Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่ประเทศไทยมีพันธะจะต้องลดภาษีและยกเลิกมาตรการโควต้าภาษี (Tariff Rate Quota:TRQ) สินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลง AFTA จำนวน 23 รายการ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีสินค้าข้าวอยู่ด้วย โดยที่ผ่านมาในปี

2546 กำหนดไทยให้ต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0.5 และให้ยกเลิกโควต้านำเข้าและในปี 2553 ให้ลดภาษี (สินค้าทั้ง 23รายการ) เหลือร้อยละ 0

คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 ให้ยกเลิกมาตรการโควต้าภาษีสินค้าข้าวภายใต้ AFTA ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2553 และกระทรวงการคลังได้ออกประกาศลดภาษีตามพันธกรณีสำหรับสินค้าทั้ง 23 รายการแล้ว โดยสินค้าข้าวจะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 จากพันธกรณี และมติ กศน. ไทยจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการโควต้าภาษีนำเข้าข้าวเพื่อบรรลุข้อตกลง AFTA ซึ่งประเทศอาเซียนอื่นก็ต้องปฏิบัติตามด้วย
 

โดยคาดว่าจะเกิดผลกระทบจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งจำแนกออกมาได้ดังนี้

1.1 ลดการปกป้องเกษตรกร มีข้อสังเกตโครงสร้างและกลไกเรื่องการลดกำแพงภาษี 0% ทันทีในปีหน้าของรัฐบาลไทย แต่ว่าขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ยังชะลอการลดภาษีเป็น 0%

1.2 ในส่วนของคุณภาพผลผลิตและการเตรียมความพร้อม เช่น มาตรการกีดกันนอกจากระบบศุลกากร การควบคุมผู้นำเข้า การตรวจสอบคุณภาพผลผลิต และการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ยังไม่สามารถรับประกันและน่าเป็นกังวลว่าจะมีการปนเปื้อน

1.3 ระบบการเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่าง เช่นการเปิดเสรีทางการค้าไทย-จีน ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอและทั้งระบบ

1.4 เกษตรกรรายย่อยไม่พร้อมจะแข่งขัน สินค้าเกษตรกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คล้ายคลึงกัน ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรกรประเทศไทยสูงกว่า แต่ผลิตภาพต่อไร่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

1.5 คุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย AFTA เป็นเงื่อนไขซ้ำเติมของปัญหาในภาคเกษตรกรรม ขณะที่เกษตรกรไทยที่ยังวนเวียนอยู่กับปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร ปัญหาไร้ที่ดินทำกิน หนี้สินและราคาผลผลิตตกต่ำ

1.6 รัฐบาลเป็นพ่อค้ารายใหญ่ จากโครงการรับจำนำ ซื้อแพง-ขายถูก ซึ่งสามารถกำหนดราคาต่อผู้ซื้อ

1.7 ปัญหาเรื่องการวางแผนการผลิต ข้อมูลการผลิตพืชเศรษฐกิจจากหน่วยงานรัฐไม่ตรงกับความจริง

1.8 การขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมจากเกษตรกร เวทีประชาพิจารณ์ของกระทรวงพาณิชย์จำนวน6ครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาดังกล่าวซึ่งในกรณีนี้
 

การเปิดการค้าเสรีเป็นยังไง ปีหน้าคาดว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง

คุณวัลลภ พิชญ์พงศา บริษัทนครหลวงค้าข้าว เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการค้าข้าว เริ่มต้นมาจากชาวนาไปถึงโรงสี มีคนกลางที่เป็นพ่อค้าข้าวเปลือก รับซื้อข้าวไปส่งโรงสี พอสีเป็นข้าวสาร กินเองครึ่งหนึ่ง ส่งออกครึ่งหนึ่ง ในประเทศก็จะกลายเป็นข้าวถุง ข้าวสาร ส่วนด้านส่งออกก็จะรับซื้อข้าวสารจากโรงสี ผู้ซื้อจะแบ่งเป็นสองส่วนคือราชการและเอกชน เอกชนซื้อได้อย่างเสรี แต่เมื่อไปขายต่างประเทศต้องไปเสียภาษีนำเข้าของประเทศนั้นๆ ที่มีอัตราแตกต่างกันไป บางประเทศก็มีการกำหนดว่าจะนำเข้าได้เมื่อไหร่ รัฐจะเป็นคนควบคุม ว่าเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ โดยใคร โดยมีกำแพงภาษีด้วย เช่นญี่ปุ่น

ประเทศไทยส่งออกเยอะที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมาก็ยังอนุญาติให้มีการนำเข้าข้าว โดยไปเป็นสมาชิกของ WTO ซึ่งไปผูกพัน คือการนำเข้าข้าวต้องเสียภาษี 52 % โดยมีโควตา 245,000 ตัน ซึ่งภาษีเสียแค่ 20%

ในกรณี AFTA ประเทศไทยไปทำข้อผูกพันเอาไว้ว่าเราจะลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่ มกราคม 2553 ไม่จำกัดจำนวน ทั้งข้าวสารข้าวเปลือก ซึ่งปกติตอนนี้เราก็เก็บภาษี ในประเทศอาเซียน แค่ 5% อยู่แล้ว บางประเทศก็ไม่เก็บเลย โดยการลดภาษีในปี 53 แต่ละประเทศก็มีการลดภาษีไม่เท่ากัน แล้วแต่ความสมัครใจแต่ประเทศไทยลดเหลือ 0% เพราะเชื่อมั่นเรื่องข้าวว่าเราเข้มแข็งเรื่องข้าว

สิ่งที่เรากังวลก็คือ

  1. เมื่อมีข้าวจากเพื่อนบ้านโดยที่เราไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากไหน อาจเกิดการปลอมปน ทำให้คุณภาพข้าวเราต่ำลง

  2. ในแง่การค้าเมื่อข้าวเราแพง ผู้ซื้อก็ต้องไปนำเข้าข้าวจากประเทศที่ถูกกว่า พ่อค้าในประเทศก็อาจนำเข้าข้าวแล้วส่งออก เนื่องจากต้นทุนข้าวของเพื่อนบ้านถูกกว่า กระทบต่อเรื่องราคาข้าว

  3. อาจมีการนำเข้าข้าวเพื่อสวมสิทธิมารับจำนำ รัฐเองก็พยายามวางมาตรการเพื่อตรวจสอบข้าวที่นำเข้าอย่างเข้มข้น รวมทั้งควบคุมปริมาณที่จะนำเข้า


ในกรณี มัน อ้อย ข้าวโพด จะลดเป็น
0% แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร

ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษา รมต.ว่าการกระทรวงพาณิชย์
ก่อนหน้าที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน เราเป็นผู้ส่งออกหลัก เมื่อประเทศเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิก จึงได้รับสิทธิในการส่งออกข้าว....พืชเกษตรตัวอื่นเราก็เป็นขาใหญ่ แล้วยังไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ข้าวโพดปีนี้เป็นปีแรกที่ผลิตล้น ล้นจริงหรือล้นเทียมไม่ทราบ แต่ก่อนเราก็ผลิตพอดีพอใช้ อยู่ดีๆ ก็เพิ่มพรวดขึ้น ราคาจาก 8.5 บาท ก็ลดลง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือตัวเลขที่กระทรวงเกษตรประเมินกับในตลาดต่างกันมาก นโยบายว่ารัฐจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไรก็ไม่ชัดเจน มีปัญหาเชิงการเมืองอีก แต่กระทรวงพานิชย์ก็เป็นเดือดเป็นร้อนถึงได้ไปเปิดเวทีรับฟัง ซึ่งอาจจะน้อยไปเราอาจจะเปิดเพิ่มได้อีก เพราะมันจะลดลงเป็น 0% โดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็ไม่ได้

ส่วนมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ซึ่งพอมันล้นมาแล้วเราจะเอายังไงกัน ประกัน หรือจำนำ ก็ต้องตกลงกันให้ชัดเจนเลย หรือว่าเราจะแก้ต้นเหตุปัญหาที่มาจากนโยบายที่มุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งออกมากไป

เกษตรกรจะรับมืออย่างไร

ประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย
ในเรื่องการรับจำนำและการประกัน ล้วนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นพืชเกษตรชนิดไหนก็ตาม การเมืองไทยไม่เคยคิดอะไรใหม่ คิดแค่ว่าอะไรที่จะเข้ามานั่งในเวทีการเมือง เป็นเครื่องมือของนักการเมือง เกษตรกรก็ตกเป็นเครื่องมือ

เราเคยเสนอยุทธศาสตร์ จากภาคเอกชนเข้าไป จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ผลิต เกษตรกร ทั้งหมด การตลาดภายใน ได้แต่ พ่อค้า โรงสี ส่งต่อไปถึงผู้ส่งออก ที่ผ่านมาเราเอาด่ากัน ว่าเอาเปรียบกัน ทั้งที่เราเองหาต้นตอของปัญหาสักทีจะได้แก้ แต่รัฐไม่แก้เดี๋ยวพี่น้องเกษตรกรอยู่ดีกินดีมีอำนาจต่อรอง

เราต้องแก้พัฒนาระบบเกษตรทั้งระบบ อย่างที่เวียดนามเกษตรกรคุมระบบทั้งระบบได้ รัฐบาลต้องดำเนินงานตามแนวทางที่เกษตรกรวางแผน คิดขึ้น เพื่อความมั่นคงของเกษตรกร เขาสตอกข้าวเพื่อวางแผนรับมือกับการส่งออก

ข้อดีของการประกันข้าวที่ชาวนาได้ คือ ไม้ต้องสี ทุ่นราคาขนส่ง เช่าโกดังเก็บ แต่โครงการรับจำนำข้าวเจ้าในภาคกลางเริ่มปวดหัวเมื่อเอาการประกันมารวม เอาเงินออกมาใช้ก่อนในจำนวนที่ไม่กระทบตลาด ที่จริงระบบก็ดี แต่คนที่มาดูแลไม่หวังผลประโยชย์

ในระยะใกล้ เกษตรกรต้องทำอย่างไรบ้าง

ประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย พื้นที่ภาคอีสานคงเป็นที่นำร่องเรื่องการประกันข้าว แต่พื้นที่ที่เป็นชลประทานที่ข้าวมีจำนวนข้าวมาก จะมารับประกันได้ทุกเม็ดไหม คงไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรับจำนำกันไปก่อน เราค่อยพัฒนาระบบต่อไป แต่ถ้าพัฒนาไม่ทันอีกสองปีข้างหน้าจะทำยังไง อีกทั้ง AFTA ที่มาถึงแล้ว รัฐรู้อยู่แล้วรู้มานานแต่ชาวนาไม่เคยรู้

ข้าวกล้องก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างถ้าจะส่งออก เช่น เชื้อโรค การขยายพันธุ์ได้

ถ้าเปิด AFTA ขึ้นมาใครจะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพ อย่างไร จะนำเข้าทางไหน อะไรบ้าง สินค้าเกษตรเป็นอะไรที่อ่อนไหวมาก แล้วราคาผลผลิตที่มาจากประเทศเพื่อบ้านมันถูกกว่าของเรา


เมื่อมาตรา
190 ที่เสนอเข้าไปรวมกับภาครัฐโดนโยนทิ้ง

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ...หนังสือสนธิสัญญาฯ ภาคประชาชน รายชื่อที่เราล่าไป โดนโยนทิ้ง เพื่อขอรับรู้ว่ารัฐไปรับปากอะไรกับคนอื่นไว้บ้าง แต่เราก็ต้องสู้กันต่อไป อย่างนั้นเรื่อง AFTA เราก็รู้ก่อนตั้ง 5 เดือน ต้องขอบคุณกระทรวงพานิชด้วย ที่ทำให้เรารู้เรื่องนี้ล่วงหน้า

AFTA ที่จะเกิดขึ้น ความต้องการก็คือจะลดภาษี 0% แต่แต่ละประเทศก็สามารถสงวนได้ ซึ่งไทยสงวนน้อยมากเพราะหลงผิดอะไรไม่ทราบ เราก็สงวนไว้เหมือนกันประมาณ 16 รายการ เช่น พวกพืชน้ำมันอย่างปาล์ม เพราะเรามีขีดจำกัดเรื่องต้นทุนมาก ทำให้ความสามารถในการแข็งขัน แล้วก็พวกไม้อ่อนไหว ก่อนนี้เราลดลงมา 5% และจะ 0% ในมกราที่จะถึงนี้ แต่ก็ไม่หมายความว่าทุกประเทศจะลดมาที่ 0% มีแต่เรานะที่จะลงก่อนเพื่อน

ความเป็นไปได้ที่จะชะลอไว้ได้ก็คือจัดหมวดเป็นสินค้าสงวน อ่อนไหว ได้

เราเดือดร้อนแน่เพราะเปิดเสรีกับประเทศที่ผลผลิตเหมือนๆ กัน โดยแต่ละประเทศก็มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับเราทั้งนั้น เกษตรกรเรามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากระบบการผลิตของเรา มันรอไม่ได้ต้องผลิตมาในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง จากต้นทุนที่สูง 39% เป็นพวกเคมีเกษตร ความเสี่ยงเรื่องสภาพอากาศ ความเสี่ยงจากปริมาณผลผลิตในตลาดที่เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน และจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเป็น 0% เข้ามาได้สะดวกมากขึ้น ข้าวโพดเข้ามามากแน่นอนกระทบมากแน่นอน อ้อยก็เป็นเราเองที่ไปลงทุนปลูกในเพื่อบ้านตั้งใจว่าจะไปขาย EU จะไปได้จริงไหม หรือว่าจะมายุ่งอยู่ในอาเซียน มันก็ไม่ต่างกัน แล้วรัฐบาลจะประกันราคากันได้อีกนานแค่ไหน

เราจะชะลอได้ไหมไม่ให้เข้ามา พี่น้องเกษตรกรต้องลุกขึ้นมาชี้ แรงผลักก็คือประโยชน์มันอยู่ตรงไหน ถ้าเราชี้ได้เราก็สามารถชะลอมันได้ คนที่ได้ประโยชน์เป็นใครหาให้เจอ แล้วชั่งว่าเราจะแลกผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรกับคนกลุ่มเล็กๆ

ปัญหาอีกส่วนคือเราจะปรับปรุงระบบการผลิตของเราอย่างไร ต้นทุนสูง หนีสินอีรุงตุงนัง การทำสตอกไม่มี ราคาต่ำ รัฐบาลต้องอุ้ม คอรัปชั่น เพราะฉะนั้นไม่ยั่งยืนแน่นอน แล้วเราจะปฏิรูปกันอย่างไร

พี่น้องต้องลุกขึ้นมาชี้ว่าเราจะปฏิรูประบบที่รากจริงๆ หนี้สิน แล้วพืชเศรษฐกิจสำคัญเราจะเอายังไง การที่รัฐบาลต้องแทรกแซง ประกันราคา น่าจะไม่ใช่ทางออกในระยะยาว

เมื่อลดเหลือ 0% เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตได้อะไรเพิ่ม เราจะทำอย่างไรให้เกษตรเข้มแข็ง

ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษา รมต.ว่าการกระทรวงพาณิชย์
คงต้องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เกษตรกรต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แก้ไขปัญหาอย่างรวมศูนย์ไม่ได้ ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมไม่ให้เกิดการโกงไม่ได้ จะดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร มีกลไกอื่นนอกจาก อตก.ไหมที่จะเข้ามาแก้ไขตรงนี้ได้ อบต.ได้ไหม เคยมีอบจ.ที่หนึ่งเคยอยากมารับภาระเหล่านี้แต่เมื่อพิจารณาแล้วไม่ได้ เพราะกฏหมายว่า อบจ.ไม่สามารถมาแข่งขันทางการค้ากับรัฐได้

มันเป็นไปไม่ได้แล้วที่รัฐจะรวมศูนย์ทุกอย่าง กลไกของรัฐยังไม่ใช่คำตอบที่จะหวังได้ มีแต่ภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็ง แต่เราจะออกแบบกลไกอย่างไร มาตรการการทำงานของรัฐที่มีมามันช่วยไม่ได้ ต้องมีมาตรการของประชาชน กระทรวงพานิชพร้อมจะทำ

ปัญหาพืชเกษตรในบ้านเรา มันเป็นเรื่องความยากจนด้วยโครงสร้างทำได้มากแค่ไหนก็ยังจน ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมกันผลักดันแก้ไขเรื่องสินค้าเกษตรกันต่อไป

ในเรื่องเพื่อนบ้านเราก็ทำตัวเป็นต้นไม้ใหญ่ในภูมิภาค แต่เกษตรกรต้องเสียสละหน่อยเพื่อลดปัญหาแรงงานต่างด้าว แล้วเกษตรกรได้อะไร หรือว่ามีคนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเข้าไปทำ Contract Farming

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยหลักเกณฑ์หลายอย่างก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ เราก็ยินดีให้ความสนับสนุน แล้วเราต้องหาผู้มาร่วมเล่น รวมถึงเชิญพี่น้องประชาชนมาร่วมกันทำ โดยทางออกที่ดีที่สุดคือสร้างความเข้มแข็งให้พี่น้องประชาชน

ส่วนเรื่องเกษตรกรผู้ค้าลำไยก็จะรับไปหาทางแก้ไข

กิ่งกร นรินทรกุล ฯ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนกล่าวว่า
รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เบื้องต้นคือเราไม่จำเป็นต้องลด 0% ทำได้หลายทาง เพราะถ้าเปิดแบบนั้น เท่ากับรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อธุกิจข้ามชาติ และเพิ่มความเสี่ยงให้เกษตรกรไม่ใช่แค่ในไทย เกษตรในประเทศเพื่อบ้านด้วย ทั้งลาว เขมร ทำลายการทำมาหากินของพี่น้อง ต้องหยุด ส่วนที่เปิดไปแล้วก็ต้องหาทางจัดการต่อไป แล้วต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วในการแก้ไขตัดสินใจได้จริง

ทางแก้ที่ทำได้คือ การปลดแอกหนี้สินจะทำให้เกษตรกร ลดการค้าที่ไม่เป็นธรรมในประเทศ ให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ในกลไกการค้า เกษตรกรต้องตั้งองค์กรที่สามารถทำมาหากินเองได้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net