ชาวบ้านมาบตาพุด ขึ้นเวทีติง “รัฐบาล” เลี่ยงควบคุมมลพิษ ทำลายชีวิตชุมชน

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.52 ฝ่ายพัฒนาสังคมและสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาสร้างสังคมธรรมาธิปไตย “เลี่ยงควบคุมมลพิษ ทำลายชีวิตชุมชน” เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการขนาดใหญ่ต่อสังคม ระบบนิเวศน์ และเศรษฐกิจของชุมชน รวมทั้งกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ โดยผู้เข้ารับฟังส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา

นายอานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยลังสิต กล่าวถึงวัตถุประสงค์การในสัมนาว่า กิจกรรมสร้างสังคมประชาธิปไตยมีวัตถุประสงค์ ให้ความรู้ แง่คิด และการศึกษา โดยการสร้างสังคมธรรมาธิปไตย มีหัวใจอยู่ที่การทำให้ มหาวิทยาลัยรู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาสังคม และสร้างความรู้เกื้อสังคม เชื่อมโยง ให้ชาวบ้านในพื้นที่มาสื่อสารปัญหาของพวกเขา และการศึกษาตามอัธยาสัยซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนรู้แค่ในตำรา แต่สามารถเรียนรู้ได้หลายอย่าง โดยผ่านสื่อ ชุมชน สังคม หรือการท่องเที่ยว ทั้งสองส่วนเรียกได้ว่าแทบเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะไม่มีความรู้อันใดลึกซึ่ง เท่ากับการได้รับรู้จากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

นายสุธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวถึงรูปธรรมที่ชัดเจนของสังคมธรรมาธิปไตยว่า การที่คนที่ได้รับผลกระทบ ต้องสู้เสียจากการพัฒนาหรือการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ได้นำเรื่องราวมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ นี่คือธรรมาธิปไตยอย่างหนึ่งในความคิด การนำเสนภาพความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นรูปธรรมง่ายๆ ของสังคมธรรมาธิปไตย

เขากล่าวต่อมาถึงประวัติศาสตร์ของปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยองว่า พื้นที่นี้เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ในสมัยหนึ่งที่ผู้นำประเทศมีความต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหม่ จากที่มีจีดีพีของภาคเกษตรไม่มาก การพัฒนาไปได้ไม่ไกล ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เริ่มต้นจากการเป็นเส้นทางนำก๊าซธรรมชาติในประเทศขึ้นมาทำการผลิต จากการสำรวจในปี 2523 โดยบอกว่าการมีก๊าซธรรมชาติในประเทศ จะทำให้พลังงานเชื่อเพลิงราคาถูก สินค้าราคาถูก เข้าสู่ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด

ต่อมาในปีเริ่มปี 2526 ในยุคที่ได้ชื่อว่าเชื่อผู้นำชาติปลอดภัย มีการวางแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด โดยวางแผนใช้พื้นที่เพียงแค่ 5,000 ไร่ มีโรงงานเพียง 20 แห่ง และมันการจัดทำพื้นที่กันชน (Buffer zone) ตามแผนพัฒนาอิสเทิร์นซีบอร์ ซึ่งแผนที่วางไว้ดูดีมาก แต่ปัจจุบันมีโรงงานเกิดขึ้นนับร้อยแห่งบนเนื่อที่นิคมอุตสาหกรรมกว่า 30,000 ไร่ อีกทั้งมีการขยายพื้นที่เข้าไปในทะเล ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับแผนที่วางไว้เมื่อปี 2526 ซึ่งคนวางแผนก็หายไปไม่ได้มารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยที่ประชาชนในขณะนั้นเองก็ขาดอำนาจต่อรอง และขาดส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ผลของการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย โดยในปี 2540 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ต้องย้ายโรงเรียนออกจากพื้นที่เดิมซึ่งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง (อยู่ใกล้โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเออาร์ซี)) แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้เด็กนักเรียนมีอาการเจ็บป่วยมาถึงปัจจุบัน

เขากล่าวด้วยว่าตั้งแต่เริ่มมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จนกระทั้งถึงปี 2550 ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการระบายสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs: Volatile Organic Compound) ก่อนที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะได้ประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารอินทรีย์ระเหยใน บรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี จำนวน 9 ชนิด เมื่อปี 2550 (วันที่ 14 ก.ย.2550) ซึ่งที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะการเรียกร้องขององค์กรภาคประชาชน อีกทั้งความจริงในพื้นที่การมีระบายสารอินทรีย์ระเหยง่ายกว่า 40 ชนิด และพบว่า 19 ชนิดเกินมาตราฐาน ซึ่งสารเหล่านี้หากสะสมมากจะทำให้เป็นมะเร็ง

นอกจากนี้การคำนวนค่าเฉลี่ยรายปีก็เป็นปัญหา เพราะวิธีการจัดเก็บตัวอย่างเดือนละ 1 ตัวอย่าง (1วัน จาก 30 วัน) คิดเป็น 12 ตัวอย่างต่อปีมาหาค่าเฉลี่ยซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่น้อยมาก และโดยรวมมันอาจไม่เกินมาตรฐาน แต่วันที่ปล่อยเกินมาตรฐานชาวบ้านก็ต้องรับสารพิษที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับคำตอบว่าการกำหนดมาตรฐานเข้มงวดเกิน อาจทำให้ปั๊มน้ำมันต้องปิด และกังวลว่าไม่มีเครืองมือตรวจวัด ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้มาตรการไม่เป็นจริง ดังนั้นการสร้างกลไกตรวจสอบเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริงจึงยังไม่มี

นอกจากปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศนายสุธิ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบอื่นๆ อาทิ ในเรื่องการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ประชาชนเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภค ไม่มีน้ำปะปาใช้ เนื่องจากการแย่งน้ำกับภาคอุตสาหกรรม โรงงานในกว่า 100 แห่งในพื้นที่ใช้น้ำกว่า 1 ล้านตันต่อวัน และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นก็มีผลต่อการใช้น้ำ อีกทั้งปัญหาการปนเปื้อนสารพิษของน้ำในดินเนื่องจากกระบวนการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง มีการแอบทิ้งตามที่สาธารณะ แหล่งน้ำ ที่ดินว่างเปล่า หรือในทะเลโดยไม่มีการบำบัด ต้นไม้พืชผลทางการเกษตรทนสภาพอากาศไม่ไหว เหี่ยวเฉาแห้งตาย ส่วนประชาชนเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยต้องจ่ายค่ารักษาด้วยตัวเอง และพบจำนวนเยาวชนป่วยเป็นโรคลูคีเมียสูงขึ้น แต่ปัญหาคือโรคเหล่านี้หาคำตอบที่ต้นต่อได้ยาก เพราะไม่ได้เกิดอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอุบัติภัย และปัญหาด้านสังคมต่างๆ เกิดขึ้นด้วย

เหล่านี้เป็นปัญหาเกิดจากความไร้ธรรมภิบาลของบริษัท แต่ผลกระทบกลับตกประชาชน แม้ปัจจุบันจะมีการพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ซึ่งสุทธิมองว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งไม่ได้ต่างการจากการประชาสัมพันธ์ (Public Relation: PR) โดยเป็นการส่งเสริมกิจกรรมสังคม เอาเงินไปให้ชาวบ้าน แต่ไม่ยอมเพิ่มต้นทุนในการจัดการสิงแวดล้อมที่ปลอดภัยจริงๆ ทั้งนี้ เขาแสดงความคิดเห็นว่า ซีเอสอาร์ไม่ใช่การให้เพื่อทวงบุญคุณ แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงต่อสังคมด้วยความจริงใจ ให้มีความรู้ช่วยเพื่อเหลือตนเองได้

สำหรับการแก้ปัญหามาบตาพุดในระดับนโยบาย นายสุธิกล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และได้พูดคุยกันเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งผลการพูดคุยเห็นตรงกันในส่วนปัญหาการไม่ได้บังคับใช้กฏหมาย ซึ่งนายกรับที่จะให้มีบังคับใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดต่อไป ส่วนเรื่องเขตควบคุมมลพิษมีข้อเรียกร้องให้มีผลปฎิบัติจริงโดยการส่งเสริมของรัฐ ซึ่งก็มีการรับในหลักการ

ส่วนโครงการลงทุน 55 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด ที่ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกใบอนุญาตการขอขยายกิจการหรือตั้งโรงงาน แต่ชาวบ้านได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 ที่ระบุให้โครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องมีการทำอีไอเอ รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) มีกระบวนการรับฟังความเห็น และผ่านการให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเสนอว่าควรมีการนำแต่ละโครงการมาพิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่าโครงการไหนต้องจัดทำตามมาตรา 67 หรือไม่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการที่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยขึ้นมาดูแล

ทั้งนี้ นายสุธิแสดงความไม่เชื่อถือในเรื่องการทำอีไอเอ โดยการว่าที่ผ่านมามีกระบวนการชวนเที่ยว จัดเลี้ยง แล้วให้ลงชื่อแล้วนำรายชื่อมาสรุปว่าได้ทำการรับฟังความ คิดเห็นแล้ว เป็นกระบวนการรับฟังไม่ถูกต้อง ทั้งที่จริงต้องให้ข้อมูลทั้งหมด แล้วชาวบ้านได้คิดวิเคราะห์ ให้ข้อเสนอแนะ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการมีผลประโยชน์ทับซ่อนของบุคคลบางกลุ่มที่เข้าไปร่วมร่วมอยู่ในการให้ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

“มาบตาพุดทำอีไอเอเป็นร้อยครั้ง ถ้ามันกระบวนการดีจริงตอนนี้คนมาบตาพุดเป็นผู้เชี่ยวชาญไปแล้ว แต่ไปถามดูประชาชนไม่รู้ว่าอีไอเอคืออะไร การรับฟังความคิดเห็นคืออะไร” นายสุธิกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 

 

ชาวบ้านถามนักศึกษา รู้ปัญหาแล้วช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

ด้านนายน้อย ใจตั้ง อายุ 69 ปี ชาวบ้านคลองน้ำหู  ชุมชนเกาะกก – หนองแตงเม ซึ่งเป็นชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ. ระยอง เล่าประสบการณ์ว่า ในพื้นที่มาบตาพุดเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมท่อก๊าซ ซึ่งประชาชนไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ต่อมามีการเวนคืนที่ดินเพื่อทำโรงปุ๋ย ถ้าที่ดินติดถนนได้เงินเวนคืนไร่ละเป็นหมื่น แต่ที่ดินที่อยู่ข้างในได้ไร่ 7-8 พันบาท ตรงนั้นทำให้ชาวบ้านเริ่มหวั่นไหว แต่เมื่อมีการก่อสร้างจริงกลับไม่ได้สร้างโรงปุ๋ยแต่สร้างโรงปั่นด้าย ซึ่งจากการดำเนินการก็ปล่อยน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็น จากนั้นในพื้นที่ก็เกิดอุตสาหกรรมมากขึ้น ชาวบ้านเริ่มป่วย มาเป็นสิบปี

บ้านเดิมของนายน้อย อยู่ที่บ้านอ่าวประดู่ตากวน ต.มาบตาพุด แต่เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเริ่มก่อตัว ก็ย้ายออกจากพื้นที่เพราะอยู่ที่เดิมไม่ได้ แต่บ้านที่อาศัยในปัจจุบันก็อยู่ห่างโรงงานอุตสาหกรรมไม่ถึง 2 กิโลเมตร

นายน้อยพูดถึงผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวด้วยเสียงสั่นเครือว่า เขาต้องพบกับความสูญเสียที่หนักหนา คนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งไปแล้ว 4 คน ตั้งแต่แม่ของเขาเองและแม่ภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมมะเร็ง ลูกเขย และขณะนี้ภรรยาของเขาก็ต้องต่อสู่กับโรคนี้อยู่

