Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเดินทางไปให้กำลังใจสมัชชาคนจน ณ หมู่บ้านคนจน สันเขื่อนราษีไศล พร้อมหอบข้าวสารสมทบเป็นทุนเสบียงในการต่อสู้ของพี่น้องที่ชุมนุมปักหลักยาวนานเดือนกว่าแล้ว

 วันที่ 13 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจ.อุดรธานี จำนวน 12คน เดินทางมาเยี่ยมสมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ที่ปักหลักชุมนุมตั้งหมู่บ้านคนจนชุมนุมยืดเยื้อเรียกร้องให้กรมชลประทานแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานานกว่า 16 ปีแล้ว 

โดยมีตัวแทนชาวบ้านกว่า 100 ออกมาต้อนรับและพาเดินดูผลกระทบจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล ที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่บุ่งทามที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งต้มเกลือของชาวบ้านจนหมดสิ้น
 
ต่อมาทางกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการต่อสู้เคลื่อนไหวกับตัวแทนของกลุ่มสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล คือ แม่ผา กองธรรม นายประดิษฐ์ โกศล นางสำราญ สุรโคตร เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในหมู่บ้านคนจน
 
นางมณี บุญรอด ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า “ตั้งใจมาเยี่ยมพี่น้องที่นี่มาก หลังจากที่ทางแกนนำสมัชชาคนจนได้โทรศัพท์ไปออกรายการวิทยุชุมชนคนฮักถิ่นอุดรธานี เมื่อ 2 – 3 วันก่อน แม่นั่งฟังอยู่แล้วเกิดความสนใจ สงสัยมาก อยากรู้ว่าพี่น้องมีปัญหาอะไร ทำไมถึงชุมนุมอยู่ได้เป็นเดือนๆ แล้วมาอยู่มากินกันอย่างไร จึงปรึกษากับเพื่อนและตัดสินใจว่า เราต้องมาดู มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เข้าใจ จะได้เข้าใจเพื่อนคนจนด้วยกัน กลับไปเราก็ได้ประสบการณ์ในการต่อสู้ เอาความรู้นี้ไปเล่าสู่พี่น้องอุดรที่กำลังต่อสู้กับเหมืองแร่โปแตชต่อไป”
 
ช่วงกลางคืน แม่มณีกล่าวความรู้สึกกับพี่น้องหมู่บ้านคนจนว่า “มาวันนี้ทั้งดีใจทั้งเสียใจมาก เห็นแล้วว่า นโยบายรัฐที่เราไม่มีส่วนร่วม หลอกลวงเราว่าจะสร้างฝายยาง ทำให้พี่น้องต้องมานอนตากแดด ตากฝนอยู่ที่นี่ มีความทุกข์ยาก พวกเราถือว่าเป็นเพื่อนมิตรกัน เพราะว่าเป็นคนจนด้วยกัน ถูกนโยบายทำให้พวกเรากลายเป็นคนจน ถูกละเมิดสิทธิด้วยกันนั้นเอง พวกเฮาอยู่อุดรก็สู้คือกัน สู้กับรัฐบาลที่จะให้สัมปทานบริษัทมาขุดเอาเหมืองแร่โปแตชที่อยู่ใต้แผ่นดินอีสานของเรา พวกเราเองก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่โปแตชที่อุดรธานีอยู่เดี๋ยวนี้ ขอประกาศกับพี่น้องว่า อย่างไรก็ตาม พวกเราคนจนก็ต้องสู้ เพราะหากไม่สู้เราก็อยู่ไม่ได้ และจะสู้จนกว่าตัวจะตาย”
 
ส่วนพ่อบุญเลี้ยง โยทกา ตัวแทนชาวบ้านตำบลหนองไผ่ กล่าวว่า “พวกผมโชคดีสองอย่างคือ ต้องเจอเรื่องเหมืองแร่และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านที่ดินของพวกผม รัฐบาลจะซื้อไฟฟ้ามาจากประเทศลาว ส่งมาเพื่อตอบสนองอุตสากรรมในภาคอีสาน เสาไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลวัตต์ ผ่านที่ดินของพวกผม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตบอกว่าจะจ่ายค่าเสียโอกาสในการใช้ที่ดินเพียง 400 บาทเท่านั้น เพราะผมต้องตัดต้นไม้ทิ้ง ส่วนพี่สาวผม เสาไฟฟ้าพาดผ่านเถียงนากลางนา เขาบอกว่าจะจ่ายเพียง 400 บาทเช่นกัน แล้วก็ห้ามพวกเราทำกิจกรรมใดๆ บริเวณที่เสาไฟฟ้าแรงพาดผ่านทั้ง 4 ระยะ 80 เมตร ทั้งๆที่เป็นที่ดินของพวกเรา เท่ากับว่าพวกเราเสียสิทธิในการใช้ที่ดินของพวกเรา หากลูกเราโตขึ้นเราก็ต้องแบ่งที่ดินให้ลูก บางครั้งพวกเราต้องเอาที่ดินไปหมุนไปจำนองก่อน เราก็ทำไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นผมและเพื่อนบ้านจำนวน 55 ราย จึงส่งเรื่องฟ้องศาลปกครองอยู่ตอนนี้ แม้จะน้อยคนพวกผมก็ยังยืนยันสู้ต่อไปเพราะสิทธิของพวกเรามีแล้ว เราต้องรักษาไว้ มาวันนี้ก็ขออวยพรให้พี่น้องอยู่ดีมีแฮง ขอให้ได้ชัยชนะในการสู้ครั้งนี้” 
 
หลังจากสนทนากันแล้ว มีการรำวงร่วมกันอย่างสนุกสนานท่ามแม้ว่าจะชุ่มแฉะไปด้วยน้ำฝนเนื่องจากฝนตก
  
กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีได้นอนพักค้างคืน 1 คืนที่หมู่บ้านคนจน ก่อนที่จะเดินทางกลับในตอนเช้าของวันที่ 14 กรกฎาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net