Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ชมรม สโมสรนักศีกษา กลุ่มอิสระ ใน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม-อุบลราชธานี-ขอนแก่น พร้อมใจกันจัดงานไว้อาลัย 19 กันยา ประณามคณะรัฐประหารและผู้อยู่เบื้องหลัง และมีการเผยแพร่แถลงการณ์ สนนท.- สนนอ. เรียกร้องนักศึกษาร่วมต่อสู้กับประชาชน

 
 
 
ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อ 19 ก.ย. กลุ่มอิสระเถียงนาประชาคม ร่วมกับองค์กรภาคี ชมรมคนสร้างฝัน ชมรมรัฐศาสตร์สัมพันธ์ ชมรมเบิ่งไทเฮา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึก “ไว้อาลัย 19 กันยายน 2549” ที่ ห้อง D-211 ตึก วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
ช่วงเช้าเป็นเวทีเสวนา ในหัวข้อ “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่ออะไร?” มี ผศ.ดร. สมชัย ภัทรธนานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นวิทยากรนำเสวนา มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 30 คนจากองค์กรภาคี ผู้จัดกิจกรรม และบุคคลภายนอกที่สนใจ
 
อ.สมชัย ได้กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ถึง การรัฐประหาร 19 กันยา เพื่อให้เห็นภาพของประวัติศาสตร์วงจรอุบาทว์การรัฐประหารในการเมืองไทย บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 19 กันยา การทำงานในระบอบทักษิณทำให้เกิดความขัดแย้งในเชิงอำนาจกับผู้มีอำนาจเก่าอย่างไร โดย อ.สมชายกล่าวว่า รัฐประหาร 19 กันยา เกิดขึ้นเพื่อ 1.ล้มทักษิณ 2.เพื่อต้องการอำนาจที่เคยมีที่ได้หายไป (กลุ่มอำนาจเก่า) และกล่าวถึงมวลชนเสื้อแดงที่มีความคิดก้าวหน้า เป็นประชาชนรากหญ้ามีความกระตือรือร้นทางการเมือง
 
ในช่วงบ่ายได้มีกิจกรรมเดินรณรงค์ประณามรัฐประหาร 19 กันยา โดยผู้เข้าร่วมเสวนาและบุคคลที่สนใจ ได้ร่วมกันเดิน และแจกแถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.) ขบวนรณรงค์เริ่มเดินที่ตึกวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ไปยัง ตึกวิทยบริการ (ห้องสมุด) ตึกคณะวิทยาศาสตร์ สถาปัตย์ ศิลปกรรม วิทยาลัยดุริยางค์ บัญชี อาคารพละ ขบวนฯ ได้หยุดอ่านแถลงการณ์ที่อาคารพละนี้ จากนั้นก็เดินไปยังหอพัก ไปสิ้นสุดที่สะพานตลาดน้อยภายในมหาวิทยาลัย และติดป้ายรณรงค์ ไว้ที่สะพาน
 
 
 
 
 
ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. สนนอ. ร่วมกับสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และชมรมต่างๆ ในคณะรัฐศาสตร์ ได้แก่ ชมรมวรรณกรรมเยาวชน ชุมนุมวรรณกรรมเพื่อชีวิต ชุมนุมสิงห์แสนรู้ ชมรมข้าวเหนียวปั้นน้อย กลุ่มหิ่งห้อยวรรณกรรม และชมรมเพื่อนวันสุข จัดงานครบรอบ 3 ปีกับการฆาตกรรมประชาธิปไตย ในวันที่ 19 กันยายน 2552 โดยมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวให้พ้น รัฐ+ประหาร: ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และเวทีวัฒนธรรม
 
การเสวนาในหัวข้อ “ก้าวให้พ้น รัฐ+ประหาร: ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” มีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน 40 คน วิทยากรนำเสวนาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ 4 คน โดยมีอาจารย์ญาเรศ อัครพัฒนานุกูล เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
น.ส.ขวัญกมล นครชัย ผู้ร่วมอภิปราย หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เกิดความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่หาทางออกยังไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องของประชาชนซึ่งกระทำผ่านกระบวนการทางการเมืองหรือกระบวนการทางศาลก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาหรือได้รับการตัดสินที่ยุติธรรม ความกดดันจึงเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงที่สุดแล้วการเรียกร้องตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่สามารถตอบสนองได้ การใช้ความรุนแรงจึงกลายเป็นหนทางที่ถูกนำมาใช้ แต่การใช้ความรุนแรงนี้ไม่ได้มาจากเหตุผลทางด้านความรู้สึกของคนอย่างเดียว เพราะมูลเหตุที่สำคัญนั้นมาจากการกระทำของผู้ใช้อำนาจในรัฐ
 
นายฐากูร จำปาทอง แสดงความเห็นว่า วงจรอุบาทว์ของไทยที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด อันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยถอยหลังกลับสู่จุดเริ่มต้นเดิมเสมอ ดังนั้น เป็นความจำเป็นที่รัฐต้องมองการพัฒนาในเชิงความขัดแย้งที่แสดงออกในรูปแบบของการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการเรียกร้อง เพื่อที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดสถาบันหรือองค์กรอิสระที่เข้มแข็ง ในฐานะที่เป็นตัวคั่นกลาง ตัวเชื่อม หรือตัวกลางในการตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือเป็นกระบอกเสียงให้เกิดข้อตกลงร่วม หรือข้อยุติแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการทำให้บรรลุถึงผลแห่งความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การพัฒนา
 
นายวีรพจน์ ธีรชาญวิทย์ กล่าวว่า วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆเป็นพื้นฐานทางความคิดทางการเมืองของประเทศไทยด้วย ซึ่งวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆมักจะขัดกับระบอบประชาธิปไตย และการที่จะก้าวพ้นวงจรอุบาทว์ควรจะทำความเข้าใจวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากเหง้าทางความคิดของการเมืองไทยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองไทยด้วย วัฒนธรรมที่กล่าวมาดังนั้น ได้แก่ วัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ซึ่งมีรากฐานมาจากระบอบอำมาตย์ วัฒนธรรมที่กล่าวมาเป็นสิ่งขัดขวางกระบวบการคิดที่เป็นอิสระของคนไทย ที่ทำให้การเมืองไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ และยังคงวนเวียนอยู่กับวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบสิ้น จึงกล่าวได้ว่า เป็นการเมืองที่ปราศจากสิทธิเสรีภาพทางความคิด และความยุติธรรมในสังคม สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้การเมืองไทยไม่พัฒนาและยังคงปกครองอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
 
ในส่วนเวทีวัฒนธรรมในช่วงค่ำ เป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองของนักศึกษา มีการเล่นดนตรี อ่านบทกวี และสดุดีวีรชนที่ได้เสียสละต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 3 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ช่วงสุดท้ายมีการจุดเทียนร่วมกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความพยายามที่จะต้องก้าวให้พ้นจากความมืดที่การรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ก่อให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
ขณะเดียวกันด้านนอกมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ ดีเจต้อย ชักธงรบอุบลราชธานี หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง จ.อุบลราชธานี ได้รวบรวมกำลังพลคนเสื้อแดงกว่า 1,000 คน และรถยนต์ รถจักรยานยนต์กว่า 100 คัน ที่บริเวณลานชุมชนบูรพาใน ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี ก่อนเคลื่อนขบวนนำโลงศพ 4 โลง ติดชื่อของนายประกอบ วิโรจน์กูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายทวีศักดิ์ วังไพศาล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ และ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ขึ้นรถขยายเสียงแห่รอบเมือง และกล่าวโจมตีบุคคลทั้ง 4 คน โดยเฉพาะสองผู้บริหาร ม.อุบลราชธานี ที่ผู้ชุมนุมเห็นว่าหนุนหลังพันธมิตรฯ โดยขบวนได้มุ่งหน้าไปที่หน้า ม.อุบลราชธานี มีการอ่านแถลงการณ์ขับไล่นายประกอบ และนายทวีศักดิ์ และช่วยกันจุดไฟเผาโลงที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย พร้อมจุดประทัดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วบริเวณ (อ่านข่าวย้อนหลัง)
 
