Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ในระบบจริยธรรมของพุทธศาสนาที่เรียกว่า "ไตรสิกขา" หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น "ปัญญา" ถือเป็นแกนหลักของระบบจริยธรรมดังกล่าว ทั้งในแง่ซึ่งทำหน้าที่นำทางหรือสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “วิถี” และ “เป้าหมาย” ของชีวิต ทำหน้าที่แก้ไขหรือคลี่คลายปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ระหว่างการเดินทางของชีวิตในวิถีจริยธรรม และทำหน้าที่ประจักษ์แจ้งสัจจะ หรือบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (ปัญญาวิมุติ)

ดังนั้น การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมจริยธรรมของปัจเจกบุคคล หรือคุณธรรมจริยธรรมทางสังคม ถ้ากระบวนการพัฒนานั้นๆ ไม่สามารถทำให้เกิด "ปัญญา" ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดคุณธรรมจริยธรรมที่ยั่งยืนขึ้นในตัวบุคคลหรือในวิถีชีวิตทางสังคม

ตามทรรศนะของพุทธศาสนานั้น สิ่งที่เรียกว่า "ปัญญา" ประกอบด้วยลักษณะพื้นฐาน 2 ประการคือ

1.สัมมาทิฐิ หมายถึง มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 ด้านหลักๆ คือ

1) มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงทางศีลธรรม เช่น เห็นว่าความดี ความชั่วมีอยู่จริง ทำดีก่อให้เกิดผลดี ทำชั่วก่อให้เกิดผลชั่ว บุญคุณของพ่อแม่มีจริง เป็นต้น

2) มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ เช่น เห็นความจริงของความเป็นเหตุเป็นผลในเรื่องการเกิดทุกข์และความดับทุกข์ในชีวิตตามหลักอริยสัจ เห็นความจริงของชีวิต สิ่ง เรื่องราว เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดจากความเชื่อมโยงของความเป็นเหตุปัจจัยตามกฎปฏิจจสมุปบาท เห็นความเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนของชีวิตและสรรพสิ่งตามกฎไตรลักษณ์ เป็นต้น

2.สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ความคิดถูกต้อง เมื่อเห็นความจริงตามข้อ 1 แล้วก็จะเกิดความคิดถูกต้อง เช่น คิดไม่พยาบาทเบียดเบียน คิดหาทางที่จะพ้นไปจากการครอบงำของสิ่งที่ภาษาทางพุทธศาสนาเรียกว่า "กาม" ซึ่งหมายถึงสิ่งล่อใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ มายาภาพ หรือสิ่งซึ่งเป็น "เปลือก" ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นพันธนาการให้ชีวิตตกอยู่ในวังวนของโลภ โกรธ หลง การเบียดเบียนทำลายล้างในรูปแบบต่างๆ

หรือพูดรวมๆ ก็คือสิ่งซึ่งทำให้ชีวิตเบี่ยงเบนออกไปจากวิถีทางแห่งศีลธรรม อิสรภาพ สันติภาพ และความสุขที่แท้จริง

จากองค์ประกอบพื้นฐานดังกล่าว เราอาจสรุปความหมายง่ายๆ ของ "ปัญญา" ว่าหมายถึง "การมองเห็นความจริงและคิดถูกต้อง" ซึ่งการมองเห็นความจริงนั้นเชื่อมโยงกับสัจธรรมของชีวิตและสรรพสิ่ง การคิดถูกต้องก่อให้เกิดการกระทำ ความประพฤติ หรือวิถีชีวิตที่มีศีลธรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีอิสรภาพ สันติภาพ และความสุขที่แท้จริง

หรือว่าโดย "หน้าที่" (function) ปัญญาทำหน้าที่หลักๆ 2 อย่าง คือ มองเห็น มองทะลุ หรือประจักษ์แจ้งความจริงของชีวิตและสรรพสิ่ง และคิดหาทางดำเนินชีวิตตามสัจธรรมนั้นๆ ในด้านที่จะทำให้ชีวิตมีอิสรภาพ สันติภาพ และความสุขที่แท้จริง

วิธีการหรือกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น มี 3 แนวทางหลักๆ คือ

1.การฟัง การอ่าน การศึกษาค้นคว้า ติดตามข่าวสาร เก็บรวบรวมข้อมูล หรือเรียนรู้อยู่เสมอ พุทธศาสนาเรียกวิถีพัฒนาปัญญาตามแนวทางนี้ว่า "สุตมยปัญญา"

2.การนำข้อมูลที่ได้จากวิธีที่ 1 มาพิจารณาไตร่ตรอง ขบคิด ใช้หลักการคิดหรือวิธีคิดที่ถูกต้องเพื่อหาข้อสรุปที่สมเหตุสมผล หรือคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด และหรือคิดสร้างสมมุติฐาน คำอธิบายในแบบของตนเอง พุทธศาสนาเรียกวิธีพัฒนาปัญญาตามแนวทางนี้ว่า "จินตามยปัญญา"

3.การนำข้อสรุป คำตอบ สมมติฐานหรือคำอธิบายที่เข้าใจได้ด้วยการคิดตามข้อ 2 มาทดลองปฏิบัติจนเกิดผลขึ้นจริง เช่น อ่านเกี่ยวกับความหมายของสมาธิและวิธีฝึกสมาธิแล้วมาขบคิดไตร่ตรองจนเข้าใจความหมายและวิธีการฝึกสมาธิอย่างชัดเจน แล้วจึงลงมือปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือความสงบขึ้นภายในจิตใจ "สมาธิ" ที่รับรู้ในที่นี้ไม่ใช่การรู้หรือเข้าใจความหมายและวิธีการฝึกสมาธิตามการฟังการอ่านหรือการคิดตามวิธีการในข้อ 1,2 หากแต่เป็นสมาธิที่ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง หรือเป็นความจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตขอบผู้นั้นเอง พุทธศาสนาเรียกวิธีพัฒนาปัญญาตามแนวทางนี้ว่า "ภาวนามยปัญญา"

ในวิธีการพัฒนาปัญญา 3 วิธีดังกล่าว พุทธศาสนาถือว่าวิธีที่ 3 สำคัญมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่เราสามารถสร้างสรรค์ปัญญาขึ้นมาได้ด้วยตนเอง โดยผ่านการกระทำ การลงมือปฏิบัติ การเผชิญสถานการณ์หรือปัญหาอุปสรรคต่างๆ ด้วยตนเอง จนเกิดประสบการณ์ทางปัญญาหรือการประจักษ์แจ้งสัจจะแห่งปัญหา (ทุกอย่างที่เผชิญ) สาเหตุ และสามารถแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้นด้วยตนเอง

วิธีที่ 1 และ 2 ดูเหมือนจะสอนกันได้ในสถานศึกษา หรือเป็นปัญญาที่พัฒนาได้ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม แต่วิธีที่ 3 ดูจะเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละคน หรือเป็นปัญญาที่ปัจเจกบุคคลอาจสร้างขึ้นได้ด้วยตนเองเท่านั้น เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ เพราะเป็นปัญญาประจักษ์แจ้งสัจจะที่เป็นประสบการณ์ตรงของแต่ละบุคคล

ในทรรศนะของพุทธศาสนาปัญญาที่เกิดขึ้นภายในตนเองตามวิธีการพัฒนาปัญญาแบบที่ 3 นั่นเอง ที่ทำให้คนเรามีคุณธรรมจริยธรรมที่ยั่งยืน มีอิสรภาพ สันติภาพ และมีความสุขที่แท้จริง แต่วิธีพัฒนาปัญญาแบบที่ 3 ย่อมอาศัยวิธีพัฒนาปัญญา 2 อย่างแรกเป็นพื้นฐาน

กล่าวคือเมื่อมีการศึกษาค้นคว้า แล้วนำมาไตร่ตรองจนมองเห็นคุณค่า จึงเกิดการนำมาปฏิบัติจนบังเกิดผลขึ้นจริง หรือเกิดการประจักษ์แจ้งสัจจะด้วยตนเอง ดังนั้น วิธีการพัฒนาปัญญาทั้ง 3 แบบจึงเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน

ถ้าเราต้องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างสังคมแห่งปัญญา คือเป็นสังคมที่รักการเรียนรู้ คิดเป็น ผลิตสร้างและใช้ความรู้ในการพัฒนาทุกด้าน อยู่ร่วมกันอย่างใช้เหตุผล เคารพกติกา มีคุณธรรมจริยธรรม เราจำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาปัญญาทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

โดยทำให้ผู้เรียนรักการอ่าน รักการคิด มีหลักคิด และวิธีคิดที่ถูกต้อง และให้เรียนรู้จากของจริง จากปัญหาที่เป็นจริงในสังคม เพื่อสร้างสรรค์ปัญญาที่กระจ่างชัดในปัญหาต่างๆ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และมีสำนึกร่วมในการหาทางแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนรายวัน, 23/08/2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net