Skip to main content
sharethis

เป็นคอนเสิร์ตครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี ในประเทศคอมมิวนิสต์แถบแคริบเบียนแห่งนี้ นับตั้งแต่ปฏิวัติ 1959 จัดโดยนักดนตรีชื่อดังมือรางวัลลาตินแกรมมี่ฯ ขณะที่ชาวคิวบาอพยพในสหรัฐฯ ไม่พอใจ มีการประท้วงทำลายอัลบั้มเพลงหาว่าเป็นคอนเสิร์ตสนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาโกรธแค้น

 

(จากซ้ายไปขวา) นักร้อง คาร์ลอส วาเรลา จากคิวบา, ฮวนเนส จากโคลัมเบีย, วิกเตอร์ มานูเอล จากสเปน, โอลก้า ทานอน และ แดนนี่ ริเวร่า จากเปอร์โตริโก้, ฮวน ฟอร์เมลล์ ผู้กำกับ แวน แวน วงออเครสตร้าของคิวบา, โบกมือในช่วงตอนจบ คอนเสิร์ต "สันติภาพไร้พรมแดน" ซึ่งจัดวันที่ 20 ก.ย. ที่ลานแห่งการปฏิวัติ กรุงฮาวาน่า คิวบา (ที่มา: Getty Image, Daylife)
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่คิวบามีการจัด คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติปี 1959 มีกลุ่มประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ร่วมกันสวมชุดขาวเข้าร่วมงาน คอนเสิร์ตในครั้งนี้ที่จัตุรัสการปฏิวัติ (Revolution Square) ในกรุงฮาวานา ซึ่งมีศิลปินชั้นนำชาวลาตินอเมริกา, ชาวสเปน และชาวคิวบา ร่วมแสดงในงาน 15 ราย
 
งานคอนเสิร์ตที่คิวบาในครั้งนี้มีชื่อว่า "สันติภาพไร้พรมแดน" (Peace without Borders) จัดขึ้นโดยฮวนเนส (ชื่อจริงคือ ฮวน เอสเตบาน อริสติซาบัล วาสคิวเอซ) นักร้องชาวโคลัมเบียผู้เคยได้รับรางวัลลาตินแกรมมี่อวอร์ดรวมทั้งหมด 17 รางวัล ฮวนเนสบอกว่างาน คอนเสิร์ตในครั้งนี้ไม่มีการเมือง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวสันติภาพและความอดทนอดกลั้นต่อกัน เป็นการบอกกับผู้ชมว่า "สิ่งที่สำคัญคือการสับเปลี่ยนความเกลียดชังให้เป็นความรัก"
 
"พวกเรามาที่นี่เพื่อเสียงดนตรี มันคือสารแห่งสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่แค่เพียงคิวบาเท่านั้น แต่รวมทั่วทั้งทวีปนี้ด้วย" ฮวนเนสกล่าว
 
สำนักข่าว CNN รายงานว่า คอนเสิร์ตในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นความพยายามของฮวนเนสที่จะเชื่อมต่อประเทศคิวบาซึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับประเทศอื่นโดยรอบรวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองจนมีการประกาศคว่ำบาตรกันมาหลายทศวรรษแล้ว
 
ฮวนเนสกล่าวขณะอยู่บนเวที โดยเรียกคลื่นฝูงชนที่มาเข้าร่วมว่าเป็น "ความฝันที่สวยงาม" และเหล่าผู้ชมพากันส่งเสียงเชียร์เมื่อฮวนเนสพูดว่า "พวกเราล้วนเป็นพี่น้องกัน และพวกเราก็ควรจะผูกพันเชื่อมโยงกัน"
 
ผู้สื่อข่าว BBC ไมเคิล วอสส์ ที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตความยาวกว่าห้าชั่วโมงครึ่งในครั้งนี้เปิดเผยว่างานครั้งนี้มีความรู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจเนื่องจากประชาชนที่อาศัยในคิวบา แม้จะเป็นเกาะที่รักในดนตรี ก็ไม่เคยพบเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน มีประชาชนจากนอกเกาะเดินทางมาเข้าร่วมด้วย แต่ขณะเดียวกันเขาก็บอกว่าความร้อนเป็นปัญหา หลายคนถึงขั้นต้องถูกเปลหามจากการเป็นลมเพราะความเหนื่อยล้า
 
CNN รายงานว่ามีคนเข้าร่วมหลายแสนคน ขณะที่ BBC บอกว่ามีราวหนึ่งล้านคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้จัด คอนเสิร์ตระบุว่ามีคนเข้าร่วมมากกว่า 1 ล้าน 1 แสนคน ซึ่งอย่างไรก็ตามนี่ถือว่าเป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในลานจัตุรัสการปฏิวัตินับตั้งแต่การเดินขบวนของพระสันตปาปา จอห์น พอล ที่ 2
 
"ที่นี่มีผู้คนรวมกันหนาแน่นมาก ที่นี่ไม่เคยมี คอนเสิร์ตที่บรรยากาศเปิดกว้างแบบนี้มาก่อน เมื่อตอนที่พระสันตปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ทำพิธีมาร์ชเฉลิมฉลองชัยชนะในที่เดียวกันเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว มีคนมาร่วมราว 250,000 คน เราลองประมาณดูแล้ว คนที่มาเข้าร่วมในวันนี้มีมากเป็นสองเท่า สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางของอำนาจในคิวบา ตามปกติแล้วเมื่อผมมาที่นี่มันจะเป็นวันที่มีขบวนพาเหรดวันกรรมกรสากล และมีธงแดงประดับประดาอยู่ทุกที่ ในตอนนี้ทุกคนสวมเสื้อสีขาว มีธงสีขาวกับชุดขาว ซึ่งเป็นการสื่อถึงสันติภาพไร้พรมแดน" ไมเคิล วอสส์ นักข่าว BBC รายงานจากจัตุรัสการปฏิวัติ
 
โดยนอกจากฮวนเนสแล้ว ศิลปินอื่น ๆ ที่เข้าร่วมก็มี มิกุเอล โบเซ จากสเปน, โอลก้า ทานอน จากเปอร์โตริโก้, ลอส แวน แวน และ ซิลวิโอ รอดริจซ์ ศิลปินชาวคิวบาผู้ถูกห้ามเข้าไปในสหรัฐฯ ซึ่งทาง CNN บอกว่ายังขาดศิลปินชาวคิวบัน-อเมริกัน อย่าง กลอเรีย เอสเตฟาน และวิลลี่ ชิริโน่ ซึ่งเป็นผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลคิวบาอย่างเผ็ดร้อน
 
"พวกเราจะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน" ทานอน กล่าว ขณะที่เธอเปิด คอนเสิร์ตด้วยเพลงรักที่ชื่อ Es Mentiroso Ese Hombre (ชายคนนั้นเป็นคนโกหก)
 
มาเรีย แอนโตเนีย ชาวฮาวาน่า ผู้นั่งอยู่บนรถเข็นและมาเพื่อชมคนเสิร์ทบอกว่ามันยากลำบากในการเดินทางมาชม แต่เธอก็ไม่อยากพลาดงานครั้งนี้ ขณะที่ชาวคิวบาอีกคนคือคริสติน่า รอดริจซ์ พยาบาลอายุ 43 ปีผู้มาพร้อมกับลูกชายวัยรุ่นบอกว่าพวกเขาจะอยู่ในงาน คอนเสิร์ตให้นานที่สุด เท่าที่พวกเขาจะมีแรง
 
 
งาน คอนเสิร์ตสันติภาพที่กลายเป็นข้อขัดแย้งของชาวคิวบาอพยพ
แม้งานในครั้งนี้จะไม่มีเรื่องของการเมือง แต่ก็มีชาวคิวบาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาที่ต่อต้านรัฐบาลคิวบาบางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และถึงขั้นมีการขู่เอาชีวิตผู้จัดคือฮวนเนส ขณะเดียวกันเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากนักโทษการเมืองที่มีชื่อเสียง 20 คนในคิวบา และมีบางคนบอกว่า คอนเสิร์ตในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีสำหรับความปรองดอง
 
โดยที่ไมอามี่ รัฐฟลอริดา บ้านเกิดของฮวนเนส  คอนเสิร์ตได้รับการถ่ายทอดในสถานีโทรทัศน์ภาษาสเปน มีชาวคิวบาอพยพในไมอามี่ ออกมาประท้วงต่อต้านฮวนเนส พวกเขาเรียก คอนเสิร์ตในครั้งนี้ว่าเป็นการประกาศสงคราม มีการทำลายงานเพลงของศิลปินต่อหน้าสาธารณชนด้วยการใช้รถบดเล็ก ๆ ถนนทับ ทางฮวนเนสเองก็บอกว่าเขาได้รับการขู่เอาชีวิตผ่านทาง Twitter และบ้านของเขาที่ไมอามี่ก็ได้รับการคุ้มกันโดยตำรวจ
 
เฮอร์นาน กอนซาเลส อายุ 77 ปี ผู้ที่เคยต้องไปอยู่ในคุก 6 ปี เนื่องจากการต่อต้านคาสโตรบอกว่า มีการนองเลือดเกิดขึ้นมากมายในคิวบาและประชาชนก็ถูกกลุ่มทหารเข่นฆ่า "เขา (ฮวนเนส) กำลังร้องเพลงอยู่ท่ามกลางซากศพ" เฮอร์นาน กล่าว
 
ชาวคิวบาอพยพผู้ต่อต้านคาสโตรใช้รถบดทำลายซีดีเพลงของสิลปินที่เข้าร่วม คอนเสิร์ต "สันติภาพไร้พรมแดน" ขณะที่พวกเขาทำการประท้วงใน ลิตเติ้ลฮาวาน่า เมืองไมอามี่
(Reuters Pictures / Daylife)
 
วิลลี่ ชิริโน่ ศิลปินชาวคิวบาผู้ซึ่งเคยต้องอพยพจากบ้านเกิดหลังการปฏิวัติของคาสโตร พูดถึง คอนเสิร์ตในครั้งนี้ว่า มันจะเป็นแค่การเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ "ระบบเก่า ๆ มันได้ตายไปแล้ว คุณก็รู้ พวกเขาแค่ให้อ็อกซิเจนมันเท่านั้นเอง" ชิริโน่ กล่าว แต่อย่างไรก็ตามเขาก็บอกว่าเคารพในแรงบันดาลใจของฮวนเนส "ผมคิดว่าไอเดียของฮวนเนสบรรเจิดมาก และมันเต็มไปด้วยความรัก ไม่มีใครต่อต้านศิลปินที่กำลังไปที่ประเทศเขาเพื่อเอาผลงานไปให้พวกเขาได้ชื่นชมหรอก"
 
ขณะที่นิโนสกา เปเรซ โฆษกของคณะกรรมการเพื่อเสรีภาพของชาวคิวบา วิพากษ์งานแสดงของฮวนเนสว่า "มันเป็นตลกห่วย ๆ ที่มองข้ามความเป็นจริงของคิวบา โดยการอธิบายง่าย ๆ ว่ามันเป็น ' คอนเสิร์ตที่ไร้การเมือง' "
 
แม้ฮวนเนสจะบอกว่า คอนเสิร์ตในครั้งนี้ไม่มีการเมือง แต่ในช่วงท้ายของการแสดงเขาก็ได้ทำเซอร์ไพร์ซด้วยการตะโกนว่า "ปลดปล่อยคิวบา" (Cuba Libre) และ "คิวบาครอบครัวเดียวกัน" (One Cuban Family) ซึ่งเป็นคำขวัญของชุมชนผู้อพยพชาวคิวบา
 
ฮวนเนสบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ ไม่ได้ทำให้เขาแปลกใจหรือเสียกำลังใจ เขาเขียนไว้ในเว็บไซต์ของเขาว่า "ผมหมายถึง เราก็รู้อยู่แล้วว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น"
 
"ผมอยู่ที่ไมอามี่มาเจ็ดปี และตอนแรกที่ผมไปไมอามี่คือเมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือมากกว่านั้น ดังนั้นผมจึงรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ไมอามี่ ในประเด็นเรื่องของคิวบา และกับเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก่อนที่เราจะตัดสินใจไปที่คิวบาเพื่อจัดงานครั้งนี้"
 
เขาบอกว่ารู้สึกเสียใจกับ "ช่วงเวลาแย่ ๆ" นี้ และบอกอีกว่าเขาได้เคยพูดถึงแรงจูงใจของเขาให้กับผู้นำชาวคิวบาในไมอามี่ฟัง ซึ่งทั้งสองประเทศก็ช่วยเหลือเขาในอุปสรรคต่าง ๆ สำหรับงาน คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ของประเทศที่ขาดวีซ่า ขาดอุปกรณ์เครื่องเสียงและอุปกรณ์บนเวทีราคาสูงเช่นคิวบา
 
ฮวนเนสกล่าวในหนังสือพิมพ์เยาวชนของคิวบา Juventud Rebelde ว่าเขาอยากจัด คอนเสิร์ตแบบเดียวกันโดยศิลปินชุดเดียวกันที่ไมอามี่
 
ออสการ์ เอสปิโนซ่า เชเป ผู้ต่อต้านคาสโตรบอกว่าการริเริ่มของฮวนเนสเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะช่วยให้เกิดความปรองดองกันในชาติและความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวคิวบา
 
ส่วนประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า บอกว่าเขาเข้าใจว่าฮวนเนสเป็น "นักดนตรีที่ยอดเยี่ยม" แต่เขาก็กล่าวอย่างระมัดระวังถึงผลจาก คอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยบอกว่ามันไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาแย่ลง แต่ก็บอกว่าการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเช่นนี้ เขาจะไม่กล่าวถึงขั้นว่ามันจะช่วยให้ดีขึ้น
 
