Skip to main content
sharethis

เปิดเอกสารกรมการขนส่งทางบก พบอายุรถโดยสารภาคใต้ ชราภาพสุดๆ 54 ปี บางคันก่อนมาทำรถโดยสาร ใช้เป็นรถบรรทุกมาก่อน หัวหน้าโครงการศึกษากำหนดอายุรถโดยสารฯ ระบุ มี 2 ทางเลือก กำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะเหมือนมาเลย์ หรือตรวจสภาพรถชนิดเข้มข้น

ศ.พิชัย ธานีรณานนท์ หัวหน้าโครงการศึกษาการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการฯ ศึกษาพ้นครึ่งทาง เพราะเก็บข้อมูลหมดแล้วทั้ง 6 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตอนนี้อยู่ในช่วงวิเคราะห์ข้อมูลเกือบจะเสร็จแล้ว

ศ.พิชัย เปิดเผยต่อว่า ส่วนสำคัญที่ต้องใช้ประกอบการศึกษา คือ ต้องจัดสัมมนาในทุกภูมิภาคที่ศึกษา ที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาไปแล้ว ที่ภาคกลางกับภาคใต้ หลังจากนี้จะจัดที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อด้วยภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี หรือพัทยา ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครราชสีมา หรือจังหวัดขอนแก่น ขึ้นอยู่กับทางกรมการขนส่งทางบกว่าจะเลือกที่ไหน เป็นพื้นที่สัมมนา สุดท้ายจะจัดที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมความเห็นทั้งหมดเข้าด้วยกัน
 
ศ.พิชัย กล่าวว่า เรื่องการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย และไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะในภาพรวมทุกหมวด รวมถึงรถเล็กที่ประชาชนต้องใช้บริการด้วย
 
“จากการศึกษาในส่วนของภาคใต้ มีรถโดยสารอายุมากกว่า 20 ปี มากที่สุด เป็นข้อมูลจากเอกสารของกรมการขนส่งทางบก และได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ พบว่ารถที่ใช้อยู่มีมาตั้งแต่ประมาณ ปี 2510 บวกลบ 10 ปี บางคันกว่าจะมาเป็นรถโดยสาร ตัวถังรถผ่านการใช้งานในรูปแบบของรถบรรทุก สำหรับรถโดยสารที่มีอายุรถกว่า 40 ปี ถ้าบวกไปข้างหน้าหรือข้างหลัง อีก 10 ปี ก็กลายเป็น 50 กว่าปี อายุที่มากที่สุดกรมการขนส่งทางบก ตรวจพบประมาณ 54 ปี หรือไม่ก็มากกว่า แต่มีจำนวนไม่มากนัก” ศาสตราจารย์พิชัย กล่าว
 
ศ.พิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ 6 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย เยอรมนี เป็นต้น จากการศึกษาข้อมูลพบว่า มีประเทศที่กำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะ คือ ประเทศมาเลเซียโดยกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทางไว้ที่ 12 ปี ส่วนรถประจำทางกำหนดอายุไว้เท่าไหร่จำไม่ได้ ส่วนประเทศอินเดียกำลังดำเนินการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 15 ปี แต่ยังไม่กล้าที่จะกำหนด เพราะต้องคำนึงถึงความคุ้มทุน และเกรงว่าจะมีการประท้วงจากกลุ่มผู้ประกอบการ ขณะที่ บางประเทศไม่มีการกำหนดอายุรถ เพียงแต่เข้มงวดกับการตรวจสภาพ หากไม่ผ่านการตรวจจะไม่ยอมให้นำมาบริการ ฉะนั้นประเทศร่ำรวย จะอาศัยการตรวจสภาพเป็นหลัก แต่ถ้าผู้ประกอบการมั่นใจว่ารถวิ่งได้ ต้องผ่านการตรวจสภาพที่เข้มงวดมากขึ้น
 
ศ.พิชัย กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า สภาพรถเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุประมาณร้อยละ 30 อุบัติเหตุไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุรถอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาด้วย จากการจัดงานสัมมนา พบว่าผู้ประกอบการที่เห็นด้วยกับการกำหนดอายุรถ ต้องการให้ลดการจัดเก็บภาษีรถลง ถ้าไม่กำหนดต้องมีมาตรการว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้โดยสารมากที่สุด จากผลการศึกษาที่เคยศึกษาให้กับสำนักงานแผนและนโยบายจราจร ที่นำมาใช้กันทั่วประเทศ คือ การตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน และมีโอกาสทำโครงการศึกษาอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ให้กับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และศึกษาเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสาร ให้กับมูลนิธิสาธารณสุข
 
ศ.พิชัย กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาต้องมีการจัดการอุบัติเหตุในจุดที่พอใจ เช่น ควรลดลงในระดับที่คนยอมรับได้ เมืองไทยต้องมีการปรับปรุงเรื่องคนขับที่ขาดการศึกษา ขาดการตัดสินใจ จึงอาจจะต้องมีการกำหนดวุฒิการศึกษาคนขับรถ ส่วนคนที่ขับอยู่แล้วต้องให้ความรู้ และต้องอบรมผู้ประกอบการให้รู้หน้าที่และความรับผิดชอบ และต้องกำหนดโทษ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ คนขับมีหน้าที่อะไร เจ้าของรถมีหน้าที่อะไร ถ้าหากให้คนขับรถนานกว่า 4 ชั่วโมง จะมีโทษถึงขั้นติดคุก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net