สุลักษณ์ ศิวรักษ์: แสวงหาสาระของประชาธิปไตยสำหรับเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 52 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จัดการอภิปราย “3 ปีวันประหารรัฐประชาธิปไตย” ที่ห้องประชุม อาคารศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้ปาฐกถาในหัวข้อ“แสวงหาสาระของประชาธิปไตยสำหรับเมืองไทย” มีรายละเอียดดังนี้

000

 
วันนี้เป็นวันครบสามปีของรัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศนี้ ที่จริงรัฐประหารให้ทั้งคุณและโทษ ถ้าการยึดอำนาจรัฐ เพื่อขจัดเผด็จการ และก่อให้เกิดประชาธิปไตย โดยเป็นไปอย่างสันติวิธี ย่อมถือว่ามีคุณมากกว่ามีโทษ ดังที่เกิดขึ้นอย่างได้รับความสำเร็จมา 2 ครั้ง ในรัชกาลที่ 7 แม้กระนั้น การยึดอำนาจครั้งหลังในรัชกาลดังกล่าว แม้จะได้ประชาธิปไตยคืนมา ก็ได้วางรากฐานในทางเผด็จการไว้ด้วย อย่างที่น่าจะต้องตราเอาไว้
 
สำหรับรัฐประหารในรัชกาลปัจจุบันที่เริ่มแต่ พ.ศ. 2490 นั้น ทุกครั้งมีความเลวร้ายคล้ายกันทั้งนั้น และเป็นการฆ่าสาระของประชาธิปไตยทุกๆ ครั้งด้วย รวมทั้งครั้งล่าสุด แม้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเลวร้ายอย่างไร อย่างน้อยก็มีรูปแบบในทางประชาธิปไตย โดยเราอาจใช้หนามยอกเอาหนามบ่งออกได้ ด้วยวิถีทางของประชาธิปไตยนอกรัฐสภา แต่ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะฟื้นฝอยหาตะเข็บในเรื่องเมื่อสามปีก่อน หากต้องประสงค์จะทำความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย โดยไม่รวมไปถึงในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเอาเลยด้วยซ้ำ เพราะนี่ก็เป็นประเด็นที่สำคัญ หากคนไทยสมัยนี้เข้าใจในเรื่องนี้น้อยนัก หากเอาสถาบันดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไม่รู้เท่าทัน ซึ่งจักเป็นอันตราย ไม่แต่กับสถาบันฯ หากจะเป็นอันตรายถึงสาระแห่งความเป็นประชาธิปไตยเอาเลย จะอย่างไรก็ตาม ขอข้ามเรื่องนี้ไปก่อน เพราะข้าพเจ้าได้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์มามากแล้ว ดังยังมีคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพติดตัวอยู่ในบัดนี้ด้วยซ้ำไป
 
I
 
คำว่าประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความไขว้เขวและสับสนกันยิ่งนัก เพราะวาทศิลป์ที่ใช้กันในปัจจุบัน ทางฝ่ายหนึ่งนั้นต้องการกำหนดหรือสะกดให้ประเทศต่างๆ ต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะก็ในอาณาบริเวณที่นอกเหนืออารยธรรมตะวันตกออกไป ทั้งนี้ก็เพราะฝรั่งที่อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตยนั้น ถือว่าการปกครองในระบอบดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศนั้นๆ ศรีวิไล พร้อมกันนั้น ก็มีประเทศที่รังเกียจการยัดเยียดดังกล่าว ทั้งยังแลไม่เห็นคุณค่าของการปกครองในระบอบที่ว่านี้อีกด้วย โดยที่ประเทศนั้นๆ ถือว่าการปกครองในระบอบของตนก็ดีอยู่แล้ว หรือเหมาะสมกับบ้านเมืองของตน ยิ่งกว่าจะรับเอาระบอบการเมืองจากฝรั่งมาประยุกต์ใช้ ในหนังสือชื่อ Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang เติ้งเสี่ยวผิงย้ำกับเจ้าสื่อหยางอย่างหนักแน่น ว่าจีนต้องก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างฝรั่ง แต่ต้องไม่เอาประชาธิปไตยแบบฝรั่งมาประยุกต์ใช้ เติ้งถือว่าระบบพรรคการเมืองของฝรั่งที่ผลัดกันมามีอำนาจในทางประชาธิปไตยนั้น คือการควบคุมผลประโยชน์โดยพวกกฎุมพีที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ โดยผนวกเอาการเมืองมาไว้ในอำนาจ สำหรับชนชั้นปกครองของไทยในบัดนี้ กลับอยากได้ยี่ห้อว่าเป็นประชาธิปไตยเพื่อเอาใจฝรั่ง แต่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยจะเป็นเช่นไร ดูจะไม่ใช่ประเด็นหลักของพวกเขา
 
ในกรณีของสยามนั้น ตั้งแต่ ร.ศ. 103 ซึ่งเทียบเท่ากับ พ.ศ. 2428 หรือ ค.ศ. 1885 แล้ว ที่เจ้านายไทยและข้าราชการไทยในสถานทูตที่ลอนดอนและปารีสได้กราบบังคมทูลให้ทรงใช้ระบอบการปกครองตามทางของประชาธิปไตย โดยใช้คำทับศัพท์อังกฤษว่า ลิมิติดโมนาคี (Limited Monarchy) หรือ คอนสติตูชาแนลโมนาคี (Constitutional Monarchy) คือระบอบราชาธิปไตยจำกัด หรือภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างไปจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute Monarchy แต่พระมหากษัตริย์ในเวลานั้น คือรัชกาลที่ 5 ได้ทรงตอบคำกราบบังคมทูลที่ว่านี้ว่า
 
“....และการปกครองบ้านเมือง เช่นประเทศสยามนี้ ตามอำนาจอย่างเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ คือ ประเทศยุโรป ก็จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ และจะไม่เป็นที่ชอบใจของราษฎรทั่วหน้าด้วย เหมือนอย่างที่จะมีปาลิเมนต์ จะไม่มีผู้ใดซึ่งสามารถเป็นเมมเบอร์ได้สักกี่คน” ครั้นแล้วทรงสรุปว่า เพราะเหตุฉะนั้น “ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่า ราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกำหนดตามแบบเดิม
 
 
นี่ก็คือไม่ยอมหันเหไปตามวิธีการปกครองของตะวันตก ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางประชาธิปไตยยิ่งๆ ขึ้น โดยที่ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปได้ลดน้อยถอยตัวลงทุกทีๆ จนปลาสนาการไปภายหลังรัชกาลที่ 5 ไม่นานนัก
 
ในเมืองไทยเองก็มี ต.ว.ส. วัณณาโภหรือเทียนวรรณ ที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งก็แสดงได้ว่าท่านผู้นั้นย่อมได้อิทธิพลมาจากฝรั่งเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีของเทียนวรรณนั้น ในฐานะที่เขาเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ ถ้อยคำของเขาแม้อาจจะถึงพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรๆ ทั้งยังถูกจองจำในข้อหาว่าหมิ่นตราพระราชสีห์เป็นเวลาถึง 16 ปี นี่ก็ออกจะคล้ายกับการถูกพิพากษาจำคุกในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเอง
 
พอล่วงรัชกาลที่ 5 ได้ปีเดียว ก็เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น ในปี พ.ศ. 2455 ซึ่งเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม คือนอกเหนือจากถ้อยคำ หากถูกรัฐบาลจับได้และปราบปรามเสียก่อน โดยที่คณะ ร.ศ. 130 นี้ ก็ยังคงต้องการระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ปราศจากพระราชอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ หาไม่ก็ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในเวลานั้นหมายถึง Republic ซึ่งต่อมาใช้คำว่าสาธารณรัฐ หรือมหาชนรัฐ
 
ที่อ้างกันว่าพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 6 ต้องการจะทดลองการปกครองในระบอบเทศบาล กับการเล่นในเรื่องของดุสิตธานีนั้น เป็นการกล่าวสรรเสริญเยินยออย่างโคมลอย ดุจดังการเล่นละครต่างๆ ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อย่างสุรุ่ยสุร่ายเอามากๆ เลยทีเดียว และคำว่าพระราชทรัพย์ในที่นี้หมายถึงเงินทองที่ได้มาจากภาษีอากรของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ยากไร้ยิ่งๆ ขึ้นทุกทีอีกด้วย แท้ที่จริง ในหลวงพระองค์นั้น ทรงเขียนล้อเลียนระบบการปกครองในแนวทางประชาธิปไตยไว้ในเรื่อง รัฐสภาในอนาคต’ อย่างถึงพริกถึงขิง ดังอาจหาอ่านได้จาก หนังสือสนุก ของข้าพเจ้า ทรงเอ่ยถึงชื่อนายเกศร์ และนายทวน ซึ่งเป็นสมาชิกสภานั้น คือทรงล้อเลียน กศร. กุหลาบ และเทียนวรรณ นั้นแล กล่าวคือ คนที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่เป็นสามัญชน เป็นคนซึ่งทรงดูถูกดูแคลนเอาเลยทีเดียว
 
ตอนนี้ ขออ่านถ้อยคำของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้ฟัง
 
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) นั้น พระองค์ได้ทรงดำริที่จะให้มีระบบปกครองเทศบาล อันเป็นระบบปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนพระราชดำริเกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่พระองค์เรียกทับศัพท์อังกฤษว่า “Constitution” นั้น ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว 6 วัน คือ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 ได้มีพระราชกระแสให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีวิศาลวาจา, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา กับผมหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เพื่อแสดงความในพระราชหฤทัยหลายประการ เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการเป็นผู้จดบันทึกนั้น ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับพระราชดำริที่จะพระราชทาน Constitution นั้นมีความสำคัญต่อไปนี้
 
“....เมื่อทรงรับราชสมบัติก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระยากัลยาณไมตรี (F.B. Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้นก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี...ครั้นเสด็จอเมริกาก็ได้ให้ interview ว่าจะให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่าจะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จีงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ นายสตีเวนส์กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา (รับสั่งซ้ำ 2 หน) ฝ่ายพระยาศรีวิศาลฯ ที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอีกผู้หนึ่งก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิศาลฯ และนายสตีเวนส์ ขัดข้องเสียดังนี้ การก็เลยเหลวอีก ต่อมาได้เตรียมว่าจะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร 150 ปี เพราะจะเป็นขี้ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่าเป็นเวลาโภคกิจตกต่ำ เมื่อได้รับสั่งถึงแผนของพระองค็แล้ว รับสั่งว่า “แต่ว่าตละอย่างๆ จะเป็นไปได้ก็ลำบากเหลือเกิน หวังว่าน่าจะเห็นด้วย พระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ได้ทำงานมานานตั้ง 20 ปี ก่อนพระองค์”
 
(จากประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2525 ตีพิมพ์ใหม่ พ.ศ. 2552)
 
 
ความจริง รายละเอียดเกี่ยวกับรัชกาลที่ 7 กับการตัดสินพระหฤทัยในเรื่องปรชาธิปไตยนั้น มีปรากฎอยู่ในเรื่อง The End of Absolute Monarchy in Siam by Benjamin Batson ซึ่งมีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว
 
พระองค์ท่านเองทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ทรงเห็นว่าประชาธิปไตยนั้นเหมาะสมกับผู้คนในแวดวงของอารยธรรมแองโกลแซกซันเท่านั้น คือหมายถึงอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา ไม่เหมาะแม้แต่กับประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยที่ในปลายรัชกาลที่ 7 นั้น ลัทธินาซีและลัทธิฟาสซีสต์ ซึ่งเป็นเผด็จการอย่างรุนแรง ได้มีอำนาจยิ่งๆ ขึ้นทุกทีในยุโรป ทั้งนี้โดยไม่จำต้องกล่าวถึงสหภาพโซเวียตภายใต้การนำของ สตาลิน
 
ในลายพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ที่กราบบังคมทูลหารือเรื่องการศึกษาแบบฟาสซิสต์ของอิตาลีนั้น ทรงเห็นด้วยกับการบังคับให้เด็กสยบยอมกับระบบผู้นำตามแนวทางของเผด็จการ แต่ก็ทรงเห็นว่าคงนำเอามาประยุกต์ใช้กับเมืองไทยไม่ได้เสียแล้ว เพราะคนไทยสมัยใหม่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงองค์พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะก็ทางหนังสือพิมพ์ ถ้ารัฐบาลจะปิดหนังสือพิมพ์ ฝรั่งก็จะกล่าวหาว่าเราป่าเถื่อน เพราะชนชั้นปกครองในเวลานั้นต้องการให้ฝรั่งเห็นว่าเราเปิดกว้างในทางเสรีภาพ อย่างน้อยก็ไม่ควรก้าวก่ายสิทธิมากเกินไปนัก และในลายพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ก็ทรงเห็นว่าจะหาทางห้ามกรุงสยามไม่ให้หันไปในทางประชาธิปไตย คงจะไม่ได้เสียแล้ว และการหวังที่จะให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นคนดีที่สามารถนำราษฎรได้ในทุกๆ รัชกาลก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการสืบสันตติวงศ์นั้น จะได้อัจฉริยบุรุษตลอดไป ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงควรจะให้การศึกษาแก่ราษฎร ให้พร้อมกับการปกครองในทางประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของพระองค์ท่านก็ทำการไม่ทันท่วงที จึงเกิดการยึดอำนาจไปจากพระองค์ท่านเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
 
ความข้อนี้ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ขยายความต่อไป ในหนังสือเล่มที่ข้าพเจ้าเอ่ยไว้ข้างต้น ดังความว่า
 
ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้เริ่มสถาปนาเมื่อ 2475 นั้นได้ดำเนินมาทีละขั้น ระหว่าง 13 ปีเศษ จนบรรลุซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฏรเลือกตั้ง จึงเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
 
ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ต่อจากนั้นมาก็ได้มีคณะอื่นๆ มากมายหลายคณะที่ “ไม่ใช่คณะราษฎร” ได้บั่นทอนประชาธิปไตย แล้วปกครองประเทศไทยโดยระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ รวมทั้งระบบเผด็จการหลายระบบจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาเกือบ 35 ปีแล้ว (พ.ศ. 2525)
 
มีผู้ถามท่านต่อไปว่า ถ้าท่านมีสิทธิร่างรัฐธรรมนูญ ท่านจะร่างเหมือนกับเมื่อ 2475 หรือไม่ หรือจะร่างอย่างไร
 
ท่านตอบว่า ผมไม่หวังที่จะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขอแสดงความเห็นว่า ผู้ใดจะร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ก็ต้องให้เป็นไปตามหลัก “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” คือ ระบบปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ปวงชนแสดงมติโดยวิธีประชามติอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งปวงชนแสดงมติโดยผ่านรัฐสภา ซึ่งสมาชิกทุกคนของรัฐสภาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร สำหรับประเทศไทยที่มีพลเมืองมากนั้นก็ควรถือวิธีที่สองเป็นหลัก ประกอบด้วยวิธีที่หนึ่งในบางกรณี รายละเอียดนั้นผมได้กล่าวไว้ในบทความและคำสัมภาษณ์อื่นๆ แล้ว
 
อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์ ข้าพเจ้าใช้คำว่าสาระของประชาธิปไตย
 
ถ้าเราจะหาสาระจากประชาธิปไตย คงต้องศึกษางานของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยิ่งกว่าที่เราได้กระทำกันดังที่แล้วๆ มา โดยเราต้องตราไว้ด้วยว่า เมื่อท่านเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 นั้น ท่านได้อาราธนาพุทธทาสภิกขุไปสนทนาธรรมที่ทำเนียบท่าช้าง 4 วันซ้อน วันละหลายชั่วโมง เพื่อหาหัวข้อธรรมสำหรับนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดธรรมิกสังคมนิยม ความข้อนี้ ก็น่าจะมีการศึกษาถึงสาระดังกล่าว และหาทางสานต่อให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ถ้าต้องการไปพ้นวาทศิลป์ หรือต้องการอำนาจในระยะสั้น คงต้องหาทิศทางที่เป็นนามธรรมอันเหมาะสมกับวัฒนธรรมของเรา เพื่อให้เกิดสาระของประชาธิปไตยที่เข้าได้กับวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งเป็นเรื่องของความกึ่งดิบกึ่งดีและกึ่งจริงกึ่งเท็จ
 
 
II
 
การที่จะเข้าใจได้ถึงความยุติธรรมทางสังคมนั้น จำเป็นยิ่งนักที่ต้องมีการให้เหตุผลทางด้านสาธารณะ และนี่คือหัวใจของประชาธิปไตย หาไม่ชนชั้นปกครองจำนวนน้อยเท่านั้น ที่ถือตัวว่าตนรู้ดีว่าอะไรถูกต้องดีงาม โดยชนชั้นนั้นเชื่อว่าชนชั้นล่างโง่เขลาเบาปัญญา ตัดสินความถูกต้องชั่วดีไม่ได้ ดังเราอาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองในระบอบที่มีการอภิปรายกันได้อย่างกว้างขวาง จนได้รับความสนับสนุนอย่างไม่มีขอบเขตอันจำกัด
 
เล่ากันว่าเคลเมนต์ แอตลี่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พรรคกรรมกร ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไปพูดที่ออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1957 ว่า “ประชาธิปไตยคือรัฐบาลที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่จะได้ผลก็ต่อเมื่อทำให้คนหยุดพูดเสียได้”
 
ที่ว่านี้คือสาระของประชาธิปไตย กล่าวคือ การแสดงทัศนคติอย่างเสรี จนเป็นที่ยอมรับกันได้ในหมู่มหาชน แต่ตามรูปแบบแล้ว ประชาธิปไตยคือการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ให้มีผู้แทนราษฎรเข้าไปอยู่ในรัฐสภา เพื่อจะให้ฝ่ายที่คุมเสียงข้างมากในสภาได้เป็นรัฐบาล
 
ขอย้ำว่า สาระของประชาธิปไตยอยู่ที่การมีส่วนร่วมของสาธารณชน จะด้วยการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง หรือเปิดโอกาสให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับนโยบายต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย เพราะฉะนั้นจึงจำต้องมีมาตรการให้รัฐบาลและทางราชการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ราษฎรทราบ ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็เป็นความลับของทางราชการ เปิดเผยอะไรไม่ได้ ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ เพราะฉะนั้น พระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการไทย จึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ หากการประยุกต์ใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ยังเป็นไปอย่างน่าอัปยศอดสูยิ่งนัก
 
ถ้าจะโยงไปทางปรัชญาที่ว่าด้วยความยุติธรรมแล้วไซร้ ในทางสินธูธรรม ที่เราเคยยึดถือไว้ในทางการปกครองบ้านเมือง ก่อนเปิดประเทศไปรับอารยธรรมตะวันตกนั้น ท่านกำหนดให้รู้เท่าทัน นิติ ซึ่งเราเอามาใช้เป็นหลักของกฎหมาย จนใช้คำว่านิติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความยุติธรรม ซึ่งมีรัฐเป็นองคาพยพที่สำคัญ ทางด้านการประกอบการ แม้จะแยกระบบตุลาการออกไปจากระบบบริหารแล้วก็ตามที แต่ถ้าเราศึกษาพระมนูสาราจารย์อย่างจริงจัง เราน่าจะตราไว้ได้ว่า นิตินั้นเป็นเรื่องของรูปแบบและความประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างที่ยอมรับกันในสังคม โดยที่เราต้องเข้าใจในเรื่อง นยยะ อย่างควบคู่กันไป นยยะ เป็นแนวคิดหลักเพื่อเข้าถึงตัวความยุติธรรม
 
ตามวิสัยทัศน์ของเรานั้น บทบาทของสถาบัน เช่น ศาลและขบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ทนายความ ฯลฯ ตลอดจนตัวบทกฎหมายต่างๆ นั้น ล้วนมีความสำคัญ แต่ทั้งหมดนี้ต้องตรวจสอบได้โดยนยยะ ซึ่งควบคู่ไปกับความเป็นไปกับสภาพที่แท้จริงในโลก ตามที่เป็นไปในขณะนั้น หาไม่เราจะถูกสถาบันและกฎเกณฑ์ต่างๆ กำหนดกดชาให้เราเข้าใจว่านั่นคือความยุติธรรม และนี่ดูจะเป็นหน้ากากที่ครอบงำสังคมไทยในบัดนี้อย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง
 
ในบริบทของ นยยะ นั้น มีข้อที่พึงสังวรไว้ว่า ถูกดูแคลน ดีกว่าดูแคลนผู้อื่น เพราะคนที่รู้เท่าทันกับการดูแคลนย่อมนอนหลับอย่างเป็นสุข ตื่นขึ้นก็เป็นสุข และไปในที่ไหนๆ ก็เป็นสุข หากผู้ที่ดูแคลนคนอื่นนั้นย่อมถึงซึ่งความพินาศ” หรือ “ในที่ที่สตรีไม่ได้รับการเคารพนับถือ พิธีกรรมทั้งหมดย่อมไร้ผล เพราะถ้าสตรีในครอบครัวใดได้รับความทุกข์ ครอบครัวนั้นย่อมจักถึงซึ่งความพินาศภายในเวลาอันไม่ช้า แต่ครอบครัวใดที่สตรีไม่มีความทุกข์ ครอบครัวนั้นย่อมเจริญงอกงาม” (จาก The Law of Manu ซึ่ง Wendy Doniger แปล, London, Penguin 1991, Chapter 3, instructions 50 and 57)
 
ขอให้สังเกตไว้ว่า นยยะ ต่างจาก นิติ อย่างขาวป็นดำ เพราะสังคมของชมพูทวีปในสมัยโบราณหรือแม้จนสมัยนี้ สตรีมีบทบาทอันต่ำต้อย และการยกหูชูหางตนเองก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง
 
ทางขบวนการยุติธรรมของอังกฤษก็มี equity ซึ่งอยู่นอกเหนือ law จะเทียบ equity กับ นยยะ ได้บ้างกระมัง ดังทางอังกฤษถือว่า equity เทียบเท่ามโนธรรมสำนึกของประธานศาลฎีกา แต่ถ้าเราไม่ฝึกผู้พิพากษาของเรา ให้มีมโนธรรมสำนึกทางด้านความยุติธรรมแต่เริ่มต้นเสียแล้ว จะมีหิริโอตัปปะพอที่จะเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมกระไรได้ โดยผู้ที่จะตัดสินอะไรๆ ในทางความยุติธรรมนั้น ต้องรู้เท่าทันอคติทั้งสี่อีกด้วย ว่าการตัดสินใจของเราถูกครอบงำโดยความรัก (ฉันทาคติ) ความเกลียด (โทสาคติ) ความกลัว (ภยาคติ) และความหลง (โมหาคติ) อย่างไรบ้าง และถ้าปราศจากความยุติธรรมเสียแล้ว การเมืองการปกครองจะเป็นไปในครรลองแห่งความถูกต้องดีงามกระไรได้
 
ก็ความยุติธรรมนั้น จะมีเทวดา พระราชา หรือปุโรหิต แม้คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มายื่นให้ หาได้ไม่ แม้พวกที่เชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์ รวมถึงคัมภีร์ของพระมนู ซึ่งถือว่าเป็นมนุษย์คนแรก ก็ยังแปลกันไปได้ว่า พระมนูเป็น a fascist law-giver (ดู The Idea of Justice by Amartya Sen หน้า 20)
 
จึงขอย้ำในที่นี้ว่า ความยุติธรรมทางสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับการอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวางโดยมหาชน คือต้องค้นหาสาระของความยุติธรรมด้วยกัน โดยไม่มีชนชั้นหรือผู้วิเศษใดๆ ที่อยู่เหนือใคร ถ้าปราศจากสาระดังกล่าว รูปแบบของประชาธิปไตยก็คือ นิติ ที่ไม่มี นยยะ ทั้งๆ ที่นักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยอย่างแซมวล ฮันติงตั้น มักเน้นแต่ที่ นิติ หรือรูปแบบของประชาธิปไตย ดังเขากล่าวว่า การเลือกตั้ง ที่เปิดเผย (open) อย่างเสรี (free) และไม่คดโกง (fair) คือสาระของประชาธิปไตย
 
เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าฮันติงตั้นมีความเป็นเผด็จการ ทางด้านขวาจัดขนาดไหน สาระแห่งความเป็นประชาธิปไตยของเขา คือสาระทางรูปแบบ หรือในทางนิตินัย
 
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นสำคัญแน่ อย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกของมติมหาชน แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ถือว่าเป็นสาระ หากเพียงถือได้ว่านี่เป็นเพียงประเด็นหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะสำคัญสำหรับการดำเนินงานของรัฐที่เป็นประชาธิปไตย แต่การลงคะแนนเสียงจะได้ผลจริงๆ ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีก เช่นในสังคมที่มีการเลือกตั้งนั้น ผู้คนแสดงทัศนคติได้อย่างมีเสรีภาพหรือไม่ ผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องหรือไม่ และผู้คนมีสิทธิที่จะแสดงเสียงคัดค้านได้อย่างเสรีหรือไม่
 
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงรูปแบบและพิธีกรรม ถ้าปราศจากปัจจัยหลักที่เอ่ยถึงมาแล้วนี้ การลงคะแนนดังกล่าวก็คือเอารูปแบบของประชาธิปไตยมาใช้เพื่อความเป็นไปของรัฐเผด็จการ อย่างกรณีของเกาหลีเหนือนั้น เห็นได้ชัดเจนยิ่งนัก แม้สิงคโปร์และมาเลเซียจะมีความเป็นเผด็จการน้อยกว่าเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ดีไปกว่ามากนัก ยังประเทศพม่า ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คงเป็นไปในอีหรอบของเกาหลีเหนือนั้นเอง การเลือกตั้งในเมืองไทยสมัยทักษิณ ชินวัตรนั้นเล่า มีความโปร่งใสขนาดไหน และถ้าจะมีเลือกตั้งกันอีก แนวโน้มจะเลวร้ายลงไปอีกหรือไม่ ดังการเลือกตั้ง อบจ. อบต. เมื่อเร็วๆ นี้ มีความกักขฬะเข้ามาปะปนมากน้อยเพียงใด
 
ปัญหาที่ต้องตราไว้คือ คนลงคะแนนมักถูกตราไว้ ให้ได้รับโทษหรือมีแรงกดดันให้เขาต้องเลือกตั้งตามที่ผู้มีอำนาจกำหนดไว้ แม้เมืองที่ไม่เป็นเผด็จการอย่างไทย นายทุนและมาเฟียท้องถิ่นที่หากินกับมาเฟียระดับชาติก็กำหนดกดชาวิธีการเลือกตั้งตามจังหวัดต่างๆ ได้ไม่ยาก ด้วยอำนาจของเงินตรา และอิทธิพลอื่นๆ คนที่ไปเลือกตั้ง ขายตัวก็เพราะกลัวอิทธิพลท้องถิ่นอย่างหัวหดด้วยกันแทบทั้งนั้น  นอกเหนือจากการได้รับสินจ้างเล็กๆ น้อยๆ บวกไปกับการโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยบยลอีกด้วย ตราบใดที่เรายังไม่ตีไปที่ประเด็นของความยุติธรรมขั้นพื้นฐานของสังคม และความโปร่งใสของมาตรการต่างๆ เราก็จะเน้นแต่เพียงรูปแบบให้อัปรีย์ได้เป็นชนชั้นปกครอง หาไม่ก็ไล่อัปรีย์ไปได้ เพื่อให้จัญไรมาแทน เพราะทั้งอัปรีย์และจัญไร เป็นตัวแทนในทางนิติ ไม่ใช่ตัวแทนในทาง นยยะ แต่ประการใด
 
 
III
 
ที่ใครๆ พากันไปเชื่อฝรั่งว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของอารยธรรมตะวันตกนั้น ก็ไม่แปลกประหลาดอะไร เพราะเรารู้เรื่องทางเอเชียของเรากันเองน้อย
 
จริงอยู่ ฝรั่งอ้างว่าประชาธิปไตยมีต้นตอจากกรุงเอเธนส์ในสมัยพุทธกาลเอาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริง อย่างน้อยในกรุงเอเธนส์สมัยนั้นมีการอภิปรายโต้เถียงกันในหมู่ชาวเมืองที่เป็นชายอย่างกว้างขวาง ทั้งทางจริยธรรม การเมือง และปรัชญา การออกเสียงลงคะแนนไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญเท่าไรนัก เว้นแต่ในการตัดสินคดีความ แท้ที่จริง เปลโต้ถึงกับรังเกียจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาเลยด้วยซ้ำ ดังอริสโตเติล ได้แบ่งประเภทของรัฐและรัฐบาลไว้อย่างน่าสนใจ ดังขอนำมาเสนอให้ฟังดังนี้
 
ประการแรก ต้องตกลงกันเสียก่อนว่า ถ้ารัฐมีเป้าหมายบั้นปลายเพื่อให้บังเกิดชุมชนอันประกอบไปด้วยคุณธรรม ถือว่านั่นคือรัฐตามปกติ (normal) ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ถือว่าผิดปกติ (perverted) รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ถ้าไม่สามารถวางมาตรการให้เกิดรัฐตามปกติหรือตามธรรมชาติได้ ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นผิดปกติหรือเลวร้าย (bad)  ถ้ารัฐธรรมนูญสามารถทำให้เกิดการปกครองเพื่อคุณความดีของราษฎร ถือได้ว่านั่นคือรัฐธรรมนูญที่ดี (good) หรือเป็นรัฐธรรมนูญตามปกติ เช่นระบอบประชาธิปไตย ที่ได้มาซึ่งเสรีภาพ หรือระบอบคณาธิปไตย ถ้าได้มาเพียงทรัพย์สมบัติ ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญที่วางระบอบการปกครองนั้นๆ ไว้  ใช้ไม่ได้  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สมบัติก็ดี ควรเป็นเพียงตัวกำหนดหนึ่งเดียวของรัฐ หากตัวหลักต้องได้แก่คุณธรรมของราษฎรภายในรัฐนั้นๆ
 
เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องมีรัฐบาล จะเป็นรัฐบาลในระบอบการปกครองใดก็ตาม ต้องมุ่งประโยชน์สุขของราษฎรเป็นที่ตั้ง ดังนายแพทย์จะใช้วิธีรักษาโรคอย่างไรก็ตาม ย่อมต้องมุ่งสุขภาพของผู้ป่วยเป็นประการสำคัญ ถึงแพทย์จะได้ค่าตอบแทนมากน้อยเพียงใด เป็นอีกประเด็นหนึ่ง นี้ฉันใด ผู้ที่ปกครองรัฐก็ฉันนั้น ยิ่งเห็นแก่ตัวน้อยเพียงไร รัฐตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายเพียงนั้น ฉะนั้น จึงออกจะเป็นการยากที่จะให้คณาธิปัตย์เป็นรัฐตามปกติได้ เว้นแต่คนจำนวนน้อยที่ปกครองรัฐจะแบ่งสันปันส่วนทรัพย์สินออกไปจุนเจือราษฎรส่วนใหญ่ ให้ได้รับความสุขขั้นมูลฐานอย่างพอเพียง แต่อริสโตเติลก็ยอมรับว่า ถ้าชนชั้นปกครองมุ่งไปที่ทรัพย์มากเท่าไร เขาย่อมบังเกิดความเห็นแก่ตัวมากขึ้นเท่านั้น เป็นอันยากที่จะมุ่งประโยชน์สุขและคุณความดีสำหรับส่วนรวมได้ (common good)
 
รัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะแบ่งเป็น 2 ประเภทดังกล่าวแล้ว แต่ละประเภทยังแยกซอยออกได้เป็นอีก 3 ประเภท คือ
 
ประเภทปกติ กำหนดให้มีรัฐบาลตามระบอบการปกครองต่างๆ ดังนี้
1. ราชาธิปไตย (monarchy)
2. อภิชนาธิปไตย (aristocracy)
3. ราษฎราธิปไตย (polity) หรือรัฐปาลาธิปไตย อันได้แก่ ประชาธิปไตยชนิดที่ชนชั้นปกครองปราศจากความเห็นแก่ตัว และมุ่งประโยชน์ในทางสูงส่งถ่ายเดียว
 
ประเภทผิดปกติ ที่รัฐบาลเห็นแก่ตัว ก็แบ่งระบอบการปกครองอันเลวร้ายออกได้เป็น 3 ประเภท
เช่นเดียวกัน คือ
1. ทรราชาธิปไตย (tyranny) มุ่งประโยชน์ของพระราชาเพียงหนึ่งเดียว
2. คณาธิปไตย (oligarchy) มุ่งประโยชน์ของชนชั้นเศรษฐีมีทรัพย์เป็นเกณฑ์ จนกลายเป็นธนาธิปไตย (plutocracy)
3. ประชาธิปไตยแบบกรรมาชีพ (democracy) มุ่งที่คนจนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในกลุ่มน้อยอื่นๆ
 
ทางฝ่ายดีหรือปกติ อริสโตเติลถือว่าราชาธิปไตยเป็นเลิศ เพราะถ้าคนคนหนึ่งประเสริฐและสามารถ ย่อมทำประโยชน์ให้บังเกิดคุณความดีแก่ราษฎรในรัฐได้ตลอด อภิชนาธิปไตยรองลงมา เพราะการปกครองรัฐระบอบนี้ ต้องมีจำนวนชนชั้นปกครองมากขึ้น ย่อมจะให้ดีเลิศทีเดียวไม่ได้ แต่ก็อาจรักษาคุณธรรมของคณะคนกลุ่มน้อยได้ง่ายกว่าราษฎราธิปไตย เพราะยิ่งผู้ปกครองรัฐมีจำนวนมากเท่าไร ระดับมาตรฐานทางคุณธรรมก็ต้องย่อหย่อนลงเท่านั้น จนออกจะเป็นแบบกึ่งดิบกึ่งดีไป หรือเป็นเพียงระเบียบวินัยอย่างที่พวกทหารถือว่าสำคัญเท่านั้นเอง เช่น ให้เกิดความกลัว เลยถือว่าความกล้าหาญเป็นตัวคุณธรรมไป
 
ทางฝ่ายเลวหรือผิดปกตินั้น ทรราชาธิปไตยเป็นเลวที่สุด ดังสุภาษิตละตินที่ว่า “Curruptio optimi pessima” (เมื่อคนสูงสุดเลวร้ายเสียแล้ว ย่อมเลวร้ายถึงที่สุด) ธนาธิปไตยเลวร้ายน้อยลง เพราะพวกเศรษฐีเป็นเพียงพวกกลางๆ กะทิ และหลายคนด้วยกัน ถึงจะรวมหัวกันทำความชั่ว ก็ไม่เลวร้ายเท่าคนๆ เดียวที่ฉลาดเฉลียววางแผนและบงการอยู่อย่างมีอำนาจสิทธิ์ขาดเป็นเอกเทศ โดยที่ประชาธิปไตยแบบกรรมาชีพย่อมเลวร้ายน้อยที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ทำความเลวเพื่อพวกตน ซึ่งเป็นคนหมู่มาก เท่ากับว่าคนหมู่มากย่อมได้ผลประโยชน์พลอยได้อยู่ด้วย
 
เราอาจแบ่งประเภทรัฐแบบอุดมคติ โดยสรุปจากที่ดีที่สุดไปหาเลวที่สุด ดังนี้คือ
1. รัฐที่มีรัฐธรรมนูญตามปกติ เพื่อมุ่งหวังผลบั้นปลายอย่างถูกต้อง รัฐบาลย่อมปราศจากความเห็นแก่ตัว
1.1 ราชาธิปไตย
            ก. มุ่งคุณธรรมสูงสุดเป็นประการสำคัญ
ข. พระราชาเป็นเผด็จการโดยธรรมแต่ผู้เดียว
            1.2 อภิชนาธิปไตย
                        ก. มุ่งวัฒนธรรมและคุณธรรมขั้นสูงเป็นประการสำคัญ
ข. ชนชั้นปกครองคือผู้ที่มีวัฒนธรรมสูงและมีคุณธรรม
1.3 ราษฎราธิปไตย หรือรัฐปาลาธิปไตย
ก. มุ่งระเบียบวินัยอย่างหทารและคุณธรรมกึ่งดิบกึ่งดี
ข. ชนชั้นปกครองมาจากชนชั้นกลาง
           
2. รัฐที่มีรัฐธรรมนูญผิดปกติ ย่อมมุ่งหวังผลบั้นปลายอย่างผิดเป้า รัฐบาลจึงมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง
2.1 ประชาธิปไตย (แบบกรรมาชีพ)
                        ก. มุ่งการเกิดโดยเสรีเป็นที่ตั้ง
ข. ชนชั้นปกครองคือมหาชนที่เป็นคนจน
2.2 คณาธิปไตย (ธนาธิปไตย)
ก. มุ่งทรัพย์เป็นที่ตั้ง
ข. ชนชั้นปกครองคือพวกเศรษฐี
2.3 ทรราชาธิปไตย
ก. มุ่งหวังอำนาจกดขี่ข่มเหงและการหลอกลวงราษฎรเป็นที่ตั้ง
ข. คนคนเดียวเผด็จการโดยปราศจากคุณธรรมใดๆ
 
ที่ว่ามานี้ เป็นเพียงหลักใหญ่เท่านั้น เพราะตามความเป็นจริง ระบอบการปกครองซับซ้อนกว่านี้มาก ชนชั้นนั้นเองก็แบ่งซอยออกไปได้อีกมาก เช่น ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นต่ำ ชนชั้นต่ำก็ยังแบ่งออกเป็น กสิกร พาณิชยนิกร และช่างฝีมือ โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงกรรมกรเอาเลยด้วยซ้ำ ส่วนชนชั้นสูงนั้นเล่า แบ่งโดยชาติวุฒิก็ได้ คุณวุฒิก็ได้ วัยวุฒิก็ได้ โดยที่ระบอบการปกครองนั้น บางทีชนชั้นสูงอาจต้องร่วมกันปกครองกับชนชั้นกลาง และ/หรือชนชั้นต่ำ ทั้งบางทีระบอบการปกครองอย่างดี ยังผสมปนเปกับแบบเลวเข้าให้อีก ย่อมทำให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้น แต่ที่เสนอการแบ่งประเภทมาให้พิจารณานี้ นับว่ามีประโยชน์ ควรค่าแก่การอภิปราย โดยเฉพาะก็ในกรณีของเผด็จการ ซึ่งดีได้ถึงที่สุด (1.1) และเลวได้ถึงที่สุด (2.3) ในขณะที่ประชาธิปไตยดีน้อยที่สุด (1.3) และก็เลวน้อยที่สุด (2.1) ถ้าเข้าใจประเด็นหลักเช่นนี้แล้ว การผสมประเภทย่อยต่างๆ ของระบอบการปกครองเข้าด้วยกัน ก็จะช่วยให้เข้าใจรัฐ รัฐธรรมนูญและรัฐบาลได้ชัดขึ้น (จาก แนวคิดทางปรัชญาการเมืองของอริสโตเติล หน้า 58-61)
 
อนึ่ง ความเป็นประชาธิปไตยของกรีกในสมัยโบราณก็ปรากฏอยู่เพียงในบางรัฐ และมีเวลาอันไม่นานนัก ที่กรุงโรมเอง ประชาธิปไตยก็ถูกฆ่าพร้อมๆ กับการรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งเริ่มแต่ซีซาร์เป็นต้นมา เฉกเช่นประชาธิปไตยของสหรัฐก็ถูกฆ่าเมื่อประเทศนั้นกลายสภาพไปเป็นจักรวรรดิ แม้จะมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยก็ตามที
 
J.K. Galbraith เขียนไว้ในเรื่อง American Capitalism ว่า ความสำเร็จของสังคมอเมริกันขึ้นอยู่อย่างลึกซึ้งกับการบริหารจัดการอำนาจของสถาบันต่างๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งตรวจตรากันและกัน ให้เกิดความสมดุลในทางพลัง และให้มีการควบคุมกันไว้ไม่ให้สถาบันหนึ่งเดียวใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ
 
ครั้นความสำเร็จดังกล่าวปลาสนาการไป ความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐ ก็กลายสภาพไปเป็นจักรวรรดิอเมริกัน ดังที่ John B. Cobb เตือนเราว่า “ถ้าสหรัฐดำเนินการไปตามที่ผู้นำประเทศต้องการ สหรัฐจะนำโลกไปสู่ความหายนะทางระบบนิเวศ เพราะสหรัฐมีอำนาจทางทหารที่สามารถขจัดทหารของทุกประเทศที่ต่อต้านสหรัฐ
 
ไทยเราเองถูกสหรัฐครอบงำมาเกือบกึ่งศตวรรษแล้ว รู้ซึ้งถึงพิษภัยดังกล่าวหรือไม่ น่าสงสัยนัก อย่างน้อย Cobb ซึ่งเป็นคนอเมริกัน ก็เตือนเราว่า เราจะรับได้ละหรือ ที่จะให้โลกนี้ปกครองโดยอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว และมหาอำนาจที่ว่านี้ ต้องการดำรงไว้และขยายออกไปซึ่งทุนนิยมในระดับโลก
 
 
IV
 
ขอให้หันมาพิจารณาทางด้านชมพูทวีปบ้าง กล่าวคือเมื่อนายเอมเบดก้า ซึ่งเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญให้อินเดียตอนได้รับเอกราชนั้น ถึงกับยืนยันว่าคณะสงฆ์คือประชาธิปไตยที่แท้ ซึ่งมีมาแต่สมัยพุทธกาล เพราะเนื้อหาสาระของคณะสงฆ์คือความเสมอภาค ซึ่งมีภราดรภาพเป็นน้ำกระสาย และคณะดังกล่าวเป็นไปเพื่อเสรีภาพจากความโลภโกรธหลง วินัยกรรมของสงฆ์ทั้งหมดเป็นไปในทางของประชาธิปไตยทั้งสิ้น เริ่มแต่อุปสมบทกรรม หรือการรับสมาชิกเข้าสู่สงฆ์และวินัยกรรมอื่นๆ ก็ล้วนเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ออกความเห็น และลงคะแนนคัดค้านได้โดยมาตรการที่มีส่วนร่วมของสมาชิกทุกๆ รูป มติของที่ประชุมใช้ทั้งแบบเอกฉันท์หรือเสียงข้างมาก แล้วแต่กรณี
 
ใช่แต่เท่านั้น เอมเบดก้ายังศึกษาการปกครองท้องถิ่นของชมพูทวีปสมัยโบราณที่เป็นไปในทางประชาธิปไตยอย่างน่าทึ่ง ดังผู้ที่สนใจอาจหาอ่านเอาได้จากงานเขียนของรัธกุมุท มูเกอจี เรื่อง Local Government in Ancient India แม้พวกเราที่สนใจในทางพุทธประวัติ ก็น่าจะทราบได้ดีว่า แคว้นศากยะของพระพุทธเจ้าก็มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังแคว้นวัชชี และแคว้นมัลละ ก็เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงยกย่องการปกครองในระบอบดังกล่าว ว่าเป็นสามัคคีธรรม ซึ่งควรมีธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม และเป็นอปริหานิยธรรม ทรงย้ำว่าการปฏิบัติตามธรรมทางนี้จะไม่เป็นไปในทางความเสื่อมเสียเอาเลย ซึ่งผิดไปจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างกรณีของแคว้นมคธของพระเจ้าอชาตศัตรู และแคว้นโกศลของพระเจ้าปเสนทิ
 
ยังการสังคายนาพระไตรปิฎกแต่ละครั้งนั้น ก็เป็นไปในทางประชาธิปไตยอย่างน่าสนใจยิ่งนัก ดังในคราวปฐมสังคายนาที่เกิดขึ้นนอกกรุงราชคฤห์ ภายหลังพุทธปรินิพพานไม่กี่เดือน พระมหากัสสปเป็นเพียงประธานของที่ประชุม พระอานนท์เป็นผู้วิสัชชนาในเรื่องพระสูตร และพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชชนาในเรื่องพระวินัย สังฆสมาชิกทั้งหมดซักถาม และเสนอความเห็นต่างๆ นานาจนยุติ แล้วจึงสรุปลงเป็นมติอย่างเอกฉันท์ แล้วนี่มิใช่สาระของประชาธิปไตยดอกหรือ
 
ทุติยสังคายนาที่เมืองไพศาลีหลังพุทธปรินิพพานได้แล้วร้อยปี ก็ใช้วิธีเดียวกันกับคราวปฐมสังคายนา ยิ่งตติยสังคายนาในรัชสมัยพระเจ้าอโศก ณ เมืองปาตลีบุตรด้วยแล้ว ถึงกับมีข้อเสนอให้ผนวกสาระของพุทธปรัชญาเข้าไปในพระไตรปิฏก แม้จะนอกเหนือจากพระพุทธพจน์ และเถรคาถากับเถรีคาถาในสมัยพุทธกาลด้วยซ้ำไป โดยที่ประชุมสงฆ์รับเอาพระอภิธรรมเข้ามาเป็นปิฏกที่สาม นอกเหนือพระธรรมและพระวินัยนั้น ก็เป็นไปด้วยการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และลงมติเป็นเอกฉันท์เช่นกัน ยังกรณีเรื่องกถาวัตถุนั้นเล่า  ก็ถือเอาได้ว่าแปลกใหม่สำหรับคนร่วมสมัย ทั้งนี้แสดงว่าประชาธิปไตยย่อมเป็นไปในทางวาทกรรมของผู้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
ทางประเทศญี่ปุ่นนั้นเล่า เราก็ไปเข้าใจกันว่ารัฐธรรมนูญในรัชสมัยเมจิ เป็นฉบับแรก ที่ปัญญาชนไทยในยุโรปนำมาเป็นแบบอย่างให้กรุงสยามเอาอย่างบ้าง ในปี ร.ศ. 103 ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญในสมัยเมจิเป็นไปในทางเผด็จการยิ่งกว่าสาระของประชาธิปไตยเป็นไหนๆ โดยที่สาระทางประชาธิปไตยของญี่ปุ่นอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 17 มาตราของเจ้าฟ้าโชโตกุ ซึ่งสำเร็จราชการแทนพระจักรพรรดินีสุนิโกะ ซึ่งเป็นพระราชมารดา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตราขึ้นในปี ค.ศ. 604 ก่อน Magna Carta ของอังกฤษ ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1215 โดยอังกฤษอ้างว่านี่คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเขา
 
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของญี่ปุ่นตราไว้ว่า การตัดสินในเรื่องอันสำคัญๆ จะกระทำโดยบุคคลคนเดียวหาได้ไม่ ต้องนำมาอภิปรายกันในบรรดาคนหมู่มาก”  ทั้งยังมีข้อความดังต่อไปนี้ด้วยว่า“อย่ารังเกียจผู้อื่นซึ่งคิดเห็นต่างไปจากเรา เพราะทุกๆ คนมีหัวใจ และทุกหัวใจมีแนวทางของเขาเอง ที่เขาถือว่าถูก แสดงว่าเราผิด ที่เราถือว่าถูก เขาก็ผิด” ฉะนั้น การนำเอาข้อคิดความเห็นที่แตกต่างกันมาอภิปรายกันอย่างเปิดเผย และเคารพความคิดเห็นที่ต่างกันออกไป จึงเป็นสาระสำคัญทางด้านการปกครอง เพื่อความยุติธรรมทางสังคม
 
ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์มีปุจฉาวิสัชชนากับท่านอาจารย์พุทธทาส เพื่อแสวงหาสาระของประชาธิปไตยสำหรับไทยเรา ให้ไปพ้นรูปแบบและเนื้อหาที่เราเอามาจากฝรั่ง ถ้าเราได้สานต่อดังการเรียนรู้ที่เอ่ยมาย่อๆ ตามที่กล่าวมานี้ น่าจะเป็นคุณประโยชน์ที่คนร่วมสมัยสามารถเจาะลงลึกและกว้างขวาง กว่าบุคคลเช่นชายชราอย่างข้าพเจ้า
 
ถ้าเรารู้จักคนร่วมสมัยที่ต่อสู้มาในทิศทางของประชาธิปไตย อย่างมหาตมะ คานธี  ซุนยัดเซ็น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เนลสัน เมนเดลา  ออง ซาน ซูจี และทะไลลามะ แม้จนการพยายามนำเอาประชาธิปไตยมาประยุกต์ใช้โดยรัฐบาลธิเบตในอินเดีย และราชอาณาจักรภูฐาน ก็น่าจะเป็นคุณูปการที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เราแหวกว่ายไปพ้นบริบทอันจำกัดของฝรั่ง แม้มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จะเป็นชาวอเมริกัน แต่ความเป็นคนผิวดำของเขา ที่ต่อสู้กับการกดขี่ของคนผิวขาวที่ใช้ประชาธิปไตยของฝรั่งในทางรูปแบบมากำจัดสิทธิมนุษยชนของคนข้างล่าง ด้วยอหิงสวิธีนั้น น่าสนใจยิ่งนัก
 
ยังกรณีของเนลสัน เมนเดลา ที่ถูกจองจำไว้ในคุกเป็นเวลานาน เพราะการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนผิวดำในอาฟริกาใต้นั้น ก็ควรที่เราน่าจะสำเหนียก โดยที่เขาโตมาในระบอบการปกครองที่ฝรั่งผิวขาวกดขี่ชาวผิวดำพื้นเมืองอย่างเลวร้ายสุดๆ แล้วเขาเรียนรู้สาระของประชาธิปไตยจากที่ไหน ถ้าเราอ่านอัตชีวประวัติของเขาเรื่อง Loney Walk to Freedom จะเห็นได้ว่า ในสมัยที่เขาเป็นเด็ก เขาเข้าไปร่วมประท้วงกับคนพื้นเมือง ดังเขาเล่าว่า “ใครอยากพูด ก็พูดได้ นี่คือประชาธิปไตยที่มีรูปแบบอันสะอาดที่สุด อาจมีลำดับความสำคัญของบุคคลที่พูด แต่ทุกคนก็มีโอกาสให้ได้พูด ไม่ว่าจะหัวหน้าเผ่าชน หรือคนเล็กคนน้อย นักรบ หรือหมอยา เจ้าของร้านขายของ ชาวนา เจ้าของที่ดิน กรรมกร พื้นฐานของการปกครองตนเองขึ้นอยู่กับว่าทุกคนมีสิทธิอย่างเสรี ที่จะเปล่งเสียงออกมาให้ทัศนะของเขาได้ปรากฎ และทุกคนมีค่าเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นราษฎร”
 
 
V
 
ขอย้ำว่า ประชาธิปไตยตามรูปแบบซึ่งหมายถึงสถาบันการเมือง การปกครองที่ขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งตัวแทนของราษฎรนั้น จำต้องตราไว้ด้วยว่า การลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง จะช่วยให้เป็นประชาธิปไตยได้จริง ย่อมต้องประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญอีกด้วย โดยเฉพาะก็ต้องมีเสรีภาพทางด้านการแสดงออกและราษฎรต้องมีสิทธิ์ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง พร้อมทั้งยังมีสิทธิที่จะปฏิเสธการครอบงำจากรัฐหรือจากนักการเมืองอีกด้วย หาไม่การลงคะแนนเสียงจักเป็นประชาธิปไตยปลอม ดังที่ปรากฏในรัฐเผด็จการส่วนใหญ่ โดยจำไม่ต้องเอ่ยถึงรัฐสภาไทยในบัดนี้ก็ยังได้
 
ขอกล่าวย้ำอีกทีด้วยว่า  สาระของประชาธิปไตยนั้น โยงไปอย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรม โดยเฉพาะก็ความยุติธรรมทางสังคม เพราะช่วยให้เราวิเคราะห์ไปในทางความคิดเรื่องความยุติธรรม ทั้งนี้ก็เพราะถ้ามหาชนรู้จักใช้เหตุผลด้วยวิจารณญาณนั้นแล คือการอุดหนุนให้ใครๆ เข้าใจในเรื่องความยุติธรรมแท้ทีเดียว
 
ประชาธิปไตยในสมัยนี้ สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างสำคัญ แต่สื่อจะรับใช้ประชาธิปไตยได้ ต้องไม่ถูกควบคุมและมีสถานภาพที่เหมาะสม ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังขอขยายความเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
 
1) ซึ่งดูจะเป็นพื้นฐานที่สุด คือสื่อที่ดีย่อมเอื้ออำนวยโดยตรงกับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างทั่วๆ ไป และเน้นที่อิสรภาพของหนังสือพิมพ์เป็นการเฉพาะ เพราะนี่โยงมาถึงคุณภาพของชีวิตเราแต่ละคนเลยทีเดียว เพราะเราต่างก็ต้องประสงค์จะสื่อกับใครๆ และต้องการรู้จักโลกให้ดียิ่งขึ้น สื่อที่มีอิสรภาพย่อมช่วยให้เราเข้าถึงวิจารณญาณได้อย่างถูกต้อง ถ้าสื่อปราศจากอิสรภาพหรือมีการบีบคั้นไม่ให้ราษฎรได้แสดงออกอย่างเสรี ให้ได้มีการรับรู้ซึ่งกันและกันตามความเป็นจริง นี่ย่อมเท่ากับว่าเป็นการลดคุณภาพของการดำรงชีวิต ไม่ให้สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ แม้ผู้คนนั้นๆ จะอยู่ในรัฐที่มีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากก็ตาม เช่น สิงคโปร์เป็นต้น
 
2) สื่อมีบทบาทที่สำคัญในการบอกกล่าว ให้ความรู้ได้กระจายออกไป เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย การให้ข่าวของสื่อไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรายงานพิเศษ เช่นให้เรารับทราบถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการ หรือความแปลกใหม่ทางศิลปวัฒนธรรม หากจำต้องช่วยให้ผู้คนได้รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือการรายงานอย่างเจาะลึก (investigative journalism) เพื่อให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีการปิดบังอำพราง ถ้าปราศจากมิตินี้ของสื่อเสียแล้วไซร้ ราษฎรจะมืดบอดไปตามๆ กัน โดยเฉพาะก็ในระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่คุมสื่อยู่ในบัดนี้ แม้จะดูดีกว่าระบบเผด็จการทางการเมือง แต่ก็ใช้การโฆษณาชวนเชื่อปานๆ กัน แต่ในทางทุนนิยมและบริโภคนิยม มอมเมาอย่างแนบเนียนกว่าเท่านั้น
 
3) อิสรภาพของสื่อ รวมถึงการปกป้องสิทธิหรือให้เสียงแก่ผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ที่ถูกมองข้าม ที่ถูกเอาเปรียบ ไม่ว่าจะคนกลุ่มน้อย คนในสลัม คนที่ต่อสู้กับนายทุน หรือบรรษัทข้ามชาติ เพราะคนข้างบนมิได้แค่ตีฝีปากทางด้านความยุติธรรมทางสังคม หากมักไม่ได้สดับตรับฟังถึงคนที่ถูกเอาเปรียบต่างๆ เหล่านี้เอาเลย แม้เวลาเกิดอุทกภัยหรือทุพภิกขภัย คนยากไร้ก็แทบไม่ได้รับความเหลียวแล ดังกรณีของสึนามิที่ภาคใต้ การแก้ไขปัญหา เป็นไปเพียงให้สถานภาพคืนเดิม ให้นักท่องเที่ยวกลับมา ให้นายทุนได้เงินและได้สินค้า หากแรงงานพม่าและคนที่ถูกเสียเปรียบกลับถูกละเลย หรือซ้ำเติมยิ่งๆ ขึ้นไปอีก แล้วเรามีสื่อที่ชี้แจงถึงพื้นฐานทางด้านความยุติธรรมดังกล่าวหรือไม่
 
4) การเสริมสร้างคุณค่าในสังคม ทางด้านความดี ความงาม และความจริง ซึ่งต้องมีการสื่อสารซึ่งกันและกัน วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน ถ้าขาดความข้อนี้ สื่อสารมวลชนย่อมไม่ได้เดินทางไปสู่เนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะข้อหลังนี้ สื่อสารเมืองไทยมีหรือไม่ น่าสงสัยนัก ข้าพเจ้าเองถูกห้ามจากทั้งข่าวสด และมติชน รวมถึงศิลปวัฒนธรรม ไม่ให้ลงข้อเขียนของข้าพเจ้า แม้ข่าวที่มีชื่อข้าพเจ้า ก็ลงพิมพ์ไม่ได้ แล้วนั่นคือสื่อในระบอบประชาธิปไตยหรือในระบอบเผด็จการ ซึ่งสืบตำนานมาจากคึกฤทธิ์ ปราโมช โดยที่สื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมดไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับการกระทำของนิตยสาร ภายใต้การทำของขรรค์ชัย บุนปานเอาเลย หรือจะถือว่าแมลงวันย่อมไม่ตอมกันเอง
 
พร้อมกันนั้น ไทยโพสต์ ก็ลงบทความสนับสนุนให้รัฐบาลเสนอชื่อคึกฤทธิ์ ปราโมชไปสู่ UNESCO ให้ได้เป็นบุคคลสำคัญในระดับโลก เนื่องในโอกาสชาตกาลครบศตวรรษของเขา ข้าพเจ้าเขียนคัดค้านไป โดยให้เหตุผลถึงความกลิ้งกะล่อนของเขา รวมถึงการโกงเอาข้อเขียนของนักเขียนต่างประเทศมาอ้างว่าเป็นของตน (plagiarism) ซึ่งในทางสากลถือว่าขาดจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานเอาเลย แต่แล้วไทยโพสต์ ก็ไม่ยอมลงพิมพ์บทความของข้าพเจ้า บรรณาธิการให้เหตุผลว่าคึกฤทธิ์ก็ตายไปแล้ว จะมาฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไรกัน นิมิตดีก็ตรงที่ข้อเขียนของข้าพเจ้าที่ไทยโพสต์ไม่ยอมลงพิมพ์ ไปปรากฎในเว็บไซด์ของประชาไท ซึ่งก็ถูกรัฐบาลรังแกอยู่เรื่อยๆ และข้อเขียนดังกล่าว บัดนี้ตีพิมพ์อยู่ใน เพียรพูดความจริงในวัยสนธยาแห่งชีวิต อีกด้วยแล้ว (หน้า 286-288)
 
ยอช ออแวล เขียนถึงสภาพของหนังสือพิมพ์อังกฤษ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า วัตถุประสงค์ของหนังสือพิมพ์คือเพื่อหาเงินจากคนอ่าน โดยเฉพาะก็นักธุรกิจที่เหนื่อยล้ามาจากการงานและวิธีที่ดีที่สุดก็คือ อย่าเอ่ยถึงเรื่องอะไรๆ ที่เป็นความจริง หากไม่น่ารับฟังเกี่ยวกับสังคมปัจจุบัน กล่าวคือ ไม่ควรให้คนอ่านส่วนใหญ่รู้จักคิด ที่อยากถามก็คือหนังสือพิมพ์กระแสหลักในเมืองไทยสมัยนี้เป็นเช่นนั้นด้วยบ้างหรือเปล่า
 
ตามปกตินายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคนที่ใช้ถ้อยคำอย่างสุภาพ แต่ท่านเตือนว่า ถ้าสื่อมวลชนขาดจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานเสียแล้ว ก็กลายเป็นสื่อมวลสัตว์
 
ความข้อนี้ขอโยงไปยังกรณีสวรรคต ที่คนบริสุทธิ์ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตไปแล้วถึงสามคน ก็ไม่ใยไพกันใช่ไหม นักหนังสือพิมพ์ไทยเข้าใจกรณีของ Dreyfus ไหม ว่านักเขียนอย่าง Emile Zola สามารถเขียนจดหมายจนคนบริสุทธิ์อย่าง Alfred Dreyfus ที่ถูกศาลสั่งจำคุก ยังหลุดออกมาได้ โดยได้รับอิสรภาพอย่างสมศักดิ์ศรี สื่อสารมวลชนไทยไม่ต้องการแสดงบทบาทด้านความยุติธรรมทางสังคมเอาเลยหรือ เสียดายที่ข้อเขียนของสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่มีน้ำหนักเช่นของ Zola และจำเลยทั้งสามของกรณีสวรรคตก็ตายจากไปแล้ว ย่อมไม่อาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก แต่ตราบใดที่คดีสวรรคตยังไม่เปิดเผยออกมาในทางแห่งสัจจะ บ้านนี้เมืองนี้ก็ยังคงต้องมืดบอดกันต่อไป ถ้าปราศจากสัจจะเสียแล้ว เราจะเข้าหาสาระของประชาธิปไตยได้อย่างไร
 
5) สื่อสามารถมีบทบาทอย่างสำคัญทางด้านการให้เหตุผลทางสาธารณะ เพราะนี้แลคือการแสดงภาวะความยุติธรรมที่แท้ ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่ศาลหรือขบวนการของรัฐอันเริ่มจากตำรวจและอัยการ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของเราในเวลานี้ อ่อนเปลี้ยจนน่าวิตกยิ่งนัก พร้อมๆ กันนั้น ขบวนการของประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นทุกที ถ้าสื่อสารมวลชนเข้าใจประเด็นนี้ ด้วยการกล้าตีตัวออกห่างจากลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม โดยกล้าที่จะยืนหยัดอยู่ข้างคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อปลายแขม และคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงโดยโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคม พร้อมๆ กับกล้าพิจารณาตัวเอง ให้เกิดความกล้าหาญทางจริยธรรม สื่อของเราคงจะดีขึ้นได้ จนไปพ้นคราบของคึกฤทธิ์ ปราโมช โดยเข้าสู่การต่อสู้อย่างมีเกียรติมีศรีของคนอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ ของสุภา ศิริมานนท์ และของอารี ลีวีระ เป็นต้น
 
จริงอยู่ สื่อสารมวลชนภายใต้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรนั้น ถูกคณะของบุคคลคนนั้นแทรกแซงในแทบจะทุกๆ ทาง หากบัดนี้สื่อดูจะมีสถานะที่ดีขึ้นกว่าสมัยทักษิณ แต่สื่อก็ยังถูกระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมครอบงำมากเกินไป โดยสื่อมักจะทำให้ใครๆ ในวงการดังกล่าวเพลินไปกับความสำเร็จอันจอมปลอม หาไม่ก็ได้แต่ปากกัดตีนถีบไปวันๆ ในบริบทของน้ำเน่าประจำวัน ประจำสัปดาห์ กันอย่างน่าเสียดาย ถ้าถ้อยคำที่ข้าพเจ้านำมาเสนอในที่นี้ จะมีประโยชน์บ้าง ทิศทางของสื่อไทยคงจะก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ควรบ้างกระมัง โดยที่นี่จะเป็นคุณกับความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้
 
อนึ่ง กฎหมายในเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่นำมาใช้กันอย่างหลากหลายในบัดนี้ โยงใยไปในทางจิตใต้สำนึกถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลก่อน อย่างมิพึงต้องสงสัย เพราะนั่นคือการเริ่มต้นของรัชกาลปัจจุบัน อันมีที่มาจากความผิดปกติ ที่ปฏิเสธสัจภาวะ ซึ่งนำไปสู่การขจัดประชาธิปไตย โดยคณะรัฐประหารในปี 2490 โดยที่เผด็จการแต่ละคณะได้ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้างในการทำลายเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์แทบตลอดมา และแล้วสื่อมวลชนก็พากันสยบกับความข้อนี้ เป็นเหตุให้มีการใช้สื่อนอกกระแสหลักต่อต้านศักดินาขัตติยาธิปไตย จนเกิดวิกฤตภาวะที่ขยายตัวออกไปยิ่งๆ ขึ้น แต่แล้วชนชั้นบนและสื่อกระแสหลัก ก็หาได้ทำอะไรให้เป็นมรรคเป็นผล เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้ป็นโอกาส ทั้งๆ ที่นี่เป็นเรื่องของเส้นผมบังภูเขา ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยท่าทีที่ถูกต้อง
 
ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงคำพูดเพื่อแสวงหาสาระของประชาธิปไตย เผื่อจะบรรลุเป้าหมายของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามความปรารถนาของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้บ้างดอกกระมัง แต่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามนัยะของอาจารย์ปรีดี ไม่ใช่แต่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 เท่านั้น หากนั่นเป็นต้นตอที่มาของธรรมิกสังคมนิยมอีกด้วย ดังพรรคสหชีพเป็นพยานที่สำคัญ และถ้าผู้นำตามท้องถิ่นต่างๆ ในแต่ละพรรคนั้น หากรวมถึงคนอื่นๆ ที่มีหัวใจไปในทางขจัดอภิสิทธิ์ต่างๆ ไม่ถูกประหารให้หมดสิ้นไปทั้งชีวิตและชื่อเสียงเกียรติคุณ เราย่อมเข้าถึงธรรมิกสังคมนิยมได้ โดยที่ต่อแต่นี้ไป จะเป็นไปได้ไหม พวกแกนนำในกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงสนใจประเด็นนี้อย่างจริงใจแค่ไหน ได้วางแนวคิดเพื่อกิจกรรมที่แท้สู่สาระแห่งความเป็นประชาธิปไตยสำหรับไทยอย่างแท้จริงหรือไม่
 
หวังว่าการอภิปรายจากคนรุ่นใหม่หลังปาฐกถานี้ คงมีอะไรๆ ให้ได้รับรู้กันอย่างกว้างขวางมากออกไป และถ้าเกิดการขานรับหรือโต้แย้งอย่างกว้างขวางออกไปมากเท่าไร นั่นจะเป็นการปูทางไปสู่สาระแห่งประชาธิปไตยได้ยิ่งๆ ขึ้น
 
 
(หมายเหตุโดย ส.ศิวรักษ์: ข้อมูลที่ใช้ประกอบการเรียบเรียงปาฐกถานี้ ได้มาจาก The Idea of Justice by Amartya Sen มิใช่น้อย จึงใคร่ขอขอบคุณเขา และขอบคุณนายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่มอบหนังสือเล่มดังกล่าวให้ปาฐก)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท