กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชีย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ "องค์ภา" ขอพระกรุณาธิคุณกรณี ดา ตอร์ปิโด ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายในคุกไทย

24 ก.ย. 2552 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ขอพระกรุณาธิคุณดูแลการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักโทษหญิงซึ่งถูกจำคุกอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ โดยต้องคำพิพากษาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลา 18 ปี จากการกระทำผิดโดยการกล่าวปราศรัย 3 ครั้ง

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เขียนในจดหมายว่า “ดารณีถูกจองจำอยู่ในเรือนจำซึ่งเธอได้รับความทุกข์ทรมานจากการปฏิบัติเลวร้ายในหลายรูปแบบ”
โดยจดหมายระบุว่า ดารณีได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายอย่างน้อย 4 รูปแบบคือ ประการแรก ไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์ ทั้งที่มีอาการบาดเจ็บที่กราม ทำให้ไม่สามารถอ้าปากเพื่อกินข้าวหรือแปรงฟันได้สะดวก และแม้ว่าจะเคยได้รับคำแนะนำจากแพทย์แล้วว่า ดารณีต้องออกมารับการรักษาภายนอก แต่ก็ไม่เคยได้รับอนุญาต และแม้ว่าดารณีจะพยายามร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ แต่ก็ถูกยกคำร้องมาโดยตลอด
ประการที่สอง ดารณีถูกแยกขังเดี่ยวตลอดเวลากลางวัน และถูกนำตัวกลับมานอนร่วมกับผู้ต้องขังอื่นๆ ในเวลากลางคืน โดยที่ผู้ต้องขังอื่นๆ ก็ถูกตักเตือนไม่ให้พูดคุยด้วย และยังให้ผู้ต้องขังรายอื่นรายงานต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำในกรณีที่ดารณีพูดคุยด้วย
ประการที่สาม ตั้งแต่ต้องคำพิพากษา เธอถูกสั่งให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักโทษสีน้ำตาลคาดแดง ซึ่งเท่าที่ได้ข้อมูลมา เครื่องแบบนั้นเป็นสัญลักษณ์ของนักโทษอาญาคดีอุกฉกรรจ์ เช่นกรณีค้ายาเสพติดที่มีจำนวนเกินกว่า 1000,000 เม็ด
ประการที่สี่ ตั้งแต่ต้องคำพิพากษา บัตรที่ชี้บ่งโทษซึ่งเธอต้องติดตัวไว้นั้นมีการเปลี่ยนถ้อยคำซึ่งมีลักษณะรุนแรงมากขึ้นกว่าที่เคยระบุในบัตรอันเดิม โดยในบัตรเดิมนั้นระบุว่า เธอกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในบัตรใหม่ระบุว่า “อาฆาตมาดร้าย” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่สร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้อ่าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของดารณี 
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียนระบุว่า ได้รับฟังการปาฐกถาของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ในวันที่ 14 กันยายน 2552 ที่ได้ทรงแสดงต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในกรุงเจนีวา โดยตระหนักในการทรงงานในด้านสิทธิของนักโทษหญิงผ่านโครงการ “กำลังใจ” พร้อมทั้งบทบาทของพระองค์ในทูตขององค์กรยูนิเฟม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสนใจการปฏิบัติต่อนักโทษหญิง และผู้ต้องหาหญิง
ในจดหมายเปิดผนึก คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ยังได้ขอพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ทรงดูแลกรณีที่เกิดขึ้นกับดารณี 4 ประเด็นคือ สร้างความมั่นใจว่า ดารณีจะได้รับการรักษาทางการแพทย์โดยไม่ชักช้า, ไม่ทำการกักขังแยกจากผู้ต้องขังอื่นๆ, ให้สวมเครื่องแบบปกติที่เหมาะสมกับความผิดที่ถูกตัดสิน และให้มีบัตรประจำตัวที่ระบุโทษที่ไม่ใช่ถ้อยคำที่สร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ใดก็ตามที่ได้อ่าน
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียระบุในจดหมายด้วยว่า มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้พระองค์ทรงหันมาสนพระทัยต่อกรณีของดารณี อันเนื่องจากบทบาทของพระองค์ที่ทรงดำเนินโครงการ “กำลังใจ” เพื่อการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขังหญิง และในฐานะที่ทรงดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) และ กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Fund for Women- UNIFEM) และจากการที่พระองค์ได้ทรงปาฐกถากับสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของผู้ต้องขังหญิง
ที่มา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท