่มาดูขึงขังจริงจัง ฉันเองก็หน้าไม่รับแขกเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าทำไมไม่ขอเวลาที่ฉันจะออกไปข้างนอกเมื่อผ่านเคาน์เตอร์ต้อนรับ ฉันรู้สึกเหมือนถูกล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัว

เขาเปิดๆ ดูพาสปอร์ตซักพัก แล้วก็บอกว่าขอเอาไปถ่ายเอกสาร แต่ฉันถ่ายเตรียมไว้แล้ว ก็เลยบอกว่ามีสำเนาอยู่ เขาบอกว่าต้องเอาไปถ่ายเอกสารทุกหน้าจนถึงหน้าสุดท้ายด้วย

อะไรจะขนาดนั้น(วะ) ฉันคิดในใจ แต่ก็ต้องให้ไป

ครู่ใหญ่ มีเสียงมาเคาะประตู เป็นพนักงานโรงแรมที่ฉันคุ้นหน้าเอาพาสปอร์ตมาคืนด้วยกริยานอบน้อมและเอ่ยขอโทษที่รบกวน ต่างจากชายที่มาขอพาสปอร์ตโดยสิ้นเชิง

และฉันยิ่งไม่แปลกใจเมื่อคิดถึงสิ่งที่ฉันได้เห็นด้วยตาและสัมผัสที่พื้นที่อาเจะห์ภาคกลาง ซึ่งการที่ฉันไปพื้นที่อาเจะห์ภาคกลางอาจจะนำมาซึ่งการถูกเจ้าหน้าที่จับตาดู

นี่เป็นการไปอาเจะห์ครั้งที่สองของฉันระหว่างวันที่ 13-29 พฤษภาคม 2552 ฉันไปอาเจะห์ครั้งแรกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2552 ในครั้งนั้นฉันได้มีโอกาสไปพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานสำคัญของขบวนการอาเจะห์เอกราช หรือ GAM (ชื่อขบวนการนี้ต้องเป็น “ขบวนการอาเจะห์เอกราช” ไม่ใช่ “ขบวนการอาเจะห์เสรี” เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือต้องการเอกราช ตั้งประเทศของตัวเองขึ้นมา จากการพูดคุยกับอดีตนักรบ เขาบอกว่าการใช้คำว่า “เสรี” เป็นการลดทอนความรุนแรงของการต่อสู้ของพวกเขา) คราวนั้นเป็นช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 9 เมษายน 2552

อาเจะห์เป็นจังหวัดเดียวที่มีพรรคการเมืองท้องถิ่นลงแข่งขันในการเลือกตั้งคราวนี้ พรรคการเมืองท้องถิ่นที่อาเจะห์ที่มีคุณสมบัติผ่านการพิจารณาให้ลงสมัครรับเลือกได้มีทั้งหมด 6 พรรค แต่แน่นอนว่าพรรคที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดคือ พรรคอาเจะห์ หรือ PA (Partai Aceh) ซึ่งก็คือ GAM นั่นเอง ชาวบ้านที่นั่นร้อยละ 99.99 สนับสนุนพรรคอาเจะห์ แม้ว่าเมื่อสอบถามว่าอะไรคือนโยบายหลักของพรรค ชาวบ้านส่วนมากจะตอบไม่ได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาของ MOU ระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่ม GAM แทบไม่มีชาวบ้านคนไหนเคยอ่าน เหตุผลของชาวบ้านคือ เลือกพรรคอาเจะห์เพราะสนับสนุน GAM และยังมีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่าเป้าหมายของพรรคอาเจะห์คือต้องการให้อาเจะห์เป็นเอกราช


ธงพรรคอาเจะห์


ซากบ้านคนที่ทหารเผาที่อาเจะห์ภาคเหนือ


พื้นที่อาเจะห์ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาน้อยมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดง มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงและเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของกลุ่ม GAM ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง สมัยช่วงที่ยังมีการสู้รบพื้นที่แห่งนี้ชาวบ้านต้องพกพาสปอร์ตพิเศษเมื่อจะไปไหนมาไหน ต้องเตรียมพร้อมเสมอสำหรับการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ทหาร

บรรยากาศของช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่อาเจะห์ภาคเหนือเป็นไปด้วยความคึกคักอย่างยิ่ง มีการประดับประดาธงของพรรคต่างๆ ตลอดแนวถนน แน่นอนว่าธงที่เห็นมากที่สุดคือธงสีแดงของพรรรอาเจะห์ซึ่งก็คือธงของ GAM เพียงแค่เปลี่ยนตัวอักษรจาก GAM เป็น PA เท่านั้น

แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานของ GAM แต่ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง นั่นคือการที่เจ้าหน้าที่ทหารปลดธงและป้ายหาเสียงของพรรคอาเจะห์ออกในบางพื้นที่โดยอ้างว่าปิดป้ายโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นและกลายเป็นการจลาจลย่อยๆ ในที่สุดกองทัพอินโดนีเซียออกมาแถลงว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย ทหารที่ทำนั้นทำโดยพลการและได้มีการสั่งลงโทษไปแล้ว แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านยังรู้สึกระแวงไม่วางใจทหาร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นที่อาเจะห์ภาคเหนือนับว่าเป็นความขัดแย้งที่เบามาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่อาเจะห์ภาคกลาง ก่อนเดินทางไปพื้นที่อาเจะห์ภาคกลาง ฉันได้รับการเตือนจากเพื่อนที่ทำงานองค์กรเอ็นจีโอว่า ที่อาเจะห์ภาคกลางถ้าคนต่างชาติเข้าไปจะต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ด้วยเหตุผลที่ว่า พื้นที่อาเจะห์ภาคกลางเกิดคดีอาชญากรรมบ่อยครั้งโดยเฉพาะหลังการลงนาม MOU และเพื่อความปลอดภัยของคนต่างชาติ ดังนั้นจึงต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ ฉันกังวลเรื่องนี้เพราะคุ้นเคยกับระบบราชการของอินโดนีเซียดี ฉันไม่ได้ขอวีซ่าในการทำวิจัยเข้ามา หากไปรายงานตัว แล้วถูกถามว่ามาทำอะไร ฉันจะตอบอย่างไร ก่อนหน้าที่จะไปก็ได้ปรึกษากับเพื่อนอย่างหนักว่าฉันควรจะไปรายงานตัวหรือไม่ไป สุดท้ายจากการใคร่ครวญและคำแนะนำของเพื่อนๆ ก็ได้ข้อสรุปว่าจะไม่ไปรายงานตัว เพราะกฎดังกล่าวเป็นการกำหนดขึ้นมาเองโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่นั่น ไม่ใช่กฎที่ใช้กันทั่วประเทศอินโดนีเซีย แต่ฉันรู้ดีว่าประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การอธิบายแบบนี้ใช้ไม่ได้ผล


หมู่บ้านในอาเจะห์ภาคกลาง

อาเจะห์ภาคกลางเป็นภูมิภาคที่มีภูมิประเทศและอากาศที่ดีมาก คืออากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดทั้งปี เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบ และด้วยอากาศที่เย็นทำให้มีการปลูกกาแฟกันมากที่พื้นที่นี้ ซึ่งกาแฟที่ผลิตจากที่นี่ว่ากันว่าเป็นกาแฟที่คุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอาเจะห์ด้วย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอาเจะห์ภาคกลาง แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นที่รู้จักคนภายนอกมากนัก


ทะเลสาบที่อาเจะห์ภาคกลาง

อาเจะห์ภาคกลางมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์มาก คือประกอบไปด้วยกลุ่มชาวอาเจะห์, กลุ่มชาวกาโย (Gayo), กลุ่มชาวชวา และกลุ่มชาวจีน แต่ละกลุ่มต่างมีภาษา และวัฒนธรรมเป็นนของตัวเอง และในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม GAM และรัฐบาลกลาง กลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มอาเจะห์ส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุน GAM หรืออย่างน้อยก็เห็นใจ ส่วนกลุ่มกาโยมีทั้งที่เข้าข้าง GAM และทหารอินโดนีเซีย ในขณะที่กลุ่มชวามักจะให้การสนับสนุนรัฐบาลกลาง กลุ่มชาวจีนเป็นคนส่วนน้อยของอาเจะห์ภาคกลาง มีทั้งที่เห็นใจ GAM และเข้าข้างรัฐบาลกลาง

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่อาเจะห์ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่ GAM ไม่สามารถครองอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เพราะมีการต่อต้านจากชาวบ้านที่ไม่เข้าข้าง GAM ในช่วงสงคราม พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่มีการต่อสู้หนักหน่วงอย่างมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ในขณะที่ GAM มีกองกำลังติดอาวุธเข้าไปปฏิบัติการ และพยายามโน้มน้าวชาวบ้านให้เข้าร่วมต่อสู้กับขบวนการ ทหารอินโดนีเซียก็ก่อตั้งกองกำลังหทารบ้านขึ้นมา เรียกว่า milisi ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการ เชื่อกันว่ากลุ่ม milisi ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากกองทัพอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามผู้นำกลุ่ม milisi ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และยืนยันว่ากลุ่มพวกเขามีเพียงจอบ เสียม เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายและการคุกคามจากพวก GAM เท่านั้น กลุ่ม milisi ไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า milisi พวกเขามีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Peta ซึ่งย่อมาจาก Pembela Tanah Air แปลว่าผู้พิทักษ์มาตุภูมิ และกลุ่ม Peta นี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

จากการพูดคุยกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่ากลัวทั้งสองฝ่าย และถูกทั้งสองฝ่ายคุกคาม ลักพาตัว และทำร้ายพอๆ กัน หากต้องสงสัยว่าชาวบ้านให้การสนับสนุนอีกฝ่าย พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่ที่มีเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากช่วงสงครามจากการกระทำของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจนถึงปัจจุบันการเยียวยายังเกิดไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะทำอย่างไรให้เหยื่อจากทั้งสองฝ่าย รวมถึงอดีตนักรบและกลุ่ม milisi สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม

หลังการลงนามใน MOU ระหว่างกลุ่ม GAM กับรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อปี 2005 นำมาซึ่งการยุติการสู้รบอันยาวนานกว่าสามสิบปี ผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอาเจะห์สามารถสัมผัสได้ถึงสันติภาพแม้ว่าจะเป็นเพียงผิวเผินและยังไม่สามารถมีใครจะยืนยันได้ว่าสันติภาพในอาเจะห์จะดำรงอยู่ได้ตลอดไป แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังสามารถใช้ชีวิตตามที่ควรจะเป็นได้มากขึ้น เช่น ออกไปทำนาทำไร่ สามารถออกนอกบ้านตอนค่ำคืนได้ สามารถนั่งทานอาหารริมถนนได้ โดยไม่ต้องกลัวจะโดนยิงหรือโดนระเบิด และไม่มีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้พวกเขาทำในสิ่งที่กล่าวข้างต้น

แต่ทว่าที่พื้นที่อาเจะห์ภาคกลางสภาพเช่นนี้กลับเกิดน้อยกว่าที่อื่นๆ ชาวบ้านที่นั่นยังรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจกันระหว่างผู้คนในหมู่บ้าน อย่างน้อยๆ ชาวบ้านเชื่อว่ายังมีความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มนักรบเก่า (GAM) กับกลุ่ม Peta ชาวบ้านต่างกลัวว่าคนที่พบเจอตามร้านรวงต่างๆ ตามถนนหนทางจะเป็นสายลับของอีกฝ่ายหนึ่ง และฉันเองยังสามารถสัมผัสรับรู้ได้ถึงความหวาดระแวง บรรยากาศอึดอัดของคนที่นั่น ไม่ว่าจะพูดอะไร หรือทำอะไร คนที่นั่นจะต้องระแวดระวังอยู่เสมอว่าอีกฝ่ายเป็นใคร เป็นพวกไหน เป็นสายให้ใครหรือเปล่า

ฉันถูกคนที่เพื่อนแนะนำให้ไปสัมภาษณ์ขู่เรื่องสายลับ เขาขู่ว่าทุกโรงแรมในอาเจะห์ภาคกลางจะมีสายลับคุมอยู่ ไม่ว่าใครจะเข้าจะออกจากเมือง จะถูกจับตามองด้วยสายลับทั้งสิ้น และหลังจากที่กลับมาที่บันดา อาเจะห์แล้ว ฉันถึงได้เอะใจว่าเขานั่นเองที่อาจจะเป็นสายลับให้กับทางการ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องการสนับสนุนการแยกตัวออกเป็นจังหวัดใหม่ของพื้นที่อาเจะห์ภาคกลาง ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้าจะมีการลงนามใน MOU แต่จนถึงปัจจุบันกระแสความคิดเรื่องแยกตัวเป็นอีกจังหวัดก็ยังคงอยู่ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายพูดคล้ายๆ กันว่า นั่นเป็นความคิดและการริเริ่มจากนักการเมืองส่วนกลางที่ต้องการก่อให้เกิดความแตกแยกในอาเจะห์ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีชาวบ้านบางส่วนที่เห็นด้วยแน่นอน ฉันยังเห็นป้ายติดที่ถนนแสดงการสนับสนุนการแยกตัวเป็นจังหวัดใหม่อยู่ประปราย


ธงสนับสนุนการแยกตัวเป็นจังหวัดของพื้นที่ภาคกลาง

ในที่สุดฉันสามารถกลับไปบ้านได้อย่างปลอดภัย ยังนึกแบบติดตลกว่าก็ดีเหมือนกันที่มีเจ้าหน้าที่มาคอยติดตาม จะได้มีคนคอยดูแล เพราะตอนนั้นก็อยู่คนเดียวเพื่อนร่วมวิจัยกลับไปแล้ว แต่หากเรื่องไม่เพียงเท่านี้ฉันคงขำไม่ออกแน่ๆ และช่วงระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคมนี้ ฉันจะไปบันดาอาเจะห์อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้ไปพื้นที่อาเจะห์ภาคกลางเนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลา แต่ฉันก็มั่นใจว่าที่บันดาอาเจะห์ก็คงจะมีสายลับ มีคนจากหน่วยงานข่าวกรองความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายแทรกซึมอยู่ทั่วไป สภาพเช่นนี้มันจะทำให้สันติภาพในอาเจะห์ที่หลายฝ่ายพยายามบอกว่าจะสร้างขึ้นมา สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท