สายใยระหว่างทักษิณกับมวลชนเสื้อแดง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ในบทความชื่อ “บนและระว่างบรรทัดคำสัมภาษณ์ทักษิณ” (มติชนรายวัน,21/09/52) นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตการให้สัมภาษณ์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อจอมเพชรประดับ ในประเด็นสำคัญที่อาจสรุปได้ คือ
 
1. คุณทักษิณยังมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่พ้นไปจาก 19 กันยา 49 ยังคิดว่าการกลับไปเริ่มต้นใหม่ โดยทำให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพเหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์ 19 กันยา เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในสภาวะทางการเมืองปัจจุบัน
 
2. ในสายตาของคุณทักษิณ “อมาตยาธิปไตย” ไม่ใช่ “ระบบ” แต่เป็นเรื่องของบุคคลเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ที่เป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาล หรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ เช่น ศาล กองทัพ ฯลฯ
 
การที่คุณทักษิณมองอมาตยาธิปไตยเป็นปัญหาระดับ “ตัวบุคคล” นิธิถึงกับสรุปว่า อมาตยาธิปไตยซึ่งขัดขวางประชาธิปไตยแบบคุณทักษิณ จึงเป็นอุปสรรคขี้ปะติ๋ว เพราะอุปสรรคอะไรก็ตามที่มีความหมายเพียงตัวบุคคลแล้ว อุปสรรคนั้นก็จะต้องหมดสิ้นไปเองโดยง่ายดาย ไม่ตามธรรมชาติก็การขจัดที่แทบไม่ต้องเสียเลือดเนื้ออะไรเลย”
 
3. คุณทักษิณยืนยันว่าตนเองจงรักภักดีต่อสถาบัน ถ้าจะมีเสื้อแดงกลุ่มใดก็ตามคิดล้มล้างสถาบันเขาก็พร้อมที่จะออกมาขวาง
 
4. ปัญหาการเมืองที่คุณทักษิณพูดถึงโดยรวมๆ แล้วเป็นปัญหาระดับ “ตัวบุคคล” ไม่ใช่ปัญหาระดับ “โครงสร้าง” ทำให้ปัญหาการเมืองจำกัดอยู่แค่เรื่องการชิงอำนาจของคนชั้นนำ ทั้งก่อนและหลัง 19 กันยา คุณทักษิณก็ไม่เคยพูดถึงปัญหาหรือแนวทางแก้ปัญหาระดับโครงสร้างแต่อย่างใด
 
ดังที่ นิธิ ตั้งข้อสังเกตว่า “น่าประหลาดที่บิดาแห่งประชานิยม ไม่ได้พูดถึงการกระจายรายได้ หรือช่องทางของการถือครองทรัพย์สิน ไม่ได้พูดถึงสวัสดิการสังคมที่รัฐควรให้หลักประกัน ไม่ได้พูดถึงปัญหาพลังงาน และไม่ได้พูดอะไรในเชิงโครงสร้างสักเรื่องเดียว แม้แต่การเมืองที่คุณทักษิณพูดอยู่เรื่องเดียว คุณทักษิณก็ไม่เคยวิเคราะห์ไปถึงระดับโครงสร้าง แต่ติดอยู่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น”
 
หากเรานำข้อสังเกตของนิธิมาเปรียบเทียบกับ “ยุทธศาสตร์” การต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงที่จะโค่น “ระบบอมาตยาธิปไตย” และต้องการ “สถาปนารัฐไทยใหม่” เราจะเห็นว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ไม่มีทางสำเร็จได้เลยถ้ายังมองปัญหาอยู่ที่ระดับตัวบุคคล
 
ปัญหาอมาตยาธิปไตยจำเป็นต้องแก้ในระดับโครงสร้าง อย่างเช่นโครงสร้างวัฒนธรรมอำนาจตามจารีตที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาล ศาล หรือหน่วยงานราชการ เช่น การทำรัฐประหาร การใช้อำนาจพิเศษต่อรองการจัดสรรงบประมาณ สั่งศาล แทรกแซงการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ ฯลฯ จำเป็นต้องเปิดโปงให้สังคมรู้ทันและปฏิเสธการกระทำเช่นนั้น
 
และในอีกทางหนึ่งคือการกำหนดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆที่ปิดทาง หรือป้องกันการแทรกแซงดังกล่าว
 
ยิ่งเมื่อพูดถึงการสถาปนารัฐไทยใหม่ รัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตยที่เสมอภาคเป็นธรรม ยิ่งต้องการแนวทางการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม
 
คำถามคือ เมื่อคุณทักษิณ (แกนนำและพรรคเพื่อไทย) ยังมองปัญหาแค่ระดับตัวบุคคล เขาก็ไร้คำตอบทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่เป็นไปได้ในการโค่นอมายาธิปไตย การสถาปนารัฐไทยใหม่ รัฐสวัสดิการ หรือประชาธิปไตยที่เสมอภาคเป็นธรรม
 
ข้อกล่าวหาแกนนำที่ชูคุณทักษิณเป็นฮีโร่ประชาธิปไตย หรือสู้เพื่อให้คุณทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ ว่าเป็นพวก “สู้แล้วรวย” ยิ่งจะดูมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะว่าที่จริงแล้วแกนนำเหล่านี้ก็มองปัญหาระดับบุคคลเช่นเดียวกับคุณทักษิณ เขาเหล่านี้ไม่พอใจที่ฝ่ายเสื้อเหลืองโจมตีคุณทักษิณในประเด็นความไม่จงรักภักดี และประเด็นทางจริยธรรม และพวกเขาก็ใช้วิธีเดียวกันคือโจมตีตัวบุคคล ในเรื่องความไม่จงรักภักดี (ดังที่จตุพร พรหมพันธุ์ โจมตี “อภิสิทธิ์” ว่าไม่จงรักภักดี) และไม่มีจริยธรรม
 
เราสังเกตกันไหมว่า พระเอกบนเวทีคนเสื้อแดงถนัดแต่เรื่องกล่าวหา โจมตี ตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยคารมเผ็ดร้อน เร้าความสะใจ (รวมทั้งตอบโต้กันเองด้วยท่วงทำนองเดียวกัน) แต่แทบไม่เคยเสนอแนวคิด หรือ “กึ๋น” ที่จะแก้ปัญหาการเมืองในเชิงโครงสร้างว่าจะทำอย่างไร
 
“รัฐไทยใหม่” ที่จะสถาปนามีหน้าตาอย่างไร? โครงสร้างของรัฐสวัสดิการเป็นอย่างไร? แนวทางที่เป็นรูปธรรมในการล้มอมาตยาธิปไตยคืออะไร? (นอกจากโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)     
 
แนวคิดเรื่อง “ลาวาสีแดง” และ "โรงเรียนผู้ปฏิบัติงาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน" ทำไปเพียงเพื่อช่วยคุณทักษิณ กับเพื่อสร้างฐานคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย หรือมีความหมายในชิงการสร้างอุดมการณ์และการเปลี่ยนแปลงการเมืองในเชิงโครงสร้างอย่างไร ตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจน
 
แน่นอนว่ามวลชนเสื้อแดงนั้นหลากหลาย แต่มีมวลชนเสื้อแดงจำนวนมากเพียงใดที่ก้าวหน้ากว่าแกนนำ มีอุดมการณ์แน่วแน่ มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ชัดเจนในการสถาปนารัฐไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม? และมี “อุดมการณ์ร่วม” อะไรที่ยังคงเป็นสายใยระหว่างคุณทักษิณกับมวลชนเหล่านั้น?
 
อย่างที่นิธิเขียนไว้ว่า “จักรภพ เพ็ญแข พูดไว้ในคอลัมน์ “สิ้นความเกรงใจ” (ว่า)ขบวนการประชาชนเสื้อแดงมองอะไรได้ไกลกว่าแกนนำแล้ว และด้วยเหตุดังนั้นก็อาจไกลกว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ด้วย และตราบเท่าที่เป็นเช่นนี้ สายใยที่เชื่อมโยงคุณทักษิณกับคนเสื้อแดงนับวันก็มีแต่จะจืดจางลงไปเรื่อยๆ” 
 
อันที่จริงไม่ใช่คุณทักษิณกับแกนนำจะมองปัญหาการเมืองแตกต่างจากมวลชนเสื้อแดงฝ่ายก้าวหน้าเท่านั้น แม้แต่อุดมการณ์ของคุณทักษิณและแกนนำ กับอุดมการณ์คนเสื้อแดงฝ่ายก้าวหน้าก็อาจไม่ใช่อุดมการณ์เดียวกัน
 
จึงการที่ต่างฝ่ายต่างใช้กันและกันเป็นเครื่องมือเช่นนี้ ในที่สุดแล้วสมมุติว่าฝ่ายเสื้อแดงประสบชัยชนะ มันจะเป็นเพียงชัยชนะของการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง หรือจะไปถึงชัยชนะของการเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมือง หรือการเปลี่ยนสังคมการเมืองในเชิงโครงสร้างหรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท