เครือข่ายชนเผ่าฯ เดินรณรงค์พร้อมประกาศเจตนารมณ์ – ยื่นหนังสือถึงมาร์ค-เลขายูเอ็น

เครือข่ายเผ่าพื้นเมืองฯ ประกาศเจตนารมณ์ยืนยันรัฐชาติและทุนนิยมข้ามชาติเกิดทีหลังชนเผ่าจึงต้องเคารพในที่ดินอันเป็นศักดิ์ศรี จิตวิญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของชนเผ่า พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสหประชาชาติ

 

 
 
 
 
 
 
ตามที่มีการจัดงาน “มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูวิถีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน” โดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. ที่ จ.เชียงใหม่นั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (9 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน และตรงกับ “วันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก” มีกิจกรรมการเดินรณรงค์ เพื่อแถลงเจตนารมณ์และยื่นหนังสือถึงรัฐบาล โดยตั้งขบวนที่วัดสวนดอก ถ.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถ.พระปกเกล้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่
 
โดยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก” พร้อมกันนั้นได้ออกหนังสือสองฉบับ ได้แก่ “ข้อเสนอชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสากลชนพื้นเมืองโลก” เพื่อเสนอข้อเรียกร้องไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหนังสือ “ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันสากชนเผ่าพื้นเมืองโลก” เพื่อเสนอต่อ นายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยคำประกาศเจตนารมณ์ และหนังสือทั้งสองฉบับมีรายละเอียดต่อไปนี้
 
 
1. คำประกาศเจตนารมณ์ “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก”
 
คำประกาศเจตนารมณ์
 
“วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก”
 
พวกเราในนาม เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วยพี่น้องปะกาเกอเญอ พี่น้องขมุ พี่น้องคะฉิ่น พี่น้องไทเขิน พี่น้องไทยวน พี่น้องไทยอง พี่น้องไทลื้อ พี่น้องไทใหญ่ พี่น้องไตหย่า พี่น้องบีซู พี่น้องดาระอั้ง พี่น้องมลาบรี พี่น้องม้ง พี่น้องเมี่ยน พี่น้องลัวะ พี่น้องลีซู พี่น้องลาหู่ พี่น้องอาข่า และพี่น้องนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนสากลและองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายที่รวมกันจัดงาน “มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูวิถีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน” ประจำปี ๒๕๕๒
 
เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้ประเทศไทย ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองสิทธิในการเข้าถึงการบริการจากรัฐ ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข เรียกร้องให้รัฐสร้างหลักประกันความมั่นคงในการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชนเผ่าพื้นเมือง นำเสนอองค์ความรู้ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ ภูมิปัญญาและผลิตของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชนได้อย่างแท้จริง สร้างกิจกรรมประสานความสัมพันธ์ ระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงกับชุมชนที่อยู่ในเมือง ให้มีเวทีพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน รวมทั้งร่วมกันประกาศเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก
 
ซึ่งได้มาร่วมกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ณ แห่งนี้นั้นเรา ขอประกาศว่า ผืนดิน ขุนเขา ป่าไม้ แม่น้ำ คือ วิถีชีวิต คือจิตวิญญาณ คือ ภาษาวัฒนธรรมและความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ คือเสรีภาพและความชอบธรรมในการเลือกที่จะดำรงอยู่ในวิถีชีวิตแห่งชาติพันธุ์ที่สงบสุข
 
เราขอประกาศว่า รัฐชาติและทุนนิยมข้ามชาติ ผู้ซึ่งก่อเกิดมาทีหลัง ก่อนการดำรงอยู่บนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษของเรา จักต้องเคารพในที่ดินอันเป็นศักดิ์ศรี จิตวิญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา
 
เรา ขอประกาศว่า พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและชนพื้นเมืองทั่วโลก เราคือ พี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติ อันเป็นมหามิตรกับพี่น้องประชาชนทั่วโลกโดยทั่วไป ในนามแห่งมิตรภาพ ขอประกาศรณรงค์กับประชาชนทั่วโลกเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย บนความยั่งยืนและสงบสุขของมวลมนุษยชาติ
 
เรา ขอประกาศว่า สิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนเผ่าพื้นเมืองทุกชาติพันธุ์ คือ เจตนารมณ์หลักอันสำคัญ เป็นภารกิจของเราที่จะผลักดันให้ได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ด้วยการดำเนินการสร้างกิจกรรมในการรังสรรค์ สร้างความสมานฉันท์ในสังคมพี่น้องชนเผ่าโลกและผลักดันให้ข้อเรียกร้องในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ปรากฏเป็นของเรา พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และชนพื้นเมืองทั่วโลกได้รับการสถาปนาอย่างเป็นธรรมโดยแท้จริงสืบไป
 
ด้วยจิตคารวะและศรัทธาในวิถีชีวิต ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเผ่าชนทุกเผ่าพันธุ์
 
ประกาศ ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ดินแดนแห่งล้านนาอิสระ เชียงใหม่
 
ประกาศ เมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2552
 
ประกาศโดย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
 
 
2. ข้อเสนอชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสากลชนพื้นเมืองโลก ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
สำนักงานประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
 
ที่ คชท. 008.40/2552
9 สิงหาคม 2552
 
เรื่อง ข้อเสนอชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสากลชนพื้นเมืองโลก
กราบเรียน ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
 
สำเนาเรียน
1) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
8) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
9) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย ข้อมูลหมู่บ้านพื้นฐานเครือข่ายชนเผ่าฯ ที่เข้าร่วมโครงการจัดทำโฉนดชุมชนบนพื้นที่สูง
 
ตามที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยผู้แทน 18 ชนเผ่าในประเทศไทย ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดให้มีงาน “มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูวิถีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน” ประจำปี 2552 ขึ้น เพื่อร่วมกันรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองและการเข้าถึงการบริการจากรัฐ ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข สร้างความมั่นคงในการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง นำเสนอองค์ความรู้ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ ภูมิปัญญาและผลิตของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชนได้อย่างแท้จริง สร้างกิจกรรมประสานความสัมพันธ์ ระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงกับชุมชนที่อยู่ในเมืองให้มีเวทีพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน รวมทั้งร่วมกันประกาศเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก เมื่อวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำและอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นั้น เครือข่ายฯ จึงเรียนมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองฯ ดังต่อไปนี้
 
1. รัฐบาลไทยต้องสร้างมาตรการและกลไกคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามปฏิญญา กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เร่งรัดให้มีการดำเนินการศึกษาเพื่อลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 169 ว่าด้วยปวงชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเอกราช และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยประเทศไทยจะต้องยกเลิกข้อสงวนที่ลงนามในอนุสัญญาทุกฉบับ โดยเฉพาะข้อสงวนที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก
 
2.เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และคำประกาศองค์การสหประชาชาติที่ได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2548 – 2557 เป็นทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่สอง
 
เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยต้องรับรองและประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ซึ่งตรงกับ “วันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก” และต้องสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมรณรงค์สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยมีความต่อเนื่อง
 
3. รัฐบาลต้องสร้างมาตรการให้ทุกชาติพันธุ์ในประเทศยอมรับและเคารพ ในวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ
 
4.รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ดังนี้
 
4.1 ให้เด็กทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทย ต้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน
 
4.2 ให้ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ ให้มีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมเสมอหน้า
 
4.3 รัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาของชนเผ่าพื้นเมือง โดยไม่จำกัดเพศและวัย จัดทำนโยบายภาษาท้องถิ่น สนับสนุนการใช้ภาษาแม่และภาษาท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่าอย่างเป็นรูปธรรม
 
4.4 รัฐต้องคืนสิทธิการจัดการทรัพยากรให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งรัฐต้องยกเลิกโครงการและนโยบายที่มีผลกระทบและก่อความเสียหายต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง
 
4.5 รัฐต้องมีมาตรการให้ชุมชนมีสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงรัฐต้องมีมาตรการทางนโยบายและกฎหมายรองรับในการบัญญัติระเบียบสิทธิชุมชนระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
 
4.6 รัฐต้องทบทวนนโยบายการท่องเที่ยวที่ละเมิดต่อสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนเผ่า เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเชื่อและวัฒนธรรม
 
4.7 รัฐต้องมีมาตรการให้ชนเผ่าพื้นเมืองทุกภาคส่วน สามารถเข้าถึงการบริการของรัฐ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ
 
4.8 รัฐต้องให้การคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน ตามกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ให้ได้รับสิทธิภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากล
 
4.9 รัฐต้องคุ้มครองพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ให้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ การผลิตและวัฒนธรรมของชุมชน เร่งสร้างมาตรการคุ้มครองความมั่นคงในทรัพยากรดินน้ำป่า รับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของชนเผ่าบนพื้นที่สูงที่ยั่งยืนมั่นคง โดยให้ขอให้รัฐบาล จัดทำเป็นยุทธศาสตร์กำหนดเป็นแผนแม่บทโฉนดชุมชนบนพื้นที่สูงโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ตามข้อเรียกร้องข้างต้น เราขอให้รัฐบาลได้มีนโยบายสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยุติการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง ดำเนินคดี ทำลายทรัพย์สินผลอาสิน อพยพ รื้อถอน โยกย้าย จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามหลักการข้างต้นจักแล้วเสร็จ กรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้ว ขอให้รัฐบาลหามาตรการดำเนินการถอนฟ้องทางคดีโดยเร็ว ทั้งนี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ขอเสนอพื้นที่หมู่บ้านที่ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยจัดทำเป็นแผนแม่บทโฉนดชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้งนี้มีรายละเอียดเอกสารตามสิ่งที่ส่งมาด้วยแล้ว
 
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลของ ฯพณฯ จะได้นำข้อเสนอของเรา “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ไปดำเนินการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมาตรการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ต่อไป
 
จึงกราบเรียน เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
 
 
(นายจอนิ โอ่โดเชา)
ประธานกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552
 
 
 
3. ข้อเรียกร้องเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
 
สำนักงานประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
 
 
ที่ คชท. 008.41/2552
9 สิงหาคม 2552
 
 
เรื่อง ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก
เรียน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
 
สืบเนื่องมาจาก “คณะกรรมการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” อันประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย 18 ชาติพันธุ์ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มี “มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูวิถีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน” ประจำปี 2552 ขึ้นเพื่อนำเสนอปัญหาและรณรงค์ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่นั้น คณะกรรมการจัดงานฯ จึงเรียนมายังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มายังท่านเพื่อดำเนินการให้รัฐบาลทั่วโลกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังต่อไปนี้
 
1.ผลักดันให้ทุกประเทศทั่วโลก สร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาที่ได้ลงนามในสัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ อันประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และอนุสัญญาการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้ง ให้เร่งดำเนินการศึกษาเพื่อลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ๑๖๙ ว่าด้วยปวงชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเอกราช และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทุกประเทศจะต้องยกเลิกข้อสงวนที่ลงนามในอนุสัญญาทุกฉบับ โดยเฉพาะสิทธิเด็ก
 
2.ให้องค์การสหประชาชาติ สร้างกลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศต่างๆ ทั้งการนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม การจำกัดสิทธิการพัฒนาและการเข้าถึงบริการของรัฐ การกดขี่แรงงาน และกรณีอื่นอย่างเป็นรูปธรรม
 
3.เร่งผลักดันประเทศต่างๆ ทั่วโลกลงนามใน “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” โดยเร็ว
 
จึงเรียนมาเพื่อขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องใน “วันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก”
 
ขอแสดงความเคารพอย่างยิ่ง
 
 
(นายจอนิ โอ่โดเชา)
 
ประธานกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท