Skip to main content
sharethis

25 ก.ค. 52 - นายไวทิต ศิริสุวรรณ รองประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า การที่ธนาคารเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามหนี้ 250 บาทต่อครั้งในการผิดนัดชำระ 2 ครั้งแรก และเรียกเก็บ 350 บาท ในการผิดนัดครั้งที่ 3 แม้จะมีการผิดนัดชำระหนี้เพียง 1 บาทถือเป็นการซ้ำเติมสังคม

"ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวทุกคนยากลำบาก ธนาคารควรจะยืดหยุ่น และสวมบทบาทเป็นผู้นำในการช่วยเหลือสังคมอย่าลืมว่าไทยพาณิชย์มีสนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่" นายไวทิต กล่าว
นายไวทิตกล่าวอีกว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งอื่นทั้งกรุงเทพ กรุงไทยกสิกรไทย ทหารไทย และนครหลวงไทย ก็ไม่มีใครเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ ยกเว้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นต่างชาติ
วานนี้ สหภาพได้รวมตัวกันประท้วงที่สำนักงานใหญ่รัชโยธินโดยแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บค่าทวงถามที่ไม่เป็นธรรมและประท้วงการตั้งบริษัททวงหนี้
นางองค์อร อาภากร ณ อยุธยาผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารงานสื่อสารองค์กร ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ที่ได้พิจารณาหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะตลาด คู่แข่งขัน รวมถึงสถานะของธนาคาร ซึ่งธนาคารไม่ได้ปิดกั้นต่อสิ่งที่ได้ประกาศไปแล้ว สามารถทบทวนได้เสมอ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ อู่มั่น ประธานสหภาพแรงงาน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ทางสหภาพฯยังเดินหน้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บริหารธนาคาร เพื่อขอความชัดเจนในการจัดหาตำแหน่งงาน สำหรับพนักงานที่ไม่สมัครใจไปทำงานในบริษัทใหม่ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่กังวลว่าจะไม่มีความมั่นคง โดยในวันเสาร์ที่ 25 ก.ค.นี้ตัวแทนพนักงานจะเดินทางไปวางพวงหรีดหน้าบ้านนายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะเดียวกันยังแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำหนังสือสอบถามไปยังสมาคมธนาคารไทยเกี่ยวกับนโยบายจัดตั้งบริษัทติดตามหนี้ของธนาคารสมาชิกแห่งอื่นๆ
แนวทางการเรียกร้องขอความเป็นธรรมนั้น เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ธนาคารได้ทำข้อตกลงไว้ก่อนหน้า แต่ที่ผ่านมาทางผู้บริหารไม่ได้ให้ความมั่นใจต่อพนักงาน เพียงแต่ระบุว่าหากใครไม่อยากโอนไปบริษัทใหม่ก็มีทางเลือก ให้เวลา 1เดือนในการหาตำแหน่งงาน แต่หากไม่ได้ก็ต้องออก
นอกจากนี้ ในการชี้แจงและตอบข้อซักถามของพนักงานเมื่อวันที่ 9 ก.ค.นั้น นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังได้ระบุถึงเหตุผลที่มีการจัดตั้งบริษัทติดตามหนี้ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารสุดท้ายที่ดำเนินการช้ากว่าธนาคารขนาดเดียวกัน หลังจาก 3 ปีก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกกฎว่า การติดตามหนี้จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากลูกค้านั้น ธนาคารจะต้องอธิบายธปท.ถึงต้นทุนของธนาคารได้ หากอยู่ในธนาคารอาจอธิบายไม่หมด ทุกธนาคารจึงเปิดบริษัทขึ้นมา ซึ่งเป็นการจัดตั้งบริษัทเพื่อจัดเก็บค่าใช้จ่ายกับลูกค้าโดยหวังลดต้นทุนและไม่ได้เรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าธนาคารอื่นๆ
อีกทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มการเงินมีกฎหมายออกมาเพื่อให้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปมีการโยกย้ายทำได้ง่ายที่สุด คือ สามารถเชื่อมโยงงานกันโดยไม่มีรอยตะเข็บจากสมัยก่อนบริษัทลูกต่างคนต่างทำต่างคนต่างมีผลประโยชน์บางบริษัท   ดังนั้นแนวทางที่ธนาคารทำอยู่จะทำให้ไม่ว่าพนักงานธนาคารจะย้ายไปบริษัทใดก็ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมทุกประการ มีอย่างเดียวที่เปลี่ยนคือ เซ็นชื่อและนามบัตรใหม่เท่านั้น
