ตามติดเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนคร “เชียงใหม่”: อยากให้เป็นอะไรที่มากกว่าแค่ “สีเสื้อ”

กว่าจะมาถึงวันนี้...

เทศบาลนครเชียงใหม่ (Chiang Mai Municipality) แรกเริ่มเดิมทีเป็นสุขาภิบาลมาตั้งแต่ปี 2458 และได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่เป็นเทศบาลนครเชียงใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ พ.ศ.2478 นับว่าเป็นเทศบาลนครแห่งแรกในประเทศไทย

โดย ‘นายวรการ บัญชา’ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก ซึ่งในระยะแรกหรือระหว่างปี 2479-2499 นั้น นายกฯ ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการทั้งสิ้น กล่าวคือ ในช่วงเวลานั้น สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท มีที่มาทั้งจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลกลางส่วนหนึ่งกับมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ระหว่างนั้นเทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ อีก 12 ครั้ง โดยมี ‘หลวงศรีประกาศ’ กับ ‘หลวงคุรุวาทวิทักษ์’ แสดงบทบาทเด่น เพราะได้เป็นนายกฯ ถึงคนละ 3 สมัยเท่ากัน

จากนั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญยิ่ง เนื่องมาจากการแก้ไข พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 โดยยกเลิกระบบแต่งตั้ง และกำหนดให้ ส.ท.มาจากการเลือกตั้งแต่เพียงทางเดียว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ ‘นายสุชาติ สุจริตกุล’ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ‘โดยอ้อม’ กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ได้มีผลปฏิบัติจริงในห้วงเวลาที่สั้นมากๆ เนื่องจากในปี 2501 ก็เกิดการรัฐประหารครั้งสำคัญขึ้น เป็นผลให้ระบบการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถูกยกเลิกลงโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่ากลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายรัฐบาลคณะปฏิวัติย่อมได้รับการสนับสนุนให้เป็น ส.ท. และฝ่ายบริหารของเทศบาล (หรือเรียกว่าคณะเทศมนตรี) ในแบบแต่งตั้ง ช่วงระหว่างปี 2501–2510 นั่นเอง

ภายหลังการว่างเว้นจากการเลือกตั้งไปนาน ในปี 2510 รัฐบาลจึงได้เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง ส.ท. อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เป็นที่เห็นได้ชัดว่ากลุ่มซึ่งเป็นผู้บริหารเทศบาลในช่วงอีกหนึ่งทศวรรษต่อมา ระหว่างปี 2510–2520 แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งก็ตามที แต่ก็ยังคงจัดว่าเป็นชนชั้นนำท้องถิ่นกลุ่มเดิม มักเป็นคนเชียงใหม่ที่มีฐานะร่ำรวยถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นคหบดี หรือไม่ก็เคยมีประสบการณ์ในฐานะ ส.ท. หรือเคยเป็นนายกฯ หรือเทศมนตรีมาก่อน ตัวอย่างเช่น ‘นายเรือง นิมมานเหมินท์’ และ ‘นายทิม โชตนา’ ทั้งสองคนนี้เป็นนายกเทศมนตรีคนละ 2 ครั้งด้วยกัน

นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของเทศบาลนครเชียงใหม่ก็เป็นระบบเปิดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จวบจน ณ เวลานี้ เกิดมีกลุ่มการเมืองท้องถิ่นใหม่ๆ ขึ้นมาในทุกๆ ช่วง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม ‘ประชาสันติ’ ‘อานันทภูมิ’ ‘นวรัฐพัฒนา’ ‘เชียงใหม่คุณธรรม’ จนถึงกลุ่ม ‘ช้างงาน’ ในปัจจุบัน โดยที่ ‘นายวรกร ตันตรานนท์’ เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันยาวนานถึงกว่า 10 ปี (2528-2538)

และความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่สุดก็เกิดขึ้น ในปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ‘โดยตรง’ เป็นครั้งแรกของเทศบาลนครเชียงใหม่ ‘นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์’ (ปัจจุบันเป็น นายกฯ อบจ.) นายกฯ คนเดิมได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกคำรบ ในฐานะเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนคนแรก (ได้ 33,658 คะแนน จากผู้สมัครทั้งหมด 5 คน) อนึ่ง การเลือกตั้งครั้งหลังสุด เมื่อปี 2550 นั้น ‘ร้อยเอกหญิงเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่’ เป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ (ได้ 24,204 คะแนน จากผู้สมัครทั้งหมด 8 คน) ในการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลปกครองได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จนถึงวันนี้เทศบาลนครเชียงใหม่จึงมีนายกเทศมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น 33 คน ถ้าหากคนต่อไปไม่ใช่นายกฯ คนเดิมแล้วละก็ จะนับเป็นนายกฯ คนที่ 34 ในหน้าประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

จากศูนย์กลางความเจริญสู่ศูนย์รวมปัญหา

สำหรับคนกรุงเทพฯ ซึ่งคุ้นเคยเชียงใหม่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ ตอกย้ำ อาจจะมีภาพในใจกันว่าเชียงใหม่สวยงาม น่าอยู่ อากาศดี ฤดูหนาวก็หนาวเย็น ผู้คนเป็นมิตร ฯลฯ ตรงกันข้ามกับกรุงเทพฯ โดยสิ้นเชิง ทว่านั่นก็เป็นเพียงเงาของอดีตเท่านั้น เชียงใหม่ในความเป็นจริงวันนี้ไม่ได้ ‘ดูดี’ ดังเช่นแต่ก่อนเก่าแล้ว

ในฐานะเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทยอย่างที่ส่วนกลางอยากจะให้เป็น เชียงใหม่จำต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ สารพัดสารพัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาจราจร รถติด ขาดระบบขนส่งมวลชน ถนนเสื่อม ปัญหาสิ่งแวดล้อม อากาศเสีย หมอกควัน ขยะตกค้าง น้ำเน่า ปัญหาความเป็นเมือง อาคารสูง ขาดการวางผังเมืองที่ดี ใช้ที่ดินผิดประเภท ชุมชนแออัด หาบเร่แผงลอย รวมถึง ปัญหาสังคม อื่นๆ อีกมิใช่น้อย เช่น ผู้คนมีวิถีชีวิตที่แก่งแย่งแข่งขัน/ต่างคนต่างอยู่ยิ่งขึ้น ฯลฯ

ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน เทศบาลนครเชียงใหม่ จะเป็นเทศบาลฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ทั้งในแง่ของงบประมาณ ซึ่งรายรับรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท และมีบุคลากรถึง 2,000 คนเศษ ภายใต้พื้นที่รับผิดชอบทั้งสิ้น 40 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งยังมีขอบเขตอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นครอบคลุมภารกิจรอบด้านตามกฎหมายกระจายอำนาจกำหนด แต่ก็ใช่ว่าปัญหาข้างต้นจะลดลงไม่ และด้วยเหตุนี้เอง การเลือกตั้งทุกครั้งจึงย่อมมีความหมายต่อ ‘คนเชียงใหม่’ ยิ่งนัก (ทั้งกับคนที่เกิดเชียงใหม่ และผู้ที่มาอยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้) อย่างๆ น้อยก็เพื่อหาคนที่จะมา ‘ฉุดรั้ง’ มิให้สถานการณ์ของปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทั้งสิ้น มิให้ต้องเลวร้ายลงไปกว่านี้เลย

04/10/2552

ณ ‘เมืองหลวงของคนเสื้อแดง’ ที่สื่อกระแสหลักขนานนามให้แห่งนี้ สถิติของ กกต.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าคนเชียงใหม่ไม่ค่อยมีความตื่นตัวเรื่องการเมืองท้องถิ่นเท่าใดนัก (แตกต่างจากเลือกตั้งระดับชาติ) กล่าวคือ การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงครั้งแรก (1 ก.พ. 2547) มีผู้มาใช้สิทธิ 56,728 คน คิดเป็น 51.72% จากจำนวนทั้งหมด 109,686 คน และในครั้งต่อมา (24 มิ.ย. 2550) มีผู้มาใช้สิทธิ 65,213 คน คิดเป็น 59.66% ของจำนวนทั้งสิ้น 109,311 คน เชื่อว่ากันว่า 40% ที่หายไปนั้น เป็นเสียงของกลุ่มนักศึกษาและชนชั้นกลาง ทั้งๆ ที่ทฤษฎีตามแบบตะวันตกมองว่าเป็นพลเมืองที่มีความสนใจทางการเมืองสูงยิ่ง

ทว่าบรรยากาศในการหาเสียงเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงครั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 4 ตุลาคม 2552 นี้ กลับคึกคักผิดกันลิบลับ สังเกตได้จากการโหมใช้สารพัดสื่อรณรงค์ของผู้สมัครฯ เกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นป้ายไวนิล แผ่นพับ จดหมาย ใบปลิว รถแห่ hi5 ฯลฯ กันอย่างเอิกเกริก ทั้งยังมีกิจกรรมเวทีสาธารณะอีกหลายครั้ง โดยหลายๆ องค์กรร่วมกันจัดขึ้นมา คาดการณ์ว่าน่าจะส่งผลถึงจำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิให้เพิ่มขึ้น จนข้ามพ้นตัวเลข 60% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 106,367 คนเป็นครั้งแรก

การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงครั้งนี้มีผู้สมัครฯ มากที่สุด (ในบรรดา 3 ครั้งหลัง) ถึง 10 คน ได้แก่
หมายเลข 1 ร้อยเอกหญิงเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่
หมายเลข 2 นายทัศนัย บูรณุปกรณ์
หมายเลข 3 นายเพทาย เตโชฬาร
หมายเลข 4 นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว
หมายเลข 5 นายวิชัย วงศ์ไชย
หมายเลข 6
นายพรชัย จิตรนวเสถียร
หมายเลข 7 นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงษ์
หมายเลข 8 นางอารีย์ อุดมศิริธำรง
หมายเลข 9 นายบารมี พจนามธุรส
หมายเลข 10
นายเทพโยธินฐ์ ไชยรัตน์

ถึงกระนั้นก็มีข่าวว่าผู้สมัครฯ บางรายตัดสินใจลงเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงเพื่อหวังให้ชื่อเสียงเรียงนามของตนเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้น ก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่ (ส.ส., ส.ว.) จะมาถึงในอีกไม่ช้าเท่านั้น

ทั้งนี้ จากผลโพลล์หลายๆ ครั้งของวิทยุชุมชนท้องถิ่นฝ่าย ‘สีเหลือง’ ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าผู้สมัครฯ คนที่กลุ่มเสื้อ ‘สีแดง’ กลุ่มใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ (อันที่จริงก็ไม่ได้มีแต่กลุ่มรักเชียงใหม่’51 (FM 92.5) นำโดยนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล กลุ่มเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักทักษิณแห่งประเทศไทย (FM 105.5) ที่มีนายมหวรรณ กะวัง เป็นประธานฯ หรือกลุ่มเสรีชนฅนเชียงใหม่ (FM 89.25) หรือกลุ่มเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย (FM 89.50) ฯลฯ) ประกาศสนับสนุนมีคะแนนออกนำมาตลอด (คะแนนสำรวจครั้งล่าสุดได้ 20%)

แน่ล่ะ เงื่อนไขปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้งคราวนี้เท่าที่เห็นจึงเป็นเรื่องของ ‘สีเสื้อ’ มากกว่าอื่นใด (แข่งว่าใครเป็น ‘แดง’ มากกว่ากัน) เป็นต้นว่าผู้สมัครฯ ตัวเก็งบางรายถึงกับออกจดหมายชี้แจงตามบ้านเพื่อปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ‘สีน้ำเงิน’, ป้ายของผู้สมัครฯ หลายรายก็เลือกใช้พื้นและเบอร์เป็น ‘สีแดง’ เด่นชัด ฯลฯ

เป็นปัญหาการเมืองระดับชาติที่ถูกเอามาตัดสินในสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่น
 

ขณะที่ ‘นโยบาย’ ของผู้สมัครฯ ซึ่งควรต้องเป็น ‘หัวใจ’ ของบริบทการเมืองใหม่นั้น กลับพบว่ามีอะไรๆ (ทั้งเก่าและใหม่) เหมือนๆ กันไปหมด เช่น โครงการสายไฟลงใต้ดิน สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนสาธารณะขนาดใหญ่ คัดค้านการขยายถนน อินเทอร์เน็ตไร้สายทั่วเมือง (WiFi) ติดตั้งประปาทุกหมู่บ้าน กล้องวงจรปิด (CCTV) ทั่วเมือง ท่อระบายน้ำครบทุกสาย เบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุและเด็กก่อนวัยเรียน ปรับปรุงถนนให้เป็นลาดยางหรือคอนกรีตทุกเส้นทาง ปรับปรุงขนส่งรถเมล์ให้ทั่วถึงและสะดวกยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานโรงเรียนเทศบาลเป็นโรงเรียนหลายภาษา เป็นอาทิ

อาจมีบ้างที่เป็น ‘นโยบาย’ เฉพาะตัวของผู้สมัครบางรายที่นำมาใช้เป็น ‘จุดขาย’ เช่น สร้างโรงพยาบาลเทศบาลแห่งใหม่, พัฒนาให้เขตคูเมืองเป็นมรดกโลก, ผลักดันเชียงใหม่เป็นเขตปกครองพิเศษ, โครงการบ้านมั่นคง, พัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชน ซึ่งก็ยังไม่ได้นำเสนอลงในรายละเอียดว่าแล้วจะทำอย่างไร?

และมีผู้สมัครฯ เพียงรายเดียวเท่านั้นที่ระบุรายชื่อทีมงานบริหาร (รองนายกฯ, คณะที่ปรึกษา) ล่วงหน้าได้

โดยทัศนะส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าถึงอย่างไรเสีย ‘เรา’ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯ) คงจะต้องตัดสินใจเลือกผู้สมัครฯ สักคนที่เห็นว่าเขาหรือเธอ ‘เข้าท่า’ ที่สุด เราควรใช้ความคิดให้มากๆ ดูหลายๆ อย่างประกอบกัน ไม่ควรตัดสินใจไม่เลือกใคร (หรือ No Vote ดังเช่นที่นักวิชาการผู้รู้ดีชอบออกมาชี้แนะให้ผู้คนทำตามอยู่เป็นประจำ) อย่าได้มองหานักการเมืองสมบูรณ์แบบและเพียบพร้อมในสังคมที่การเมืองถูกสร้างภาพให้เป็นเรื่องอันน่ารังเกียจและเต็มไปด้วยอันตรายยิ่งนักมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3-4 ปีมานี้

แน่นอนที่สุดว่าผู้สมัครฯ ที่เราตัดสินใจเลือก ไม่จำเป็นเลยว่าคนๆ นั้นจะต้องเป็น ‘คนเสื้อแดง’ เสมอไป ตราบเท่าที่เขาหรือเธอยังไม่มีความคิดและพยายามที่จะต่อต้าน/ทำลายระบอบประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ (ซึ่งก็ต้องหาใช่คนที่อิงแอบกับอำนาจเผด็จการ ‘ซ่อนรูป’ ที่ได้มาหลังรัฐประหาร 19 กันยา’49 ด้วยเช่นกัน)

อธิบายความมาถึงบรรทัดนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผมนำมาใช้ตัดสินใจเลือกก็คงเป็นเรื่องของ ‘ตัวบุคคล’ ล้วนๆ (โดยพิจารณาจากเส้นทางชีวิต และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านๆ มาของผู้สมัครฯ แต่ละคนเป็นแก่นแกน) คำชี้ชวนของ กกต.ที่พยายามรณรงค์ให้เลือก ‘คนดี’ คงยังไม่พอ สำหรับผมแล้ว สิ่งสำคัญที่นายกฯ จะต้องมีให้มากกว่าแค่ ‘ความดี’ นั่นคือ...

หนึ่ง ‘ภาวะความเป็นผู้นำ’ แสดงให้ชัดว่าท้องถิ่นไม่ใช่มือตีนของราชการ คิดเองได้ ทำเองเป็น กล้าที่จะ ‘ทัดทาน’ แนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่ถูกกำหนดลงมาให้โดยอำนาจจากส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในจังหวัด (ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการขยายถนนตามผังเมืองของกรมโยธาธิการฯ)

สอง ‘เครือข่ายการเมืองท้องถิ่น’ เนื่องด้วยเมืองเชียงใหม่ขยายตัวรวดเร็วมาก แต่เขตเทศบาลยังคงครอบคลุมพื้นที่เพียง 26% ของพื้นที่อำเภอเมืองทั้งหมดเท่านั้น หลายๆ ปัญหาจึงแก้ไขเองตามลำพังไม่ได้ (อาทิปัญหาเผาขี้เหยื้อหรือขยะ ซึ่งพบในพื้นที่รอบนอกมากกว่าในเขตเทศบาล) จำต้องอาศัยการ ‘บูรณาการ’ คือประสานและทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่รายล้อมอยู่ ซึ่งมีมากถึง 11 แห่งด้วยกัน

สาม ‘จุดยืนประชาธิปไตย’ เอา ‘ประชาชน’ เป็นตัวตั้ง สำนึกเสมอว่าชาวเชียงใหม่เป็นคนเลือกเข้ามา จึงควรทำงานรับใช้คนข้างล่าง มิใช่ไปห่วงใยคนข้างบนที่อยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ อย่า ‘คิดแทน’ ประชาชน แบบที่ส่วนกลางชอบทำ แต่ให้ ‘คิดร่วม’ กับประชาชน

สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าประชาธิปไตยมีสองระดับ และนี่เป็นเวทีการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีสีสัน เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา และมีความเป็นประชาธิปไตยสูงส่งๆ เสียยิ่งกว่าประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) ในระดับชาติมากโข.
 

 

.........................
หมายเหตุ
กอง บก.
ชื่อรายงานเดิม: ตามติดเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนคร “เชียงใหม่” 2552: อยากให้เป็นอะไรที่มากกว่าแค่ “สีเสื้อ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท