Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 52 สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงนามโดยนายศรีสุวรรณ  จรรยาคัดค้านกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเร่งรีบอนุมัติให้กระทรวงทรัพย์ฯ ถลุงงบกองทุนสิ่งแวดล้อม 2,256 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับกึ่งหนึ่งของเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีสะสมอยู่ ชี้รุกลี้รุกรนจนผิดสังเกต และใช้ระยะเวลาในการเสนอและอนุมัติโครงการรวดเร็วเกินไป ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ

ในขณะที่โครงการขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เสนอขอรับการสนับสนุนไปตามกรอบทิศทางการสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเดียวกันนี้ กลับต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไข จนล่าช้าเกินสมควร และเป็นโครงการที่มีวงเงินเล็กน้อยไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น อาทิ กรณีโครงการของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เสนอโครงการขอรับการอุดหนุน “โครงการการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายภาคประชาสังคมและท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมในการใช้กฎหมายจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อป้องกัน ควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศและหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่” ในวงเงินเพียง 6.9 แสนบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะเร่งด่วนเสียยิ่งกว่าโครงการของกระทรวงทรัพยากรฯเสียอีก ซึ่งจนถึงบัดนี้โครงการดังกล่าวยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในชั้นคณะอนุกรรมการฯ และ/หรือคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมเลย

โดยจดหมายเปิดผนึกได้ตั้งคำถามว่า การดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่

ทั้งนี้โครงการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว คือโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 23 (4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยอ้างว่าสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร การจับจองของนายทุน และการออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ คือ

(1) การจัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเก่า ก่อนและหลังการประกาศเขตระหว่างปี พ.ศ. 2495 - 2540 เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ (2) การจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (3) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาคมในการกำหนดแนวเขตที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และ (4) การจัดทำระบบสารสนเทศและภูมิสารสนเทศเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมของประชาคม

 
 
……………………………………….
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
 
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2552
 
เรื่อง      ขอคัดค้านการเร่งรีบอนุมัติการถลุงงบกองทุนสิ่งแวดล้อมอย่างไร้เหตุผล
เรียน      ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
สำเนาเรียน          คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม
 
ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำโครงการโดยอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งที่ 1/2552 วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2552 และคณะรัฐมนตรีรับทราบทันทีในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2552
 
ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ซึ่งคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาแล้วก็มีมติเลยทันทีเช่นกันว่า โครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องตามมาตรา 23 (4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จึงมีมติเห็นชอบในหลักการและเห็นควรจัดสรรเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
 
และล่าสุดในคราวการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณายืนยันมติเดิมพร้อมพยายามให้เหตุผลสนับสนุนว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาระบบนิเวศน์ ก่อให้เกิดการรักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป จึงได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ในวงเงิน 2,256 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว 
 
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้แทนสมาคม มูลนิธิ และองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 7 เห็นว่าการเสนอโครงการดังกล่าวใช้ช่องทางตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 23 (4) เฉกเช่นเดียวกันกับองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ได้จัดทำโครงการเสนอขอรับการอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน แต่โครงการของกระทรวงทรัพยากรฯ ดังกล่าวกลับมีลักษณะเร่งรีบลุกลี้ลุกลนจนผิดสังเกต และใช้ระยะเวลาในการเสนอและอนุมัติโครงการรวดเร็วเกินไป เกินกว่าที่สถานการณ์ปัญหาที่เป็นปัญหาตามอ้างที่เป็นที่ประจักษ์จะเห็นชัดเจนได้ ในขณะที่ต้องใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมในจำนวนถึง 2 พันกว่าล้านบาทซึ่งเท่ากับกึ่งหนึ่งของเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีสะสมอยู่ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ
 
ในขณะที่โครงการขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เสนอขอรับการสนับสนุนไปตามกรอบทิศทางการสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 23 (4) ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบด้วยเหมือนกัน กลับต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไข จนล่าช้าเกินสมควร และเป็นโครงการที่มีวงเงินเล็กน้อยไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น เช่น กรณีโครงการของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เสนอโครงการขอรับการอุดหนุน “โครงการการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายภาคประชาสังคมและท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมในการใช้กฎหมายจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อป้องกัน ควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศและหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่” ในวงเงินเล็กน้อยเพียง 6.9 แสนบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะเร่งด่วนเสียยิ่งกว่าโครงการของกระทรวงทรัพยากรฯเสียอีก โดยเสนอไปตั้งแต่ในช่วงที่มีปัญหาวิกฤตหมอกควันเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2552 เช่นเดียวกัน
 
แต่จนถึงบัดนี้โครงการดังกล่าวยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในชั้นคณะอนุกรรมการฯ และ/หรือคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมเลย โดยอ้างว่าอนุกรรมการยังมีไม่ครบ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิยังไม่สมบูรณ์ ในขณะที่อนุกรรมการและ/หรือกรรมการเดิมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกว่าร้อยละ 80 และยังสามารถทำหน้าที่รักษาการได้จนกว่าจะมีคณะอนุฯและ/หรือกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโครงการที่เสนอขอมาจากกระทรวงฯ โดยใช้ช่องทางเดียวกัน แต่กลับได้รับการพิจารณาและเห็นชอบในทันที (เอกสารโครงการใช้แจกให้ดูในที่ประชุม มิได้ส่งให้ดูก่อนล่วงหน้าเหมือนโครงการอื่น ๆ โดยทั่วไป)
 
นอกจากนั้นยังมีโครงการขององค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกจำนวนมากมายทั่วประเทศ ที่เข้าข่ายเป็นโครงการเร่งด่วนเสียยิ่งกว่า แต่กลับถูกดองเรื่องไม่นำมาพิจารณาเฉกเช่นโครงการของกระทรวงทรัพยากรฯ เพราะบางโครงการขององค์กรพัฒนาเอกชนฯที่เสนอขอใช้งบอุดหนุนไปแล้วนานกว่า 3 ปีก็ยังไม่มีการเห็นชอบใด ๆ ก็มี
 
การดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม จึงมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่
 
            อย่างไรก็ตาม โครงการของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่เสนอขอรับการอุดหนุนตามมาตรา 23 (4) นั้นโดยอ้างว่าเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 23 (4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยอ้างว่าสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร การจับจองของนายทุน และการออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ คือ
 
(1) การจัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเก่า ก่อนและหลังการประกาศเขตระหว่างปี พ.ศ. 2495 - 2540 เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ
 
(2) การจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
 
(3) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาคมในการกำหนดแนวเขตที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
 
(4) การจัดทำระบบสารสนเทศและภูมิสารสนเทศเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมของประชาคม
 
            ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีที่ผ่านมาของกรมป่าไม้และ/หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้มีการตั้งงบประมาณดำเนินการเป็นงบประมาณปกติในแต่ละปีอยู่แล้ว ไม่เห็นจะมีความจำเป็นเร่งด่วนประการใดที่จะต้องมาจัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อใช้งบจากเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีเจตนารมณ์ตามมาตรา 23 คือให้ท้องถิ่น ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจลงทุนหรือกู้ยืม เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการบำบัดกำจัดมลพิษต่าง ๆ หรือให้เอกชนกู้ยืมเพื่อจัดให้มีระบบบำบัดหรือกำจัดมลพิษต่าง ๆ เช่นกัน นอกจากนั้นเป็นงบบริหารและงบเพื่อการอุดหนุนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในกิจการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
 
แต่หากว่าท่านและคณะกรรมการจะตีความว่าการจัดทำข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลแนวเขตที่ดิน และระบบสารสนเทศ ภูมิสารสนเทศเป็นการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะกระทำได้ แต่ต้องมีหลักการและฐานคิดที่ชัดเจน เพราะสามารถใช้เป็นมาตรฐานได้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ท่านและกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมแต่ละคนก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลและการใช้ดุลยพินิจของท่านด้วยหากโครงการดังกล่าวมิได้เป็นไปตามที่ท่านและคณะได้ใช้ดุลยพินิจ
 
            อนึ่ง สมัชชาฯ ใคร่ขอเรียนถามเหตุผลของการใช้ดุลยพินิจของท่านนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมว่า หากโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากท่านและคณะฯ และดำเนินการตามแผนงานเหล่านั้นแล้ว จะสามารถบังเกิดผลดังนี้จริงหรือไม่ประการใด
 
(๑) เมื่อมีโครงการนี้แล้ว ปัญหาการบุกรุกป่าหรือพื้นที่อุทยาน เพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตรจะหมดไปโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่
 
(๒) ปัญหาการจับจองที่ดินของนายทุน เพื่อนำไปแปลงหรือดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะหมดไปใช่หรือไม่
 
(๓) ต่อจากนี้ไปปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินของราษฎรกับแนวเขตที่ดินของป่าไม้หรือเขตอุทยานทับที่ทำกินของราษฎรจะหมดไปใช่หรือไม่
 
(๔) โครงการดังกล่าวมีความเร่งด่วนมากเสียจนไม่สามารถรอขอใช้งบประมาณโดยปกติได้เลยใช่หรือไม่
 
(๕) งบประมาณดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบหรือได้รับการตรวจสอบจากระบบของรัฐสภาและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอย่างไร จึงจะยอมรับได้ว่ามีธรรมาภิบาล ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546
 
(๖) ในอนาคตโครงการประเภทนี้องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมสามารถใช้เหตุผลเดียวกันกับกระทรวงทรัพยากรฯ ในการขอใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ในลักษณะเช่นนี้ได้ด้วยใช่หรือไม่
 
(๗) การตีความคำว่า “การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ตามนัยยะของท่านและคณะฯ หมายถึง การอุดหนุนให้ดำเนินการจัดทำแผนที่ใด ๆ และ/หรือ การจัดทำฐานข้อมูลใด ๆ และ/หรือ การจัดทำระบบสารสนเทศใด ๆ ด้วยใช่หรือไม่
 
(๘) หากโครงการดังกล่าว ถูกนำไปดำเนินการแล้วมีลักษณะเช่นเดียวกับโครงการฝายแม้ว ที่กำลังตรวจสอบโดย ปปช. และสตง. อยู่นั้น ท่านและคณะกรรมการฯ จะแสดงความรับผิดชอบทันทีใช่หรือไม่ ทั้งในขณะดำรงตำแหน่งและพ้นตำแหน่งไปแล้วอย่างไร
 
            เนื่องจากเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เงินส่วนตัวของท่านหรือของคณะกรรมการท่านหนึ่งท่านใด หรือเงินส่วนตัวของกระทรวงทรัพยากรฯ หากแต่เป็นเงินที่มาจากภาษีของราษฎรทั้งทางตรงและทางอ้อม การอนุมัติหรือเห็นชอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวต้องมีรายละเอียด มาตรการการติดตาม ตรวจสอบที่ชัดเจน รัดกุม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ สมัชชาฯ จึงเรียนมายังท่านเพื่อขอย้ำเตือนให้ท่านดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อย่างเคร่งครัด
 
และที่สำคัญหากโครงการนี้ มีการนำเงินงบประมาณไปใช้ในลักษณะที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่บังเกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และอาจสร้างความเสียหายต่อระบบงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไปเฉกเช่นเดียวกันกับความผิดพลาดของโครงการหลาย ๆ โครงการที่ริเริ่มมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในอดีต เช่น โครงการฝายแม้ว เป็นต้น จนนำไปสู่การสอบสวนของ ปปช. และ สตง. มวลสมาชิกขององค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะไม่อาจเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้อีกต่อไป และต้องติดตาม ตรวจสอบ และหาผู้ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาลงโทษตามกฎหมาย และจะต้องทวงถามถึงความรับผิดชอบของท่าน คณะกรรมการ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติต่อไป ขอสัญญา...
 
            ดังนั้นแล้ว หากฯพณฯ ไม่แน่ใจ ไม่ชัดเจนในแผนงาน และวัตถุประสงค์ที่แอบแฝงของโครงการนี้ ขอได้โปรดสั่งการ ระงับ และ/หรือทบทวนการพิจารณาโครงการดังกล่าวเสียใหม่ แล้วเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและเหมาะสมประการใดเสียก่อน ก่อนที่ ฯพณฯ จะถลำลึกและก้าวผิดพลาดในการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมายที่จะตามมา จนยากที่จะกลับตัวหรือแก้ไขใหม่ได้ต่อไป
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
กรรมการผู้อำนวยการ
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net