เตรียมพร้อม 20 ทนายฟ้องรัฐ หากดื้อดันโครงการกระทบสิทธิ

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเตรียมทนาย 20 คน รอฟ้องหน่วยงานรัฐหากออกใบอนุญาตโครงการรุนแรงทั้งที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้ครบถ้วนเสียก่อน

7 ส.ค. 52 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมว่า ครม.ได้รับทราบการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นว่า การลงทุนที่ผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง สามารถดำเนินโครงการได้ทันที และจะเร่งเดินหน้าเรื่องการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องสิทธิชุมชน โดยยืนยันว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย รัฐบาลจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าโครงการใดที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน จะต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพ และได้รับความเห็นจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์กรอิสระ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องที่ค้างอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจำนวนมากที่กำลังรอรับการอนุญาต ซึ่งเมื่อระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าวออกไปแล้ว จะทำให้การอออกใบอนุญาตราบรื่นขึ้น ซึ่งมีการลงทุนรอจุดนี้อยู่หลายแสนล้านบาท ดังนั้นจะเร่งรัดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว…

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลเชื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ว่าได้ตีความตามที่ ครม. ขอความเห็นเรื่องการดำเนินการตามมาตรา 67 โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนที่ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยมีความเห็นว่า อุตสาหกรรมที่ลงทุนและผ่านอีไอเอแล้วสามารถลงทุนโครงการได้ทันทีโดยใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมตามที่มีอยู่มาดำเนินการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรับทราบในเร็ว ๆ นี้ โดยที่ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาใช้ดุลยพินิจเอาเองว่า โครงการหรือกิจกรรมใดที่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพ

การตีความตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ใช่ข้อยุติทางกฎหมาย เพราะกฤษฎีกาเป็นเพียงแค่หน่วยงานให้คำปรึกษารัฐบาล การตีความจึงต้องสนองความต้องการของรัฐบาล เพราะในอดีตที่ผ่านมา การตีความของกฤษฎีกาก็เคยมีความเห็นที่ขัดหรือแย้งต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นหากหน่วยงานอนุญาตต่างๆ จะเชื่อคำของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนก็พร้อมที่จะพิสูจน์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในมาตรา 67 วรรคสาม เช่นกันที่ว่า “สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับการคุ้มครอง”

โดยสมาคมฯ ได้จัดเตรียมทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นกรรมการและสมาชิกของสมาคมฯไว้แล้วกว่า 20 คน เพื่อทำหน้าที่ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทางปกครองและหน่วยงานของรัฐที่ลงนามอนุมัติให้ใบอนุญาตโครงการประเภทรุนแรงทั่วประเทศตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกันชัด ๆ ว่า หลักการของการตรากฎหมายที่ยึดถือกันเป็นสากลนั้นถือว่า เมื่อได้มีการประกาศกฎหมายฉบับใดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผลใช้บังคับของกฎหมายฉบับนั้นย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่กำหนดในกฎหมายฉบับนั้น  โดยหลักดังกล่าวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นวันที่ได้ประกาศรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา  

ดังนั้นสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 และมาตรา 67 จึงได้เกิดขึ้นและได้รับการคุ้มครองแล้วตามรัฐธรรมนูญ การมาตะแบงว่าไม่ต้องรอกฎหมายที่จะต้องจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเสียก่อน ก็สามารถอนุญาตโครงการประเภทรุนแรงไปก่อนได้เลยนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถามเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกด้วย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท