Skip to main content
sharethis

ตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐในเรื่องการจัดการที่ดินและป่า จำนวนประมาณ 300 กว่าคน จาก 13 จังหวัด ภาคอีสาน จำนวน 38 ชุมชน ร่วมหารูปธรรมแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

 
 
 
เมื่อวันที่ 11 – 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐในเรื่องการจัดการที่ดินและป่า จำนวนประมาณ 300 กว่าคน จาก 13 จังหวัด ภาคอีสาน จำนวน 38 ชุมชน ร่วมประชุมสัมมนาที่วัดบ้านทุ่งลุยลาย ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
 
นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปท.) ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ว่า
 
กฏหมายได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อให้มีรูปธรรมเกิดขึ้น พี่น้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโนบายของรัฐ จึงมารวมตัวระดมความคิดเห็นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ประกาศว่าจะแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดิน
 
จากการทำงานรณรงค์ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลบรรจุวาระการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน ไว้ในนโยบาย ตามที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการเพื่อการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทั้งสิ้น 8 คณะ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ให้เกิดการปฏิรูปที่ดินที่ประชาชนมีส่วนร่วมที่แท้จริง
 
ผู้ที่มาร่วมประชุมครั้งนี้ มีบางชุมชนที่ได้ดำเนินการจัดรูปแบบโฉนดชุมชนไปบ้างแล้ว เช่น บ้านทุ่งซำเสี้ยว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ บ้านทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ บ้านลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านห้วยระหงส์ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้นำเสนอประสบการณ์ของตนต่อชุมชนอื่นๆด้วย
 
 
ตัวแทนราษฎรผู้เดือดร้อน ที่มาร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้ แบ่งกรณีปัญหาออกได้ 4 กรณีคือ
 
ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกประกาศเป็นที่สาธาระณประโยชน์
ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกนำไปให้เอกชนสัมปทานปลูกป่า
และปัญหาที่อยู่อาศัย ในชุมชนเมือง
 
แต่ละสภาพปัญหามีคู่กรณีขัดแย้งที่ต่างกันออกไป จึงต้องหามาตรการในรูปแบบเฉพาะตน
นับว่าเป็นก้าวแรกที่ราษฎรผู้เดือนร้อนในภาคอีสานได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเชิงรุก ด้วยการเสนอนโยบายการจัดการปฏิรูปที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน การร่างกฏระเบียบของชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการขายที่ดิน และการจัดตั้งกองทุนที่ดิน หรือธนาคารที่ดิน เพื่อดูแลกันเอง อย่างยั่งยืนต่อไป
 
มติของที่ประชุมจะได้นำไปเสนอในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการ แต่ละฝ่าย เพื่อให้รับรองการปฏิบัติการของราษฎรว่าเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรมตามหลักการการมีส่วนร่วม ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้
 
แต่สิ่งที่รัฐและนโยบายของรัฐจะต้องตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของราษฎรในเบื้องแรก เพื่อให้ปัญหาที่มีอยู่ยุติลง นั่นคือ ยุติการจับกุมพี่น้องประชาชน ในข้อบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามคำสั่งของคณะกรรมการฯ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2552
 
 
ในระดับพื้นที่ ผลจากการประชุมสัมมนา ทำให้ได้รูปแบบการจัดการที่ดินที่ชัดเจน และราษฎรเชื่อมั่นในสิทธิการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม บนผืนดินของตนเอง แต่ละชุมชนจะกลับไปดำเนินการรังวัดจัดรูปแบบแปลนที่ดิน เพื่อนำเสนอต่อรัฐ ในการอนุมัติให้เป็นโฉนดชุมชนต่อไป ขณะเดียวกันสมาชิกของชุมชนก็ดำเนินการทำการเกษตรในแนวทางเศรษกิจพอเพียง เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
เงาศิลป์ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net