 
 
 
ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มอิสระซุ้มยอป่าร่วมกับชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.) จัดงาน “ก้าวให้พ้นการรัฐประหารก้าวให้พ้นประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ในวันที่ 19 กันยายน 2552 โดยมีนิทรรศการให้ความรู้ และเปิดเวทีปราศรัยประณามการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของเหล่าทหารทั้งหลาย และการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย ณ ศูนย์อาหารและบริการ (คอมเพล็กซ์) มีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 50 คน ในช่วงสุดท้ายได้จุดเทียนรำลึกแก่ผู้ที่เสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งนี้ มีการแจกเอกสารแถลงการณ์ ของ สนนอ.และ สนนท. ให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปมาด้วย
 
 
แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน
รำลึกครบรอบ 3 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
 
เนื่องจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว กองกำลังทหารติดอาวุธป่าเถื่อนในนาม คปค. ได้เข้ายึดอำนาจ ฆาตกรรมประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งได้เหยียบย่ำทำลายสิทธิเสรีภาพ และอำนาจของประชาชนลงไปเพียงชั่วข้ามคืน สร้างฐานอำนาจในระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” ขึ้นมาและได้นำพาประเทศถอยหลังดิ่งลงเหวอีกครั้งโดยใช้กลไกต่างๆของรัฐ ครอบงำสำนึกทางการเมืองของประชาชนทั่วทุกหนทุกแห่งมิหนำซ้ำยังสร้างความทุกข์เข็ญให้กับประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าสิ่งใดเป็นอุปสรรค ของระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง
 
ดังนั้น มวลมหาประชาชนฝ่ายก้าวหน้าทั่วประเทศจึงได้รวมพลังกันลุกขึ้นสู้ คัดค้าน ต่อต้าน ตั้งแต่วันแรกที่กองกำลังทหารติดอาวุธป่าเถื่อนเข้ายึดอำนาจฆาตกรรมประชาธิปไตยของประชาชน จนถึง ณ เวลานี้ พลังส่วนก้าวหน้าในสังคมไทยที่รักประชาธิปไตย รักในความเป็นธรรมของสังคมได้มองเห็นปรากฏการณ์ และธาตุแท้ในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่า กลุ่มเผด็จการทหาร กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำ และบงการโดยกลุ่ม “อำนาจนอกระบบ” หรือกลุ่มอำมาตย์ทั้งหลายที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง พวกมันทั้งหมดล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่อสถาปนา “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ที่มุ่งเน้นความเป็นใหญ่ให้กับอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.) และองค์กรภาคี ขอประณามคณะเผด็จการทหารที่ได้ยึดอำนาจฆาตกรรมประชาธิปไตย หรือ “รัฐประหาร” เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เหยียบย่ำทำลายประชาธิปไตยของประชาชน และในฐานะที่เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ประเทศไทยต้องจำรึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้วยความคาดหวังว่า จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ดังนั้นทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ขอเป็นกำลังใจให้มวลมหาประชาชนฝ่ายก้าวหน้า และจะร่วมต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของประชาชนให้รุดหน้า และเป็นจริงในอนาคต
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.) จึงขอเรียกร้องต่อนิสิตนักศึกษาดังนี้
1. ขอให้นิสิตนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตยทุกมหาวิทยาลัยร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับประชาชน
2. ขอให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ช่วยกันให้ข้อมูลและรณรงค์เพื่อนำไปสู้เป้าหมายร่วมกันคือ กำจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อสังคมที่ดีงาม และประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง
 
 เชื่อมั่นและศรัทธาในการเปลี่ยนแปลง
 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)
 19 กันยายน พ.ศ. 2552
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net