Skip to main content
sharethis

นักข่าวพลเมืองรายงาน กรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นงานศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอบางสะพาน มีประชาชน ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นและจังหวัด รวมถึงตัวแทนบริษัทสหวิริยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง เสนอแนะ และตั้งคำถามต่างๆ กว่า 500 คน

 

16 ก.ค. 52 เวลา 9.00 น. ที่หอประชุมอำเภอบางสะพาน กรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นงานศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอบางสะพาน โดยมีประชาชน ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นและจังหวัด รวมถึงตัวแทนบริษัทสหวิริยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังและเสนอข้อเสนอแนะและคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำของโครงการ ราว 500 คน โดย รศ.ดร.สุรพล แต้สมบัติ เป็นผู้กล่าวเปิดงานและอธิบายโครงการโดยรวม

ทั้งนี้ นายอภินันท์ จันทรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เข้าร่วมในเวทีแห่งนี้ด้วยโดยกล่าวกับชาวบ้านที่เข้าร่วมรับฟังและเสนอข้อเสนอแนะในครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสที่ดีของประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนี้ที่จะแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถามที่สงสัย หรือเสนอข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งทางกรมชลประทาน จะบันทึกทุกคำพูดของทุกท่านที่แสดงความเห็นในครั้งนี้เพื่อนำไปพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
 

 

นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ชาวบ้าน บ้านหนองมงคล ต.ธงชัย กล่าวว่า “โครงการบรรเทาอุทกภัยนี้โดยเฉพาะกรมชลประทาน ไม่มีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงแก่ชาวบ้าน เช่นพื้นที่ที่จะต้องมีการเวนคืนในการสร้างอ่างเก็บน้ำ พื้นที่น้ำท่วมถึง ระดับสันเขื่อน เป็นต้น และยังอ้างว่าเป็นการทำเพื่อการเกษตร ซึ่งแท้จริงผมได้อ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโรงถลุงเหล็ก ก็ทราบว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำต่างๆ เหล่านี้เพื่อที่จะเอื้อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำหรือผมขอเรียกว่าเขื่อนนั้น อยู่ในบริเวณรอยเลื่อนของเปลือกโลกด้วย ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวและเขื่อนร้าวหรือแตกในอนาคตย่อมมีแน่นอนไม่ทราบว่าทางกรมชลประทานได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาบ้างหรือไม่”

นางสุกัญญา ชมภูวรณ์ ชาวบ้านต.ธงชัยกล่าวเป็นบทกลอนถึงความวิตกกังวลต่อการสร้างเขื่อนโดยสรุปความได้ว่า เธอเป็นคนบ้านกรูด มีอาชีพค้าขาย และจากปี 2548 ที่อ่างเก็บน้ำคลองลอยแตกก็ทำให้น้ำท่วมไปถึงบ้านกรูดร้านค้าของตนเองได้รับความเสียหายมาก แต่ได้รับความช่วยเหลือค่าชดเชยในครั้งนั้นเพียง 13,000 บาท ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนใหม่อีกและขนาดใหญ่กว่าเดิมแล้วหากปัญหาเขื่อนแตกมีมาอีก ทีนี้เธอและชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร เวลาที่ฝนตกคงหลับตาลงได้ไม่สนิทแน่

รศ.ดร.สุระพล กล่าวว่า ขอบคุณพี่น้องที่มีคำถามและข้อกังวลต่างๆ เราจะนำไปพิจารณา และทำการศึกษาต่อไปอย่างดี และอ่างเก็บน้ำขณะนี้ที่ยังคงมีการศึกษาอยู่ก็มี อ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง อ่างเก็บน้ำคลองลอย และอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net