สุรชาติ บำรุงสุข: ปฏิรูปการเมืองรอบที่ร้อยก็ไม่ยั่งยืน (ถ้าไม่ปฏิรูปกองทัพ)

 
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนถึง พ.ศ.นี้ เรายังต้องพูดคุยกันเรื่องบทบาทของกองทัพกับการเมืองอยู่ เพราะมันยังคงเป็นเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยก้าวๆ หยุดๆ สะดุดและถอยหลังอย่างสม่ำเสมอ
‘สุรชาติ บำรุงสุข’ นักวิชาการจากรั้วจามจุรีที่ศึกษาด้านความมั่นคงมายาวนานพูดถึงโจทย์สำคัญเรื่องนี้กันอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องคิด “พิมพ์เขียวความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล” กันอย่างจริงจัง
เรามีวีรชนมากมายจากหลายเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  6 ตุลา 2519  พฤษภา 2535  ครั้งแล้วครั้งเล่ากับความสูญเสียที่แลกมากับชัยชนะชั่วครู่ยาม หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 ผู้คนพากันนอนใจ และพากันมุ่งความสนใจไปยังโจทย์ปฏิรูปการเมือง ซึ่งวันนี้หลัง 19 กันยา 2549 เราก็กำลังถกเถียงกันอยู่ว่ามันควรออกมาในรูปแบบไหน
แต่บทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดจนทำให้นักวิชาการด้านความมั่นคงคนนี้ยืนยันว่า
“การปฏิรูปการเมือง ในท้ายที่สุดถ้าเกิดขึ้นได้ก็ไม่ยั่งยืน จนกว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพคู่ขนานกันไป”
0000
 
ถาม- ชนชั้นนำไทยมักเชื่อว่าการยึดอำนาจจะแก้ปัญหาได้ มีสักครั้งไหมที่มันแก้ปัญหาได้จริง
สุรชาติ มันแก้ได้ในความหมายที่มองจากเขา มองจากเรา เราก็รู้สึกว่ารัฐประหารไม่แก้ปัญหา แต่มองจากมุมเขา เกือบทุกครั้งรัฐประหารมันแก้ปัญหา มันหายไปจริง เราเห็นอะไรในอดีต นักการเมืองเขาหิ้วกระเป๋ากลับบ้านไปเปิดสำนักทนายที่บ้าน รอให้รัฐธรรมนูญเปิดมาใหม่จึงเข้ามาหาเสียงใหม่ แต่พอปี 2549 มันแปลก เขาไม่กลับ เขาสู้ แล้วคนสู้ รัฐประหารเก่าๆ คนกลัวทหาร แต่รอบนี้สัญลักษณ์ที่สำคัญคือ คุณลุงที่ขับแท็กซี่ชนรถถัง เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านเชิงสัญลักษณ์ว่าคนไม่กลัวทหาร เอาเข้าจริงๆ กลายเป็นว่า สิ่งที่ พล.อ.สนธิ คิด ไม่ผิด ถ้าการเมืองปี49 มันอยู่ ณ ที่เดิมเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม หรือแม้กระทั่งช่วงก่อน 14 ตุลา
ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยไม่ตระหนักว่าการเมืองไทยมันเปลี่ยน และมันเปลี่ยนนานแล้ว ไม่ใช่เปลี่ยนเพราะทักษิณมา ทักษิณมาเป็นเพียงภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและอะไรอื่นๆ ทั้งหมดของระบบการเมืองไทย แต่เปลี่ยนแล้วมันเดินได้ไหมอีกเรื่องหนึ่ง
 
แต่วิธีการรัฐปะหาร และการหาเหตุผลในการรัฐประหารก็เปลี่ยนด้วยเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนไม่มีภาคประชาชนเข้ามาเป็นเงื่อนไข
สุรชาติ อันนี้เป็นการเปลี่ยนที่ใหญ่ เวลาล้มรัฐบาลพลเรือนสมัยก่อนไม่ต้องอ้างอะไรมาก คอมมิวนิสต์ เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนเป็น คอรัปชั่น ฉะนั้น วิธีคิดทั้งหลายทั้งปวงยังอยู่ที่เดิม แต่พอสังคมเปลี่ยนแล้วไม่ตระหนักว่าสังคมเปลี่ยน มันคือความอันตราย เพราะเอาวิธีคิดชุดเดิมมาใช้โดยคิดว่าจะควบคุมสังคมหลังกันยา 49 ได้
ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น คือ คุมอะไรไม่อยู่สักอย่างหนึ่ง ผมถึงพูดอยู่เสมอว่านี่แหละคือการเมืองใหม่ การเมืองใหม่ไม่ใช่ 70-30 แต่การเมืองใหม่ของจริงคือการเมืองที่รัฐประหารไม่สามารถเป็นคำตอบและเครื่องมือของการคุมระบบการเมืองได้เหมือนเช่นในอดีต
ที่เราเห็นชัด คนรุ่นผมในสมัย 6 ตุลา 14 ตุลา พูดกันเยอะเรื่องความตื่นตัวของประชาชนในยุคนั้น ซึ่งสงสัยไม่จริง จริงๆ คือพวกเราขบวนการนักศึกษาตื่นตัว แล้วเราก็อ้างประชาชน เราเห็นปี 35 ก็เห็นความตื่นตัวระดับหนึ่ง แต่ปี 49 เอาล่ะ อาจจะมีข้อขัดแย้งในภาคประชาชน แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือประชาชนตื่นตัวจริงๆ คุณลุงที่ขับรถแท็กซี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง เราเห็นการเมืองของคนชั้นล่าง หรือที่ชอบพูดกันว่ารากหญ้า อันนี้แหละคือของจริง เพียงแต่เราจะยอมรับไหมว่าวันนี้มันเกิดสงครามชนชั้น เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นในยุคที่ไม่มีคอมมิวนิสต์นำ เพราะมันมีโครงสร้างทางอำนาจของความเหลื่อมล้ำมานาน ไม่เคยปะทุ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องอธิบายด้วยลัทธิมาร์กซ์นะ เป็นแต่เพียงวันนี้รอยต่างของการเมืองไทยมันสะท้อนภาพอีกชั้นคือ โครงสร้างของอำนาจทางเศรษฐกิจ มันโยงถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง
ฉะนั้น การตื่นตัวของคนชั้นล่างหลังกันยา 49 วันนี้ชัด แล้วคนเมืองก็มีคำตอบว่า ถูกซื้อ โง่ พูดกันอย่างนั้นมาตลอด โดยเราไม่ยอมรับเลยว่าความตื่นตัวของประชาชนในชนบทเป็นอะไรที่น่าสนใจ เสียดายว่านักรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ไปกับกระแสวิธีคิดที่มองด้วยฐานะสายตาแบบคนเมือง ผมไม่อยากใช้คำว่าสายตาที่มีชนชั้นกำกับนะ ที่เชื่อว่าคนชนบทไม่สามารถตื่นตัวด้วยตัวเองได้ เหมือนกับในสมัยก่อน ชนชั้นนำไทยก็เคยเชื่อว่าคนชนบทตื่นตัวเองไม่ได้หรอก ต้องให้พรรคคอมมิวนิสต์มาปลุก ถ้าคนชนบทเริ่มสนใจการเมืองข้อหาก็คือ คอมมิวนิสต์ แต่เผอิญยุคนี้ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ก็กลายเป็นถูกซื้อ
ฉะนั้นมุมอย่างนี้น่าสนใจ เพราะพอการเมืองเคลื่อนไป กันยา 49 มันกลับไปคลิ๊กที่เมือง ชนชั้นกลางในเมือง สื่อ ปัญญาชน เอ็นจีโอ 4 พลังหลักของกระแสประชาธิปไตยเดิมในปี 35 มันเกิดอะไรขึ้น สามปีนี้บางคนยังไม่ใส่เกียร์ถอยหลังเลยนะ
เดิมอาจารย์ทำวิทยานิพนธ์เรื่องรัฐประหาร และมีข้อสรุปว่าทหารจะออกจากการเมืองต่อเมื่อทหารรู้ว่ามันมีต้นทุนในการอยู่ในการเมืองมันสูงกว่าการอยู่ในการเมือง ทีนี้หลังรัฐประหาร 49 ยังอธิบายอย่างนี้ได้ไหม แล้วตกลงทหารอยู่หรือถอยออกจากการเมือง หรือมันไม่ใช่แล้ว การทำรัฐประหารมันไม่ใช่ทหารแล้ว เพียงแค่ไม่กี่คนในทหาร
มันก็ยังอธิบายได้ เวลาทำรัฐประหารคงต้องทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องระดับผู้นำ คงไม่ได้หมายถึงทหารจริงๆ ทั้งหมด ในมุมของผู้นำทหาร ผมคิดว่าตัวอย่างของการถอยที่ชัดเจนคือการยอมเปิดให้สังคมไทยเป็นเสรีนิยมมากขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญปี 2521 ทหารยอมเข้าเกียร์ถอยหลังออกจากการเมือง และที่สำคัญกว่าคือเป็นการรักษาตัวสถาบันของทหาร ตรงนี้จะเปรียบเทียบได้กับเหตุการณ์พฤษภา35 ที่ทหารไม่ยอมประเมินสถานการณ์ หรือคำนวณรายรับรายจ่ายของการอยู่หรือถอย จึงเข้าเกียร์ถอยหลังไม่ทัน
แต่พอรอบนี้ผมกลัวว่าจะไปซื้อรถที่ไม่มีเกียร์ถอยหลังเข้า พอเดินเข้าไปก็ไม่ประเมินต่อ แต่พอเข้าปีที่3 ผมคิดว่าเขาเริ่มประเมิน ผู้นำทหารและทหารในหลายส่วนในกองทัพเริ่มคิด เริ่มเห็นการตื่นตัวของคนรากหญ้าในชนบท