"จริงๆ ควรจะทำเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เราต้องทำเรื่องอื่นให้เสร็จก่อน จึงช้ากว่าคู่แข่ง ซึ่งเราเสียเปรียบคู่แข่งไม่ได้ และนี่ไม่ใช่กลุ่มแรก ต่อไปจะออกเป็นกลุ่มๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของธุรกิจ" นางกรรณิกากล่าวชี้แจงพนักงาน
จากปัญหาความขัดแย้งในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย (สธง.)ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเรียกร้องความเป็นธรรมของสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์โดยอ้างว่าการจัดบริษัทติดตามหนี้ขึ้นมาเป็นบริษัทลูกเพื่อช่วยลดต้นทุนธนาคารแต่ไม่ควรจะเอารัดเอาเปรียบพนักงานและลูกค้า ทั้งในแง่ของการโอนย้ายพนักงานไปยังบริษัทใหม่และการผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำของธนาคารให้เป็นภาระของลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภค
ขณะที่นางองค์กร อาภากร ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"   ว่า ขอยืนยันว่าคณะผู้บริหารธนาคารได้รับทราบถึงข้อกังวลใจของพนักงานและมิได้นิ่งนอนใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการพูดคุยกับพนักงานในข้อกังวลใจ และได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการโอนย้ายและการจ้างงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้นตามข้อเสนอแนะของพนักงานไปแล้ว อย่างไรก็ตามหากยังมีพนักงานที่มีความไม่สบายใจอยู่ ธนาคารจะพยายามอธิบายและพูดคุยกับพนักงานจนกว่าจะเกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน เนื่องจากพนักงานทุกคนเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ยังมีความเป็น "ไทยพาณิชย์" เช่นเดิม ธนาคารเชื่อว่าจะสามารถพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ในที่สุด
นอกจากนี้ การจัดตั้งบริษัทติดตามหนี้ในครั้งนี้เป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาไว้ที่จุดเดียวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารงาน มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะปลดหรือปรับลดพนักงานลงแต่อย่างใด
โดยก่อนหน้านี้ (18 ก.ค.) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีการร้องเรียนของสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ โดยยืนยันว่ามีความตั้งใจจะดูแลพนักงานด้วยความจริงใจ พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทติดตามทวงหนี้ว่า ธนาคารจะถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 100% โดยจะทำการโอนย้ายพนักงานในหน่วยงานเดิมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการติดตามทวงถามหนี้ไปสังกัดบริษัทใหม่ เพื่อเป็นการรวบรวมความชำนาญเฉพาะด้านไว้ด้วยกัน ให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการติดตามหนี้ ทั้งนี้ พนักงานที่โอนไปยังบริษัทใหม่ ได้รับสิทธิ เงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ต่างๆ เทียบเท่าการเป็นพนักงานธนาคารทุกประการ รวมถึงการนับอายุงานของพนักงานซึ่งจะนับต่อเนื่องจากอายุงานธนาคารด้วย
และในกรณีที่บริษัทใหม่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของบริษัทได้ หรือมีกรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือครองหุ้นของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารจะรับพนักงานซึ่งโอนย้ายไปอยู่บริษัทใหม่ กลับมาปฏิบัติงานกับธนาคารตามตำแหน่งและในหน้าที่งานที่เหมาะสม
  
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ฐานเศรษฐกิจ, โพสต์ ทูเดย์
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net