Skip to main content
sharethis

[Global Hunger]
ดัชนีวัดความหิวโหยของประเทศต่างๆ

สีแดงเข้ม=น่าหวาดวิตกมาก,
สีชมพู=น่าหวาดวิตก,
สีส้ม=ระดับร้ายแรง,
สีส้มอ่อน=อระดับปานกลาง,
สีครีม=ระดับต่ำ,
สีเทาเข้ม=ไม่มีข้อมูล,
สีเทาอ่อน=ประเทศอุตสาหกรรม
(International Food Policy Research Institute / BBC)

 
ตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมาทางองค์การอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) ได้มีมติให้วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันอาหารโลก (World Food Day) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนหันมาสนใจปัญหาอาหารโลกมากขึ้น และส่งเสริมการรวมพลังต่อสู้ด้านความหิวโหย การขาดอาหาร และความยากจน
 
ในวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา องค์กร ActionAid ได้ทำรายงานจัดอันดับประเทศที่สามารถลดการขาดแคลนอาหารได้มากที่สุด โดยจีน ติดอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากการที่สามารถลดจำนวนผู้ขาดอาหารได้ราว 58 ล้านคน ได้ภายใน 10 ปี และรัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย
 
ขณะที่อันดับ 1 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตกเป็นของบราซิล ซึ่งประธานาธิบดีลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซัลวา ได้รับคำชมจากการที่เขาสนับสนุนให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและมีครัวชุมชนสำหรับคนจน
 
อันดับ 3 เป็นของกาน่า ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีเสถียรภาพทางการเมือง และมีนโยบายให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อย อันดับ 4 เป็นของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียตนามที่สามารถลดระดับความยากจนได้ครึ่งหนึ่งในทศวรรษที่ 1990 และมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำ ส่วนอันดับ 5 เป็นของหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอย่างมาลาวี ที่แม้จะมีปัญหาเรื่องการระบาดของเชื้อ HIV แต่ก็สามารถจัดการปัญหาขาดแคลนอาหารได้ภายในเวลา 3 ปี
ส่วนอินเดียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 22 ถูกวิจารณ์ว่ามีประชาชนขาดแคลนอาหารมากขึ้น 30 ล้านคน นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990
 
ในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วก็มีการจัดอันดับเช่นกัน โดยลักเซมเบอร์กได้อันดับ 1 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น , สหรัฐอเมริกา และ นิวซีแลนด์ อยู่ท้ายตาราง โดยในรายงานของ ActionAid ยังระบุอีกว่า นโยบายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพหรือ Biofuel นั้น เป็นการลดจำนวนทรัพยากรอาหาร ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น และเป็นการทำลายเกษตรกรรายย่อยอย่างช้า ๆ
 
การให้คะแนนในครั้งนี้ให้นอกจากผลลัพธ์แล้วยังให้ความสำคัญกับความพยายามและความก้าวหน้าอีกด้วย ทำให้ประเทศเล็ก ๆ อย่างลักเซมเบอร์กได้อันดับหนึ่ง ขณะที่นิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ในอันดับต่ำสุดนั้น เนื่องจากมีการตัดการช่วยเหลือด้านการเกษตร ส่วนสหรัฐฯ อันดับสองจากท้ายตาราง
 
นอกจากนี้ในรายงานยังมีการสนับสนุนให้ประเทศอุตสาหกรรมเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกเนื่องจากมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร
 
 
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก
Food Day praise for Brazil, China, Mark Doyle, BBC, 16-10-2009
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net