ดังนั้น รัฐประหารรอบนี้น่าสนใจ กระบวนการคิด ไม่เฉพาะทหาร แต่กับชนชั้นนำไทยทั้งหมด รวมถึงพลังประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไปว่าตกลงจะอธิบายปัญหาแค่ความกลัวทักษิณอย่างเดียวหรือ หรือมันไปไกลเกินกว่าปัญหาการกลัวทักษิณ คิดว่าการรัฐประหารเป็นการถอยประเทศไทยออกจากระบบทุนนิยม เพราะเชื่อว่าทุนนิยมต้องสามานย์ ปัญญาชนฝ่ายซ้ายในอดีตที่เคยเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์อาจคิดว่าสอดรับเพราะดีที่ไม่เอาทุนนิยม แต่วันนี้ก็มีปัญหาว่า พอไม่เอาทุนนิยมมันจะเดินไปอย่างไร เพราะในโลกที่เป็นจริงก็คือทุนนิยมกับสังคมนิยม ถ้าสังคมนิยมไปไกลก็เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งวันนี้ก็ล้มไปหมดแล้ว ก็ไม่มีคำตอบอีก ในขณะที่ไม่มีคำตอบ การเมืองตกลงจะเอาประชาธิปไตยไหม ก็บอกเอาประชาธิปไตยแต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เราได้ยินบ่อยนะวลีนี้ คำพูดนี้ในอดีตคนที่พูดบ่อยคือจอมพลสฤษดิ์ แต่ตอนที่จอมพลสฤษดิ์พูดนั้นเขาอธิบายด้วย แต่คนรุ่นหลังพูดมันลอยๆ ไม่มีการอธิบาย ตกลงมันคือประชาธิปไตยแบบไม่มีการเลือกตั้งหรือเปล่า หรือเป็นประชาธิปไตยที่ต้องมีการควบคุม หรืออาจจะเรียกว่า Limited Democracy ประชาธิปไตยแบบจำกัด เอามาจากศัพท์ทางทหาร Limited War แต่ก็ไม่รู้อีกว่าจำกัดนี้มันขนาดไหน ผมก็เลยเปลี่ยนเป็น Control Democracy แต่ก็ไม่รู้ควบคุมขนาดไหน สุดท้ายจึงจบด้วยภาษาที่ใช้ในอินโดนีเซียคือ Guided Democracy หรือประชาธิปไตยที่ถูกชี้นำ ถ้าใช้สำนวนไทยๆ ก็คือ ประชาธิปไตยที่มีธงนำ พอเป็นอย่างนี้ มันเหมือนกับถอยการเมืองหลังยึดอำนาจไปก่อน 14 ตุลา 16 เป็นช่วงที่จอมพลถนอมยอมเปิดให้มีการเลือกตั้งแต่มีการ control ระบบการเมือง แต่เอาเข้าจริงเราก็เห็นจอมพลถนอมคุมไม่อยู่ ถอยกลับไปก่อนหน้านั้นสมัยจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ก็คุมรัฐสภาไม่อยู่อีก
ฉะนั้นเราเห็นกลุ่มการเมืองไทยโดยการควบคุมทั้งหลายทั้งปวงในยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ในยุคซึ่งโลกาภิวัตน์ยังไม่รุนแรง แต่พอจะมาคิดระบบควบคุมการเมืองไทยในยุคหลังกันยา 49 โลกาภิวัตน์เดินไปหมดแล้ว โลกทั้งโลกเดินไปหมดแล้ว รวมถึงสิ่งที่น่าสนใจคือ สงสัยคนชนบทจะเดินไปไกลกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเสียอีก คนในชนบทเริ่มมีความรู้สึกว่า เราพูดเรื่องประชาธิปไตยมาตั้งแต่สู้กับ พคท. ช่วงปลายสงครามคอมมิวนิสต์ พลเอกชวลิต (ยงใจยุทธ) ก็พูดชัดว่า ประชาธิปไตยเท่านที่จะนำพาประเทศไทยออกจากสงครามคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเราก็ชูเรื่องนี้มาตลอดหลัง 66/23 แต่พอวันนึงเราบอกไม่เอา
สมัยนั้นพคท.มีประมาณเท่าไหร่ในประเทศ ถึงล้านไหม เสื้อแดงดูจะเยอะกว่า พคท.นะ เขากลัวไหม แต่เห็นเมษาเขาก็ปราบได้
ตกลงกลัวจริงไหม ก็ถกกันได้เยอะ แต่ว่าในวันนี้เชื่อว่า รถที่เคยขับหลัง 49 ที่ไม่มีเกียร์ถอยหลัง วันนี้หลายคนคงคิดเหมือนกันว่า ถ้าเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไปเอาตุลาการมานั่งรถด้วยเป็นน้ำมันเครื่องพิเศษยี่ห้อตุลาการภิวัตน์ขับเคลื่อนแรง คนก็เริ่มเห็นปัญหามากขึ้น กฎหมายสองมาตรฐานและอะไรต่างๆ มันทำท่าจะมีปัญหาเครื่องยนต์เสียแล้ว แล้วเราก็เห็นการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนอย่างชัดเจน ตรงนี้เป็นมุมที่นักวิชาการและสื่อต้องให้ความสนใจ ผมไม่เชื่อว่าการขยายตัวตรงนี้เป็นเพียงเพราะถูกซื้อหรือถูกหลอก
ถ้าปัญหาเป็นอย่างนี้สิ่งที่น่าคิดต่อคือ ผู้นำกองทัพในช่วงข้างหน้าจะเป็นไปอย่างไร ประมาณปี 53 พล.อ.อนุพงษ์ ต้องเกษียณ แต่คนก็บอกว่าคิดแค่สั้นๆ ปลาย 52 ก็คงวุ่นแล้ว ปัญหาคือในระยะสั้น และระยะข้างหน้า ผู้นำกองทัพทั้งหลายตระหนักไหมว่าสังคมไทยเปลี่ยนแล้ว ผมคิดว่าคนในกองทัพเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าวันนี้มันไม่เหมือนเดิม
ทหารที่ทำรัฐประหารในวันนี้ก็ต้องเคยเป็นระดับล่างมาก่อน อะไรที่จะทำให้ทหารเข้าใจประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น การกล่อมเกลาของทหาร (Socialization) การทำรัฐประหารที่สำเร็จยิ่งไปเพิ่มแต้มให้ความเชื่อเรื่องรัฐประหารแก้ปัญหาได้ ทีนี้เขาจะเข้าใจได้อย่างไรว่าเขามีบทบาทอะไรในประเทศ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เขามาแก้ปัญหา ไม่ได้คิดว่าทหารเป็นคนไม่ดี เขารักชาติมาก แต่อะไรที่จะทำให้เขารู้สึกได้ว่าสถาบันแบบเขาจะอยู่กับประชาธิปไตยได้ ทหารในโลกประชาธิปไตยเขามีหน้าที่อะไร สงครามมันก็ไม่มีแล้ว
หลังพฤษภา 35 ก็มีคำถามอย่างนี้ ข้อที่น่าสนใจคือ ถามเสร็จคำตอบอาจจะมีไม่หมด และปัญหาคือเราไม่ถามต่อ และไม่แสวงหาคำตอบต่อ พูดง่ายๆ ว่าสังคมไทยทั้งหลังตุลาและพฤษภา 35 เราไม่เคยตอบคำถามกับตัวเองให้ได้เลยว่า ในที่สุดถ้าต้องสร้างประชาธิปไตย พื้นที่ทางการเมืองของกองทัพอยู่ตรงไหน และอยู่แค่ไหน ก่อนพฤษภา 35 มีความสำเร็จคือกุมภาพันธ์ 34 แต่ช่วงหนึ่งรัฐประหารล้มถึง 2 ครั้งช่วงนายกฯ เปรม คนก็เห็นว่าสงสัยรัฐประหารมันไปไม่ไหวแล้ว แต่มันไม่มีข้อเสนอจากภาคของปัญญาชนหรือภาคสังคมว่าถ้าต้องพัฒนาประชาธิปไตยต่อในระยะข้างหน้า ตกลงเราอยากเห็นทหารเป็นอะไร มีคำตอบหยาบๆ ว่า อยากเห็นทหารเป็นทหารอาชีพ ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร วันนี้โจทย์มันกลับไปที่ประมาณหลังพฤษภา 35 ถ้าเราอยากเห็นบทบาทเชิงบวกของทหารในระบอบประชาธิปไตย เราพอมีแนวคิดไหม
ตัวอย่างของต่างประเทศ เขาทำอะไรได้บ้าง ในละตินเขาทำกันอย่างไร
อย่างในละตินอเมริกาน่าสนใจ เพราะระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศในละติน ยุโรปใต้ และกับประเทศไทย มีร่องร่อยของระยะเวลาในช่วงเดียวกัน ประมาณทศวรรษ 1980 ข้อน่าสนใจสำหรับผมคือ จนถึงวันนี้ไม่มีรัฐรประหารในละตินอเมริกาที่ประสบความสำเร็จ ส่วนในยุโรปใต้นั้นจบไปแล้วในกรณีของสเปน โปรตุเกส แต่ของเรายังไม่จบทั้งที่ตัวเวลาเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านช่วงเดียวกัน ของเราระยะการพัฒนาทางการเมืองมันเหมือนเดินแล้วสะดุด ถอยหลังกลับไปทุกที หรือว่าเราไม่มีสังคมที่พร้อมที่จะคิดแล้วก็สร้างกรอบความคิดให้สังคมเพื่อนำพาระบอบการเมืองทั้งระบอบเดินไปข้างหน้า ผมสนใจการเมืองละตินอเมริกา เพราะระยะเปลี่ยนผ่านของเขาและเราไล่เลี่ยกัน แล้วเขาสามารถก้าวพ้นระยะเปลี่ยนผ่าน จนในทางทฤษฎีเชื่อกันว่ามันได้ก้าวเลยไปสู่ระยะของการสร้างประชาธิปไตยจริงๆ หรือที่เรียกว่า Democratic Consolidation แต่สังคมไทยเกือบถึงแล้วก็ถอย เกือบถึงแล้วก็ถอย ซึ่งผมไม่รู้ว่าเกิดอะไร
สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือ ภาคประชาสังคมของละตินอเมริกาไม่เคยหวนกลับมาเชื่อว่าพลังอำนาจของกองทัพจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมือง วันนี้ภาคประชาสังคมไทย องค์ประกอบ 4 ส่วนที่เคยเป็นพลังหลักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางในเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัย สื่อและผู้นำเอ็นจีโอ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ อาการสะอึกของเครื่องยนต์ก็คงเกิดขึ้นอีก เพียงแต่เมื่อไหร่
สิ่งที่ผมที่สุดคือ หลายปีที่ผ่านมานี้ เขาเลิกเอาพวกผมที่เป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ไปวิเคราะห์การเมืองแล้ว ต้องใช้โหร การใช้โหรสะท้อนว่าวงวิชาการอธิบายการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากเท่าดวงดาว โดยคำอธิบายทางวิชาการไม่น่าตื่นเต้นแล้ว หรืออธิบายกลับกันก็คือพวกเรานักวิชาการอธิบายจากฐานของการเมืองเดิม แต่พอวันนี้การเมืองมันเปลี่ยนใหม่อย่างนี้ ผมคิดว่าดาวตอบได้มากกว่า จริงๆ ควรต้องชวนโหรมานั่งคุยดีกว่า
ในวงการทหารมีแนวคิดรุนแรงแบบกลับไปปิดประเทศเป็นพม่าเลยไหม
ถ้าจะมี มันก็มีในทุกปีกไม่เฉพาะทหาร ปีกขวาที่ตกขอบก็มีทั้งทหารและพลเรือน ในทุกภาคส่วนสังคมมีคนที่คิดสุดโต่งอยู่ ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่มีคนคิดถึงขั้นปิดประเทศ มี ความผิดพลาดใหญ่ของรัฐประหารสิบเก้ากันยา หลายคนยังคิดว่าทำไมไม่ใช้อำนาจให้มากกว่านี้ ถามว่าองค์ประกอบตรงนี้ของกองทัพไหม ผมยังเชื่อ เพราะโดยโอกาสทีได้เข้าไปสอนหนังสือพวกเขาด้วย ทหารเขาไม่ได้คิดสุดโต่งขนาดนั้น ก็เหมือนกับคนในสังคมไทยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดสุดโต่งขนาดนั้น ถ้าทำมันก็ถอยกลับไปประเด็นเดิมเรื่องรายรับรายจ่ายของการทำแบบนั้น น่าสนใจว่าถึงวันนี้ถ้าสมมติพลเอกสนธิต้องเป็นคนตอบ หรือคนทำบัญชีรายรับรายจ่ายของการทำรัฐประหาร พลเอกสนธิจะกล้าปิดบัญชีไหมว่าถึงวันนี้ได้กำไรหรือขาดทุน
ถ้าจะแนะนำให้ทหารรู้จักคำนวณ ตอนนี้เขาฮิตบัญชีครัวเรือน ถ้าทหารจะทำบัญชีกองทัพ อะไรคือปัจจัยที่ต้องติ๊กไว้ในตารางเวลาจะคำนวณรายจ่าย
สิ่งที่ทหารต้องคำนึงคือ ในไทยส่วนใหญ่การศึกษาทหารมักวางไว้ที่ตัวบุคคล ไม่ศึกษากองทัพในเชิงสถาบัน ดังนั้นเวลาเราคำนวณรายรับรายจ่ายในการทำรัฐประหาร มันเกิดเป็นผลที่เกิดขึ้นตัวบุคคล ถ้าขาดทุนคนที่ทำรัฐประหารก็จ่ายไป แต่ไม่มีใครตอบว่ากองทัพในเชิงสถาบันต้องจ่ายไหม ในละตินอเมริกาเราจะเห็นการประเมินทั้งสองมิติ แต่งานในบ้านเราพอประเมินในเรื่องตัวคน ก็ไม่มองถึงสถาบันที่เขาเคยใช้ขับเคลื่อนในการทำรัฐประหารว่าต้องรับอะไรบ้าง ถ้าเมื่อไรทหารเริ่มคิดถึงผลตอบแทนเชิงสถาบัน เมื่อนั้นแหละทหารจะเริ่มคิดมากขึ้น มากกว่าเพียงการเอารถถังออกมาไว้หน้ารัฐสภา เพราะวันนี้คนจะไม่กลับบ้าน คนขับรถแท็กซี่ก็ไม่กลัวรถถัง นักการเมืองก็ไม่หิ้วกระเป๋ากลับบ้านไปเปิดสำนักงานทนายความที่จังหวัดตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ การต่อต้านการรัฐประหารที่ขยายมากขึ้นๆ อันนี้คือสัญญาณของรายจ่ายที่เขาต้องคำนึงถึงมากขึ้นในอนาคต
การรัฐประหารบ้านเราที่เกิดมาได้เรื่อยๆ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะไม่เคยมีการต่อต้านที่จริงจัง ถ้ามีการต่อต้านอย่างจริงจัง ปรากฏการณ์เสื้อแดงหรืออะไรก็ตามแต่ มันจะทำให้การรัฐประหารปิดฉากไปจากสังคมไทยไหม
ปิดฉากหรือไม่ผมไม่กล้าฟันธง ผมเคยรวบรวมสถิติการทำรัฐประหารในประเทศไทย ที่สำเร็จและไม่สำเร็จทั้งหมด พอถึงอันสุดท้ายผมใส่ 25 แล้วก็ขีด XX คือเป็นเครื่องหมายคำถาม เพราะผมไม่รู้ แต่ถามว่าจริงไหมที่มันเกิดขึ้นมาได้เพราะไม่มีการต่อต้าน จริงส่วนหนึ่งและไม่จริงส่วนหนึ่ง ที่จริงก็เพราะว่าตอนปี 35 ก็มีการต่อต้านใหญ่ ตอนนั้นผมพูดเรื่องทหาร คนหาว่าเชยมาก คนไม่เชื่อแล้วว่าหลังพฤษภา 35 จะมีรัฐประหาร ต้องใช้สำนวนหมอลักษณ์ว่า ทุกคนฟันธงว่ารัฐประหารในเมืองไทยจบแล้ว แต่พอกลุ่มที่เป็นกลุ่มเคลื่อนต่อต้านรัฐประหารในพฤษภา 35 วันนี้กลายเป็นคนเคลื่อนให้ทหารยึดอำนาจเองในกันยา 49 แล้วตกลงจะเอายังไง ผมล้อเล่นว่า หลังพฤษภา 35 กลุ่มนี้ชูธงเขียวอ่อนเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 40 พอถึงกันยา 49 เลยชูธงเขียวขี้ม้าใช่ไหม
ไม่รู้ว่าการต่อต้านเป็นปัจจัยหรือเปล่า แต่วันนี้สิ่งที่เราเห็นคือการขยายวงของคนที่เชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ และเชื่อว่าประชาธิปไตยมีดี มีเลว แต่ถ้าเราเชื่อว่าสังคมนี้ในท้ายที่สุดต้องอยู่กับประชาธิปไตย ก็ต้องสร้างและพัฒนา ประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรที่อยู่ๆ มีคนส่งมาให้เรา สำเร็จรูป สังคมไทยต้องเลิกคิดเป็นสังคมเนสกาแฟ หรือมาม่า ทุกอย่างสำเร็จเติมน้ำร้อนชงได้เลย ประชาธิปไตยต้องการการฟูมฟัก การพัฒนา และต้องการเวลาในการสร้างตัวสถาบันทุกส่วน แต่พอเราไม่ทำ พอเกิดปัญหาขึ้นเราก็เชื่อว่าล้มดีกว่า ล้มแล้วร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะมีพิพิธภัณฑ์รัฐธรรมนูญที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วมันก็จะเป็นวงจรที่ไม่จบ สังคมต้องตอบแล้วล่ะว่าสังคมพร้อมไหมที่จะนั่งแล้วลองคิดว่าถ้าเราต้องอยู่กับประชาธิปไตย คำถามพื้นๆ คือ จะเปิดพื้นที่ให้ทหารเท่าไร อย่างไร ถ้าจะเอาทหารออกจากการเมืองไทย ผมว่าเลิก ไม่เป็นจริง ทหารในต่างประเทศก็อยู่ในการเมืองนะ เพียงแต่สถานะของเขาเป็นอีกบทหนึ่ง วันนี้เราเองอาจต้องนั่งมองว่าทำไมสังคมในอเมริกาใต้ ซึ่งมีระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไล่เลี่ยกับเรา ถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาเจนตินา บราซิล เปรู ซึ่งการรัฐประหารหนักหน่วงกว่าเราเยอะและหนักหน่วงว่าประเทศในเอเชียแต่วันนี้ทหารที่นู่นเข้าแถวแล้วชัดว่ากองทัพดำรงสถานะในการเป็นเครื่องมือของรัฐบาล
 
ขอถามในส่วนที่เลยไปจากเรื่องรัฐประหาร คำถามแรก อาจารย์ก็คลุกคลีกับวงการทหารมานาน อาจารย์พอมองเห็นแบบแผนไหมว่า ทหารที่เคยเป็นนายพันแบบไหนที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. มันจะมีกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นผู้นำทหารได้มีองค์ประกอบอะไร พูดกันแตะเส้นอีกหน่อยคือ ต้องเป็นลูกป๋า จริงหรือเปล่า หรือต่อให้เป็นลูกป๋าก็ต้องมีแบบแผนบางอย่างที่จะขึ้นเป็นผู้นำได้
ผมคิดว่ามันมีทั้งแบบแผนและไร้แบบแผน ในความมีแบบแผน ผู้นำกองทัพไทยในอดีต มันมีตำแหน่งบางจุดที่สำคัญ เหมือนเป็นหน้าด่านของการฝึกคนเพื่อขึ้นเป็นผู้นำระดับสูง ตัวอย่างเช่น การขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 หรือผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 1 หรือในสายอำนวยการคือการขึ้นตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการ ผู้นำทหารไทยในอดีตได้สร้างเป็นเหมือนสถานที่ของการฝึกไว้ ถ้าจะบอกว่าไม่มีแบบแผนเลยคงไม่ใช่ กองทัพในอดีตมีขั้นตอนในการเอาขึ้นเข้าตำแหน่งต่างๆ ที่ชัดพอสมควร แต่ต้องตระหนักว่าเมื่อกองทัพเป็นหน่วยราชการ บางครั้งมันก็มีปัญหาเรื่องเส้นสายบ้างเหมือนกัน มีบางช่วงไหมที่เบนออกจากเส้นทางที่ถูกวางไว้ก็มีอยู่ มันจึงมีทั้งมีแบบแผน และไม่มีแบบแผน เมื่อไม่มีแบบแผนมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นว่าเปิดช่องให้กลุ่มไหนขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมือง แล้วกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับผู้นำทหารฝ่ายใด แล้วจะดึงผู้นำทหารฝ่ายนั้นมาเป็นเสาค้ำฐานะอำนาจทางการเมืองของเขาอย่างไร อันนี้ก็เป็นอีกแบบแผนหนึ่งเหมือนกัน
