โลกร้อน ตัวเลข วิกฤต และโอกาส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์นี้ทุกท่าน ต้องเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องสภาวะโลกร้อนกันอยู่บ่อยๆ จนถึงขั้นที่หลายท่านอาจตั้งคำถามว่า เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเรื่องแฟชั่นมากเกินไปหรือเปล่า ขณะที่บางท่านก็อาจรู้สึกว่า โลกมันก็คงจะร้อนขึ้นจริง (เราทุกคนก็รู้สึกได้อยู่) แต่การจัดการปัญหานี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่และไกลตัวเกินกว่าที่ท่านจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เพราะเป็นเรื่องของผลกระทบระยะยาวในอนาคต และถ้าจะมีการแก้ปัญหากัน ก็ควรจะเป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้ก่อปัญหาหลัก ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อสารกับทุกท่านในวันนี้ ก็คือ วิกฤตการณ์โลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ รุนแรงและเลวร้ายกว่าที่สาธารณชนไทย (และแทบทั้งโลก) รับรู้อย่างมากมายมหาศาล (ชนิดที่เทียบกันไม่ได้) กระนั้นก็ตาม ถ้าเราตั้งหลักให้ดี ก็อาจพลิกวิกฤตนี้เป็นโอกาสได้

หลายท่านคงเคยรับรู้ว่า ในระดับประชาคมโลก มีข้อตกลงนานาชาติในการจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อนอยู่ทั้งหมด 2 ข้อตกลง ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิธีสารเกียวโต และบางท่านอาจรู้ด้วยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาข้อตกลงทั้งสองที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อปูทางหาข้อสรุปร่วมกันเรื่องแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อนในอนาคต (หลังจากปี ค.ศ.2012) ให้ได้ในการประชุมใหญ่ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ที่กรุงโคเปนเฮเกน

การเจรจาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงนี้ หากแต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องมากว่าสามปี และเข้มข้นมากที่สุดในช่วงปีนี้ เมื่อพิจารณารายงานการประชุมและข้อเสนอการเจรจาที่ผ่านมา เราจะพบว่ามี ข้อเสนอ/การอ้างอิงตัวเลขระดับการเพิ่มอุณหภูมิสูงสุดหรือระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกสูงสุดที่ยอมรับได้ และตัวเลขปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประชาคมโลกจำเป็นต้องดำเนินการ ที่ควรพิจารณาหลายประการ

ในส่วนของตัวเลขเป้าหมายเชิงอุณหภูมิและความเข้มข้นก๊าซเรือนกระจก ถ้าพิจารณาข้อเสนอจากประเทศต่างๆ จะพบว่า แทบทุกประเทศทั้งประเทศพัฒนาหรือกำลังพัฒนาต่างสนับสนุนให้คงการเพิ่มของอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และสนับสนุนการคงระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 450 หน่วย (450 ppm CO2-eq)

ข้อเสนอจากประเทศต่างๆ ที่สอดคล้องกันอย่างมากนี้ เพราะผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทั่วโลก ต่างชี้ในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบจากการปล่อยให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน 2 องศา หรือความเข้มข้นเพิ่มสูงกว่า 450 หน่วย มีความเสี่ยงที่อันตรายมากเกินไป หากเป็นไปได้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังอยากให้คงค่าอุณหภูมิและความเข้มข้นเป้าหมายไว้ต่ำกว่านี้ แต่ที่ต้องยอมรับเป้าหมายระดับนี้ ก็เพราะเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซจริงๆ ประกอบด้วย

ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า ถ้าพิจารณาปริมาณการลดก๊าซที่จำเป็นเพื่อคงเป้าหมาย 2 องศา หรือ 450 หน่วย จะพบว่า ปริมาณการลดก๊าซจะสูงมาก ถึงขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมคนใดที่ไม่เคยตามเรื่องสภาวะโลกร้อนมาก่อน เมื่อได้ยินครั้งแรกก็คงต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้

ในแง่ของกระบวนการเจรจา การนำเสนอตัวเลขการลดก๊าซที่จำเป็นปรากฏขึ้นครั้งแรกในรายงานของคณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้พิธีสารเกียวโต (คณะทำงาน AWG-KP) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2007 โดยความเข้มข้นต่ำสุด stabilization category I (ซึ่งผมขอแปลง่ายๆ ว่า ที่ระดับความเข้มข้นประมาณ 450 หน่วย นั่นแหละ) ที่ปรากฏในรายงาน IPCC ฉบับล่าสุด (IPCC-AR4, Working Group III) ระบุว่า "ปริมาณการปล่อยก๊าซรวมของประเทศในภาคผนวกที่ 1 (ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศยุโรปตะวันออก) ควรจะต้องลดลง 25-40% เมื่อเทียบกับระดับในปี ค.ศ.1990 ภายในปี ค.ศ.2020, ปริมาณการปล่อยก๊าซรวมของโลกควรจะต้องเริ่มลดลง (ผ่านจุด peak) ภายใน 10-15 ปี และปริมาณการปล่อยก๊าซรวมของโลกควรจะต้องลดลงต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของระดับการปล่อยในปี 2000 อย่างมาก ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้"

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อเสนอบนโต๊ะเจรจาในปัจจุบันจะพบว่า ในส่วนของเป้าหมายการปล่อยก๊าซรวมของประเทศภาคผนวกที่ 1 ในช่วงปี 2020 นั้น ประเทศพัฒนาหลายประเทศจะเสนอให้ประเทศภาคผนวก 1 ลดการปล่อยลงในระดับ 25-30% (ใกล้เคียงกับตัวเลขขีดล่างในรายงาน IPCC-AR4) ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เรียกร้องให้ประเทศภาคผนวกที่ 1 ลดให้ได้ 40-50% ขึ้นไป (ใกล้เคียงกับตัวเลขขีดบนใน IPCC-AR4) ดังนั้นจะเห็นว่า ตัวเลขใน IPCC-AR4 มีผลต่อข้อเสนอของประเทศกลุ่มต่างๆ อย่างมาก

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ รายงาน IPCC-AR4 ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะตัวเลขการลดก๊าซ 25-40% สำหรับประเทศภาคผนวกที่ 1 เท่านั้น แต่ได้ชี้ด้วยว่า ประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (ประเทศกำลังพัฒนา) บางส่วนก็ควรจะลดการปล่อยก๊าซในระดับที่มี "ความแตกต่างอย่างชัดเจน" (substantial deviation) จากระดับการปล่อยในสภาวะปกติ (baseline) อีกด้วย โดยในภายหลัง ผู้เขียน IPCC ในส่วนนี้ได้ตีพิมพ์บทความเพิ่มเติม อธิบายว่า "ความแตกต่างอย่างชัดเจน" ดังกล่าว ควรอยู่ในย่าน 15-30% ต่ำกว่าค่า baseline ซึ่งปริมาณการลดก๊าซระดับนี้จะสอดคล้องกับตัวเลข IPCC-AR4 อีกสองชุดที่กล่าวถึงข้างต้น (ปริมาณการปล่อยรวมของโลกต้องเริ่มลดลงในระยะเวลาอันสั้น และต้องลดลงอย่างมากในราวปี 2050)

จุดสำคัญที่เราต้องเข้าใจก็คือ ตัวเลขการลดก๊าซที่ผู้เขียน IPCC พูดถึง เป็นตัวเลขที่ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจริงในแต่ละประเทศ (domestic actions) ไม่ใช่ตัวเลขพันธกรณีที่ประเทศต่างๆ ควรต้องแบกรับ ดังนั้นแม้ว่าในด้านการเจรจา ไทยอาจบอกได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรมีพันธกรณี แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานภาครัฐควรต้องเริ่มเตรียมการพิจารณาว่า ถ้าไทยจะร่วมลดก๊าซเรือนกระจก (ไม่ว่าจะโดยการถูกบังคับด้วยพันธกรณี หรือโดยการสมัครใจผ่านการขายคาร์บอนเครดิตหรือกลไกอื่นๆ) เราจะมีมาตรการและนโยบายการดำเนินงานในประเทศอย่างไร ส่วนภาคเอกชนก็คงต้องเริ่มพิจารณาเช่นกันว่า มีทางเลือกหรือมีโอกาสเสริมสร้างทางเลือกการลดก๊าซอะไรได้บ้าง รวมทั้งพิจารณาว่า แผนการลงทุนต่างๆ ที่วางแผนไว้นั้น ควรจะต้องปรับปรุงหรือไม่/อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงนี้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าไทยอยู่มีโอกาสสร้างความได้เปรียบ (โดยเปรียบเทียบ) จากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากประการแรก ไทยไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วที่จะต้องรับพันธกรณีในปัจจุบัน ประการที่สอง ไทยไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการดึงให้เข้าร่วมรับพันธกรณี ดังนั้นไทยจึงน่าจะมีโอกาสคงความได้เปรียบเชิงพันธกรณีได้อีกระยะหนึ่ง ประการที่สาม ผมเชื่อว่า ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซหรือรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ไทยน่าจะมีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คุณภาพบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นรองใคร ดังนั้นถ้าหากผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนไทยมีวิสัยทัศน์ สิ่งที่ดูจะเป็นวิกฤตนี้ก็อาจจะกลายเป็นโอกาสให้เราสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจพร้อมกับปรับแนวทางการพัฒนาประเทศที่นำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้นได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท