Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานภาคตะวันออก, สหพันธ์แรงงานยายยนต์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคตะวันออก พบว่าหลายที่นายจ้างยังไม่ยอมรับการรวมตัวของคนงาน

สหภาพแรงงานภาคตะวันออก, สหพันธ์แรงงานยายยนต์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคตะวันออก พบว่าหลายที่นายจ้างยังไม่ยอมรับการรวมตัวของคนงาน รวมทั้งเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และแม้ว่าจะมี พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 รองรับก็ตาม ทำให้คนงานที่รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานถูกละเมิดสิทธิ์ ส่งผลทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไป รวมถึงบางครั้งยังถูกคุกคามถึงขั้นเอาชีวิตหากดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงานต่อไป โดยเฉพาะเขตการลงทุนในภาคตะวันออก ดังกรณีเช่น
สหภาพแรงงานแคนาดอล ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จ.ระยอง ดำเนินกิจการประเภทการผลิตท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันออกจำหน่ายยังต่างประเทศ นายจ้างเป็นชาวแคนาดา มีลูกจ้างทั้งหมด 1,500 คน ลูกจ้างต้องการรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานแต่ก็ถูกขัดขวางจากนายจ้าง มีการกระทำต่างๆ ทำให้แกนนำไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ การเรียกร้องเพื่อต้องการค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ นายจ้างก็ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งนี้คนงานได้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐแต่ไม่ได้รับการแก้ไข จนในที่สุดคณะกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานก็ถูกเลิกจ้างกันทั้งหมด 350 คน ทั้งที่บริษัทเคยยืนยันว่าจะไม่มีการเลิกจ้าง
สหภาพแรงงานมิชลิน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายจ้างเป็นชาวฝรั่งเศส ทำกิจการผลิตยางรถยนต์ มิชลิน ส่งขายทั้งภายในและภายนอกประเทศมีพนักงานประมาณ 1,500 คน ก่อตั้งมา 20 ปี นายจ้างได้ประกาศลดเงินเดือนพนักงาน 13.04% ทำให้พนักงานไม่พอใจจึงรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพและยื่นข้อเรียกร้อง แต่ก็ถูกนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาแก้ปัญหา กลับไม่ได้รับการเหลียวแลหนำซ้ำยังถูกดำเนินคดี ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และขณะนี้คณะกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกทั้งหมด 45 คน ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน
สหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์ แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จี เค แลนด์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง นายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น ทำการผลิตรถจักรยานยนต์คาวาซากิ ส่งขายทั้งภายในและต่างประเทศ มีพนักงาน 1,600 คน นายจ้างได้เปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน ซึ่งทางพนักงานไม่เห็นด้วย สหภาพแรงงานจึงได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่คณะกรรมการสหภาพแรงงานถูกกล่าวหาว่ายุยงส่งเสริมให้แตกความสามัคคีในหมู่คณะ นายจ้างขออนุญาตศาลแรงงานเพื่อเลิกจ้างคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน ทำให้ลูกจ้างทั้งหมดไม่พอใจ จึงเรียกร้องให้บริษัทฯ รับคณะกรรมการที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน และท้ายที่สุดก็สามารถหาข้อยุติได้
สหภาพแรงงานเอ็นทีเอ็น นิเด็ค ประเทศไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นฯ ซีบอร์ด จ.ระยอง นายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่นทำกิจการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ มีพนักงานทั้งหมด 1,500 คน คนงานส่วนมากเป็นผู้หญิง ได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานแต่คณะกรรมการและสมาชิกบางส่วนถูกเลิกจ้างทั้งหมด 103 คน จึงรวมตัวกันเรียกร้องจนได้กลับเข้าทำงาน แต่แกนนำซึ่งเป็นพนักงานผู้หญิง ถูกคุกคาม, ถูกขู่ฆ่า ทั้งนี้พนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนได้ไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ไม่ได้รับการแก้ไข หนำซ้ำยังถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาททางโฆษณา ขณะนี้คดียังไม่ได้ข้อยุติ
โดยเหตุการณ์ทั้งหมดที่ยกมานั้น ทางสหภาพแรงงานภาคตะวันออก, สหพันธ์แรงงานยายยนต์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ถือเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน ละเมิดสิทธิแรงงาน และละเมิดอนุสัญญา ILO 87 และ 98 จึงได้เรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐลงมาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net