Skip to main content
sharethis
ประธานคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ยันเกาะกูดเป็นของไทย ส่วนที่กัมพูชาลากเส้นมาถึงครึ่งเกาะกูดแล้วเว้นไว้เป็นการลากเส้นที่ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 100% ยันจะต้องเคลียร์ เผย 2 ประเทศหยุดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมาตั้งแต่ 2549 หลังคุยกันแล้วไม่ได้ข้อสรุป

 

วานนี้ (3 ส.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศได้มอบหมายให้ นายวศิน ธีรเวชญาณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิคการปักปันเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา ให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จำนวน 26,000 ตารางกิโลเมตร ในทะเลอ่าวไทย นั้น
 
นายวศินกล่าวว่า ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะอ้างสิทธิได้ หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้มีการประกาศให้สัมปทานในเขตนั้นเต็มหมดแล้ว ปัญหาคือว่าใครจะให้ก็ให้ไป แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้น จนกว่าจะตกลงกันได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่สุด และที่ให้สัมปทานนั้นก็เป็นพื้นที่เก่าทั้งหมดซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน ถ้าหมดเวลาก็ต้องต่อใหม่ ส่วนข้อมูลว่าได้ให้สัมปทานแก่บริษัทใดบ้างนั้นต้องสอบถามไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
นายวศิน กล่าวว่าถึงการตกลงระหว่างไทย-กัมพูชาว่า ยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ เพราะต่างฝ่ายต่างรักษาผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ถ้าเราเสนอไปแล้วเขาไม่เห็นด้วย หรือเราเสนอไปแล้วเขาไม่เห็นด้วย ก็คือตกลงกันไม่ได้ ต้องหาทางที่จะตกลงกันให้ได้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ก็จะต้องประนีประนอมกัน จึงบอกได้ยากว่าเมื่อไหร่จะตกลงกันได้ โดยเฉพาะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ละฝ่ายก็ต้องทำอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด
 
นายวศินกล่าวถึงสถานะของเรื่องนี้ว่า หลังจากทำ MOU เมื่อปี 2544 แล้วก็มีการประชุมประปราย เพื่อเสนอท่าทีเพื่อคุยกัน ให้ทราบว่าท่าทีแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปอะไรเลย ขอย้ำว่ายังไม่มีข้อสรุปอะไร เพราะยังไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งเรายังไม่พอใจข้อเสนอของกัมพูชา ส่วนกัมพูชาก็ยังไม่พอใจข้อเสนอของไทย ฉะนั้น ยังไม่ได้มีการตกลงอะไรกันแม้แต่น้อย
 
ส่วนกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับกัมพูชานั้น นายวศิน กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องเนื่องจากหลังจากนายสุเทพ ไปกัมพูชาก็ไม่ได้ติดต่อกับตน
 
นายวศิน กล่าวว่า ตนเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานคณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิคการปักปันเขตแดนทางทะเล ยังไม่ได้เข้าไปทำงานจริงๆ ซึ่งการจะทำงานตรงนี้ต้องขอกรอบการเจรจา รัฐสภาก่อนและตอนนี้อยู่ในระหว่างการขอกรอบการเจรจาจากรัฐสภา
 
ส่วนประเด็นที่น่าหนักใจนั้น นายวศิน กล่าวว่า ความจริงไม่มีประเด็นที่น่าหนักใจ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและต้องมีหลักอ้างอิงทางวิชาการสามารถที่จะอธิบายได้ว่าทำไมถึงรับและไม่รับข้อใด
 
ถามถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า กัมพูชาขีดเส้นแผนที่กินถึงพื้นที่ฝ่ายไทย นายวศิน กล่าวว่า ต่างฝ่ายต่างก็อ้างเต็มที่ แต่ก่อนที่จะแบ่ง JDA คงต้องคุยเรื่องขอบเขตก่อนว่าเขามีพื้นฐานทางกฎหมายในการอ้างเส้นนี้อย่างไรบ้าง ถ้ารับไม่ได้ต้องปรับใหม่ ต้องคุยกัน เพราะยังไม่สามารถอ้างเป็นสิทธิได้ เนื่องจาก MOU ให้ทำความตกลง ฉะนั้นเราต้องตกลงกันอีกที เราตกลงได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
ส่วนข้อกังวลว่าไทยจะเสียดินแดนในส่วนเกาะกรูด จากการอ้างเส้นเขตแดนโดยกัมพูชานั้น นายวศิน กล่าวว่า ตามความตกลงมีความชัดเจนมากว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่การลากเส้นเขตแดนของกัมพูชาที่ลากมาตัดกึ่งกลางเกาะกูดแล้วเว้นเกาะกูดไว้ เป็นการลากเส้นที่ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ100เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องเคลียร์ประเด็นเรื่องเกาะกูดให้ได้
 
"สาเหตุที่เราแบ่งเป็น 2 เซคชั่น ก็เพราะเราต้องเคลียร์ประเด็นเรื่องเกาะกูดให้ได้ เพราะเป็นการลากเส้นที่ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าน่าจะสามารถเคลียร์ได้ เพราะค่อนข้างชัดเจนในประเด็นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ"
 
นายวศินกล่าว ด้วยว่า เมื่อ 2 ฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดนและในระหว่างที่พิพาทกันอยู่ หากเขามาทำอะไรในเขตที่เรามีสิทธิ เราก็สามารถที่จะดำเนินการตามที่เราเห็นสมควรได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีใครเข้าไปทำอะไรในบริเวณนั้น เพราะต่างคนต่างเข้าใจในหลักปฏิบัตินี้ อย่างตรงกัน เราต้องเจรจาแบ่งเขตก่อนที่จะทำ JDA
 
ถามว่าฝ่ายการเมืองกดดันการทำงานหรือไม่ นายวศิน กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ยังไม่มีการกดดัน ถ้ามีการกดเมื่อไหร่แล้วจะบอก
 
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่านายสุเทพ ไปเจรจากัมพูชา จะมีการแบ่งผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายวศิน กล่าวว่า เรื่องการปักปันเขตแดนอย่างระมัดระวังและอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศที่อธิบายได้เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาขึ้นมา แต่ถ้าหากมีอะไรที่อธิบายไม่ได้ก็เป็นเรื่องน่ากลัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net