“หาใครมาช่วยไม่ได้ บอกจะแก้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีการช่วยเหลือดูแลอย่างจริงจัง ไม่รู้จะหาหน่วยงานราชการส่วนไหนไปดูแล ได้แต่บ่นกันในหมู่ชาวบ้านว่าจะต้องรับกรรมไปตลอดชีวิต ถึงจะจบไป”นายน้อยกล่าว พร้อมตั้งคำถามด้วยความหวังถึงนักศึกษาที่ร่วมรับฟังการเสวนาว่านักศึกษาที่รับรู้เรื่องนี้จะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไร

ส่วนนายเจริญ เดชคุ้ม หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านนายที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยต่อหน้าที่ ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษ และได้ต่อสู้คดีจนกระทั่งศาลปกครองระยองพิพากษาให้เขตพื้นที่เทศบาลมาบตาพุดทั้งเทศบาล รวมทั้งพื้นที่ใกล้อีก 4 ตำบล ในเขต อ.เมือง และอ.บ้านฉาง เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษเล่าว่า การต่อสู้ คัดค้าน เริ่มต้นเมื่อราวปี 2539 ทั้งนี้ครั้งแรกที่มีการก่อสร้าง โรงงานมา 1,200 ไร่ ก็มีการจัดการบัพเฟอร์โซนถูกต้อง ต่อจากโรงงานก็มีคนมาซื้อพื้นที่กว่า 12,000 กว่าไร่ทำนิคมอุตสหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กที่เรียนในโรงเรียน มีมลพิษเข้าสู่บ้าน ทำให้ต้องออกมาร่วมกันคัดค้าน ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่

เดิมระยองในน้ำมีปลาในนามีข้าว เป็นเศรษบกิจ 3 ขา ที่ประกอบด้วยการเกษตร การประมง การท่องเที่ยว คิดว่าต้องเพิ่มอีกให้เป็น 4 ขา โดยมีอุตสาหกรรมครัวเรือนเพิ่มมาจะมั่นคง แค่ความเป็นจริงปัจจุบันยืนอยู่ด้วยขาเดียวคือ อุคสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบวิถีชีวิตในภาคเกษตรและทรัพยากรที่อยู่นพื้นที่ อย่างไรก็ตามการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้ามา ไม่ใช่ต่อต้าน แต่ทำอย่างไรให้พอดี เว้นช่องว่างให้ชาวบ้านบ้าง ส่วนตัวเองตอนนี้อายุมากแล้วหากจะให้ไปทำงาโรงงานอุตสาหกรรมเขาก็ไม่รับแล้ว

“ในน้ำปลาเน่า นาข้าวก็ไม่มี ในอนาคตจะทำอย่างไรในวันข้างหน้า” นายเจริญกล่าว พร้อมเสนอแนะว่าผู้บริหารควรคิดถึงในเรื่องธรรมาธิปไตย และดูแลในหลักของธรรมาภิบาลด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงโลกาธิปไตยที่ชาวโลกเป็นใหญ่  หรืออัตตาธิปไตยที่เอาตัวกูเป็นใหญ่ แต่ให้ถือธรรมาธิปไตยที่ใช้หลักธรรมเป็นใหญ่ ไม่ว่าใครก็ได้เป็นนายก แต่ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่

 

คณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งคำถามทิศทางนโยบายของรัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความเป็นธรรมจริงหรือ

ด้านนายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อนุกรรมการสิทธิด้านชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจกับสังคมจริงๆ มีน้อย อีกทั้งงานวิชาการที่ส่งไปมาบตาพุดที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ก็มีน้อยมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการสังคมกำลังหลอกตัวเองว่ามีความสุขดีอยู่ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เป็นจริง คิดว่าหากโรงงานอุตสาหกรรมจะมาตั้งใกล้บ้านก็ใช้วิธีติดแอร์ป้องกันมลพิษเข้ามาในบ้าน หรือบางคนอาจย้ายบ้านหนี แต่สำหรับคนที่ทำไม่ได้จะให้พวกเขาทำอย่างไร ตรงนี้คนในสังคมไม่คิด ไม่เข้าใจ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 ที่คนมาบตาพุดไปยืนอยู่บนถนน เพื่อคัดค้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นั้นเนื่องด้วยปัญหาที่กระทบกับชีวิตพวกเขาเป็นสิบๆ ปีและยังพยายามหาทางแก้อยู่ในปัจจุบัน แต่คนรับรู้แค่ไหน

อย่างที่รับรู้ ทางออกของปัญหาคือการลดกำลังการผลิต ลดอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องค่อยๆ แก้อย่างเป็นลำดับ การที่ชาวบ้านธรรมดาออกมาต่อสู้ ต้องเผชิญกับความหวั่นไหวในจิตใจสูงมาก จากคนทำมาหากิน ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ ไม่ไห้ต้องเดือดร้อนจากผลกระทบ แต่ก็ถูกแทรกแซงทำให้ล่าถอย บางส่วนเห็นว่าสู้ไปก็ไม่ได้ผลก็เกิดล้า เกิดท้อไปเอง ทั้งนี้การลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นคดีกับคนมีเงิน หาคนยอมทำไม่ง่าย ต้องเข้าใจว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องสู้

ในส่วนของรัฐเองยื่นความเป็นธรรม ความตรงไปตรงมาเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมกับชาวบ้านได้ไหม แม้อุตสาหกรรมอาจดี แต่ทิศทางนโยบายของรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความเป็นธรรมจริงหรือเปล่า เห็นความสำคัญกับชาวบ้านที่จะได้ผลกระทบจริงหรือเปล่า ในส่วนนี้ควรมีการสร้างความเข้าใจว่าอะไรคือปัญหา การขับเคลื่อนสู่การแก้ปัญหาของสังคมและนักศึกษา ต่อชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปิดถนนประท้วงที่เริ่มจากเป็นปัญหาของตัวเอง แต่หากสู้ได้จะเกิดผลในการเป็นมาตรฐานต่อสังคมใหญ่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 แม้มีที่มาไม่ชอบธรรมแต่เนื้อหาหลายส่วนก้าวหน้ากว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่เรื่องสิทธิ ห้อยติ่งว่าต้องมีกฎหมายบัญญัติ ซึ่งตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 50 ระบุให้ต้องการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากโครงการหรือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะเพียงให้จัดทำอีไอเอไม่พอ และให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการ ซึ่งต้องทำใน 1 ปี นับตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงนโยบาย แต่ถึงวันนี้นับเป็นเวลาปีกว่าแล้ว เรื่ององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ยังไม่มีการดำเนินการ

แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความมาตราดังกล่าว ตามคำร้องขอของหลายหน่วยงานเพื่อหาความชัดเจนในการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ ต่างๆ ว่า มาตรา 67 ยังไม่มีผลใช้บังคับทันที ต้องมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนี้ให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการไปตามกฎหมายเดิมก่อน จึงมีการอนุญาติให้ก่อสร้างโรงงานได้เรื่อยมา จนชาวบ้านฟ้องเพิกถอนอีไอเอที่ไม่ชอบตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสิน ทั้งนี้นายชาญวิทย์ตั้งคำถามว่าหากศาลตัดสินให้ใช้มาตรา 67 หมายความว่ารัฐบาลทำผิดกฎหมายอยู่หรือไม่ การไม่ออกกฎหมายในระยะเวลา 1 ปีถือละเมิดสิทธิหรือไม่ และปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการในเรื่องนี้แต่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม ถือเป็นความผิดหรือไม่

นายชาญวิทย์ กล่าวด้วยว่าปัจจุบันประชาชนมีคความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีความรู้สึกร่วมต่อปัญหาในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ถือเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนได้ อีกทั้งกิจกรรมการให้ความรู้กับนักศึกษาโดยเชิญชาวบ้านมาให้ข้อมูลเช่นนี้ของมหาวิทยาลัยน่าจะมีการดำเนินการต่อไป และสร้างความเข้าใจกับนักศึกษาให้มากขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท