Skip to main content
sharethis

 


จากซ้ายไปขวา สุมิตรชัย หัตถสาร, ชยันต์ วรรธนะภูติ และ สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. 52 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือ) ได้จัดงาน “มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูวิถีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน” ขึ้นที่ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ โดยในวันที่ 7 ส.ค. ในภาคเช้าหลังพิธีเปิด มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ชนเผ่าพื้นเมืองกับการเข้าถึงสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ของชุมชน” โดย รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีผู้อภิปรายร่วมได้แก่  นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแกไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) และนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง โดยรายละเอียดของการอภิปรายมีดังต่อไปนี้

 

000

 

ชยันต์ วรรธนะภูติ
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปทำงานในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีสถานการณ์ขัดแย้ง คนในพื้นที่ซึ่งเรียกตัวเองว่านายู หรือภาษาทั่วไปเรียกว่ามาเลย์มุสลิม โดยพื้นฐานเป็นชาวมาเลย์ พูดภาษายาวีหรือมลายูท้องถิ่น ที่สำคัญเขามีความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เขานับถือศาสนาอิสลาม ส่วนทางราชการเรียกเขาว่าชาวไทยมุสลิม ทำให้เขาไม่พอใจเท่าไหร่ เพราะเขาเป็นคนมลายูมาเลย์ เหมือนกับที่พี่น้องชนเผ่า พี่น้องที่มาจากอีสาน ภาคกลาง ล้วนมีอัตลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า

ชาวมาเลย์มุสลิมก็มีพื้นที่ป่าเหมือนพี่น้องบนดอย แต่เป็นป่าที่บางส่วนอาจมีการปลูกเพิ่มเติมโดยเฉพาะพืชที่เป็นผลไม้ ผมเอาความคิดป่า 7 ชั้น (การจำแนกป่าแบบปกาเกอะญอ) ของพ่อหลวงจอนิไปอธิบาย เขาก็บอกว่า ของเขาก็มี ป่าระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง เขาเรียก ดุซง หรือ สวนดุซง ป่าที่เขาปลูกและดูแลจะมีการแบ่งปันพืชผลร่วมกัน มีข้อตกลงว่าพี่น้องตระกูลนี้เก็บเกี่ยวด้วยกันได้ เมื่อทุเรียนตกลงมา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาแบ่งปันกัน นอกจากทุเรียนก็มีผลไม้อื่นๆ พืชผักอื่นๆ แต่ละระดับก็จะมีความเป็นเจ้าของ มีกรรมสิทธิ์ร่วมว่าเป็นของครอบครัวกี่ครอบครัว หรือชุมชน

เขาบอกว่า มันเหมือนกับร้านโชห่วย ไม่ใช่สวนแบบสวนส้มที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว สวนดุซงไม่ใช้ยา ปุ๋ย เครื่องมือในการผลิต ปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน ที่สำคัญตราบใดที่มีสวนดุซง ตราบนั้นคนในชุมชนจะดูแลรับผิดชอบร่วมกัน เป็นกลไกทำให้พี่น้องที่อยู่ห่างไกลกลับมาปรึกษาหารือ หากครอบครัว ชุมชนมีปัญหาก็จะใช้กลไกความสัมพันธ์ที่มีป่าดุซงเป็นกลไกแก้ปัญหา ก็เหมือนพี่น้องปกาเกอะญอ พี่น้องม้ง พี่น้องอาข่า

ประเพณี วัฒนธรรม การมีสวนดุซงแบบชาวมลายูมุสลิม หรือการรักษาป่าแบบพี่น้องปกาเกอะญอ พี่น้องม้ง เป็นสิ่งที่ว่าไปแล้ว เป็นวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคต่างๆ เช่นกรณีพี่น้องมลายูมุสลิม อาจเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมชุมชน วิถีชีวิต ที่พี่น้องชาติพันธุ์พัฒนาระบบคิดขึ้นมา

สวนดุซง สวนเจ็ดชั้น สวนดงเซ้ง ของพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ได้เน้นพืชเชิงเดี่ยว แต่เป็นต้นไม้หลากพันธุ์ที่อยู่ร่วมกัน และเน้นการดูแลจัดการผลผลิตนี้ ที่ทำให้ทุกคนที่เป็นแม่ม่าย เด็ก คนชรา เข้าถึงทรัพยากรนี้ได้ ทำให้เกิดสำนึกร่วมว่าเป็นสมบัติของชุมชนที่พวกเราดำรงอยู่

อย่างที่พวกเราทราบ วัฒนธรรมอยู่กับป่านี้เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่อังกฤษเข้ามามีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การตัดไม้ในพม่า พอป่าในพม่าร่อยหรอก็เริ่มมองป่าไม้ในประเทศไทย ตอนนั้นอาจไม่ได้คำนึงว่าเขตแดนเป็นของใคร ก็อาจขออนุญาตผู้นำท้องถิ่น เช่น เจ้านายฝ่ายเหนือ ให้สัมปทานไม้สักแก่อังกฤษ อย่าง ถนนเจริญประเทศ ในเชียงใหม่ ก็เป็นที่ตั้งของทำการของบริษัททำไม้ ที่ทำการของกรมป่าไม้เป็นไม้สักทั้งหลัง อาคารนี้ยังมีอยู่บนถนนเจริญประเทศ

ในไทยจึงมีการเห็นป่าแบบมุมมองตะวันตกว่าเป็นป่าสงวน สามารถใช้ประโยชน์จากป่า เช่นไม้มีค่า ที่จะตัด จะแปรรูป จำหน่ายทำเฟอร์นิเจอร์ในบ้านของคนยุโรป ปลูกเรือน หรือสิ่งก่อสร้างประเภทอื่นๆ เพราะไม้สักมีคุณสมบัติพิเศษ และกรณีการมองเช่นนี้ ก็เกิดกับกัมพูชาและลาวด้วย แม้จะไม่มีไม้สัก แต่ก็มีไม้อื่นๆ ที่มีมูลคาเช่น มะค่า เสลา

เมื่อรัฐบาลไทยเห็นว่ารายได้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการสัมปทานป่า จึงเป็นการเปลี่ยนแนวคิดเดิมจากป่า ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ ให้กลายเป็นป่าเป็นของรัฐที่จะใช้กลไกรัฐเข้ามาจัดการ

เมื่อสามสิบปีก่อนผมเคยไปทำงานที่แม่จัน จ.เชียงราย ในพื้นที่สัมปทานป่า ชาวบ้านบอกว่าแม้แต่จะเอาไม้สักมาทำด้ามกระบวยก็ถูกจับ การจัดการทรัพยากรโดยรัฐเข้ามาพร้อมกับการประกาศป่าเป็นป่าสงวน การจำแนกประเภทป่า

หลังสัมปทานช่วงแรกไปแล้ว ระยะที่สองคือการให้สัมปทานป่ากับทหารผ่านศึกช่วงหลังสงครามโลก มีพื้นที่หลายๆ แห่งที่พื้นที่ป่าถูกนำมาใช้ ความขัดแย้งยังเห็นไม่ชัด เพราะพี่น้องบนที่สูงยังไม่มากจนเกิดผลกระทบ แต่ตอนหลัง พ.ศ. 2500 รัฐต้องการเข้ามาบริหารจัดการป่า เป็นช่วงที่รัฐส่วนกลางขยายอำนาจออกมาผ่านพื้นที่ ต้องมีการประกาศว่าตรงไหนเป็นของรัฐ ตรงไหนเป็นของเอกชน ที่ดินในไทยแบ่งเป็นของเอกชนกับรัฐ ส่วนพื้นที่ป่าถูกประกาศเป็นของรัฐ มีป่าสงวน อุทยานแห่งขาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีการประกาศกฎหมายเป็นช่วงๆ

หมายความว่าต่อไปนี้เป็นอำนาจของรัฐจะเข้าไปจัดการ รัฐไม่ได้อยู่แค่ทำเนียบรัฐบาล แต่แผ่ไปยังพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่า สายน้ำ พี่น้องกะเหรี่ยงมีความเข้าใจว่า อำนาจของรัฐไม่ได้มีแค่ตำรวจ ทหาร ศาล แต่อำนาจของรัฐยังมีในเรื่องจัดการให้ใครมีสิทธิใช้ประโยชน์ทรัพยากรด้วย

หลัง พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ความคิดที่ว่ารัฐต้องมาบริหารจัดการ ใช้ ครอบครองทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า มีนัยยะต่อพี่น้องที่อาศัยในพื้นที่ป่า ทำให้พื้นที่ซึ่งเขาอาศัยอยู่นั้น เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ตามวัฒนธรรมประเพณี เปลี่ยนมาเป็นรัฐเป็นผู้ถือกฎหมาย และประกาศเป็นของรัฐ

หากอ่านคำประกาศท้ายราชกิจจานุเบกษา เวลาที่มีการประกาศพื้นที่ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะบอกว่าพื้นที่นี้สำคัญอย่างไรจึงมีการประกาศ เช่น มีไม้พันธุ์อะไรบ้าง ที่ดินมีลักษณะอย่างไร มีสัตว์ป่าอะไรบ้าง ผมเคยอ่านกรณีประกาศให้พื้นที่หนึ่งเป็นเขตป่าที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งในพื้นที่มีหมู่บ้านของชาวลีซอ 80 หลังคาเรือน แต่ในคำประกาศไม่มีการระบุว่ามีคนอยู่เลย บอกแต่ว่ามีต้นไม้อย่างเดียว นี่คือวิธีคิดที่ว่าแม้แต่บุคคลก็ไม่บันทึก บันทึกแต่พันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์

พวกเราหลายคนเคยร่วมงานกันช่วง 2527-2530 เราเห็นว่าการที่รัฐมีทัศนะในการมองพื้นที่แบบนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง รัฐไม่ยอมรับการใช้กฎเกณฑ์ประเพณีของชาวบ้าน ทำให้เห็นว่าชาวบ้านผิดกฎหมาย ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่เขาจะจับหรือไม่จับ หยิบใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนหินก็ถูกจับ มีพี่น้องปกาเกอะญอหลายคนถูกจับเป็นรายปี ไม่ต้องนับพี่น้องบ้านปางแดง (อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) ที่โดนจับมา 4 ครั้งติดกันจนศาลไม่อยากจับอีก รากฐานที่มาจากวิธีคิดที่ต่างกันของรัฐจะกำหนดว่าพื้นที่นี้ใครจะได้ใช้ทรัพยากร โดยไม่คำนึงชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตดำรงอยู่

ไม่ว่าเราจะเรียกร้องป่าชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนปีนี้ พ.ศ. 2552 เป็นเวลา 20 ปีพอดี ที่มีการเดินขบวนที่ลำพูนเพื่อเรียกร้องป่าชุมชนคือในเดือนพฤษภา 2532 ถือว่าผ่านมา 20 ปี 3 เดือน ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของรัฐได้

เมื่อมีปัญหานี้แล้ว จะมีทางออกอย่างไรบ้าง เส้นทางที่เราเลือกเดินคือป่าชุมชนยังไม่ประสบความสำเร็จ และขณะนี้มีข้อเสนอจากภาคต่างๆ เช่น โฉนดชุมชน ร่วมกันคิดสิ่งนี้ เพื่อแก้สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะแนวทางโฉนดชุมชนจะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน

รัฐมีสองหน้า ด้านหนึ่งรัฐมีนโยบายเพื่อคะแนนเสียง แต่รัฐอีกด้านหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นฝ่ายปฏิบัติการนั้น ในช่วงเวลา 20 ปีที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องป่าชุมชนเจอแบบนี้ตลอด จะทำอย่างไรให้เกิดการร่วมมือ การสร้างเครือข่าย ทำความเข้าใจในระดับพี่น้องชนเผ่า ชุมชน ปัจเจก เป็นวาระสำคัญที่รัฐจะต้องประกาศเป็นวาระแห่งขาตินี้ ภาคประชาชนจะผลักดันอย่างไร

ครั้งหนึ่งมีโอกาสไปหลวงพระบางกับพ่อหลวง จอนิ ประสบการณ์จากลาวนั้น เราอาจคิดว่าเขามีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้อยกว่าเรา แต่เขามีหลายอย่างที่มีประโยชน์ เขามีนโยบายที่ว่าทรัพยากรดิน น้ำ ป่าเป็นของส่วนรวม

เดิมลาวหลังปฏิวัติไม่อนุญาตให้ปัจเจกมีสิทธิในที่ดิน แต่นโยบายจินตนาการใหม่ให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน แต่วิธีการจัดการป่าลาวมีสองแบบ หนึ่ง รัฐจัดการ สอง นโยบายมอบดิน มอบป่าให้ประชาชน เดิมเป็นของราชการ เขามอบให้ประชาชน ไม่ได้มอบบุคคล แต่มอบให้ชุมชน นี่เป็นนโยบายที่ก้าวหน้า แล้วชุมชนตัดสินใจเองจะทำอย่างไร บางชุมชนจัดการร่วมกับรัฐ บางชุมชนปลูกไม้เศรษฐกิจเช่น สัก ยางพารา และมีรูปแบบอื่นๆ เช่น มีเครือข่ายชาวบ้านในการจัดการป่า เมื่อประชาชนมีสิทธิคืนดินคืนป่า เขาเริ่มตื่นตัวในการหารูปแบบจัดการป่า เช่น ปลูกพืชไม่ใช้สารเคมีเพื่อส่งออก ปลูกไม้โตเร็ว ปลูกป่าชุมชนให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ เข้าถึง บนพื้นฐานความมั่นคงทางอาหาร เก็บผักกูด ผักหวาน ผักเสี้ยว หน่อไม้ เก็บแมลง

เขาไม่ได้ทำบ้านเดียวนะ เขาเชิญเครือข่าย 16 หมู่บ้าน หมู่บ้านม้งทำพิธีน่อซ่ง พิธีนี้ต่างจากพิธีดงเซ้ง น่อซ่งแปลว่าพิธีกินเลี้ยงหลังจากมีข้อตกลง

โดยชุมชนได้มีข้อตกลงกันว่าจะประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ในการใช้ป่า มีข้อตกลง 3-4 เรื่อง หนึ่ง จะกันพื้นที่ป่ารักษาพืชสมุนไพร เพราะประชาชนเขายังต้องอาศัยสมุนไพร สอง มีเขตป่าที่เป็นป่าอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นป่าชุมชนบ้านเรา และมีข้อตกลงว่าใครจะมีสิทธิเข้าไปใช้ จะตัดไม้ต้องขออนุญาตจากใคร

สาม มีข้อตกลงในเรื่องพิธีศพ สี่ ข้อตกลงเรื่องแต่งงานของหนุ่มสาว เดิมพ่อแม่และตระกูลเป็นผู้ที่จะยินยอมตกลง ปัจจุบันหากหนุ่มสาวตกลงแล้ว แต่ฝ่ายเจ้าสาวยังไปแต่งงานกับหนุ่มม้งอเมริกาหรือที่อื่น ก็ต้องเพิ่มสินไหมสี่เท่าตัวจากปกติ

คือมีการร่างกฎเกณฑ์ มีการประชุม เมื่อตกลงกันได้ก็กินเลี้ยงกัน

กระบวนการนี้เขาเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายหลวงพระบางมาเป็นพยาน แปลว่าที่มอบดินมอบป่าให้นั้น ประชาชนตั้งเครือข่ายขึ้นมาและมีกฎเกณฑ์ มันทำให้กฎหมายตามประเพณีเป็นข้อบังคับ มีการตกลงร่วมกัน มีพยานร่วมกัน เขาเชิญสื่อรัฐมาทำข่าวด้วย

บทเรียนของหลวงพระบางน่าสนใจ ถ้าเราจะทำโฉนดชุมชน ต้องเตรียมการ ร่างข้อตกลง ทำให้ข้อตกลงเป็นที่ประจักษ์กับสังคม และสมาชิกที่เขาต้องดูแล ผมเห็นด้วยกับคุณสุริยันต์ที่ว่าต้องสำรวจพื้นที่ ในเขตป่า ลุ่มน้ำที่เราใช้ประโยชน์อยู่ สำรวจบนพื้นฐานวัฒนธรรม ไม่ใช่บนพื้นฐานกฎหมายป่าไม้ การสำรวจพื้นที่ป่า ป่าช้า การเก็บสมุนไพรก็ต้องสำรวจ นกหายาก ที่ทำกิน ที่ทำไร่ พื้นที่สงวนอนุรักษ์น้ำก็ต้องสำรวจ

ผมคิดว่า หนึ่ง ประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนก็มีประสบการณ์ในการทำแผนที่ ชาวบ้านต้องทำแผนที่เอง และใช้เครื่องมือสมัยใหม่เพื่อให้แผนที่มีความแม่นยำ และไม่ใช่มีแผนที่อย่างเดียว แต่พื้นที่ๆ เราใช้ประโยชน์ในฤดูกาลต่างๆ มีทรัพยากรอะไรบ้างที่เราอาศัยพึ่งพา ผันแปรไปตามฤดู

เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นความพยายามร่วมมือกันของพี่น้องในพื้นที่ ของพี่น้ององค์กรพัฒนาเอกชน ถ้าให้ผมเสนอเราควรเสนอเป็นโครงการวิจัยท้องถิ่นของ สกว. ทำการสำรวจเรื่องนี้ขึ้นมา มีการแลกเปลี่ยนกัน พยายามหางบประมาณไม่ใช่แต่ สกว.ที่เดียว ถ้า อบต.ไหนเห็นความสำคัญ ต้องชวนเขามาร่วมเกี่ยวข้อง

สอง ทำอย่างไรจะระบุว่า ป่าจะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เพราะตอนนี้ที่ดินในไทยถูกเปลี่ยนไปปลูกยางพารา ข้าวโพด อ้อย สบู่ดำ เพราะเรากังวลเรื่องน้ำมัน เอาไปปลูกพืชเชื้อเพลิง ไม่ใช่ที่ปลูกอาหาร ในอนาคตปัญหาความมั่นคงทางอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญ แม้มีวิกฤตเศรษฐกิจแต่ถ้าเรามีอาหาร หมู่บ้านเราจะไม่เดือดร้อน

ถ้าเราดูภูมิภาคของเราในความสัมพันธ์ระดับโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลี ตะวันออกกลาง หลายฝ่ายมองมาที่ภูมิภาคนี้ เพราะภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยส่งข้าวออกเป็นอันดับสอง น้ำตาลเป็นอันดับ 6 กุ้งอันดับ 3 เราส่งอาหารทะเลเป็นอันดับ 2-3 ของโลก ตรงนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญ มหาอำนาจญี่ปุ่นมองว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนเขาในอนาคต อาหารญี่ปุ่น 80% นั้น บนโต๊ะอาหารญี่ปุ่นมาจากไทย ปลิงทะเลก็มาจากพี่น้องมอแกนดำน้ำไปจับมาขาย

แต่ถ้าเราจัดการไม่ดี เราก็ผลิตให้คนอื่นกิน ตอนนี้เริ่มมีคนซื้อที่ดินในภาคเหนือ กลาง ใต้ มีนักลงทุนที่มาจากต่างประเทศเช่นเกาหลี ทำอย่างไรเราจะรักษาที่ดิน น้ำ ป่า เอาไว้ และมีความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์

สาม จะทำอย่างไรจะสร้างเครือข่ายจากที่ดินได้ เครือข่ายโฉนดชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล เชื่อมโยงกันด้วยข้อมูลต่างๆ ทำอย่างไรเราถึงจะมีสิทธิในการรักษา เข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น ต้องมีการเตรียมการอย่างเป็นจังหวะก้าว อาศัยข้อมูล บทเรียนจากป่าชุมชนที่ผ่านมาเราอาศัยข้อมูลวิจัย 6 หมู่บ้าน แต่ก็สามารถสร้างความเข้าใจกับชุมชน แต่ถ้าจะสร้างความเข้าใจเรื่องโฉนดชุมชนเราก็ต้องมีการศึกษาข้อมูล
 

000
 

สุมิตรชัย หัตถสาร
ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแกไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)

การจัดการป่าที่ผ่านมาเราถูกกระทำ เช่น การประกาศเขตป่าในท้ายพระราชกิจจานุเบกษา พูดถึงป่า แต่ไม่พูดถึงคน แม้สังคมจะไม่เข้าใจอดีตที่ผ่านมา แต่หลายภาคส่วนในสังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้น หลายภาคส่วนมีการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2527 เรื่องที่ว่าคนบุกรุกป่า หรือป่าบุกรุกคน มาใช้

เวลาผมไปทำคดีจับกุมชาวบ้านบุกรุกป่า เห็นเขาอ้างศาล อ้างประกาศ บอกว่าจำเลยอยู่ตรงนี้ บุกรุกป่า ตามแผนที่แนบท้าย แล้วฟ้องเอาผิดชาวบ้านว่าบุกรุกป่า ผมรู้สึกว่าความเป็นคนไม่มีอยู่แล้ว ยึดกฎหมายกำหนด นอกเหนือจากที่เขาระบุไปในท้ายประกาศเขตป่า นั่นหมายความว่าคนเหล่านั้นผิดกฎหมาย ซึ่งแม้มันขัดความเป็นจริง แต่ในกระบวนการยุติธรรมเขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กฎหมายเหล่านี้ไม่พูดถึงคนในป่า แล้วระบุข้อห้ามมากมาย เข้าไปในป่า หยิบก้อนหิน เด็ดใบไม้ หายใจก็ผิด

วันนี้พัฒนามาไกลกว่านั้น ใครที่เจอข้อหาบุกรุกป่า ยังมีค่าเสียหายตามมา ค่าทำให้โลกร้อนเขาคิดไร่ละเท่าไหร่ ไร่ละ 45,000 บาท นะครับ ข้อหาที่ชาวบ้านเจอคือทำให้โลกร้อน

คดีหลังๆ ที่ผมทำมา เขาแนบมาท้ายคำฟ้องเลย 8 ไร่ คิดค่าเสียหาย 3 ล้านบาท

พี่น้องมุสลิมที่มีสวนดุซง อย่างที่อาจารย์ชยันต์เล่า ก็เจอข้อหาบุกรุกป่า ถูกเรียกค่าเสียหาย 3 ล้าน 5 ล้าน เขาคิดกันเล่นๆ ว่าคดีบุกรุกป่าพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในศาลปัจจุบันรวมกันค่าปรับเกือบ 500 ล้านบาท

พี่น้องที่เรียกร้องเรื่องให้มีการปฏิรูปที่ดิน บางคนถึงกับกินยาตาย ชาวบ้านมีบ้านหลังเล็กๆ มีลูกมีครอบครัว เจอค่าเสียหาย 5 ล้าน ผู้นำครอบครัวจะฆ่าตัวตาย โชคดีที่คนในชุมชนช่วยกันไว้ได้ทัน นี่คือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และภาคเหนือก็เริ่มมีคดีบุกรุกป่าหลายคดีที่เจอค่าเสียหาย

เราถูกกระทำมาเป็น 100 ปี เราไม่เคยมีตัวตนในป่า จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีตัวตน เราอยู่ใต้พรมที่เขาปูไว้เป็น 100 ปี เราจะเปิดพรมอย่างไร เอาลมหายใจ ดิน น้ำ ป่า ของเราคืนมาอย่างไร สีฟ้า สีเขียว สีน้ำตาล จะหลอมรวมจิตวิญญาณสามสีนี้อย่างไรเพื่อเปิดพรมให้มีชีวิต มีศักดิ์ศรีของการมีชีวิตอยู่ อยู่เหนือกว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่อย่างไร

เราเดินทางมา 20 ปี จนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 เกิดสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ ชุมชนไม่ได้อยู่ในจินตนาการแล้ว ชุมชนมีอยู่จริง รัฐบาลประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายแต่จะเป็นจริงไม่ได้ในสภาพที่รัฐบาลอ่อนแอ ภาคประชาชนต้องผลักดันให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของสิทธิชุมชนเป็นจริงให้ได้
 

000
 

สุริยันต์ ทองหนูเอียด
ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง

ก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะค้นพบทวีปอเมริกา มีชนเผ่าพื้นเมืองคืออินเดียนแดง ผมไปถามอินเดียนแดงว่ามีกี่คน เขาบอกผมว่าเคยมีถึง 250 ล้านคน ตอนนี้มี 2 ล้านคน แล้วอินเดียนแดงหายไปไหนใน 210 กว่าปีที่ผ่านมา

สาเหตุคือ 1 ทำสงครามกับรัฐบาลกลาง ตายจากการสู้รบน้อย แต่ตายด้วยโรคจำนวนมาก ปัจจุบันชนเผ่าที่อยู่ในนิคมของรัฐบาล อยู่ด้วยความลำบาก มีปัญหาติดการพนัน ติดยา ติดเหล้า มีปัญหาสุขภาพ การฆ่าตัวตายสูง อินเดียนแดงที่อยู่ในนิคมที่รัฐบาลรับรองให้ปกครองตนเอง เขาบอกว่ามี 536 ชนเผ่า เช่น เชอโรกี นาวาโฮ อาปาเช่ เขาไม่ให้ผมไปดู ผมแอบถามเอา ที่ไม่ได้รับการรับรองยังมีอีก 230 กว่าเผ่า ที่ผมยกตัวอย่างเพื่อให้เราทบทวนว่าชนเผ่าในประเทศไทยที่ว่ามีประมาณล้านเศษ รัฐบาลไทยนับไป 9 เผ่า

ส่วนการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีแรงงานข้ามชาติ 1,650,000 คน มีชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับสัญชาติและตกสำรวจ 360,000 คน ตัวเลขคนไร้รัฐ คนไม่มีสถานะทางกฎหมาย 190,000 คน รวมกับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นเป็นจำนวนทั้งสิ้นรวม 2,300,000 คน

ชนเผ่าจะต้องคิดว่าจะอยู่อย่างยั่งยืนในแผ่นดินปู่ยาตายายอย่างไร

ในเรื่องโฉนดชุมชนนั้น หนึ่ง อยากให้ทบทวนวิถีภูมิปัญญาปู่ย่าตายายอยู่รอดเพราะอะไร ไม่ใช่แค่กฎหมายอย่างเดียวจะทำให้เราอยู่ได้ ในการจัดการชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน ถ้าเราช่วยกันสำรวจว่าที่ดินมีกี่ประเภท มีกี่ไร่ มีที่ทิ้งร้างกี่ไร่ ที่นายทุนทำประโยชน์กี่ไร่ เราจะได้ออกแบบการจัดการที่ดินได้ อาจเจรจากับนายทุนว่าออกไปได้ไหมเพราะเราจะจัดการที่ดิน อาจมีการจ่ายค่าชดเชยให้เขา แบบที่รัฐจ่ายให้เรา

เพราะการสำรวจ จะทำให้เรามีความรู้ใหม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรถึงจะอยู่รอด ถ้าเราทำเกษตรทั้งชีวิต ลูกหลานเห็นเราติดหนี้ พึ่งตัวเองไม่ได้ ลูกหลานก็ไม่อยากทำนา ทำไร่ แต่โฉนดชุมชนจะผ่าทางตัน เกิดความรู้ใหม่ว่าแบ่งที่ดินแบบปัจเจก 5 ไร่อยู่ไม่ได้ แต่อยู่ได้ด้วยการผลักกระบวนการจัดการที่ดินของชุมชน ที่อาจารย์บอกว่าเราต้องสร้างเครือข่าย เรากำหนดขนาดนั้นได้ ก็จะบอกรัฐบาลได้ว่าเราต้องการ 1-2-3-4 ที่ผ่านมาเราเคลื่อนไหวผลักดันแล้วได้เอกสารมากแล้ว ทำอย่างไรที่จะรวมตัว ได้เอกสารแล้วชุมชนได้ประโยชน์ วิทยากรในงานจะบอกว่าทำได้ไหม ถ้าทำได้แล้วจะทำอย่างไร

กระบวนเกือบสุดท้ายแล้วที่เราจะร่วมกันจุดกระบวนการชุมชน ภายใต้ ชุมชนพอเพียง ชุมชนพึ่งตัวเอง

โฉนดชุมชนคงมีความหมายถึงความเป็นย่านเกษตร กาแฟ ข้าวพันธุ์ดี สินค้าท้องถิ่น ความเป็นบทเรียนที่เราได้เรื่องวัฒนธรรมรายบุคคลคงจบในยุคเศรษฐกิจแบบเก่า เศรษฐกิจแบบใหม่คงตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ด้วยกัน หรือไปแล้วทิ้งเพื่อนไว้ข้างหลัง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net