Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องการถวายฎีกา และคำถามถึงยุทธศาสตร์หลังจากนี้ ‘ประชาไท’ สอบถามทัศนะของหัวขบวนอีกหลายต่อหลายคนนอกเหนือจาก 3 ตัวละครหลักที่ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อซึ่งเป็นผู้กำหนดประเด็นการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน บรรดาหัวขบวนกลุ่มย่อยๆ นี้มีบทบาทในรูปแบบ บุคลิก และปริมาณการนำที่แตกต่างกันไป บางคนเป็น  นปช.รุ่น 2 อย่างเป็นการทางการ บางคนเป็นแนวรบด้านศิลปะวัฒนธรรม บางคนก็ทุ่มเทกับการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ฯ

พวกเขาเหล่านี้มีวิธีคิดเกี่ยวกับ Road Map ของขบวนประชาชนเสื้อแดงอย่างไร พวกเขาเห็นร่วมกันหรือไม่ในประเด็นการถวายฎีกา และให้น้ำหนักต่อรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงไหน
                                                                                                                
จรัล ดิษฐาอภิชัย
สำหรับยุทธศาสตร์ของเสื้อแดงนั้น จรัลบอกว่าพวกเขายังไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ประชาธิปไตยเหมือนกับประวัติศาสตร์ที่แล้วมา แต่ครั้งนี้มีการระบุอย่างชัดเจนว่ากลุ่มอำมาตย์เป็นปัญหา อุปสรรค ครอบงำการเมืองการปกครองไทยมายาวนาน จึงต้องต่อต้านโค่นล้มระบอบอำมาตย์
เขาบอกว่ายุทธวิธีมีหลายอย่าง ไม่ว่า 1.การขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรัฐบาลของกลุ่มอำมาตย์ ซึ่งคนเสื้อแดงชุมนุมและเรียกร้องประเด็นนี้มาหลายครั้งแต่ก็ยังไม่สำเร็จ 2.ต่อต้าน ขับไล่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะระบบยุติธรรมในปัจจุบันนี้ก็มีปัญหามาก แต่ในเรื่องนี้ดูเหมือนยังไม่มีใครคิดจริงจัง 
“ยังไม่รู้จะทำอย่างไร ดีไม่ดีอาจถูกข้อหาหมิ่นศาลอีก”
เขาบอกว่ารูปแบบหลักของยุทธวิธีที่ผ่านมาคือ การชุมนุม ซึ่งทำมาแล้ว 4 ครั้งใหญ่ ต่อไปคนเสื้อแดงอาจต้องเริ่มคิดถึงรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเขามองว่า การถวายฎีกา ก็ถือเป็นรูปแบบใหม่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมาคั่นระหว่างทางเดินไปสู่ยุทธศาสตร์หลัก หลังจากถวายฎีกาแล้วก็คงต้องประชุมกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร
“การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เรามีทั้งจุดดีและจุดด้อย จุดดีคือการชุมนุมที่ผ่านมา คนมาร่วมมากแม้ว่าเราไม่ได้ลงแรงอะไรมากมายก็ตาม แค่ประกาศออกไปคนก็มากัน แต่จุดด้อยคือ รูปแบบการชุมนุมมันไม่มีพลัง เราจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อถวายฎีกามีพลังกว่า สามารถทิ่มแทงอีกฝ่ายจนต้องออกมากันเป็นแถว นั่งไม่ติด ทั้งขุน ทั้งเบี้ย อย่าง กลุ่มอธิการบดี บวรศักดิ์ อุวรรโณ ซึ่งในตอนชุมนุมวันที่ 8 เมษา คนมาสองสามแสนแต่พวกนี้อยู่เฉยๆ แสดงความการชุมนุมมันไม่มีพลังเท่าไหร่”
จรัลบอกอีกว่า นอกจากนี้การยื่นฎีกาครั้งนี้ยังมีความหมายทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชน 5 ล้านกว่าคนลงชื่อถวายฎีกา เป็นครั้งที่มากที่สุด และประเด็นสำคัญที่เขาชี้ให้เห็นคือ การได้มาซึ่งชื่อเหล่านั้น คนที่ทำงานมากที่สุดคือ คนเสื้อแดงทั่วๆ ไป ตามตรอกซอกซอย พวกเขารับแบบฟอร์มไปซีร็อกส์ กลับบ้านนอกไปรวบรวมรายชื่อมา
“มันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะมวลชนทำจริง คึกคัก กว้างขวางทั่วประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน ต่อไปนี้เราคงต้องคิดหารูปแบบวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แต่การชุมนุมเท่านั้น”
สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องการต่อต้านสถาบัน จรัลบอกว่า “เรื่องนี้ถูกโจมตีมาตลอด เราไม่รู้จะทำยังไง คอยดูวันที่ 17 ส.ค.ฝ่ายตรงข้ามก็จะรวมศูนย์ด่าเรื่องนี้เรื่องเดียว พวกเขาด่าเราเรื่องนี้มานานแล้ว 2 ปีแล้ว และยิ่งด่าคนก็ยิ่งร่วมมากขึ้น ไม่เป็นผลอะไรเลย ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเป็นอย่างที่เขาด่า แต่แปลว่าพวกเขาควรเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนวิธีการได้แล้ว การทำแบบนี้เปลืองน้ำลายเปล่าๆ พวกนี้โจมตีอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น ทำเพื่อทักษิณ ต่อต้านสถาบัน มันสะท้อนสติปัญญาของพวกเขา ถ้าจะทำลายคนเสื้อแดงต้องใช้ปัญญามากกว่านี้ เพราะพวกเขากำลังสู้อยู่กับขบวนการที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย”
“จนถึงวันนี้ ไม่มีใครในประเทศนี้รู้หรอกว่าจะจบยังไง ผมก็ไม่รู้ แกนนำนปช.ก็ไม่รู้ พล.อ.เปรมก็ไม่รู้ สนธิก็ไม่รู้ อภิสิทธิ์ก็ไม่รู้ สถานการณ์มันจึงน่ากลัว ทุกฝ่ายจึงควรใช้สติปัญญาให้มากหน่อย”
ในเรื่องความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้านั้น โดยเฉพาะวันที่ 17 ส.ค. โดยส่วนตัวแล้วจรัลไม่เชื่อว่าจะเกิดอะไรแย่ๆ เพราะชนชั้นนำย่อมมีวิธีที่จะทำให้ฎีกาเป็นหมัน โดยไม่ต้องมีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จรัลออกปากชมกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าไม่เคยนำมวลชนออกมาปะทะ เพียงแค่คอยด่าผ่านเอเอสทีวี หากเป็นประเทศอื่นๆ คงสูญเสียกันมากกว่านี้ นอกจากนี้เขามองว่าสังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมเหี้ยมโหด ไม่มีวัฒนธรรมการสังหารผู้นำทางการเมือง อย่างกรณีสนธิ ลิ้มทองกุล นั้นถือเป็นกรณีพิเศษยังไม่กลายเป็นวัฒนธรรม
สำหรับการเคลื่อนไหวในอนาคตนั้น จรัลบอกว่า ความจริงคนเสื้อแดงปักธงไว้ผืนหนึ่งคือ การกดดันในนายกฯ ยุบสภา ไปสู่การเลือกตั้งใหม่ พร้อมๆ กันกับการผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดยืนของคนเสื้อแดงชัดเจนว่าต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ โดยปัจจุบันนี้มีร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ซึ่งก็คือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนจนครบและค้างอยู่ในสภามานานแล้ว
เรื่องต่อมาที่ต้องทำคือ การจัดตั้งคนเสื้อแดง เพราะปัจจุบันยังไม่มีความเป็นองค์การ หรือ organization แต่เป็นแค่ขบวนการ หรือ movement เขามองว่าการต่อสู้ใหญ่แบบนี้จะอาศัยเพียงขบวนการไม่ได้ ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้ทำเป็นองค์การกันมานานหลายเดือนแล้วด้วยความเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้ขบวนเข้มแข็งขึ้น เป็นเอกภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงสร้างที่ชัดเจนนั้นยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ในประเทศไทยองค์กรทางการเมืองและสังคมที่ประสบความสำเร็จมีน้อยมาก ไม่นับองค์กรภาคธุรกิจ
“ตอนนี้กลุ่มต่างๆ ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้ว และมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ เช่น เมื่อก่อนศูนย์การนำมีหลายศูนย์ ไม่ว่าจะเป็น นปช. ความจริงวันนี้ และพวกแกนนำย่อยๆ อีก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เราพยายามทำให้เป็นเอกภาพ ให้วีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธานไปเลย แล้วแบ่งฝ่ายการทำงาน เช่น ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ตามภาคต่างๆ ฝ่ายช่วยเหลือผู้ถูกคดีทางการเมืองและครอบครัว”
เขากล่าวอีกว่า สำหรับแกนนำต่างๆ ที่เคยมีหลากหลายนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเรามีความเห็นต่างกันบ้างในด้านยุทธวิธี ซึ่งความขัดแย้งแบบนี้เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องทำคือ การไม่ขยายความขัดแย้ง และอดทน ดูว่าแนวทางของคนอื่นนั้นเป็นจริงได้ไหม สำเร็จไหม เพราะความถูกผิดของยุทธวิธีนั้นไม่ได้อยู่ที่การใช้ตรรกะ เหตุผล แต่อยู่ที่การปฏิบัติจริง
ประเด็นสุดท้ายที่เขานำเสนอไว้คือ งานการศึกษา ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะยาว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดควรจัดการศึกษาแก่แกนนำผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งต้องทำไปพร้อมๆ กับงานด้านสื่อ ตอนนี้มีทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ซึ่งปรากฏการณ์หนังสือพิมพ์เสื้อแดงที่ผ่านมานั้นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แบบเป็นไปเอง ไม่ได้วางแผนกันมาก่อน อย่างไรก็ตาม คงต้องส่งเสริมเรื่องนี้ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนได้กว้างขวาง รวดเร็ว
“งานทั้ง 3 ด้านนี้ ถ้าเราทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง ก็จะเป็นพลังสำหรับการต่อสู้กับเป้าสูงสุด คือการโค่นล้มระบอบอำมาตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก”
 
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
สำหรับอดีตเอ็นจีโอด้านแรงงานอย่างสมยศ เขากำลังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำสื่อเสื้อแดง โดยเฉพาะนิตยสารรายปักษ์อย่าง Taksin Voice เขามองเรื่องยุทธศาสตร์ว่า คนเสื้อแดงมีสโลแกนที่ใหญ่โตมากว่า “คว่ำรัฐธรรมนูญ 50 ล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ โค่นระบอบอำมาตยาธิปไตย” ส่วนวิถีทางไปสู่เป้าหมายที่ว่า แต่ละกลุ่มแต่ละเครือข่ายในกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีหลากหลายก็มีแนวทาง มีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เช่น บางส่วนก็เน้นไปที่การทำสื่อเพื่อเปิดโปงระบอบอำมาตยาธิปไตย บางส่วนที่เป็นกลุ่มย่อยก็ยังจัดกิจกรรมของเขาในทุกสัปดาห์ ขณะที่แกนนำหลักก็มุ่งไปที่การถวายฎีกา ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นสเต็ปแรกของการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มมวลชน แม้โดยส่วนตัวแล้วเขาจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ก็มองว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนจะทำได้
 
สมยศก็คล้ายกับสุรชัย (แซ่ด่าน) ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ในช่วงแรกๆ แต่เขายืนยันว่าเป็นความไม่เห็นด้วยคนละระดับกับสุรชัย เขามองว่าหากจะถวายฎีกาก็ควรจะทำมากไปกว่าเรื่องอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ควรถวายฎีกาให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยา
 
สำหรับกิจกรรมเฉพาะหน้านั้น ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 89 ปี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี คนเสื้อแดงก็จะมีการจัดกิจกรรม “ดำทั้งแผ่นดิน” เพื่อบอกว่าระบอบอำมาตย์ควรจะยุติบทบาท หยุดแทรกแซงการเมือง และยังรวมไปถึงการรื้อถอนอุดมการณ์การเมืองแบบไพร่ฟ้าที่มองประชาชนแบบโง่เง่า
 
สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น เขามองว่าเป็นที่น่ายินดีที่มีการเสนอการไขรัฐธรรมนูญ 50 ใน 6 ประเด็นจาก      คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเขาเชื่อว่าข้อเสนอนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง ที่ว่าเพียงระดับหนึ่งนั้น เนื่องจากวิกฤตขณะนี้หัวใจสำคัญที่สุดคือวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนเห็นชัดเจนแล้วว่าไปไม่รอด ขณะที่วิกฤตทางด้านการเมืองนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เป็นวิกฤตความเป็นธรรม เรื่อง 2 มาตรฐานยังดำรงอยู่ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่นำมาใช้อย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ที่ไม่ได้รับสิทธิสู้คดีในฐานะผู้ต้องหา
 
“เรื่องการนำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้นั้นเป็นจุดยืนดั้งเดิมของคนเสื้อแดงอยู่แล้ว และเรารณรงค์กันมานานแล้ว มาถึงวันนี้การที่คณะกรรมการสมานฉันท์มีข้อเสนอเช่นนี้ ก็สอดคล้องกันในหลายส่วน แสดงว่าก็ยอมรับกันแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 50 นั้นมีปัญหา และไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะกับเพื่อไทย แต่เป็นปัญหากับทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคการเมืองนั้นเกี่ยวโยงกับประชาชน อย่างน้อยนักการเมืองก็มาจากการเลือกตั้ง ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 50 ที่เป็นของอำมาตย์ล้วนๆ ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรเพียงแต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ครอบงำ และแทรกแซงการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องคมนตรี หรือสถาบันตุลาการเอง”
 
 
เหวง โตจิราการ
ด้านแกนนำในสมาพันธ์ประชาธิปไตย ระบุว่า ทุกคนไม่ว่ากลุ่มใดก็ตามในหมู่คนเสื้อแดงมีทิศทางใหญ่ร่วมกันคือ ต้องการระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเห็นว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องต่อสู้โค่นล้ม และสำหรับหมอเหวงแล้วสิ่งที่ยืนยันห้อยท้ายมาด้วยตลอดในการต่อสู้ก็คือ สันติวิธี
“เราจะยึดมั่นในสันติวิธี และวันที่ 17 นี้ นัดรวมตัวกันที่สนามหลวงเพื่อแสดงความจงรักภักดี เมื่อร้องเพลงสรรเสริญเสร็จแล้ว ทุกคนก็จะกลับบ้านทั้งหมด”
ส่วนวิธีการนั้นหมอเหวงบอกว่า แต่ละจังหวะก้าวต้องคุยกัน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นหลังจากการถวายฎีการแล้ว จะต้องหยุดในประเด็นนี้ทันที เพราะถือเป็นพระราชอำนาจ พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประเด็นสำคัญๆ ต่อจากนี้ยังมีเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้หมอเหวงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการรวบรวมรายชื่อเพื่อนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ คปพร. เขามองว่า ข้อเสนอ 6 ข้อของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นค่อนข้างตรงกับ คปพร.ที่เสนอไป แต่ที่ คปพร.โดดเด่นกว่าและคณะกรรมการสมานฉันทฯ ไม่มีคือ มาตรา 309 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะเป็นการให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร นับเป็นความอัปลักษณ์ เป็นรอยด่างสำคัญของรัฐธรรมนูญไทย เรียกได้ว่าฉบับนี้เป็นฉบับเดียวที่ให้ความชอบธรรมเรื่องนี้ ซึ่งขัดกับมาตรา 1 และมาตรา 3 แต่ก็เข้าใจได้ว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ อาจมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้ ดังนั้น ต่อจากนี้คนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. เพราะเขาไม่เห็นด้วยที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. 3 อีกแล้ว เนื่องจากเป็นการเสียเงิน เสียเวลา และพายเรือในอ่าง ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่จะมีการเคลื่อนไหวแน่ๆ คือ รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และระหว่างประเทศ 
สำหรับเรื่องการถวายฎีกา เขามองว่า มีเสียงคัดค้านกันมาก ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพและรับฟังเสียงคัดค้าน แต่ทิศทางใหญ่ของเสียงเหล่านั้นมาจากรัฐบาลและพรรคภูมิใจไทย รวมถึงกลุ่มที่เคยรับใช้คณะรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นรากเหง้าคทางความคิดที่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เสียงค้านนี้จึงไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่
เขากล่าวอีกว่า ข้อโต้แย้งทั้งหมดยังไม่มีความชอบธรรมอีกด้วย เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 19 ระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการอภัยโทษ โดยประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกมาโต้แย้งคือ ปวอ.มาตรา 259 เกี่ยวกับผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง (มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้) เขาเห็นว่าที่จริงแล้วประชาชนคือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่มีการรัฐประหาร และในฎีกาก็เขียนไว้ชัดเจนเช่นนั้น ส่วนมาตรา 260 ผู้ถวายเรื่องราวที่จำคุกอยู่ในเรือนจำ (มาตรา 260 ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่น เรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้ รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) คนเสื้อแดงไม่มีใครอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้นใช้มาตรานี้กับคนเสื้อแดงไม่ได้ และคำว่ยื่นกับพัสดีก็ได้นั้น คำว่า “ก็ได้” แปลว่าไม่ได้บังคับ
เขากล่าวอีกว่า ส่วนที่บอกว่าเป็นเรื่องการเมืองนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมืองแต่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป สมัยนักวิชาการ 99 คนถวายฎีกาช่วงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า และสมัยที่มีการขอนายกพระราชทาน ตามมาตรา 7 ก็มีลักษณะกดดัน บีบบังคับสถาบันมากกว่าตอนนี้ด้วยซ้ำ เพราะขณะนี้เป็นเพียงแค่ฎีการ้องทุกข์ซึ่งแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย
 
สุรชัย (แซ่ด่าน) ด่านวัฒนานุสรณ์
 
อดีตนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานคนนี้ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่คัดค้านกับแนวทางการถวายฎีกาในตอนต้น ถึงตอนนี้เขาบอกว่า “ผมไม่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ขัดขวาง” พร้อมทั้งฝากถึงรัฐบาลในประเด็นที่ออกมาคัดค้านการถวายฎีกาว่า  รัฐบาลกำลังสร้างปัญหายุ่งยากให้กับพระมหากษัตริย์ในอนาคต เพราะไม่เคยมีการคัดค้านการถวายฎีกามาก่อน ที่ผ่านมาถ้าฎีกาไม่ถูกก็จะไม่รับหรือตีกลับ หากสร้างบรรทัดฐานในการคัดค้านการถวายฎีกาเสียแล้ว อาจก่อความยุ่งยากในกรณีอื่นๆ เช่น การถวายฎีกาของนักโทษ อาจมีญาติผู้เสียหายออกมาคัดค้านได้ดังที่รัฐบาลทำเป็นตัวอย่าง
 
“บทบาทของรัฐบาลตอนนี้กำลังหน้ามืดตามัวด้วยอคติ สิ่งที่ต้องทำก็คือถ้ามันไม่ถูกก็ต้องอธิบายเขาให้ทำให้ถูก เหมือนนักโทษในเรือนจำถ้าเขาทำไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็ต้องอธิบาย”
 
เขากล่าวอย่างชัดเจนว่า ในการเคลื่อนไหวช่วงนี้ไม่ได้เข้าประชุมร่วมกับใคร และขอสงวนสิทธิ์รอให้ผ่านช่วงฎีกาไปก่อน เพราะหากเข้าไปอาจเกิดการขัดแย้งกัน แล้วจะกลายเป็นภาพของการแตกคอกันในหมู่แกนนำ
 
“เราไม่ได้แตกกันแต่เรามีความเห็นและแนวทางบางอย่างที่ต่างเท่านั้นเอง”
 
“วันนี้มันกลายเป็นว่าแย่งกันจงรักภักดีเหลือเกิน เหลืองก็จงรักภักดี น้ำเงินก็จงรักภักดี แดงก็แย่งจงรักภักดีด้วย พระองค์เห็นแล้วอาจจะงงว่า จงรักภักดีกันหมดแล้วทะเลาะกันหาพระแสงอะไร หากจะอ้างว่าเพื่อการคุ้มกันฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าจะล้มล้างสถาบัน ถ้าอย่างนั้นง่ายนิดเดียว เคลื่อนไหวออะไรอย่าไปทำล่อแหลม รุนแรง หรือผิดกฎหมาย”
 
“ไม่ใช่ผมไม่จงรักภักดี แต่ผมไม่เห็นว่าต้องมาพูด การจงรักภักดีอยู่ที่การปฏิบัติ ถ้าเราไม่เป็นคนปลิ้นปล้อน ตอแหล เราก็จงรักภักดีแล้ว”
 
เมื่อย้อนถามถึงความเห็นต่างในเรื่องการถวายฎีกา เขาอธิบายว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องทักษิณคนเดียว แต่ต้องพูดในภาพรวม ซึ่งมีทักษิณ ดา ตอร์ปิโด จักรภพ และคนอื่นๆ อีกมากที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่รัฐประหาร
 
“จริงๆ เจตนาเขาไม่ได้จะช่วยคนๆ เดียว อยากช่วยประเทศโดยรวม แต่แบบนี้มันมีจุดอ่อนในการเขียน แล้วก็เลยโดนโจมตีอยู่ทุกวัน”
 
เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ เขาย้ำว่าเขาประเมินเอาเองว่าบรรดาองคมนตรีคงประชุมกันแล้วเรียกอภิสิทธิ์ไปพบบอกให้ลาออก แล้วให้ใครสักคนยึดอำนาจแบบเงียบๆ ถวายความเห็นให้มีนายกพระราชทาน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 แล้วนำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ นิรโทษกรรมทั้งหมด แล้วจึงให้มีการเลือกตั้ง
 
“มันเหมือน 6 ตุลา แต่ครั้งนี้ไม่ต้องรอให้เกิดความรุนแรง เพราะมันเสี่ยง ถ้าคุมไม่อยู่มันจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว นี่น่าจะเป็นหนทางที่ฝ่ายอำมาตย์เลือก เพราะมันไม่มีทางออก ปล่อยให้อภิสิทธิ์อยู่ต่อไปตามยถากรรม ก็ต่างคนต่างเสื่อม ทางนี้เสื้อแดงก็ยอม เสื้อเหลืองก็ยอมเพราะเขาก็จะไม่มีชะนักติดหลัง มันไปต่อได้ อย่างน้อยมันยุติลงชั่วคราว ความขัดแย้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็ไปว่ากันใหม่”
 
สำหรับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีขั้นต่อไปของคนเสื้อแดง เขาเองก็ยอมรับว่า ต้องรอให้จบเรื่องฎีกาเสียก่อนคงได้ปรึกษาหารือกันในภายหลังว่าจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร เพราะต้องรอดูผลในครั้งนี้ก่อนด้วย เท่าที่รู้ทางแกนนำก็ยังไม่ได้คาดผลที่ได้รับ
 
“เอาเข้าจริง วันนี้เสื้อแดงยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเลย การชุมนุมก็เป็นแค่ระดับยุทธวิธี กับระดับการจัดกิจกรรมต่างๆ ชุมนุมกันอีกกี่ครั้งก็ไม่เป็นผล มันต้องชุมนุมแบบมีลุกขึ้นสู้ยึดอำนาจรัฐ เพราะมันไม่มีหนทางอื่นตราบเท่าที่ระบอบอำมาตย์ยังเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย เลือกตั้ง 377 เสียงก็ยังโดนยึดอำนาจไป ต่อให้ได้ 500 เสียงก็โดนยึดไปอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือยกระดับคนเสื้อแดง จากนักกิจกรรม ให้เป็นนักยุทธวิธี และให้เป็นนักยุทธศาสตร์ในที่สุด”
 
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเงื่อนไขวันนี้ดียิ่ง แต่สำคัญที่ว่าคนเสื้อแดงหาเป้าเจอไหม ตอนนี้ในระดับแกนนำก็สับสน บ้างหันไปชูทักษิณ ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อทักษิณ แต่ต้องเป็นทักษิณเพื่อประชาธิปไตย
 
“เราต้องยกระดับมวลชนให้ได้ แม้ว่ามวลชนส่วนใหญ่เขาเป็นกลุ่มคนรักทักษิณก็ตาม มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ การต่อสู้ในทุกประเทศก็ต้องมีผู้นำ เหมือนดูหนังเขาก็ต้องดูพระเอก แต่ไม่ใช่ชูพระเอกเป็นวีรบุรุษ แต่ให้เป็นผู้นำในสถานการณ์ของประชาธิปไตยทุนนิยม ถ้าเป็นยุคสังคมนิยมเฟื่องฟู พระเอกก็ต้องเป็นอย่างลุงโฮฯ ยุคนี้ยุคทุนนิยม พระเอกก็ต้องเป็นนายทุน...ธรรมดา”
 
“ผมเรียกร้องปฏิวัติประชาธิปไตย โค่นระบอบอำมาตย์ ยุคของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะหมดลง คนเป็นรัฐบาลต้องคุมอำนาจรัฐได้ด้วย ไม่ใช่เป็นรัฐบาลแล้วคุมอะไรไม่ได้เลย” เขาสรุปโดยย่อว่ามันก็คือ การทำ 2475 ให้สมบูรณ์นั่นเอง ซึ่งเป็นการทำประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ โดยที่สถาบันกษัตริย์ก็ยังดำรงอยู่อย่างเนเธอแลนด์ ญี่ปุ่น แต่ต้องมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ หมวด 1 เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต้องศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่มีสถาบันนี้ ไม่ให้กลุ่มบุคคลใดอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่ประเทศไทยเป็นอยู่
 
เขาระบุว่าเรื่องปฏิวัติประชาธิปไตย ต้องอาศัยพลังของมวลชนเสื้อแดง ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาการปฏิวัติมักผ่านความรุนแรง ดังนั้น ต้องใช้ทฤษฎีเปลี่ยนผ่านไม่ใช่ทฤษฎีโค่นล้ม เพราะเราต่างก็ได้รับบทเรียนในอดีตมาเยอะแล้วว่าทฤษฎีโค่นล้มสร้างแต่ความวิบัติ
 
“ค่อนชีวิตของผมอยู่กับการต่อสู้ 36 ปีไม่ใช่เวลาสั้นๆ ผมคงไม่คิดตื้นๆ อันนี้ไม่ได้ยืนยันว่าถูกทุกอย่าง แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมามันสอนเราเยอะ แต่บรรดาแกนนำก็ไม่เคยหารือพูดคุยแลกเปลี่ยนกันลึกๆ เสียที ที่จริงมันต้องตั้งโรงเรียนแกนนำด้วยซ้ำ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกัน” 
 
                                 
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
สำหรับกวีการเมืองอย่างไม้หนึ่ง เขาเปรียบเปรยว่าฎีกาก็เหมือนต้นกล้วย ตัดมันมาเพื่อใช้ข้ามฝั่ง เมื่อได้ 5-6 ล้านชื่อ ก็เหมือนเราขึ้นฝั่งแล้ว แล้วอยู่ที่ว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร
เขาย้ำชัดเจนว่าไม่เคยมองว่า “ฎีกา” เป็น “ฎีกา” แต่มองว่าเป็นการร่วมลงชื่อของประชาชนเพื่อปกป้องผู้แทนราษฎรของเขาคือ ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนทางตรงหรือทางอ้อมผ่านปาร์ตี้ลิสต์ การลงชื่อครั้งนี้เป็นเหมือนบริการหลังการเลือก (กาคะแนน) ซึ่งหมายความว่า หมดยุคแล้วที่ราษฎรจะมีอำนาจแค่ 4 วินาที ปรากฏการณ์นี้บอกชัดว่าพวกเขาเลือกผู้แทนที่สร้างคุณูปการให้เขา แล้วเขายังสามารถรวมตัวกันพิทักษ์ปกป้องผู้แทนของเขาที่ถูกกระทำโดยไม่ชอบธรรม
“ผมขอเรียกมันว่า การร่วมลงชื่อปกป้องผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทย แทนคำว่า ฎีกา”
ที่สำคัญกว่านั้น เขาเห็นว่า ตัวเลข 5-6 ล้านชื่อนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการต่อยอดเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น ซึ่งสำหรับคนที่มีจุดยืนอยู่บนแนวรบด้านวัฒนธรรมอย่างเขา เขาเห็นว่า ควรยกระดับเพื่อสร้างวาทกรรม สร้างทัศนคติทางสังคมใหม่ เรื่องผู้แทนราษฎรที่ดี แทนวาทกรรมเดิมว่าผู้แทนเลวของฝ่ายอำมาตย์ที่กรอกหูประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันผ่านทุกช่องทาง เมื่อให้ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เขาเสนอว่าปีนี้เป็นปีที่เตียง ศิริขันธ์ อายุครบ 100 ปี แม้แต่กระทู้ในอินเตอร์เน็ตเองที่พูดเรื่องนี้ก็พูดกันน้อยมากจนน่าใจหาย สำหรับเขาแล้ว “เตียง” ถือเป็นไอดอลของผู้แทนที่ดีที่ถูกฝ่ายอำมาตย์ทำลายล้าง ซึ่งเราสามารถยกระดับนามธรรมดังกล่าวเป็นวัตถุธรรมไปสู่การสร้างอนุเสาวรีย์ “เตียง ศิริขันธ์” ซึ่งเขาเห็นว่าเหมาะที่จะอยู่หน้ารัฐสภาไทย
“ต้องข้ามให้พ้นเรื่องฎีกาแล้ว แต่ฝ่ายการเมืองอยากทำอะไรก็ทำไป เรามีจุดร่วมใหญ่ร่วมกันอยู่ ซึ่งผมก็จะหาทางต่อยอดคำอธิบายหรือกิจกรรมนี้ให้ได้ การต่อสู้ทางการเมืองที่สุดคือ การยึดอำนาจรัฐ แต่ถ้าอำนาจรัฐมันแข็งแกร่งคุณต้องทำทางอื่นๆ ด้วย อาจเริ่มจากการเปลี่ยนวาทกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์กับภาคประชาชนผมมองว่าห้วงเวลานี้ถ้ารุกแนวรบทางศิลปะวัฒนธรรมได้ และเอาประวัติศาสตร์มาผลิตซ้ำได้อย่างลงตัว มันจะสร้างผลบวกในทางการเมืองด้วย”
“เราไม่รู้หรอกว่าฝ่ายต่างๆ จะเล่นอะไรแต่ถ้าไม่สามารถยกระดับ 5-6 ล้านชื่อนี้ หากมันมีความสูญเสียอะไรเกิดขึ้นมันก็ได้แค่เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เราจะเสียเฉยๆ 5-6 ล้านชื่อถ้าไม่ทำอะไร แต่ถ้าเราสามารถนำมันไปสู่การเปลี่ยน ม็อตโต้หรือวาทกรรมได้ มันก็จะมีมูลค่าเพิ่มมหาศาล ผู้แทนราษฎรจะเห็นค่าของประชาชนมากขึ้น ประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจแท้จริง”
เขายังระบุว่า เสื้อแดงค่อนข้างช้าไปด้วยซ้ำในการรวบรวมฐานข้อมูลเช่นนี้ แต่มีแนวโน้มที่ดีที่ขณะนี้ตามต่างจังหวัดเริ่มมีการรวบรวมรายชื่ออย่างเป็นระบบมากขึ้น และทำให้สามารถขายตรงอุดมการณ์ ขายตรงความรู้ได้มาก
เมื่อถามถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ เขาย้ำว่า “ผมเป็นนักลัทธิรัฐธรรมนูญ” และให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมามีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยสร้างวาทกรรมว่า รัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย มีกี่ฉบับๆ ก็ถูกทหารฉีกหมด ซึ่งถือเป็นคำอธิบายที่แย่มาก เพราะปัญหาอยู่ที่ทหาร ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญ
“การสร้างรัฐธรรมนูญที่เพอร์เฟ็คท์ยังเป็นเรื่องจำเป็นและต้องทำกันอย่างจริงจัง สำหรับผมเห็นว่าข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เพียงพอ ต้องเอารัฐธรรมนูญ 40 มาใช้ และปรับปรุงส่วนที่อ่อนด้อยคือ องค์กรอิสระ ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง”
เขาชี้แจงด้วยว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้นเคลื่อนเป็นแผงหน้ากระดาน ไม่ได้เคลื่อนแบบ 1 2 3 เรื่องรัฐธรรมนูญก็ต้องเคลื่อนด้วย เพียงแต่ว่าที่ทางที่กลุ่มต่างๆ จะสื่อสารกิจกรรมที่ตนเองรณรงค์นั้นมีน้อย มันจึงเหมือน การเคลื่อนไหวแบบดารา ฉูดฉาดได้ดูดกลืนทุกอย่างเข้าไปหมด ดังนั้น จึงต้องอาศัยสติของสื่อที่ต้องเอาเสียงกระซิบแผ่วๆ ของกลุ่มต่างๆ ของผู้คนต่างๆ ออกมาให้สังคมรับรู้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net