ซึ่ง CNN รายงานไว้ตอนท้ายว่า ชาวคิวบาดูจะมีความสุขกับการที่พวกเขาได้มีโอกาสครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่จะได้รับชมดาราชาวลาตินระดับท็อป ขณะที่ทาง BBC พูดถึงสถานที่จัดงานในครั้งนี้ว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ ที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตั้งอยู่ที่จัตุรัสการปฏิวัติโดยมีรูปปั้นเหล็กขนาดใหญ่รูปหัวเช กูวาร่า และคาสโตรเองก็เคยใช้จัตุรัสนี้กล่าวสุนทรพจน์ 5 ชั่วโมง
 
 
สื่อรัฐบาลคิวบาก็กล่าวถึง คอนเสิร์ตนี้
ขณะที่ทางหนังสือพิมพ์แกรนมา ของรัฐบาลคิวบา รายงานข่าว คอนเสิร์ตในครั้งนี้ด้วยน้ำเสียงชื่นชมฮวนเนสและผู้เข้าชมว่า "ช่างกระตือรือร้นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย" จนแสงอาทิตย์ไม่เป็นอุปสรรคในการชมการแสดง แล้วพูดถึงบรรยากาศและเพลงที่ศิลปินนำมาขับร้องด้วยความชื่นชม ทั้งยังบอกด้วยว่าฮวนเนสไม่ใช่คนที่เพิกเฉยต่อปัญหาสังคมโลก รวมถึงในโคลัมเบียบ้านเกินเขาด้วย
 
แกรนมารายงานอีกว่ามีคนมาเข้าร่วมถึง 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นคน และส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น
 คอนเสิร์ต "สันติภาพไร้พรมแดน" หรือ Paz Sin Fronteras ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นการจัดที่โคลัมเบีย ที่มีจุดมุ่งหมายในการลดความตึงเครียดระหว่างโคลัมเบียกับเวเนซุเอลา
 
 
ความโกรธที่ยังไม่จากหายของชาวคิวบาอพยพ ถูกโยนให้นักดนตรีการกุศล?
ฮวนเนสเริ่มประกาศในวันที่ 5 ส.ค. ว่าเขาจะใช้สถานที่คือจัตุรัสการปฏิวัติสำหรับ คอนเสิร์ต และประกาศวันจัดเป็นวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งติดกับวันสันติภาพโลกของสหประชาชาติ (21 ก.ย.) ชาวคิวบาอพยพในไมอามี่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์เขาเนื่องจากเชื่อว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคิวบา แม้ฮวนเนสจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือรัฐบาลคิวบา เป็นแค่การแสดงทางสุนทรียะเท่านั้น
 
เขาเคยบอกยกเลิกการจัดครั้งหนึ่งหลังจากที่ถูกข่มขู่จากกลุ่มคนที่เขาเรียกว่า "พวกหัวรุนแรงกลุ่มเล็ก ๆ" เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัวและตัวเขาเอง ก่อนที่ต่อมาโฆษกประจำตัวเขาจะออกมาบอกในเวลาต่อมาว่าแผนการจัด คอนเสิร์ตจะยังคงดำเนินต่อไป และ "แฟนเพลงส่วนใหญ่ที่เขาพบเจอทั้งจากใน Twitter และที่ติดต่อกันในไมอามี่แสดงการสนับสนุนเขาอย่างท่วมท้น"
 
มาการิต้า อลาร์คอน ลูกสาวของประธานสภาฯ คิวบาให้ความเห็นใน CBS News ว่า "ชาวคิวบัน-อเมริกัน ผู้ขมขื่นเอาความโกรธแค้นจากในอดีตไปโยนให้ฮวนเนสและคนที่อยากร่วม คอนเสิร์ตของเขาที่ฮาวาน่า การแสดงออกในเชิงลบของพวกเขานั้นราวกับว่าการนำดนตรีไปให้ประชาชนในคิวบาฟังเป็นการสนับสนุนรัฐบาลที่พวกเขาต่อสู้ด้วย ดูเหมือนว่าพวกเขาต้องการกีดกันเสรีภาพของชาวคิวบา เซนเซอร์ประเภทของดนตรีที่พวกเขาควรจะฟัง"
 
ฮวนเนสเป็นนักดนตรีชื่อดังชาวโคลัมเบียผู้มียอดขายอัลบั้มมากกว่าสิบล้านอัลบั้ม และชนะรางวัลลาตินแกรมมี่อวอร์ดถึง 17 รางวัล เขายังเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักกิจกรรมการกุศล โดยการก่อตั้งมูลนิธิ Mi Sangre เพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของทุ่นระเบิด และมีจุดยืนแสดงการสนับสนุน อัลวาโร อูริบ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของโคลัมเบียอย่างชัดเจน
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Juanes, เข้าดูเมื่อวันที่ 21-09-2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net