Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 

คำว่า “วาทกรรม( discourse)” หมายถึงคำพูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยผู้พูดหรือเขียนได้ซ่อนเจตนารมณ์บางอย่างไว้ในคำพูดคำเขียนนั้น คำพูดเชิงวาทกรรมจึงมีทั้งส่วนที่เป็นความจริงและส่วนที่ถูกปั้นเสริมเติมแต่งขึ้น มีทั้งส่วนที่เป็นความจริงอยู่เบื้องหน้าและความจริงที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านั้น

 
หากมองบนพื้นฐานของคำนิยามเช่นนี้ จะเห็นว่าสังคมไทยปัจจุบันกำลังกลายเป็นสังคมที่อุดมด้วย “วาทกรรม” เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคำพูดคำเขียนที่มีเจตนาซ่อนเร้นแบบลับ-ลวง-พราง จนแทบแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นเพียงวาทกรรม เหมือนเมื่อพูดถึงการเมืองไทย เรามักได้ยินคำพูดหรือข้อเขียนที่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศเวลานี้ เกิดมาจากสาเหตุสำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นคือเพราะเรามีนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพ เป็นนักการเมืองไม่ดี จ้องแต่จะโกงบ้านโกงเมือง ชอบทุจริตแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองพรรคพวกหรือญาติพี่น้อง นักการเมืองพวกนี้เป็นพวกเสือสิงห์กระทิงแรด ไม่รักชาติไม่รักสถาบัน คำพูดเช่น นี้กำลังจะกลายเป็นทฤษฎีที่มีคนบางกลุ่มบางคณะพยายามนำมาใช้เพื่ออธิบายให้เห็นความล้มเหลวของการเมืองในระบบเลือกตั้งของไทย
 
คำพูดที่พยายามบอกถึงความเลวร้ายทั้งปวงของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของวาทกรรมที่มีผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก จริงอยู่แม้จะมีความเป็นจริงปรากฎอยู่ในคำพูดเหล่านี้ เช่นมีนักการเมืองเลือกตั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ถึงระดับชาติจำนวนไม่น้อยที่มีพฤติกรรมทุจริตโกงกิน ขาดคุณธรรมจริยธรรมทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย แต่ในเวลาเดียวกันคำพูดแบบนี้ก็มีส่วนที่เป็นการปั้นเสริมเติมแต่งเกินความเป็นจริงปรากฎอยู่เช่นกัน เราไม่สามารถใช้คำพูดในลักษณะเหมารวมว่า นักการเมืองทุกคนจะต้องเป็นคนเลวเหมือนกันหมด เพราะสังคมนักการเมืองโดยรวมก็ย่อมมีทั้งนักการเมืองที่ดี และนักการเมืองที่ไม่ดีผสมปนเปกันไป เช่นเดียว กับบุคคลในอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่สังคมผู้พิพากษา ครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ ล้วนมีคนที่มีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือมุ่งแสวงหาผลประโยชน์อย่างไร้คุณธรรมจริยธรรมเหมือนนักการเมืองที่ไม่ดีทั้งหลายสอดแทรกปะปนอยู่ แต่สังคมก็ไม่เคยมีความพยายามจะสร้างภาพให้เห็นว่าข้าราชการ ตำรวจ ทหารหรือนักธุรกิจทุกคนเป็นคนเลว แตกต่างไปจากกรณีของนักการเมือง ดังนั้นการพยายามประดิษฐ์ถ้อยคำเพื่อบอกว่านักการเมืองเลว จึงเป็นเพียงกระบวนการผลิตวาทกรรม เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างของผู้ผลิตวาทกรรมนั่นเอง
 
ข้อที่น่าสงสัยต่อไปก็คือ ใครเป็นผู้ผลิตวาทกรรมว่าด้วยนักการเมืองเลวขึ้น  พวกเขาผลิตวาทกรรมแบบนี้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร หากมองย้อนกลับไปดูตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการผลิตวาทกรรมนักการเมืองเลวออกมาจำนวนมาก จะเห็นว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลวอย่างแข็งขันมี 3 จำพวก
 
พวกแรกเป็นกลุ่มคนที่คิดว่าตนเป็นชนชั้นนำ(elites) ของแผ่นดิน ซึ่งหมายถึงพวกข้าราช การ(และอดีตข้าราชการ)ระดับสูง รวมถึงนักวิชาการและคนชั้นกลางบางคนที่เชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของคน เชื่อเรื่องแผ่นดินไทยมีเจ้าของคนเดียว พวกนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถคัดสรรนักการเมืองที่ดีได้
 
พวกที่สองก็คือพวกสื่อมวลชนคอสัมนิสต์ทั้งหลายที่นิยมด่าคนอื่นเป็นอาชีพ คนพวกนี้มองเห็นแต่ความไม่ดีของคนอื่น ส่วนความดีถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่สมควรเป็นข่าว ยิ่งในยุคสื่อมวล ชนเชิงธุรกิจ การด่าทอนักการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตมั่นคงได้เป็นอย่างดี วาทกรรมนักการเมืองเลวจึงหลั่งไหลออกมาจากสื่อพวกนี้ไม่ขาดระยะ
 
ส่วนพวกสุดท้ายเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่สุด นักสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลวคนสำคัญ ก็คือ บรรดานักการเมืองด้วยกันเอง คนพวกนี้คิดว่าการด่าทอเหยียบย่ำคนอื่น จะเป็นบันไดให้ตนเองและพรรคพวกปีนป่ายกลายเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองน้ำดีขึ้นมาได้ นักการเมืองประเภททำงานด้วยปากเหล่านี้ จึงขยันขันแข็งในการสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลว ไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น สาดโคลนกันไปมาจนในที่สุดวาทกรรมนักการเมืองเลวก็ถูกเชื่อสนิทว่าเป็นความจริง
 
การสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลวก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ผลิตเป็นอย่างมาก ผู้พูดผู้สร้างวาทกรรมจะได้รับการยกย่องชมเชยว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมสูงส่งกว่านักการเมืองโดยปริยาย และไม่ต้องตรวจสอบความคิดหรือพฤติกรรมแต่เก่าก่อนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเคยชินกับระบบการกล่าวหาคนอื่น และมักเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้นทำผิดจริง ส่วนผู้กล่าวหาหรือด่าทอคนอื่นเป็นคนดีเหนือกว่าผู้ถูกกล่าวหา คนดีที่เกิดขึ้นแบบนี้มีอยู่หลายคนในสังคมปัจจุบัน
 
ในระดับมหภาค การผลิตวาทกรรมนักการเมืองเลว ถือว่าเป็นการต่อสู้เชิงอำนาจในสังคม วาทกรรมนักการเมืองเลวกลายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นนำหรือกลุ่มอำมาตย์ใช้สำหรับลิดรอนอำนาจของนักการเมือง หรือถ้าจะพูดให้ลึกลงไป ก็คือการลิดรอนอำนาจในระบอบประชาธิปไตยของประชาชน เพราะสถาบันนักการเมืองเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจในการบริหารบ้านเมืองของตนเอง วาทกรรมนักการเมืองเลวทำให้ความชอบธรรมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งลดน้อยลงไป แต่ทำให้ความชอบธรรมของชนชั้นนำหรืออำมาตย์ที่มีอำนาจแฝงหรืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น
 
เมื่อวาทกรรมนักการเมืองเลวที่พวกเขาสร้างมีพลังมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสความเบื่อหน่ายต่อนักการเมือง อำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง การเมืองไทยก็จะกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไม่เหมือนประชาธิปไตยในบ้านเมืองอื่น นักการเมืองที่ประชาชนช่วยกันเลือกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐบาลก็อาจถูกขับไล่ไสส่งได้ง่าย ๆ  ต้องปล่อยให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน องค์การหรือสถาบันทางการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็จะไม่เป็นสถาบันของประชาชนอีกต่อไป รัฐบาลที่ประชาชนตั้งขึ้นไม่สามารถสั่งการให้พวกเขาทำหรือไม่ทำอะไรได้ นายกรัฐมนตรีสุดท้ายก็มีฐานะเป็นเพียงจ้อกกี้คนหนึ่งเท่านั้นเอง หรือหากประชาชนยังดื้นรั้นไม่ยอมรับสิ่งที่ชนชั้นนำมอบให้ พวกเขาก็อาจล้มกระดาน ฉีกรัฐธรรมนูญ ให้การเมืองกลับไปเริ่มตันนับหนึ่งใหม่ เมื่อใดก็ได้
 
สังคมไทยวันนี้ยังอยู่ในวังวนของการต่อสู้เชิงอำนาจไม่ต่างจาก พ.ศ. 2475 เท่าใดนัก เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจดั้งเดิม กับภาคประชาชนหรือคณะราษฎรตัวจริง การต่อสู้ในวันนี้ไม่ใช่เป็นการจับอาวุธจับปืนมาเข่นฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง เพราะนั่นเป็นวิถีของคนป่าคนเถื่อน ซึ่งยังคงมีอยู่บ้างในสังคม การต่อสู้วันนี้เป็นการต่อสู้ด้วยปัญญาเป็นหลักใหญ่ การสร้างวาทกรรมเพื่อชี้นำความคิดความเชื่อของคนในสังคม ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้ นักการ เมืองที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากยังมีจุดอ่อนด้อยในเชิงความคิดและพฤติกรรม กลายเป็นโอกาสให้กลุ่มอำนาจดั้งเดิมนำไปสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลว สร้างภาพนักการเมือง “ปีศาจ” เพื่อลดความชอบธรรมของนักการเมืองและประชาชนผู้เลือกตั้งได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือการเพิ่มความชอบธรรมให้กับกลู่มอำนาจดั้งเดิมและอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
 
วันนี้ภาคประชาชนเอง จะต้องรู้เท่าทันวาทกรรมต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา มองให้เห็นว่าใคร ผลิตวาทกรรมอะไร พวกเขาผลิตมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพื่อจะได้ไม่หลงคล้อยตามกระแสที่ถูกสร้างขึ้น และที่สำคัญจะได้ไม่หลงไปเชื้อเชิญให้กลุ่มอำนาจดั้งเดิมมาทำลายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนอีกต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net