ฉะนั้นในทั้งสองส่วนมันอธิบายยากพอกัน เพราะท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับตัวสถานการณ์แต่ละช่วง วันนี้ถ้าถามว่าตกลงใครจะเป็น ผบ.ทบ.แทนพลเอกอนุพงศ์ คนก็จะบอกว่าโดยตำแหน่งก็ต้องเอาคนที่ย้ายจากเสนาธิการทหารบกขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก แต่บางคนก็บอกว่า โดยตำนานในกองทัพบกไทย รองผบ.ทบ.หลุดผบ.ทบ.เกือบทุกครั้ง ถ้าเราพูดลึกๆ อันนี้เป็นปัญหาในโครงสร้างของกองทัพพอสมควร ไม่ใช่แต่เพียงปัญหาของผู้นำระดับสูง แต่ยังรวมถึงทหารในตำแหน่งอื่นๆ
พูดง่ายๆ ก็คือ นานมาแล้วที่เราไม่คิดในการวางหลักในการบรรจุคนเข้ารับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ถ้าเป็นกองทัพในต่างประเทศเขามีสิ่งที่เรียกว่าแนวทางการรับราชการ หรือที่เราเรียกว่า career path ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าคนไหนจะขึ้นสู่ตำแหน่งอะไรในแต่ละช่วง แต่พอสถานการณ์บ้านเราที่การเมืองมันผันผวนและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีสูงมาก เรื่องแนวทางการรับราชการซึ่งเราเคยหวังแบบอุดมคติว่ามันจะเป็นตัวหลักในการวางตำแหน่งคนในกองทัพมันไม่ถูกใช้ ทั้งที่มันเป็นวิธีเดียวที่ทำให้พี่ๆ น้องๆ ในกองทัพไม่ทะเลาะกัน ปัญหาการปรับและเลื่อนชั้นยศนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่
ในอนาคตเราคงมีจุดเปลี่ยนผ่านหลายเรื่อง และสถานการณ์ข้างหน้านี้สังคมก็ดูเหมือนใกล้จุดแตกหักเข้าไปทุกที กองทัพมีเอกภาพพอที่จะรับมือเรื่องนี้ไหม
ก็ต้องมองอีกอย่างหนึ่งว่า กองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เมื่อสังคมไทยแตก ภายในกองทัพเองก็มีปัญหาเหมือกัน ทั้งวิธีคิด ทั้งอะไรหลายอย่าง สิ่งที่น่าคิดก็คือที่ผมบอกว่าคิดโจทย์ข้ามไปเลย ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านมีปัญหาไหม มีแน่ แต่โจทย์ระยะยาว ถ้าการเมืองไทยสามารถสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นได้ ตกลงเราอยากเห็นกองทัพอยู่ตรงไหนในสังคมไทย เราไม่ตอบคำถามนี้ตั้งแต่ปี 35 หลัง 14 ตุลาไม่ว่ากันเพราะระยะเปลี่ยนผ่านตรงนั้นเร็วเกิน แต่หลังปี 35 เราไม่เคยสร้างสิ่งที่ผมเรียกว่า “พิมพ์เขียวความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล” เมื่อไม่มีพิมพ์เขียนที่ดีว่ากองทัพกับรัฐบาลจะสัมพันธ์กันอย่างไร เราไม่รู้ว่าอำนาจทางการเมืองควรเข้ามาในกองทัพได้แค่ไหน หรือกองทัพควรมีบทบาททางการเมืองมากน้อยเพียงไร ปัญหาตรงนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องตอบแม้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้นในอนาคต 
พิมพ์เขียวนั้นจะมายังไง
พิมพ์เขียวนั้นสังคมต้องร่วมกันทำ อย่างที่ผมเรียกร้องเสมอทั้งในข้อเขียนและการพูดว่า การปฏิรูปการเมืองในท้ายที่สุด ถ้าเกิดขึ้นได้ก็ไม่ยั่งยืน จนกว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพคู่ขนานกันไป
ถ้ามองในมิติทางทหารหรือมิติของความมั่นคง กองทัพทั่วโลกหลังยุติสงครามคอมมิวนิสต์มีการปฏิรูปหมดแล้ว แต่ถึงวันนี้การปฏิรูปกองทัพไทยซึ่งต้องทำคู่ขนานกับการเมืองก็ไม่เกิด ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปแต่ฝ่ายการเมืองอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิรูปอำนาจกองทัพด้วย เพื่อให้กองทัพกับการเมืองเดินไปด้วยกันถึงจุดที่มีความสมดุลย์ ไปถึงจุดที่กองทัพไม่กลายเป็นปัญหาทางการเมืองสำหรับพัฒนาประชาธิปไตย  
