Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาสังคมเอเชียส่งตัวแทนแถลงข่าวในตึกยูเอ็นวานนี้ (7 ต.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น เสนอผลการนำข้อมูลทั้งเชิงพยานและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการศาลประชาชนซึ่งจัดเมื่อวันที่ 6 ที่ผ่านมาว่า ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ โดยโครงการรณรงค์ลดโลกร้อน tcktcktck ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลกเพื่อกดดันให้มีรูปธรรมการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ชัดเจนและเท่าทันปัญหาในการเจรจาโคเปนเฮเกน สามารถสรุปความผิดของจี 8 ได้ชัดเจนและให้มีการชดเชยเป็นเม็ดเงินผ่านกลไกการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินของอนุสัญญาโลกร้อน คือกองทุนเพื่อการปรับตัวรับโลกร้อน หรือ Adaptation Fund

คำพิพากษาระบุว่าหลังจากได้พิจารณาหลักฐานและพยานที่นำเสนอในคดีพบว่าข้อกล่าวหาของโจทก์็คือ “เด็กในเอเชีย” ต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จี 8 คดีก่อวิกฤตโลกร้อนจนเกิดความเสียหายต่อโจทก์นั้นมีมูลความจริง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากมาตรฐานกฎหมายสากลและอนุสัญญาระดับโลกที่มีอยู่ และจำเลยนั้นควรต้องจ่ายค่าชดเชยต่อความเสียหายดังกล่าวที่ได้สร้างในอดีตที่ผ่านมา

“จำเลยได้ดำเนินการและยังคงดำเนินการละเมิดสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิตของโจทก์อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายสิบฉบับ เช่นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อนุสัญญาโลกร้อนยูเอ็น)” อัมรา พงศาพิชญ์ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หัวหน้าผู้พิพากษาศาลประชาชนกล่าว

“กลุ่มประเทศจี 8 ต้องจัดตั้งกองทุนปรับตัวรับมือโลกร้อนโดยให้มีความช่วยเหลือด้านการเงินมากเพียงพอที่จะช่วยประเทศยากจนปรับตัวรับมือกับปัญหาโลกร้อนได้” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

อัยการฝ่ายโจทก์ อันโตนิโอ โอโพซา ทนายคดีสิ่งแวดล้อมจากฟิลิปปินส์เจ้าของรางวัลแม็กไซไซปีนี้ (2552) ให้ความเห็นว่า เขาพอใจกับคำตัดสินที่ออกมาและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามการเจรจาโลกร้อนเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นธรรมและมีผลทางกฎหมายระดับนานาชาติที่โคเปนเฮเกน

“ศาลประชาชนเอเชียนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิทางกฎหมายพื้นฐานที่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากประเทศที่ก่อปัญหาโลกร้อนจนทำให้ตนเดือดร้อนได้ แม้ว่าการดำเนินการในกรุงเทพครั้งนี้เป็นเพียงการจำลองการพิจารณาคดีโลกร้อน(ที่ไม่มีผลทางกฎหมายจริง) แต่มีนัยสำคัญยิ่งที่จะบอกทุกคนว่า ข้อเท็จจริงที่เรานำมาเสนอนั้นล้วนเป็นของจริง และมีมูลทางกฎหมายหากเป็นการดำเนินคดีจริง ก็จะเป็นข้อมูลที่มากพอที่จะบ่งชี้ความผิดและปรับได้จริง ทั้งนี้ทั้งหมดที่เราทำไปเพราะต้องการแสดงให้โลกได้เห็นเหตุและผลว่าทำไมเราจึงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศจี 8 ต้องยอมรับและดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวโลกร้อนฯ เพื่อบรรเทาวิกฤตที่จะเกิดขึ้นเสียตั้งตอนนี้ ตั้งแต่ตอนที่เรายังคงพอจะบรรเทาวิกฤตปัญหาได้อยู่” โอโพซากล่าว

“พายุและอุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วเอเชียตอนนี้ย้ำเตือนพวกเราถึงภัยคุกคามใหญ่ที่จะมาเยือนภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน วิกฤตโลกร้อนจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง และดังคำพิพากษาของศาลประชาชน กลุ่มประเทศจี 8 ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาก่อ เริ่มที่การเจรจาที่กรุงเทพนี้ ด้วยการวางเงินลงขันทำให้กองทุนเพื่อการปรับตัวฯ ใช้งานได้อย่างที่ควร” นาย Clement Kalonga โฆษกองค์กรอ็อกแฟมกล่าว

“เริ่มด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากนั้นก็การลงขันในกองทุนฯ ซึ่งต้องการมากกว่า 1.5 แสนล้านต่อปีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกปรับตัวรับวิกฤตโลกร้อน ทั้งพายุ อุทกภัย ภัยแล้ง และหายนะภัยอื่น ๆ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

“แต่สิ่งที่เป็นจริงตอนนี้คือ ประเทศร่ำรวยเหล่านี้นอกจากไม่ยอมรับพันธะกรณีใด ๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อหายนะภัยที่ตัวเองก่อ กลับหันมาเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาพยายามลดก๊าซเรือนกระจกอีก นี่ไม่เป็นธรรมเลย และหากการเจรจายังคงเป็นเช่นนี้ตลอดสัปดาห์นี้ นี่จะไม่ต่างกับการก่ออาชญากรรม” โฆษกองค์กรอ็อกแฟมกล่าว
 
ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของศาลประชาชนดำเนินการโดยแนวร่วมภาคประชาสังคมในเอเชียรวมถึง Global Coalition for Climate Action (GCCA) และ Asia Pacific People’s Movement for Debt and Development (APMDD)
ร่วมด้วยองค์กรทั่วเอเชียกว่า 25-30 องค์กร ภายใต้การให้คำปรึกษาของคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม หรือ Thai Working Group on Climate Justice และเครือข่ายทนายภายใต้ lawyers’ network Global Legal Action on Climate Change (GLACC) และ Aid for Development.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net