Skip to main content
sharethis

"แทนที่จะด่าเปรม ด่าไปถึงรสนิยมทางเพศของเขา ซึ่งถ้าจะฟ้องหมิ่นประมาทเขาก็ฟ้องได้ ผมไม่เสนออย่างนั้น ผมเสนอว่าให้อภิปรายประเด็นนี้ว่า ควรจะมีองค์กรนี้หรือไม่ และการที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในเรื่ององคมนตรีนั้นทำให้ระบบที่ทำให้เกิดคนอย่างเปรมมีอำนาจอย่างนี้ได้อย่างไร" 

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอ การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง หากต้องการหยุดระบอบอำมาตย์ต้องพูดเรื่องการแก้ไขประเด็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งมี 2 ประเด็นหลักคือ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งองคมนตรี  และการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งเพิ่งถูกแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับ รสช.
 
โดย อ.สมศักดิ์ได้เสนอประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังจากการ ปาฐกถาประจำปีโดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล เรื่อง “แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ กับ เจตนารมณ์วีรชน ๖ ตุลา ๒๕๑๙”

“อันนี้ผมต้องพูดช้าๆ เพราะต้องรับผิดชอบตัวเอง คือ ต้องลดพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เหลืออยู่ในระดับที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย มันมีเยอะมาก ผมไม่สามารถอธิบายได้หมด ขอยกประเด็นหลัก 2 ประเด็น

“ประเด็น แรก คือ องคมนตรี ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ที่องค์มนตรีเข้ามายุ่งกับการเมืองเยอะมาก จนตะโกนหูกันแทบแตกเรื่องอำมาตยาธิปไตย ผมบอกว่า คุณตะโกนจนตายก็ไม่แก้ปัญหาหรอก ตราบใดที่คุณไม่เสนอปัญหาในเชิงรัฐธรรมนูญออกมาว่า ที่มีปัญหาอย่างนี้ เพราะรัฐธรรมนูญให้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งองคมนตรีทั้งหมด ไม่ให้สังคมควบคุมตรงนี้เลย อันที่จริง การมีองคมนตรี อาจารย์ปรีดีก็เขียนไว้เหมือนกันว่า มันไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร แต่เกิดจากรัฐธรรมนูญของพวก anti คณะราษฎร คือ รัฐธรรมนูญ 2492 แต่ อาจารย์ปรีดีก็ไม่ยอมเสนอลงไปชัดๆ ว่าน่าจะเลิกตำแหน่งนี้ ทีนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อจะแก้ปัญหาของการเมืองไทยจริงๆ จะต้องแก้ปัญหาอันนี้ ถ้าไม่เลิกองคมนตรีไปเลย ก็ต้องลดพระราชอำนาจเกี่ยวกับเรื่ององคมนตรีนี้ให้เหลือในระดับที่เช่นเดียว กับอำนาจสาธารณะอื่นๆ องค์มนตรีถ้าจะมีก็ต้องไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของสังคมหรือกระบวนการประชาธิปไตยโดยรวม นี่เป็นตัวอย่างที่หนึ่งที่สำคัญมาก

“ตัวอย่าง ที่สองที่ยิ่งสำคัญเข้าไปใหญ่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็คือ การสืบราชสันตติวงศ์ หลายคนไม่เข้าใจ อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ 60 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปี 2534 การเลือกพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปเป็นอำนาจของผู้แทนราษฎร อันนี้สำคัญ มีระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ว่าจะฉบับของทรราช รัฐประหาร อะไรก็แล้วแต่ บอกว่า การเสนอรายพระนามกษัตริย์องค์ต่อไปต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อคณะ รสช. ทำรัฐประหาร เมื่อ 2534 ได้ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยได้ยกอำนาจเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ความจริงแล้ว มาตรา 18 19 20 21 ยังทำสิ่งหนึ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำในความเห็นผม คือ การยกอำนาจในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล 2467 ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ล้วนๆ แล้วลองคิดดูว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในบทแรกๆ ด้วยซ้ำว่าพระมหากษัตริย์ทรงในอำนาจผ่านสภานิติบัญญัติในทางกฎหมาย ซึ่งมันขัดกับหลักการพื้นฐานข้อนี้ เท่ากับยกกฎมณเฑียรบาล 2467 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเอง

“รัฐธรรมนูญ 2534 เป็นอันที่เอาใจสถาบันพระมหากษัตริย์เขียนแบบขึ้นมา รัฐธรรมนูญ 40 ก็เขียนลอกทุกตัวอักษร รัฐธรรมนูญ 50 ก็ ลอกทุกตัวอักษร กลุ่มที่อ้างเรื่องประชาธิปไตยในการต่อสู้ของเสื้อแดงก็ไม่เคยแตะต้อง ประเด็นนี้เหมือนกัน ทั้งที่เป็นประเด็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 

“การสืบราชสันตติวงศ์ หลายคนคงไม่ทราบว่า นอกเหนือจากพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่เลือกต่อมากจากพระเชษฐา ตอนที่เลือกร.8 มีการอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฎร แล้วมีการลงมติ ร.8 ไม่ได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเอกฉันท์นะ มีเสียงยกมือไม่เห็นด้วย 2 เสียง เหตุผลก็คือเห็นว่าร.8 ยัง 'เด็ก' เกินไป ถ้าพูดในภาษาสามัญ

“นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญมาก 2 ประเด็น คือ เรื่ององคมนตรีและเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ยังมีตัวอย่างเล็กๆ ซึ่งความจริงไม่เล็ก ก็คือ การมีพระราชดำรัส รัชกาลปัจจุบันสามารถมีพระราชดำรัสโดยสด ก็คือ กล่าวสดๆ ซึ่งมีความสำคัญกับการเมืองไทยมาก และขัดหลักการประชาธิปไตย คนที่รู้เรื่องนี้ดีมากคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง เพราะในปี 2502 ทรงมีพระราชดำรัสสดเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วพระองค์ทรงพูดกับนิสิตเองว่า จริงๆ แล้ววันนี้ไม่ได้ร่างมา เป็นการพูดสดๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นประเพณีที่ไม่ควรทำ ฉะนั้น พวกนี้เป็นตัวอย่างของพระราชอำนาจที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

“สิ่ง ที่เราต้องทำ ถ้ามองในจุดนี้ก็คือ เพื่ออนาคตของประเทศเรา เราต้องอภิปรายกันในปัญหาเหล่านี้ และลดพระราชอำนาจเหล่านี้ให้เหลือในระดับที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการ ประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วก็มาสู่การทบทวนมาตรา 8 ในปัจจุบัน องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรานี้ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา คนที่เสนอเข้าไปคือ พระยามานราชเสวีย์ เคยให้สัมภาษณ์กับอาจารย์บวรศักดิ์ (อุวรรณโน) อาจารย์วิษณุ เครืองาม ถ้าผมจำไม่ผิด ในนิตยสารนิติศาสตร์ ปี 2520 หรือ 2521 นี่แหละ บอกว่าที่ท่านเสนอเข้าไป ท่านเลียนแบบจากญี่ปุ่น แต่มาตรานี้ในรัฐธรรมนูญเมจิถูกเลิกไปแล้ว เมื่อเสนอเข้าไป อาจารย์ปรีดีก็เสนอสนับสนุนในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา แล้วก็อยู่มาตลอด ที่อาจารย์ปรีดีสนับสนุนก็มีเหตุผลเฉพาะอยู่เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการปลอบใจ ร.7 ที่อาจารย์เขียนด่า ร.7 ไว้เยอะมากในแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ฉะนั้น อาจารย์ปรีดีเป็นคนยกมือสนับสนุนญัตติเอง แต่มันผ่านมา 70 กว่าปีแล้ว แล้วเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยไทย สิ่งที่ต้องทำมากที่สุด นอกเหนือจากประเด็นที่ผมยกมาทั้งหมดนี้แล้ว ในที่สุดคือต้องทบทวนมาตรานี้”

อ.สมศักดิ์ ได้ย้ำประเด็นดังกล่าวอีกครั้งภายหลังการอภิปรายของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยวิพากษ์การวิเคราะห์การพัฒนาการการเมืองไทยของฝ่ายเสื้อแดงว่า เป็นการมองโดยกรอบวิธีคิดแบบสตาลินคือวิธีที่รับรู้ที่มองสังคมมนุษย์ว่ามีขั้นตอน มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวคือ มีทาส ศักดินา สังคมนิยมและทุนนิยม ซึ่งเป็นกรอบการมองที่อาจไม่ได้ผล อีกทั้งการอภิปรายเรื่อง “อำมาตย์” โดยมุ่งไปที่ตัวบุคคลนั้นไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

“แล้ววิธีคิดอย่างนี้ สิ่งที่เรียกว่าอำมาตย์นั้น ผมจะบอกวาต่อให้ด่าจนอำมาตย์ตายก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง กรณีเปรม ต่อให้ด่าจนเปรมตาย ก็จะมีใครต่อใครก็ขึ้นแทน แต่จริงๆ ประเด็นที่ผมเสนอคือ ผมเสนอว่าประเด็นเรื่องอำมาตย์นี่ แทนที่คุณจะพูดเรื่องอำมาตย์ คุณต้องอภิปรายไปให้ถึงเรื่องพระราชอำนาจเรื่องการตั้งองคมนตรี นี่เป็นประเด็นที่ผมไปเขียนในประชาไทแล้วคนไม่เข้าใจ

“แทนที่จะด่าเปรม ด่าไปถึงรสนิยมทางเพศของเขา ซึ่งถ้าจะฟ้องหมิ่นประมาทเขาก็ฟ้องได้ ผมไม่เสนออย่างนั้น ผมเสนอว่าให้อภิปรายประเด็นนี้ว่า ควรจะมีองค์กรนี้หรือไม่ การที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในเรื่ององคมนตรีนั้นทำให้ระบบที่ทำให้เกิดคนอย่างเปรมมีอำนาจอย่างนี้ได้อย่างไร"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net