Skip to main content
sharethis

ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “อนาคตแรงงานนอกระบบอาชีพคนทำงานในบ้าน กับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิกฎหมายแรงงานไทย” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่โรงแรมปรินซ์ตัน ปาร์ค สวีท ว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบประเภทคนทำงานในบ้านที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายถึง 400,000 คน ซึ่งในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรคาดการณ์ว่า แรงงานเหล่านี้มีส่วนในการสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจถึงปีละ 27,000 ล้านบาท แต่กลับถูกละเลยไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐ ทำให้โดนกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ทำงานหนักไม่สมกับค่าตอบแทน รวมถึงการถูกคุกคามทางเพศ ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งไม่เป็นธรรมและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

“นอกจากแรงงานนอกระบบที่ทำงานในบ้าน ที่ต้องเร่งให้เกิดการแก้ไขกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมในส่วนของ พ.ร.บ.เงินทดแทน และกองทุนคุ้มครองแรงงาน ยังมีแรงงานนอกระบบที่รับจ้าง รับเหมาประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายใดๆ เช่นกันซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการการแรงงานกำลังผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อทำให้เกิดเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองคนกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้ถูกกดขี่ค่าแรง และให้ได้รับสิทธิเช่นแรงงานกลุ่มอื่นๆ ” ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุเมธ กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องในวัน “คนทำงานบ้านสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 28 สิงหาคม ของทุกปี ทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมกับเครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานทำงานบ้าน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิ MAP มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง และศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ได้จัดทำข้อเสนอและส่งมอบโปสการ์ดเพื่อยื่นต่อประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำข้อเสนอและโปสการ์ดติดตามส่งต่อไปยังรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน

โดยนายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า แม้ว่าตามกฎหมายของสำนักงานกองทุนประกันสังคมได้กำหนดให้ นายจ้างที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนแรงงาน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและได้รับสิทธิต่างๆ แต่กลุ่มแรงงานที่ทำงานในบ้าน กลับถูกละเลยและกลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับสิทธิใดๆ ซึ่งอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ให้เร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใน 7 ประการคือ 1. แก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในบ้าน ที่ถูกละเลยและคิดว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งไม่จริง 2. เปิดโอกาสให้แรงงานในบ้านได้พัฒนาทักษะฝีมือ มีโอกาสในการได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ซึ่งนายจ้างต้องให้การสนับสนุนและถือว่าเป็นวันทำงานปกติและจ่ายค่าแรงงาน

3 .การปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้แรงงานในบ้านได้รับความปลอดภัยด้านชีวอนามัย มีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นที่พักสะอาดเป็นสัดส่วน อาหารที่สะอาด เหมาะสมแก่ฐานะนายจ้าง และมีการตรวจสอบเพื่อดูแลด้านชีวอนามัยของแรงงาน ว่านายจ้างได้จัดหาอุปกรณ์พื้นฐานให้อย่างเหมาะสมหรือไม่ 4. รัฐบาลต้องนำแรงงานเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการทางสังคม สิทธิตามกองทุนประกันสังคม และเพื่อให้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของทั้งนายจ้าง ลูกจ้างได้ 5.รัฐบาลต้อง กำหนดมาตรฐานคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็ก โดยการกำหนดอายุขั้นต่ำในการจ้างงานว่า ห้ามต่ำกว่า 15 ปี และไม่ให้แรงงานเด็กทำงานเกิน 8 ชั่วโมง 7.รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายและจัดหางบประมาณการส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น ทักษะการทำงานบ้าน การทำอาหารแบบมืออาชีพ ซึ่งนายจ้างต้องให้การสนับสนุนและไม่ถือเป็นวันลา

ด้าน น.ส.สุชิน บัวขาว ตัวแทนแรงงานในบ้าน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของกลุ่มแรงงาน คือ การไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ สิทธิที่ลูกจ้างควรได้รับ เช่น วันลา วันหยุด ค่าจ้างที่เหมาะสม ซึ่งหากเป็นลูกจ้างแบบประจำกินนอนที่บ้านส่วนมากจะได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละเพียง 4,500 บาทหรือน้อยกว่านั้น แต่ต้องทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ากว่าจะได้เลิกงานประมาณสามทุ่มและทำงาน 7 วัน แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลไปก่อน หรือเบิกค่าจ้างล่วงหน้ามาจ่ายค่ารักษา ค่าเดินทาง หยุดได้เพียง 1-2 วันเท่านั้น โดยที่การลาหยุดบางคนก็ไม่ได้ค่าแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และต้องการให้รัฐบาลดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้ด้วยการจัดการให้ทุกคนมีสิทธิ สวัสดิการ ได้รับการคุ้มครองเหมือนลูกจ้างกลุ่มอื่นด้วย

แดง แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ซึ่งเข้ามาทำงานในบ้าน ที่จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 10 ปี เล่าว่า สองปีแรกที่เข้ามาทำงานนั้น ได้เงินเดือนเดือนละ 800 บาท โดยตอนแรกนายจ้างชวนมาเลี้ยงเด็ก แต่เอาเข้าจริง กลับต้องทำงานบ้านทุกอย่างตั้งแต่เช้าจนค่ำและไม่มีวันหยุด

"คนทำงานบ้านไม่ใช่สบายๆ ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ถ้านายจ้างกลับค่ำก็ต้องตื่นมาเปิดประตู โดยขณะที่นายจ้างมีอำนาจปฏิเสธคำขอว่า "ไม่" แต่ตนเองมีแต่ต้องตอบรับว่า "ค่ะ"

แดง เล่าว่า เมื่อต้องการลาหยุดเพื่อไปพบทำบุญที่วัด หรือพบปะญาติพี่น้องหรือแฟน ซึ่งเป็นสิทธิที่ควรจะทำได้ แต่นายจ้างก็มักปฏิเสธโดยพูดในทำนองว่า เธอจะไปหาผู้ชาย เดี๋ยวจะท้องไม่มีพ่อ

น.ส.กนกวรรณ โมรัฐเสถียร เจ้าหน้าที่โครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า คนทำงานในบ้านควรได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม ทั้งนี้ การเป็นคนทำงานในบ้านเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบและถูกล่วงละเมิด เพราะไม่มีมาตรฐานการทำงานว่าควรทำเท่าใด มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ต้องบริการดูแลนายจ้างตลอดเวลา แต่กลับถูกมองว่า เป็นงานที่สบาย ทำแล้วก็ได้พัก

เธอกล่าวเสริมว่า ด้วยรากฐานสังคมและวัฒนธรรมที่มีแรงงานทาสมาแต่เดิม ทำให้คนงานในบ้านมักถูกกดขี่ข่มเหง ทั้งด้านเพศและด้านชาติพันธุ์ โดยแรงงานข้ามชาติมักได้รับการปฏิบัติที่แย่กว่ามาตลอด

น.ส.กนกวรรณ กล่าวถึงคุณูปการของคนทำงานในบ้านด้วยว่า ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในครัวเรือน เนื่องจากทำให้คนอื่นๆ ในครอบครัวได้ออกไปทำงานหาเงิน ทั้งยังมีส่วนสร้างสถาบันครอบครัว โดยดูแลพ่อแม่หรือลูกของนายจ้าง ทำให้ไม่ต้องไปสถานรับเลี้ยงนอกบ้านซึ่งไม่รู้ว่าจะดีไม่ดีอย่างไร เท่ากับช่วยเติมเต็มให้สถาบันครอบครัวสมบูรณ์ขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net