แล้วกองทัพควรมีบทบาททางการเมืองแค่ไหน
เวลาเราคิดถึงอนาคตการเมืองไทยมันคงหนีไม่พ้นว่า แล้วสิ่งที่เปิดพื้นที่ให้กองทัพมันอยู่แค่ไหน มากน้อยเพียงไร พอเราไม่มีพิมพ์เขียวแล้ววันหนึ่งการเมืองมันสวิงกลับ กองทัพก็เปิดบทบาทที่จะเข้าไปมีอำนาจในหลายๆ ส่วนแล้วก็ตามมาด้วยพ.ร.บ.ความมั่นคง
ตัวอย่างหนึ่งเมื่อตั้งคำถามแบบนี้คงต้องถอยกลับเหมือนกันว่าตกลงสังคมไทยคิดยังไงกับคำตัดสินเมื่อวันที่ 7 ตุลา ถ้าเราบอกว่ามันเป็นตัวแบบของปัญหาความมั่นคง ผมถามว่าตกลงถ้ารัฐต้องเข้าไปดูแลควบคุมฝูงชนจะใช้กำลังตำรวจหรือทหาร โดยมาตรฐานสากลจะใช้กำลังตำรวจ แต่เมื่อโดนฟ้องเท่ากับกำลังบอกว่าในอนาคตการควบคุมฝูงชนอาจเป็นอำนาจของทหาร แล้วองค์กรอะไรที่ต้องมาดู มันก็คือ กอ.รมน.วันนี้ดูข่าวทุกวันจะมีโฆษณาจาก กอ.รมน.รณรงค์เรื่องนั้นเรื่องนี้ คนยุคผมดูแล้วก็แปลกดีสมัยก่อน กอ.รมน.รณรงค์เรื่องต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่วันนี้ทำหลากหลายเรื่องและขนาดระยะเปลี่ยนผ่านเดินมาไกลมาก กอ.รมน.ก็ยังอยู่
ดูเหมือนว่าตัวอำนาจชั้นบนของรัฐไทยเหมือนเขายังเชื่อว่าเขายังอยู่ในโลกแบบเก่า ในขณะที่ตัวสังคมจริงมันเคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าให้ผมตั้งประเด็น ผมกังวลกับความล่าช้าในการปรับตัวของอำนาจชั้นบน กับการที่โครงสร้างอำนาจในระดับล่างทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งเศรษฐกิจมันเคลื่อนไปแล้ว แล้ววันหนึ่งถ้ามันไม่สมดุลกัน สุดท้ายยังไงประเทศนี้ก็ต้องปฏิรูป เพราะมันเดินไม่ได้ และหนีไม่พ้นต้องปฏิรูปโครงสร้างและกลไกของรัฐที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกองทัพ คนในกองทัพต้องตระหนักว่าการปฏิรูปไม่ใช่การทำลายกองทัพ แต่เป็นการทำสถานะของกองทัพให้มีความทันสมัยรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวกองทัพ เหมือนกับกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ หรือเหมือนกับโครงสร้างอำนาจชั้นบนของรัฐไทยนั่นเอง
 สหรัฐมี Homeland Security สังคมไทยกำลังเดินไปทางนั้นไหม เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน
เคยมีความพยายามจะตั้งกระทรวงความมั่นคงภายในแต่มันเกิดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขของงบประมาณ หรือการจัดระเบียบภายในส่วนราชการเองก็ตาม แต่ถ้าคิดมุมนี้ กอ.รมน.คือกระทรวงความมั่นคงภายในใช่ไหม บทเขาคล้าย Homeland Security ของอเมริกามาก ทุกครั้งที่มีปัญหาความมั่นคงภายใน อำนาจจะไปไว้ที่ กอ.รมน. หัวโดยตำแหน่งเป็นนายกฯ แต่ของจริงอำนาจจะถูกมอบจากนายกฯ มาไว้ที่ผบ.ทบ. เท่ากับโอนอำนาจไปไว้กับทหาร ผมจึงตั้งคำถามว่าวันหนึ่งถ้าการเมืองไทยสามารถกลับสู่สภาวะมีเสถียรภาพ ตกลงเราพร้อมไหมที่จะร่างพิมพ์เขียวกันใหม่ อะไรที่คิดว่ามีปัญหาอาจต้องปรับเปลี่ยน รวมถึงบางอย่างใหม่ที่ต้องนำเข้ามา ปัญหาตอนนี้มีทั้งรัฐประหารเงียบและรัฐประหารไม่เงียบ ถ้าต้องคิดถึงอนาคต อย่างไรเสียการเมืองไทยหนีไปจากระบบการเลือกตั้งไม่ได้ มันยังต้องเป็นหลัก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มไหน จะชอบมันหรือไม่ชอบ รวมทั้งพวกอาจารย์ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท