Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงวันที่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 
 
 0 0 0
 
จดหมายเปิดผนึก
ถึง
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         
ตามที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ว่าได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่กสม. ความว่า “ ............นอกจากนี้ยังต้องปรับวิธีทำงาน โดยจะไม่ให้กสม.เป็นเอ็นจีโอระดับชาติหรือเป็นสำนักงานทนายความ อีกทั้งจะไม่แก้ปัญหาหรือส่งฟ้องเป็นรายๆ แต่ต้องไปให้ไกลกว่านั้น...........” และยังกล่าวอีกว่า “ ..........รวมทั้งยังต้องปรับยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ด้วย เพื่อให้ กสม.เป็นองค์กรอิสระที่แท้จริงไม่ใช่เอ็นจีโอ และจะได้ไม่ถูกมองว่าทำหน้าที่เหมือนเป็นฝ่ายค้านอย่างที่ผ่านมา” ดังเป็นที่ทราบโดยทั่วไปนั้น
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอทั่วประเทศ มีความเห็นว่า การมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่กสม.ดังกล่าวเป็นทัศนะที่อาจเป็นอันตรายต่อการทำงานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ด้วยเหตุผล ดังนี้
           
ประการแรก  เป็นการโน้มนำ เหมารวมให้สาธารณชนหรือผู้คนในสังคมหลงคิดและหลงเชื่อว่า “การเป็นเอ็นจีโอ” เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งๆที่ไม่อาจอธิบายได้ว่า “การเป็นเอ็นจีโอ” มีนิยามความหมายเช่นไร หรือการทำงานของเอ็นจีโอมีความเป็นปฏิปักษ์กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างไร เพียงใด  ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เอ็นจีโอส่วนใหญ่กำลังทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายมิติ ทั้งการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  การให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก หรือการรณรงค์ผลักดันนโยบายและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งประเด็นที่ไม่ควรหลงลืมหรือตัดตอนความทรงจำทางประวัติศาสตร์เป็นอันขาดก็คือ การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผลิตผลหนึ่งของการต่อสู้ผลักดันขององค์กรสิทธิมนุษยชนนั่นเอง
 
ประการที่สอง  เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ที่ไปเข้าใจว่าการตรวจสอบรัฐบาลในการละเมิด สิทธิมนุษยชนเป็นการ “ทำหน้าที่เหมือนฝ่ายค้าน” เพราะถือเป็นภารกิจขั้นพื้นฐานของรัฐที่ต้องเคารพ ปกป้องคุ้มครอง และการดำเนินการให้เกิดสิทธิที่เป็นจริง เพื่อให้สิทธิของประชาชนได้รับการประกันอย่างแท้จริง อันเป็นความรู้ปฐมบทเกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้ เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องทำหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงจำต้องเชื่อมโยงการละเมิดสิทธิเข้ากับภาระความรับผิดชอบของรัฐต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไม่อาจเลี่ยงพ้น หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงพันธกรณีใดๆเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น ความไม่รู้หรือไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ของรัฐกับสิทธิมนุษยชน นอกจากจะเป็นการละเลยเพิกเฉย หรือไม่ตระหนักต่อหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอแล้ว ยังอาจมีความโน้มเอียงที่จะทำหน้าที่ปกป้องหรือเข้าข้างเพื่อแก้ต่างให้รัฐมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของประชาชน
 
ประการที่สาม เป็นความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับความเป็นองค์กรอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เชื่อว่า “ต้องปรับยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ด้วย เพื่อให้ กสม.เป็นองค์กรอิสระที่แท้จริงไม่ใช่เอ็นจีโอ” เนื่องด้วยความเป็นองค์กรอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความหมายสองระดับ คือ ความหมายในระดับความคิดและจิตวิญญาณที่ต้องปลอดจากการครอบงำทางความคิด ความเชื่อและทัศนคติแบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ที่ดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นในหมู่บุคคล หน่วยงาน สถาบันหรือองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย รวมทั้งในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย  
 
สำหรับความหมายในอีกระดับ คือ การปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ต้องมีความเป็นอิสระ ปลอดจากการครอบงำแทรกแซงจากบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันที่มักจะละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอๆ แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องไม่มีความเป็นอิสระจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้คนที่ถูกละเมิดอย่างเด็ดขาด
 
ดังนั้น ความหมายของความเป็นองค์กรอิสระโดยแท้จริง จึงหาได้หมายความถึงความใช่หรือไม่ใช่เอ็นจีโอแต่อย่างใด เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเอ็นจีโออาจเป็นหรือไม่เป็นองค์กรอิสระโดยแท้จริงตามความหมายที่กล่าวมาก็ได้ และหากทั้งสององค์กรไม่เป็นองค์กรอิสระโดยแท้จริงเสียแล้ว ถึงจะมีการดำรงอยู่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเอ็นจีโอก็จะไม่มีความหมายและไม่ยังประโยชน์ในการรังสรรค์และพัฒนาสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงในสังคมไทยแต่ประการใด
                                                                            
                                                           
                                                           คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
                                                                              วันที่ 23 กรกฎาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net