Skip to main content
sharethis
 
 
“การพัฒนาทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอีกแบบหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิมหมด แทนที่เราจะได้รับการตอบสนองจากการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่กลับได้รับผลกระทบแทน วิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย”
  
เป็นคำกล่าวของ อายิ อาแว หรือ “แบยิ” นักวิจัยชุมชนแห่ง อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่สะท้อนปัญหาจากการพัฒนาผิดทาง
 
“แบยิ” เป็นหนึ่งในนักวิจัยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี กระทั่งพัฒนาเป็นเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งมีศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ
 
การทำงานของนักวิจัยในโครงการนี้ ไม่ได้มุ่งแค่คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนสายบุรีของรัฐบาล แต่วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นเอง
 
ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งว่ากันว่าหากไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นลม จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รุนแรงหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าปัจจุบัน
 
 “แบยิ” ยกตัวอย่างปัญหา “พรุลานควาย” เพื่อสนับสนุนแนวคิดของเขาว่าการพัฒนาโดยปราศจากความเข้าใจ จะก่อปัญหาตามมาอย่างลึกซึ้ง
 
"พรุลานควาย” คือพรุน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านแบ่งพรุออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.ป่าพรุ 2.น้ำ (หนองบึง) 3.นา และ 4.ทุ่งหญ้า
 
“จากวิถีของคนในพื้นที่ พรุแต่ละส่วนมีทั้งที่เป็นสาธารณประโยชน์ ทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน และส่วนที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างจากสิทธิตามความคิดของรัฐที่มองว่าพรุคือสาธารณสมบัติทั้งหมด จึงนำไปสู่ความขัดแย้งและความเสื่อมโทรมในที่สุด” แบยิ บอก
 
เขาเล่าว่า ความเสื่อมโทรมเริ่มชัดเจนเมื่อมีโครงการขุดลอกพรุเพื่อการพัฒนา มีการสร้างคันดินและถนนรอบพรุ ทำให้ระบบพรุถูกแยกส่วน ส่งผลให้ระบบนิเวศน์แปรปรวน ขาดสมดุล กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนอย่างรุนแรง เพราะพรุเริ่มตื้นเขิน
 
“เดิมทีแหล่งน้ำในพรุเต็มไปด้วยสัตว์น้ำมากมาย แต่วันนี้ปลาบางชนิดเริ่มหายไป ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงเริ่มจับปลาได้น้อยลง ส่วนการทำนา ผลผลิตก็ไม่ค่อยดี ยิ่งเมื่อรัฐเข้าไปพัฒนาด้วยการเอาป่าพรุออกไป แล้วสร้างสระน้ำขึ้นแทน ซ้ำยังไปสร้างสระน้ำในจุดที่ขวางทางไหลของน้ำ ยิ่งทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน ทำให้พรุลานควายที่เคยมี 4 องค์ประกอบ วันนี้เหลือแค่อย่างเดียวคือสระน้ำ” แบยะ อธิบาย 
 
 “เมื่อก่อนผมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องทรัพยากรมากนัก แต่พอได้เป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยชาวบ้าน จึงเริ่มซึมซับเรื่องทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรบนบก ทำให้มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ภาครัฐเองต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและประชาชนที่อยู่กับฐานทรัพยากรเดิม” เขากล่าว
 
แบยิ บอกอีกว่า การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีดั้งเดิม ไม่มองความสมดุลของการหมุนเวียนทรัพยากร ทำให้การพัฒนานั้นไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน เช่นการขุดสระน้ำรอบพรุ ทั้งๆ ที่เดิมน้ำจากพรุก็เพียงพอสำหรับการใช้ของชาวบ้านอยู่แล้ว หนำซ้ำสระน้ำที่ว่ากลับเป็นอันตรายต่อสัตว์ของชาวบ้านอีกด้วย เพราะมีหลายครั้งที่สัตว์พลัดตกลงไป
 
 “รัฐคิดแค่ว่าต้องปรับปรุงเพื่อทำให้สภาพของทรัพยากรดีขึ้น แต่นั่นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 2 ด้าน คือด้านหนึ่งอาจจะพัฒนาจริง แต่อีกด้านหนึ่งคือผลกระทบกับชาวบ้าน ฉะนั้นก่อนที่รัฐจะดำเนินโครงการอะไร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้ร่วมกันก่อน เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อันจะนำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุด” 
 
“ที่ผ่านมาชาวบ้านรู้ว่าปัญหาต้องแก้อย่างไร จึงหวังให้ผู้นำชุมชนเป็นคนแก้ แต่เมื่อหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่และทำโครงการหมดแล้ว ทำให้แก้ปัญหาลำบาก บวกกับมีเรื่องศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน รัฐก็คิดอย่างเดียวว่าทำดีแล้ว ต่อไปชาวบ้านก็จะปรับตัวเข้าได้เอง แต่ชาวบ้านบอกว่าถึงปรับตัวไปมันก็ไม่เหมือนเดิม เพราะว่าสูญเสียทรัพยากรไปเกือบหมดแล้ว” เป็นความจริงจากพื้นที่ที่มองผ่านสายตาของ “แบยิ” 
 
อย่างไรก็ดี ในความคิดของนักวิจัยชาวบ้านผู้นี้ ยังคงเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ได้เสมอ และยังไม่สายเกินไปหากจะแก้ไขอย่างจริงจัง
 
 “จากการประเมินดูทรัพยากรพรุ เดิมมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันเหลือแค่ครึ่งหนึ่ง แต่หากจะแก้กันจริงๆ ผมคิดว่ายังไม่สาย โดยเฉพาะหากเริ่มจากนาร้าง คือหาทางแก้ไขให้นาร้างนั้นกลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง นั่นคือต้องรีบฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับคืนสู่สภาพเดิม” 
 
กับโครงการก่อสร้างเขื่อนสายบุรี แบยิ บอกว่า แม้วันนี้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา แต่เขากับชาวบ้านก็พร้อมจะสู้ต่อไป
 
 “เพราะที่นี่คือบ้านเกิดของผม ถ้าวันหนึ่งทรัพยากรหมดไป ลูกหลานผมจะอยู่อย่างไร” แบยิ กล่าว
หลักคิดของ แบยิ สอดคล้องกับ สุดิง โดมิซอ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรีจาก จ.ยะลา ที่เห็นว่า บทบาทที่ควรจะเป็นของรัฐ คือบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
 
“ภาครัฐต้องส่งเสริมโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ ข้อมูลต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มีการจัดทำแผนหลังรับทราบความต้องการของชาวบ้าน และเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้แผนพัฒนาของรัฐ ที่สำคัญภาครัฐต้องทบทวนนโยบาย ตลอดจนโครงการต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน” สุดิง กล่าว
 
ขณะที่ “ปราชญ์ชาวบ้าน” อีกคนจากนราธิวาส ดือราแม ดาราแม หรือ “เปาะจิ” บอกว่า ทราบมาว่างานวิจัยเกี่ยวกับลุ่มน้ำสายบุรี ทางนักวิชาการดำเนินการเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เขารอวันนี้มานาน เพราะสิ่งที่เขากับเพื่อนๆ ต่อสู้ร่วมกันมา นับว่าไม่สูญเปล่า
 
“เราต้องไม่ลืมว่ามีชาวบ้านไม่ใช่น้อยๆ ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต ผมยังมองไม่ออกเลยว่าสภาพของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร หากทรัพยากรถูกทำลายหมด ชาวบ้านจะอยู่ดีมีสุขได้อย่างไรถ้าพื้นที่ทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลย”
 
เป็นคำถามที่แหลมคมท้าทายรัฐ เพราะความสุขสงบไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงไม่มีเหตุระเบิดหรือยิงรายวันเท่านั้น แต่หมายถึงการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงบนฐานทรัพยากรที่ได้รับการดูแลให้คงอยู่อย่างยั่งยืนด้วย!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net