Skip to main content
sharethis
เซลายาลอดรั้วข้ามไปฝั่งฮอนดูรัสชั่วคราวอ้างจะพบครอบครัว ก่อนข้ามกลับ ส่วนผู้สนับสนุนยังคงปักหลักชุมนุมตามเขตพรมแดน ปธน.คอสตาริก้าเดินหน้าเสนอให้เซลายากลับดำรงตำแหน่ง ส่วนมิเชลเลตตีแสดงท่าทีผ่อนปรน เผยอาจยอมให้เซลายากลับ แต่ผู้นำระดับสูงอื่นๆ ในฮอนดูรัสยังคงคัดค้าน

 


ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีฮอนดูรัสผลักดันกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่เอล พาไรโซ เมืองชายแดนของฮอนดูรัส ห่างจากชายแดนนิคารากัวราว 12 กิโลเมตร เมื่อ 24 ก.ค. (Reuters)



ทหารจับผู้สนับสนุนเซลายาระหว่างการประท้วงที่เอล พาไรโซ เมืองชายแดนของฮอนดูรัส ห่างจากชายแดนนิคารากัวราว 12 กิโลเมตร เมื่อ 24 ก.ค. (Reuters)

ทหารอยู่ท่ามกลางแก๊สน้ำตา ระหว่างการสลายฝูงชนผู้สนับสนุนเซลายาที่เอล พาไรโซ เมืองชายแดนของฮอนดูรัส ห่างจากชายแดนนิคารากัวราว 12 กิโลเมตร เมื่อ 24 ก.ค. (Reuters)


เซลายาร้องเพลงชาติที่ด่านพรมแดนลาส มานอส ชายแดนฮอนดูรัส-นิคารากัว เมื่อ 24 ก.ค. ระหว่างที่เขาเดินเข้ามาในเขตฮอนดูรัสเชิงสัญลักษณ์ (Reuters)


เซลายากล่าวกับผู้สนับสนุนเขาที่ลาส มานอส นิคารากัว เมื่อ 25 ก.ค. (AP)

 
ผู้สนับสนุนเซลายานอนขวางรถบรรทุกตำรวจขณะประท้วงในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อ 29 ก.ค.
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งปีนขึ้นไปพ่นกราฟิตี้บนรูปปั้นอนุสรณ์ของกองทัพฮอนดูรัส ในการประท้วงเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ข้อความระบุว่า "ทหาร ฆาตกรสังหารประชาชน"
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
กลุ่มสนับสนุนเซลายานั่งรถโดยสารกลับฮอนดูรัส หลังจาก
ที่ได้ไปพบกับเซลายาในเมือง เอล โอโคตอล เมืองของนิคารากัวที่อยู่ติดพรมแดนฮอนดูรัส
(AP Photo/Esteban Felix)
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาเดินขบวนในกรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาเจนติน่า เมื่อ 29 ก.ค ป้ายที่ถืออยู่เขียนว่า "คืนตำแหน่งให้เซลายา" (REUTERS/Marcos Brindicci)
 
29 ก.ค. ผู้สนับสนุนเซลายานั่งเฝ้ายามอยู่หน้าที่พักของเอกอัครราชทูตเวเนซุเอลา เพื่อป้องกันไม่ให้เขาถูกขับไล่ ป้ายผ้าที่แขวนไว้เขียนว่า "การต่อสู้ยาวนาน 500 ปี เลมปิร่ายังคงอยู่" โดยเลมปิร่า เป็นชื่อของหัวหน้าเผ่าเลนก้าผู้นำการต่อสู้ระดับท้องถิ่นเพื่อขับไล่คอนควิสทาดอร์ชาวสเปน จนทำให้ได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาชุมนุมกันที่ ลาส มานอส เมืองพรมแดนของนิคารากัวที่ติดกับฮอนดูรัส เมื่อ 29 ก.ค.
(AP Photo/Esteban Felix)
 
 
กลุ่มองค์กรสตรีในฮอนดูรัสร่วมชุมนุมสนับสนุนเซลายา
(AFP/Jose Cabezas)
 
 
ในเอล โอโคตอล 28 ก.ค. ผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลของนิคารากัว (พรรคซานดินิสต้า - Sandinista National Liberation Front หรือ FSLN ซึ่งเป็นพรรคแนวสังคมนิยม) ยิงปืนครกที่ทำขึ้นเองเพื่อแสดงการสนับสนุนมานูเอล เซลายา (REUTERS/Oswaldo Rivas)
 
 
เซลายาขึ้นมาทักทายผู้สนับสนุนบนรถโดยสารในเอล โอโคตอล ประเทศนิคารากัว
(AFP/Mayerling Garcia)
 
 
เซลายาพูดคุยกับผู้สนับสนุนเขาขณะกำลังรอภรรยาของเขาที่ฟาร์ม ลาส คอรินาส ติดกับพรมแดนฮอนดูรัส เมื่อ 28 ก.ค. (REUTERS/Oswaldo Rivas)
 
ทหารให้ชายคนหนึ่งขัดรองเท้า ขณะอยู่ในลาส มานอส เมืองพรมแดนติดกับนิคารากัว
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาพักกันอยู่ที่พักชั่วคราวในเอล โอโคตอล
(AP Photo/Esteban Felix)
 
 
เซลายา กำลังพูดคุยกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่พักอยู่ในที่พักชั่วคราวในเอล โอโคตอล
(AP Photo/Esteban Felix)
 

กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาพักอาศัยชั่วคราวกันในเต็นท์เมือง เอล ปาไรโซ ของฮอนดูรัสที่มีพรมแดนติดกับนิคารากัว
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาในเมือง เอล ปาไรโซ ต่อแถวกันรับอาหาร
(AP Photo/ Eduardo Verdugo)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาขู่จะทุ่มหินใส่รถที่ไม่ยอมหยุดในการปิดถนนเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา
(AP Photo/Arnulfo Franco)
 
 
 
24 กรกฎาคม
 
เซลายาลอดรั้วข้ามพรมแดนเข้าประเทศ “การกลับมาเชิงสัญลักษณ์” ?
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ตัดสินใจข้ามพรมแดนนิคารากัวเพื่อกลับเข้าประเทศฮอนดูรัสเป็นเวลา 30 นาที โดยมีประชาชนมาร่วมรอรับเข้าประเทศกว่าร้อยคนโดยก่อนหน้านี้พวกเขาถูกทหารยิงแก๊สน้ำตาเพื่อขับไล่
 
โดยสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เซลายาถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้สนับสนุนและนักข่าว ขณะที่เขากำลังพูดคุยโทรศัพท์พร้อมทั้งยกโซ่ที่กั้นเป็นพรมแดนระหว่างนิคารากัวกับฮอนดูรัสขึ้นแล้วเดินลอดผ่านไป ซึ่งสตีเฟน กิบส์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีบอกว่าทหารที่อยู่ละแวกนั้นถอยห่างจากเซลายาราว 20 เมตร พวกเขาดูเหมือนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี
 
บีบีซี รายงานต่อว่าหลังจากนั้นเซลายาก็เดินไปที่ป้ายซึ่งเขียนว่า "ยินดีต้อนรับสู่ฮอนดูรัส" โดยไม่ได้ก้าวเข้าไปในตัวประเทศมากกว่านี้ เซลายาอยู่ที่นั่นไม่ถึง 30 นาทีก็ตัดสินใจข้ามกลับไปสู่พรมแดนฝั่งนิคารากัว โดยเซลายาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Telesur ของเวเนซูเอลลาว่าเขาไม่ได้กลัวหรือบ้า เพียงแต่ไม่อยากเป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรง
 
ขณะที่ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อว่าการข้ามพรมแดนของเซลายาครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่บุ่มบ่าม ส่วนผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัส โรเบอร์โต มิเชลเลตตี บอกว่าการกระทำของเซลายาเป็นความคิดที่แย่และเป็นเรื่องโง่
 
ซึ่งสำนักข่าวหลายสำนักเรียกการข้ามพรมแดนชั่วคราวของเซลายาในครั้งนี้ว่าเป็นเดินทางกลับประเทศในเชิงสัญลักษณ์
 
มานูเอล เซลายา บอกว่าเขาเดินทางเข้ามารอครอบครัวของเขามารับในพรมแดนฝั่งฮอนดูรัส ขณะที่เซียวมารา ภรรยาของมานูเอล เซลายา บอกสำนักข่าว CNN ผ่านทางโทรศัพท์ว่าเขาถูกตำรวจและทหารปิดถนนทางหลวงไม่ให้เธอและคนอื่น ๆ ผ่าน โดยเซลายาบอกอีกว่าเขาจะยังคงเดินทางไปกลับระหว่างชายแดนกับเมืองเอล โอโคตอล ที่อยู่ห่างจากชายแดนไป 40 กม. แต่จะไม่พยายามข้ามพรมแดนอีก
 
ผู้ชุมนุมฝืนเคอร์ฟิวปะทะตำรวจ-ทหาร เสียชีวิต 1 ราย
ในวันเดียวกัน (24 ก.ค.) ที่เมืองเขตพรมแดน เอล ปาไรโซ กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาที่มาชุมนุมโดยไม่สนใจกฏเคอร์ฟิวได้ปะทะกับกลุ่มรักษาความสงบที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ ต่อมาพบว่ามีชายวัย 23 ปี คนหนึ่งถูกแทงเสียชีวิตห่างออกไป 50 เมตร จากจุดที่มีการชุมนุม ซึ่งกลุ่มสนับสนุนเซลายาบอกว่าฝ่ายตำรวจและทหารเป็นคนลงมือ แต่ทางโฆษกตำรวจของฮอนดูรัส ดานิเอล โมลินา ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
 
 
25 กรกฏาคม
 
ปธน.คอสตาริกา ยื่นเสนอรัฐบาลชั่วคราวให้คืนตำแหน่งแก่เซลายา ถูกบอกปัด
ประธานาธิบดีของคอสตาริกา ออสการ์ อาเรียส ได้นำเสนอแผนคืนเซลายากลับสู่ตำแหน่งและอนุมัติการนิรโทษกรรมกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัสก็ปฏิเสธแผนนี้ โดยรัฐมนตรีกลาโหมของฮอนดูรัสออกแถลงการณ์ในเว็บไซต์ระบุว่า ทางการฮอนดูรัสจะยอมรับการอภิปรายที่ดำเนินไปตามสนธิสัญญา ซาน โฮเซ่ (San Jose accord) และจะยอมรับข้อเสนอที่อยู่ภายใต้กฏรัฐธรรมนูญเท่านั้น
 
 
27 กรกฎาคม
 
รัฐบาลชั่วคราวยอมอภิปรายข้อเสนอ แต่ยังมีท่าทีคัดค้าน
รัฐสภาฮอนดูรัสเข้าร่วมอภิปรายกับออสการ์ อาเรียส ตามสนธิสัญญา ซาน โฮเซ่ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีจุดประสงค์เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังากที่มีการยึดอำนาจประธานาธิบดีเซลายาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยการอภิปรายในครั้งนี้มีสมาชิกจากรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสเข้าร่วม 128 ราย โดยมิเชลเลตตียังไม่ลงนามในข้อตกลงใด ๆ เนื่องจากข้อเสนอบางอย่างเช่น การนิรโทษกรรมหรือการเลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น ต้องมีการปรึกษากับรัฐบาลในส่วนอื่น ๆ ก่อน ขณะที่ทางศาลสูงของฮอนดูรัสก็ยังปฏิเสธการรับเซลายากลับเข้าประเทศในฐานะประธานาธิบดี
 
 
28 กรกฎาคม
 
สหรัฐฯ ประกาศถอนวีซ่าการทูตของรัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัส 4 ราย
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกวีซ่าการทูตของสมาชิกในรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัส 4 ราย เพื่อต้องการให้พวกเขาลงจากอำนาจและคืนตำแหน่งให้กับมานูเอล เซลายา
 
โดย เอียน เคลลี่ โฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่าการยกเลิกวีซ่าทางการทูตในครั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาไม่นอมรับรัฐบาลของมิเชลเลตตี และบอกอีกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งในมาตรการที่ทางการสหรัฐฯ จะใช้กับรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัส
 
 
29 กรกฎาคม
 
ปธน.คอสตาริกาหนุนเดินหน้ากดดันคณะรัฐประหาร ผู้นำอเมริกากลางร่วมหนุน
วันที่ 29 ก.ค. ออสการ์ อาเรียส ปธน.นิคารากัวผู้เคยเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างสองคู่ขัดแย้งในฮอนดูรัส เรียกร้องให้ต่างชาติยังคงคว่ำบาตรฮอนดูรัสต่อไป โดยในวันเดียวกัน (29 ก.ค.) กลุ่มผู้นำของประเทศแถบอเมริกากลาง อาทิ เม็กซิโกและโคลัมเบีย ก็แสดงจุดยืนสนับสนุนแผนการณ์ของออสการ์ อาเรียส ในการต่อต้านกลุ่มรัฐประหารในฮอนดูรัส
 
ทางด้านมิเชลเลตตี เรียกร้องให้อาเรียสดำเนินการเจรจากับรัฐบาลชั่วคราวสามฝ่ายของฮอนดูรัส โดยมิเชลเลตตียังบอกด้วยว่า อยากให้มีการอนุญาตให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมเช่น กลุ่มศาสนา นักศึกษา กลุ่มนักธุรกิจ สหภาพแรงงาน พรรคการเมือง และ สื่อมวลชน เข้าร่วมการเจรจาด้วย
 
 
มิเชลเลตตีเผยล่าสุดอาจยอมให้เซลายากลับประเทศ ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากกลุ่มระดับสูง
ทางการฮอนดูรัสและทูตในพื้นที่เปิดเผยว่า ผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัส โรเบอร์โต มิเชลเลตตี แสดงท่าทีประนีประนอม โดยอาจยอมให้ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาที่ถูกยึดอำนาจกลับประเทศเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
 
ในวันที่ 29 ก.ค. มิเชลเลตตีได้เรียกออสการ์ อาเรียส เข้าพบเพื่อแสดงท่าทีสนับสนุนแผนการของอาเรียส 12 ข้อ หรือก็คือสนธิสัญญาซาน โฮเซ่ ที่อาจมีการนำเซลายากลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่จะต้องมีการจำกัดขอบเขตอำนาจ
 
ทางการฮอนดูรัสยังได้รายงานว่า มิเชลเลตตีเตือนอาเรียสว่าเขายังไม่สามารถเชิญชวนให้รัฐบาลในส่วนอื่น ๆ รวมถึงผู้นำทางธรกิจในฮอนดูรัสให้มีมติเห็นพ้องกับแผนการนี้ จึงได้ขอร้องให้อาเรียสพิจารณาส่งตัวผู้มีบทบาททางการเมืองระดับนานาชาติมาช่วยเหลือ โดยหนึ่งในผู้ที่ทางการฮอนดูรัสกล่าวถึงว่ามีความเป็นไปได้คือ เอนริค อิกเกลซิอัส อดีตประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาชาติอเมริกัน (Inter-American Development Bank หรือ IDB)
 
ข่าวจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ระบุว่า การตัดสินใจของมิเชลเลตตีในครั้งนี้เกิดขึ้นถัดจากวันที่สหรัฐฯ กดดันรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสด้วยการระงับวีซ่าการทูตจาดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 ราย และรัฐสภาฮอนดูรัสก็เริ่มพิจารณาแผนการของอาเรียสอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันทูตที่ใกล้ชิดกับการเจรจาเปิดเผยว่ายังคงมีการต่อต้านการกลับมาของเซลายา ซึ่งนำโดยนักการเมืองและนักธุรกิจผู้มีอำนาจในฮอนดูรัส โดยบางคนบอกว่าพวกเขารูสึกเหมือนถูกทรยศ
 
โดยกลุ่มสภานิติบัญญัติและศาลสูงของฮอนดูรัสได้กล่าวไว้ว่าเป็นความผิดพลาดที่ทหารบังคับให้เซลายาออกนอกประเทศ แต่ข้อกล่าวหาของเขาก็ยังคงเป็นความจริง และหนทางเดียวที่จะให้เซลายากลับประเทศ คือให้เขากลับมาเผชิญหน้ากับการพิจารณาคดี
 
ตามแผนการของอาเรียสระบุไว้ว่าเซลายาจะต้องได้รับอนุญาตให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจนครบวาระในเดือนมกราคมปีหน้า แม้ว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนให้เร็วขึ้นอีกหนึ่งเดือน โดยเซลายาจะต้องไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ จนกว่าเขาจะออกจากตำแหน่ง
 
โดยข้อตกลงทั้งหมดนี้ ไม่ได้รับการยอมรับในสภาฮอนดูรัสเลย
 
 
ที่มา - แปลและเรียบเรียงจาก
Honduran Leader Backs Return of President, GINGER THOMPSON, NY Times, 29/08/2009 http://www.nytimes.com/2009/07/30/world/americas/30honduras.html
 
Honduran Congress considers accord, CNN, 28/07/2009
 
U.S. revokes four visas of de facto Honduras government, Sue Pleming, Reuters, 28/07/2009
 
Exiled Honduran leader makes 2nd trip to border, Morgan Lee, AP, 26/07/2009
 
Ousted Zelaya makes brief return, BBC, 25/07/2009
 
Regional summit pushes for Honduras peace plan, AFP, 29/07/2009
 
Mediator calls for continued sanctions in Honduras, MARIANELA JIMENEZ, AP, 30/07/2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net