การเมืองเบื้องหลังรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของโอบามา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2009 ให้ประธานาธิบดีโอบามา ทำให้ชาวโลกส่วนใหญ่ แม้แต่คนที่ชื่นชอบโอบามาต้องประหลาดใจ....

หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึงปี ประธานาธิบดีหนุ่มคนนี้ได้ให้คำมั่นสัญญาอันสูงส่ง นำรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายทางการทูต และทำให้โลกเชื่อว่าจะได้เห็นอเมริกาที่นุ่มนวลขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสงครามกับอาฟกานิสถานและอิรัก รวมทั้งการรบขนาดย่อมลงมาในปากีสถาน อาฟริกา และ ฟิลิปปินส์ และในวันเดียวกับการประกาศผลรางวัลโนเบล ( 9 ต.ค.) เขาประชุมแผนกลยุทธกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับสงครามซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มกองกำลังในอาฟกานิสถาน นักข่าวของ Britain’s Sky News จึงรายงานอย่างได้อารมณ์ว่า ดูเหมือนโอบามาจะได้รางวัลนี้เพราะ “ไม่ได้เป็นจอร์ช บุช”
 
ปลายสมัยประธานาธิบดีบุช บทบาทระหว่างประเทศของอเมริกาตกต่ำสุด การที่โอบามาตัดสินใจเจรจากับอิหร่านเรื่องโครงการนิวเคลียร์ และสัญญาว่าจะรื้อฟื้นการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ทำให้บทบาทระหว่างประเทศของอเมริกามีภาพพจน์ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นประเทศที่ได้รับความชื่นชมสูงสุดในโลกจากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปเมื่อโอบามาตัดสินใจยกเลิกระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออกที่เคยสร้างความไม่พอใจให้รัสเซีย
 
คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คงคิดอะไรมากไปกว่าการมอบรางวัลหนึ่งล้านดอลล่าร์ให้โอบามาในฐานะผู้ที่ได้รับความนิยมสูงมาก เพราะรางวัลด้านนี้ต่างจากด้านอื่นๆ ที่มอบให้กับผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับด้านฟิสิกส์ เคมี และวรรณกรรม แต่รางวัลด้านสันติภาพมักให้กับผู้ที่เป็นความหวังมากกว่าผู้ที่ทำสำเร็จแล้ว และมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกดดันต่อโลกด้วย
 
ผลกระทบทางการเมือง
 
เมื่อปี 1996 การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้พระสังฆราชคาลอส เบโล และโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตานักรณรงค์ให้ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระจากอินโดเนเซีย ทำให้โลกหันมาสนใจและมีส่วนสร้างเงื่อนไขให้อินโดเนเซียต้องถอนตัวออกจากติมอร์ในปี 1999 ในขณะนั้น ฮอร์ตายังเป็นโฆษกของกลุ่มเฟรติลิน (Fretilin) กลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพมากว่า 20 ปี
 
การมอบรางวัลฯ ครั้งที่มีข้อถกเถียงกันมากเมื่อปี 1994 ให้นายกรัฐมนตรียิตซ์ฮักราบิน รัฐมนตรีต่างประเทศ ชิมอน เปเรสของอิสราเอล และนายยัดเซอร์ อาราฟัต ผู้นำองค์การปาเลสไตน์ ประสบความสำเร็จน้อยกว่า แม้ว่าทั้งสามคนจะลงนามในแผนสันติภาพออสโลว์ อาราฟัดตายก่อนที่จะได้เห็นความฝันเป็นจริง ขณะที่ราบินถูกลอบสังหารในปี 1995 โดยชาวอิสราเอลผู้โกรธแค้นที่เขายอมเจรจาเรื่องการครอบครองดินแดน
 
ดังนั้นการมอบรางวัลฯ ครั้งนี้คณะกรรมการโนเบลต้องการอะไร นางโกร ฮอล์ม นักวิจารณ์อาวุโสด้านนโยบายต่างประเทศของสถานีข่าวในนอร์เวย์กล่าวว่าคณะกรรมการฯ อาจจะพยายามสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของโอบามาที่ได้รับความนิยมสูงมาก พร้อมกับเพิ่มแรงกดดันให้เขาทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศ
 
เน้นตะวันออกกลาง
 
ฮอล์มยังชี้ด้วยว่านายทอร์บจอน แจกแลนด์ (Thorbjorn Jagland) อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้ง จากรัฐสภานอร์เวย์ เมื่อต้นปีนี้ให้เป็นประธานกรรมการคนใหม่ของโนเบล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลือกโอบามา โดยแจกแลนด์มีวิสัยทัศน์ของนักเคลื่อนไหวที่เล็งเห็นว่ารางวัลโนเบลจะช่วยกระตุ้นให้เกิดสันติภาพ แทนที่จะเพียงรับรองความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว เธอกล่าวว่า “แจกแลนด์ชอบคิดการใหญ่ เขามีความทะเยอทะยานสูง การมอบรางวัลนี้จะเป็นเวทีให้เขาได้มีโอกาสพบโอบามาและผลักดันบางอย่างถ้าโอบามา มารับรางวัล”
 
เออร์ลิง บอร์เกน นักข่าวและผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีชาวนอร์เวย์กล่าวว่าการแต่งตั้งแจกแลนด์เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในนอร์เวย์เพราะเกรงว่าการที่เขาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างลึกซึ้งจะทำให้ชื่อเสียงเรื่องความเป็นกลางของกรรมการโนเบลลดน้อยลงไป
 
“หลังประกาศรางวัล การวิพากษ์วิจารณ์ (แจกแลนด์) ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก เขามีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจ เชื่อกันว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลควรเป็นอิสระอย่างเต็มที่และไม่เกี่ยวข้องกับรัฐสภานอร์เวย์ แต่แจกแลนด์เคยเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและประธานรัฐสภา”
 
แจกแลนด์ ปีกซ้ายของการเมืองนอร์เวย์ สนใจสันติภาพในตะวันออกกลางมาก เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการห้าคนที่นำโดยนายจอร์ช มิชเชลในปี 2000 ที่สร้าง “แผนที่สันติภาพ” ซึ่งยังใช้เป็นกรอบของการเจรจาในปัจจุบัน นายมิชเชลอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานด้านตะวันออกกลางของโอบามาเมื่อต้นปีนี้
 
ในการประกาศรางวัลแจกแลนด์ยืนยันว่า  “เราไม่ได้ให้รางวัลสำหรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ให้รางวัลสำหรับสิ่งที่เขาได้ทำมาแล้วในปีก่อนๆ” และยกย่องโอบามาที่ “เดินทางไปกรุงไคโรเพื่อติดต่อกับโลกมุสลิมและเริ่มการเจรจาครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง และติดต่อกับโลกที่เหลือทั้งหมดผ่านสถาบันระหว่างประเทศ”
 
เช่นเดียวกับโอบามา แจกแลนด์เป็นผู้ที่ชื่นชมสถาบันระหว่างประเทศ ครั้งหนึ่งเขาเคยเสนอให้สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขณะที่การพูดกับโลกมุสลิมในกรุงไคโรได้รับการยกย่องมาก แต่ชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับพากันบ่นว่าเป็นเพียงคำพูดอันว่างเปล่าที่แทบไม่มีการปฏิบัติอะไรตามมา
 
ดูเหมือนแจกแลนด์พอจะทราบความรู้สึกนี้ จึงกล่าวต่อมาเมื่อพูดถึงความตั้งใจทางการเมืองของการมอบรางวัลนี้ว่า “เราหวังว่า (รางวัลนี้) จะมีส่วนแม้เพียงเล็กน้อยต่อสิ่งที่โอบามากำลังพยายามทำ เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนให้โลกรู้ว่าเราต้องการสนับสนุนการทูตระหว่างประเทศเช่นเดียวกับที่เขาได้ทำมาแล้ว”
 
มาร์ติน อินไดค์ แห่งสถาบันบรุคกิงส์ ในวอชิงตัน เขียนไว้ว่า “บรรยากาศเบื้องหลังการมอบรางวัลเป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อโอบามา…การได้รับรางวัลโนเบลซึ่งแสดงถึงการยอมรับจากโลก ช่วยให้รัฐบาลสามารถตอบสนองในทางบวกต่อข้อเรียกร้องของโอบามาที่ให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบ และช่วยกดดันพวกผู้นำเกเรให้ปรับนโยบายให้เป็นไปตามความเห็นของนานาชาติมากขึ้น”
 
อย่างไรก็ตาม บอร์เกน แย้งว่า การให้รางวัลโอบามาทำให้คุณค่าของรางวัลโนเบลลดน้อยลง
 
“มันเร็วเกินไปที่จะให้รางวัลกับประธานาธิบดีที่เพิ่งทำงานมาได้เพียงแปดเดือนและยังไม่ได้ทำอะไรเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง ประธานาธิบดีที่มีแผนส่งทหารอีก 40,000 คนไปรบในอาฟกานิสถานไม่ควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนพลเมืองที่ตายในสงครามยังอยู่ในระดับเดียวกับสมัยของจอร์ช ดับบลิว บุช”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท