แรงงานสิ่งทอกัมพูชาระส่ำ หลังโรงงานทยอยปิดหนีวิกฤตเศรษฐกิจ

แรงงานภาคสิ่งทอในประเทศกัมพูชากำลังเผชิญวิกฤตหนัก เมื่อโรงงานทยอยปิดตัวลงรวมถึงนายจ้างปิดงานและบางโรงงานต่อรองลดค่าแรงของคนงานเพื่อให้มีงานทำต่อ ในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปี โรงงานเย็บผ้า 77 แห่งได้ปิดลง ทำให้คนว่างงาน 30,683 คน ในขณะที่มีโรงงานเย็บผ้าอีก 53 แห่งทำการปิดงานชั่วคราวส่งผลให้แรงงานอีก 30,617 คนไม่มีงานทำในช่วงนี้

 
 
แรงงานนับพันของโรงงานสิ่งทอ Tack Fat ออกมาประท้วง หลังจากที่โรงงานได้ปิดงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาและประกาศระงับการผลิตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้มีโรงงานหลายแห่งในกัมพูชาได้ปิดโรงงานในช่วงปีนี้ (Photo by: Sovan Philong)
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 52  หนังสือพิมพ์ Phnompenh Post ของกัมพูชา รายงานว่าแรงงานประมาณ 1,800 คน ออกมาประท้วงที่เขตเมียนเจย หลังจากที่โรงงาน Tack Fat บริษัทสิ่งทอรายใหญ่ของกัมพูชาปิดงานอย่างกระทันหัน
เลียพ จันเทือน แรงงานหญิงวัย 28 ปี กล่าวว่าเธอและเพื่อนคนงานจะได้รับเงินประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในขณะที่เงินเดือนโรงงานปิด แต่เงินจำนวนน้อยนิดนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ “เรารับไม่ได้หากโรงงานปิดในวันนี้ เราเลยมาที่นี่เพื่อประท้วง” เธอกล่าว
เมียส สัมพัส ประธานของสหภาพแรงงานเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา (Coalition of Cambodian Apparel Workers’ Democratic Union) กล่าวว่า คนงานได้เรียกร้องเงินเดือนของเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 50 % ของเงินเดือนฐานของพวกเขา ในระหว่างการระงับการผลิต
ส่วนตัวแทนของบริษัท Tack Fat ได้ชี้แจงว่าโรงงานจะยังไม่ปิดถาวร และยังมีแผนการที่จะมีสัญญาผูกมัดกับคนงานไว้อยู่ “เราจะจ่ายเงินเดือนเดือนกันยายนในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ และระหว่างที่ปิดงาน เราจะจ่ายให้คนงาน 10 ดอลลาร์ต่อเดือน” ตัวแทนบริษัทกล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนตุลาคมคนงานโรงเย็บผ้ากว่า 300 คน จากโรงงาน New Point World Trade garment ในเขตอำเภอรุสสีแก้วของกรุงพนมเปญ ทำการประท้วงเรียกร้องขอเงินชดเชย จากการปิดโรงงานโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่มีการจ่ายค่าแรงให้แก่พนักงาน แม้ว่าหลายคนทำงานที่โรงงานแห่งนี้มานานกว่า 8 ปีแล้ว
คนงานกล่าวว่าตัวแทนโรงงานได้เสนอค่าจ้างคนละ 13 ดอลลาร์ต่อเดือน แลกกับการมีงานทำต่อ แต่ถูกคนงานปฏิเสธเพราะไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน
เจาเพงรองผู้อำนวยการบริษัทแห่งนี้กล่าวว่า เศรษฐกิจขาลงทำให้ต้องปิดโรงงาน เนื่องจากไม่มีผู้สั่งซื้อสินค้า แต่โรงงานมีกำหนดที่จะเปิดทำการอีกครั้งในปลายเดือน พ.ย. นี้
ส่วนคนงานโรงงานเย็บผ้าของบริษัท Fortune Garment and Woollen Knitting ที่ จ.กันดาล ได้กลับเข้าทำงานอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพนักงานได้รับจดหมายจากมูลนิธิสภาอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Council Foundation) ที่เรียกร้องให้หยุดการประท้วงซึ่งกลุ่มคนงานก่อหวอดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.โดยกล่าวหาว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะ
ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานกัมพูชา ในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปี 2552 โรงงานเย็บผ้า 77 แห่งได้ปิดลง ทำให้คนว่างงาน 30,683 ตำแหน่งในขณะที่มีโรงงานเย็บผ้าอีก 53 แห่งทำการปิดงาน ส่งผลให้แรงงานอีก 30,617 คนไม่มีงานทำในช่วงที่โรงงานทำการปิดงาน แต่ยังมีโรงงานเย็บผ้าอีก 40 แห่ง เปิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ทำให้สามารถจ้างแรงงานได้ 9,605 คน
ที่มาข่าว:
เสื้อผ้าส่งออกเขมรป่วนปลดคนงาน 3 หมื่น
ASTV ผู้จัดการรายวัน, 7 ตุลาคม 2552
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท