สสส. ค้าน พรบ.ความมั่นคง ชี้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ขัดเจตนารมณ์ รธน.50

26 ส.ค. 52 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรพันธมิตร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยระบุว่าการใช้อำนาจดังกล่าว ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ตามวิถีทางประชาธิปไตย และขัดเจตนารมณ์ รธน.50

 
ที่ สสส. 040/2552
 
วันที่ 26 สิงหาคม 2552
 
เรื่อง ข้อเสนอต่อการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
 
กราบเรียน ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
ตามที่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบประกาศให้พื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยให้ประกาศนี้ใช้บังคับ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2552 ถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552 และมอบหมายให้ กองอ านวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบด าเนินการ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 นั้น
 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)และองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอแสดงความคิดเห็นต่อการใช้อำนาจดังกล่าว ว่าไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ตามวิถีทางประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
ประการแรก พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 เป็นกฎหมายที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 29 ที่บัญญัติห้ามมิให้รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรอง ยกเว้นกรณีที่ต้องออกเป็นกฎหมายเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นมิได้ และกฎหมายนั้นต้องมีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป มิให้มุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง1 แต่รัฐบาลใช้อำนาจตามกฎหมายที่ไม่ชอบ ประกาศเขตควบคุมเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของ “กลุ่มนปช.และคณะ” ซึ่งถือว่าเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่จำเป็น ใช้บังคับเฉพาะกลุ่มบุคคลบางกลุ่มและละเมิดสิทธิเสรีภาพ การดำเนินวิถีชีวิตโดยปกติของประชาชน
 
ประการที่สอง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 เป็นการใช้อำนาจบริหารซ้อนอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ขัดต่อหลักการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตย เพราะการให้ กอ.รมน.ใช้อำนาจแทนหน่วยงานของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ โดย กอ.รมน. สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ หรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบแทนตามกฎหมายนั้นๆ (มาตรา 16 วรรค ท้าย) ตลอดจนสามารถมอบอำนาจให้ กอ.รมน.ภาคและกอ.รมน.จังหวัด (มาตรา 11 ประกอบมาตรา 13) จึงถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพหรือทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ซี่งเป็นการรวบอำนาจให้ทหาร หรือกองทัพมีอำนาจเหนือระบบราชการทุกหน่วยงาน นอกจากนี้ ยังให้อำนาจกับผู้อ านวยการ กอ.รมน.สามารถออกข้อกำหนดที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การยุติการชุมนุมในที่สาธารณะ การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม การห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ ห้ามออกนอกเคหสถาน เป็นต้น (มาตรา 18) หากประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ต้องมีความผิดอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ใช้อำนาจตุลาการสั่งให้ผู้ต้องหาที่กระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นแทนการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม (มาตรา 21)
 
ประการที่สาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551 เป็นการใช้อำนาจบริหารที่ไม่ต้องตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ โดยข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามกฎหมายฉบับนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง ซึ่งขัดกับหลักการทั่วไปของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการอยู่เสมอ อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม (มาตรา 23)
 
ประการที่สี่ การออกประกาศโดยอาศัยกฎหมายดังกล่าวเพื่อรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภาวะปกติ อาจเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่อนุญาตให้มีการรอนสิทธิของประชาชนเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ยามสงครามหรือในภาวะฉุกเฉินที่มีภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติเท่านั้น และต้องแจ้งแก่รัฐภาคีผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ อันหมายถึงการประกาศใช้กฏหมาย พรบ.ความมั่นคงฯ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ และ พรบ.กฏอัยการศึก ซึ่งมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก การออกประกาศโดยอาศัยกฎหมายที่ประกาศใช้ในยุคที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย และมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยย่อมทำให้นานาอารยประเทศ ไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของชาติ เห็นได้จากสื่อมวลชนต่างประเทศ2 ได้จัดลำดับให้ประเทศไทยเป็นประเศที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลบริหารบ้านเมืองโดยไม่สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นอันตรายต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ยุติการใช้อำนาจทางการเมืองตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพราะเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางโดยปราศจากระบบการตรวจสอบถ่วงดุล และเป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ที่มีมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐอื่น รวมทั้งมีผลผูกพันกับรัฐทั้งการใช้อำนาจต่อประชาชนและงบประมาณของรัฐในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีผลให้ประชาชนในสังคมเคยชินกับการใช้อำนาจในการจัดการกับปัญหาต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงที่มาของอำนาจว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมดังกล่าว ที่เป็นการใช้อำนาจบริหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน อันถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย
เรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
 
นายไพโรจน์ พลเพชร
เลขาธิการการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
 
ในนาม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท