Skip to main content
sharethis

อาเยาะ คือนอ อีฆะ "พ่อถูกจับ" บนเส้นทางความยุติธรรมของครอบครัวผู้ต้องขัง คดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้  รวบรวมและเรียบเรียงโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

หนังสือเล่มบางๆ เพียงแค่ 80 หน้านี้ บรรจุเรื่องราวของครอบครัว ผู้ได้รับผลกระทบจากการจับกุมผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยรวบรวมบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงบางส่วน จากจำนวน400 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 218 คนในเขตสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมถึงครอบครัวของผู้ต้องขัง และบางส่วนก็ได้รับข้อมูลจากญาติของผู้ต้องขังที่เดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์ทนายความมุสลิม ประเด็นหลักที่หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามก็คือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง และการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว
 
หนึ่งชีวิตของผู้ต้องขังหมายถึงอีกหลายชีวิตที่อยู่ข้างหลัง เด็ก ภรรยาที่ไม่ได้ทำงาน พ่อแม่ หรือคนชราในบ้านที่ผู้ต้องขังต้องรับผิดชอบดูแล เพราะผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเป็นชายวัยฉกรรจ์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว พ่อบางคนที่ถูกจับกุมมีลุกๆ ในความดูแลถึง 7 คน บางกรณีภรรยาต้องปิดร้านที่ขาดทุนและเริ่มหางานทำ แต่ก็หาไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูลูก 2 คนที่ยังเล็กอยู่

ครูช่วยสอนในโรงเรียนปอเนาะวัย 27 ปี ถูกจับกุมด้วยข้อหายิงสายตำรวจ หลังจากที่เขาถูกค้นบ้านหลายครั้ง และตัดสินใจหลบหนี สุดท้าย ถูกจับกุมด้วยข้อหายิงสายตำรวจ ทิ้งลุกชายวัย 5 ขวบไว้ให้แม่ดูแล

กรณีการถูกซ้อมทรมาน แม้ว่าจะรัฐธรรมนูญจะบัญญัติคุ้มครองไว้ แต่จากคำบอกเล่าในหลายๆ กรณีพบว่าในความเป็นจริงแล้วบทบัญญัตินั้นถูกละเมิดอยู่เนื่องๆ ไม่ว่าจะเป็นการคลุมถุงดำ หรือการใช้มดแดงเป็นลังๆ

จากการสำรวจโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมายเบื้องต้นพบว่าผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวน 25 คน ในเรือนจำนานราธิวาส เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2551 พบว่าพวกเขามีบุตรชายหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมกัน 59 คน ในเดือนกันยายน ผู้ต้องขังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 184 คน ... ลูกๆ ที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนเท่าไหร่ จากการสำรวจของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พบว่าจำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงสูงขึ้นทุกปี

“ถูกจับเป็นปีๆ แล้ว เริ่มไม่เชื่อแล้วว่าจะได้รับการปล่อยตัว” ภรรยารายหนึ่งกล่าว

เด็กชายวัย 6 ขวบบางคนก็เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน เพราะถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อว่าพ่อเป็นผู้ก่อการร้าย และเขากลับมาเล่าให้แม่ฟังว่าอยากต่อยเพื่อน เด็กบางคนนอนกอดปืนเด็กเล่น นับจากวันที่พ่อถูกจับ เด็กวัยสองขวบบางคนก็ไม่ได้เจอหน้าพ่อเลยตั้งแต่เกิด เพราะพ่อถูกจับขณะที่แม่กำลังตั้งท้อง

บทสรุปของหนังสือเล่มนี้คือ การจับกุมคนหนึ่งคนนั้นส่งผลกระทบไปในวงกว้าง และครอบครัวของผู้ถูกจับกุมนั้นต้องประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนทางใจ ซึ่งภรรยาส่วนใหญ่ต้องแบกรับอย่างหนัก ทั้งความทุกข์ใจต่อกรณีที่สามีถูกจับกุมและภาระหนักใจที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว และเลี้ยงลุกๆ ไปพร้อมๆ กัน สำหรับเด็กๆ สิ่งนี้ได้บ่มเพาะความโกรธแค้น เพราะได้รับผลกระทบจากการถูกล้อเลียน และความคับข้องใจของคนใกล้ชิดของผู้ถูกจับกุม ซึ่งไม่เข้าใจสาเหตุที่สามีหรือลูกชายหรือพ่อ พี่น้องของตนต้องถูกจับกุมขังโดยยังมิได้พิสูจน์ความผิด การพิจารณาคดีที่ยาวนาน และด้วยความเชื่ออย่างสามัญชนทั่วไป ที่มักเชื่อว่าคนใกล้ชิดของตัวเองเป็นคนดี

ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนัก ความเจ็บป่วย เพราะหลายๆ กรณี ผู้ต้องขังเป็นผู้ดูแลคนชรา และผู้เจ็บป่วยในบ้าน เนื่องจากเป็นตัวหลักในทางเศรษฐกิจ เมื่อขาดเสาหลักไป คนเหล่านี้ซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยปราศจากผู้ดูแล การศึกษาและการถูกตีตราทางสังคม

ในทางกฎหมาย บางคนบอกเล่าว่า ไม่รู้เรื่องกฎหมายและขั้นตอนทางกฎหมายเลย และต้องการความช่วยเหลืออย่างน้อยที่สุดคือ มีคนมาช่วยอธิบายว่าคดีที่สามีของตนเองถูกจับนั้นคือคดีอะไร ความมั่นคงคืออะไร และขั้นตอนของศาลมีอะไรบ้าง

หนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมการเสนอแนวทาง ทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติของภาครัฐ สำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการจับกุมคุมขังในคดีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งควรจะต้องดำเนินด้วยความรวดเร็ว และควรสั่งฟ้องเฉพาะคดีที่มีหลักฐานพยานรัดกุมเพียงพอ เนื่องจากที่ผ่านมา ปรากฏว่าคดีที่อัยการส่งฟ้องศาลนั้น ศาลได้ยกฟ้องเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ถูกจับกุมนั้นถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาในเขตจังหวัดภาคใต้เพื่อให้คดีต่างๆ เป็นไปย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อลดเวลาของผู้ถูกควบคุมตัวในศาลและเพิ่มศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือคดีอาญาต่อผู้ต้องขัง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ต้องขังขาดทนายความ และหลายกรณีพบว่าระหว่างที่ถูกสอบสวนนั้นไม่มีทนายความอยู่ด้วย ซึ่งเป็นหลักสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหา

นอกเหนือจากการรวบรวมเชิงสถิติที่ได้มาจากเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว ยังมีข้อเขียนจากภรรยาของผู้ต้องหาบางคนสะท้อนความรู้สึกนึกคิด และข้อเท็จจริงจากมุมมองขอคนใกล้ชิดผู้ต้องหา

หนังสือเล่มเล็กๆ นี้อาจจะไม่แพร่หลายนัก ด้วยจำนวนพิมพ์เพียง 1000 เล่ม และชื่อของหนังสือภาษามลายู ว่า “อาเยาะ คือนอ อีฆะ” ซึ่งแปลว่า พ่อถูกจับนั้น อาจจะไม่จูงใจคนอ่านที่ใช้ภาษาไทยทางการ แต่ว่าเนื้อหาในหนังสือนั้น เป็นเรื่องที่คนดำเนินเรื่องซึ่งเป็นผู้ต้องหาและครอบครัวผู้ต้องหาต้องเผชิญด้วยประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ผู้ต้องขังรายหนึ่งกล่าวกับผู้จัดทำหนังสือว่า "ตะลูปอ" แปลเป็นไทยได้ว่า “จะไม่ลืม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net