Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. เวลา 11.15 น. ชาวไทยและต่างประเทศกว่า 20 คนร่วมชุมนุมที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ  เพื่อเรียกร้องให้การประชุมของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-9 ต.ค.นี้ที่อาคารสหประชาชาติ ให้ความสำคัญกับปัญหาของชาวประมง ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น

มีการอ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า พวกเขาเป็นชาวประมง ซึ่งมาจากหลากหลายองค์กรในศรีลังกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย มาที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อเสนอถึงผลกระทบที่ระบบนิเวศทางทะเลและชุมชนของพวกเขาได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประมงของพวกเขาอย่างรุนแรง ชีวิตของพวกเขายากลำบากขึ้น ปลาที่จับได้ลดลง และผลิตผลน้อยลง

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เพียงส่งผลต่อทรัพยากรอาหารของพวกเขา แต่ยังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อันเป็นผลให้พวกเขาหลายล้านคนต้องย้ายชุมชนไปหาที่อยู่อาศัยที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงพายุที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ของหลายสถาบันระบุว่าพื้นที่ปะการังจำนวนมหาศาลในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ไทย เวียดนาม รวมถึงเขตปะการังในอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของโลก ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ อาทิ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ล้มเหลวในการปกป้องชุมชนของชาวประมง ระบบนิเวศทางทะเล และกำลังเร่งทำลายชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น ผ่านการไล่ตามโลกาภิวัตน์ การกระทำดังกล่าวทำให้ชาวประมง กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่จนที่สุด และเดือดร้อนที่สุดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การเจรจาเรื่องภูมิอากาศต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและสิทธิของประชาชนผู้ยากไร้อย่างชาวประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่สนใจแต่ผลประโยชน์ของประเทศทางเหนือที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

รัฐบาลของแต่ละประเทศในภูมิภาคก็ควรที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์การดำเนินนโยบายไปในแนวโลกาภิวัตน์ เช่น การเปิดเสรีภาคประมง ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเลย หากแต่แพร่กระจายความยากจนและทำลายสิ่งแวดล้อม

การประชุม UNFCCC ที่กรุงเทพฯ ควรจะก่อให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและหยุดการทำลายทางทะเลในภูมิภาค โดยการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องรวมตัวกันต่อต้านนโยบายโลกาภิวัตน์ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนขึ้นอย่างเข้มข้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net