Skip to main content
sharethis
 
 
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.52 โครงการกำแพงประวัติศาสตร์จัดงานรำลึก 33 ปี 6 ตุลา ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 34 รูป และวางพวงหรีดไว้อาลัยผู้เสียสละในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งในปีนี้มีผู้มาร่วมไม่มากนัก จากนั้นเป็นการกล่าวเปิดงานโดยสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ และวัฒน์ วรรลยางกูร อ่านบทกวีรำลึกวีรชน 6 ตุลา กล่าวไว้อาลัยและสืบสานเจตนา รมณ์วีรชน 6 ตุลา โดยตัวแทนญาติวีรชน 6 ตุลา ตัวแทน 18 ผู้ต้องหา เลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษา (สนนท.) องค์กรนักศึกษากลุ่มต่างๆ คณะกรรมการจัดงาน 110 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตัวแทนกรรมกร ชาวนา สมัชชาคนจน สหพันธ์-สหภาพแรงงาน แนวร่วมศิลปิน และกลุ่มองค์กรประชาธิปไตย
 
นายสุรพลกล่าวว่า ในพิธีรำลึกถึงเหตุ การณ์ 6 ตุลา ครบรอบ 33 ปี ขอเรียกร้องให้สังคมไทยเรียนรู้กับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากัน เพื่อยุติความขัดแย้งทางความคิดหรืออุดมการณ์ นอกจากนี้ต้องการให้สังคมไทยเข้าใจในเรื่องสันติภาพ ความสงบจะไม่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ความรุนแรง ต่อไปสังคมยังต้องมีความขัดแย้งเหมือนสังคมประชาธิปไตยทั่วไป แม้วันนี้จะยังมีความคิดที่แตกต่างอย่างชัดเจน และทุกฝ่ายยังคงเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์เดือนตุลาที่ไม่มีความคืบหน้า ญาติวีรชนหลายคนยังมองว่า 33 ปีผ่านไป หลายอย่างยังอยู่เช่นเดิม แต่ยืนยันว่าจะจัดงานรำลึกต่อเนื่องทุกปี แม้จะได้รับความสนใจจากประชาชนและรัฐบาลน้อยลง
 
นางเล็ก วิทยาภรณ์ อายุ 77 ปี มารดา นายมนู วิทยาภรณ์ ผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงตัดขั้วหัวใจในเหตุการณ์ 6 ตุลา ตัวแทนญาติวีรชน กล่าวว่า เสียใจมากที่ต้องสูญเสียลูกไป ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต เพราะตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยตีลูกแม้แต่ครั้งเดียว แต่ขณะที่ลูกกำลังจะเรียนจบออกมาเป็นกำลังในการหาเลี้ยงครอบ ครัว กลับต้องมาเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ก่อนมาร่วมงานฝันเห็นลูกมาบอกว่าอยากกินขนมจีนแกงเขียวหวาน ขนมเข่ง ขนมเทียน วันนี้จึงตื่นแต่เช้าทำของที่ลูกอยากกินมาทำบุญ และเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานด้วย อยากจะขอให้ผู้มีอำนาจในสังคมอย่าบิดเบือนเรื่องที่เกิดขึ้น ให้ออกมาพูดความจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้ประชาชนทุกคนได้เรียนรู้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว นายสุรพล ปัญญาวชิระ ผู้ออกแบบประติมากรรมประวัติศาสตร์ ในสวนประติมา กรรมประวัติศาสตร์ แสดงละครล้อเลียนการ เมืองปัจจุบัน โดยใช้ธงชาติห่มร่าง ถือมือตบและตีนตบ ที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มพันธ มิตรฯ และกลุ่มคนเสื้อแดง ร้องเพลงชาติพร้อมใช้ตีนตบและมือตบตีศีรษะตัวเอง จากนั้นใช้สีดำทาทับสีแดงและเหลืองจนกลายเป็นสีเดียวกัน
 
ชี้ปรีดีพยายามเตือน “การโต้การอภิวัฒน์” ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา       
ต่อมามีการกล่าวปาฐกถาเรื่อง "แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ กับเจตนารมณ์วีรชน 6 ตุลา 2519" โดยฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โดยเขานำเสนอการมองเหตุการณ์ของปรีดี พนมยงค์ ผ่านบทความเรื่อง จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ซึ่งปรีดีเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาว่า ปรีดีพยายามสรุปประสบการณ์ของคณะราษฎรเพื่อส่งสัญญาเตือนนักศึกษายุคนั้นถึงการโต้การอภิวัฒน์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เพราะปรีดีเห็นว่าเป็นไปตามกฎธรรมชาติของการปะทะขัดแย้งของสิ่งสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน
 
ฐาปนันท์ยังนำเสนอแนวคิด “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ของปรีดีด้วยว่าประกอบด้วย 3 ส่วนคือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย โครงสร้างการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท และส่วนสุดท้ายคือ ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเขามองว่าก็คือ วัฒนธรรมทางการเมืองนั่นเอง และส่วนนี้เป็นส่วนที่สังคมไทยผลักดันน้อยที่สุดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสังคมไทยมีข้อจำกัดในการคิดนอกกรอบ
 
ระบุเสรีภาพทางความคิดเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
“ถ้าเราปราศจากเสรีภาพในการคิดเสียแล้ว เสรีภาพในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเสรีภาพทางความคิดเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุด” ฐาปนันท์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างแนวคิดของคานท์ นักปรัชญาในยุครุ่งโรจน์ที่ระบุว่าความไร้เดียงสาเป็นพันธนาการอันสำคัญ และการขจัดมันต้องอาศัยความกล้าหาญในการคิดด้วยตนเองโดยปราศจากการชี้นำจากผู้อื่น
 
(อ่านรายละเอียดได้ในเอกสารประกอบปาฐกถาด้านล่าง)
 
 
สุรชัยเสนอร่วมทุนนิยมใหม่ “ปฏิวัติ” กลุ่มอนุรักษ์นิยม
ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง "อุดมการณ์ 6 ตุลา กับระบอบอำมาตยาธิป ไตย" โดย นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ระบุว่า อุดมการณ์ 6 ตุลา ไม่มี มีแค่เพียงจิตใจและความกล้าที่จะเสียสละอย่างไร้เดียงสาของนักศึกษา ประชาชนในยุคนั้น และเมื่อไปอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ยังต่อสู้อย่างไร้เดียงสา โดยไม่เคยรู้ว่าถูกใครใช้เป็นเครื่องมือ ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลาก็ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง หากแต่เป็นเพียงการปลดโซ่ตรวนของทุนนิยมไทย ซึ่งทำให้ในท้ายที่สุดส่งผลให้ยุคของทหารที่มีมายาวนานต้องสิ้นสุดลงหลังพฤษภาทมิฬ และในช่วงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนใหม่ก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ในยุคทุนนิยม ซึ่งทำให้ขัดแย้งกับกลุ่มทุนเก่าอนุรักษ์นิยม ดังนั้น ผู้นำการต่อสู้ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไปจากทักษิณได้แม้เขาไม่ต้องการเป็นก็ตาม เพราะสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นสถานการณ์ปฏิวัติ คือเปลี่ยนเชิงคุณภาพ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ไม่ใช่สถานการณ์ปฏิรูปแล้ว
 
เขากล่าวอีกว่า การต่อต้านระบบอนุรักษนิยมต้องร่วมมือกับระบบทุนนิยมเพราะมีความคิดก้าวหน้ากว่า เมื่อโค่นล้มอนุรักษนิยมได้ แล้วค่อยหันมาสู้กับทุนนิยม แต่ไม่ใช่การต่อต้านทุนนิยม เป็นการต่อสู้ทางแนวความคิด พร้อมทั้งระบุว่ากลุ่มแดงสยามก็เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่แนวทางของคอมมิวนิสต์ เพราะทั้งคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง แม้มีความพยายามจะเดินเส้นทางนั้นแต่หลายประเทศก็ประสบความล้มเหลวไปหมดแล้ว  คนเสื้อแดงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพและจัดตั้งองค์กรให้เป็นระบบรวมไปถึงการตั้งพรรคการเมืองด้วย
 
วัฒนะ วรรณ จากกลุ่มเลี้ยวซ้าย กล่าวว่า ปัจจุบันตัวละครในเหตุการณ์ 6 ตุลาก็ยังอยู่เกือบครบในยุคโลกาภิวัตน์ และยังไม่มีใครมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ 6 ตุลาย่อมเดินไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เขาเสนอว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมต้องทำทั้งสงครามขับเคลื่อน ไม่ว่าการชุมนุมประท้วง การนัดหยุดงาน การเรียกร้องผลประโยชน์ของคนเล็กคนน้อย ขณะเดียวกันก็ต้องทำสงครามจุดยืน โดยเฉพาะการสร้างรูปธรรมของ “สังคมใหม่” ที่มุ่งเน้นนโยบายรัฐสวัสดิการที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน โดยการตั้งพรรคการเมืองของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญในระยะยาวที่ต้องถกเถียงกันอย่างจริงจังเพื่อให้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นไปอย่างต่อเนื่องแม้ไม่มีกระแสทางการเมือง
 
กมล จากสมัชชาสังคมก้าวหน้า กล่าวไว้อาลัยต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลา และว่า 19 กันยา อาจมองได้ว่าเป็นผลประโยชน์ของยุคสมัยที่ทำให้คนกลับมากล้าพูด กล้าฝัน กล้าแสดงออกอีกครั้หนึ่ง อีกทั้งสังคมโลกก็เปิดให้ประชาชนต่อสู้ได้ในหลายมิติ ขณะที่อำมาตย์ยังคงล้าหลังและโฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายคนเสื้อแดงเหมือนอย่างที่เคยทำในยุคคอมมิวนิสต์
 
 
 
บางส่วนจาก http://www.matichon.co.th/khaosod

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net