สัมมนา “จับตาเปิดเสรีสินค้าเกษตร อนาคตเกษตรกรกับนโยบายรัฐที่ต้องถามหา”

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 คณะทำงานอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหาร จัดสัมมนา “จับตาเปิดเสรีสินค้าเกษตร อนาคตเกษตรกรกับนโยบายรัฐที่ต้องถามหา” ณ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 2553 และจัดทำข้อเสนอทางนโยบายที่ชัดเจนในประเด็นการรับจำนำและการประกันราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งหาแนวทางหรือมาตรการรับมือในระดับพื้นที่และนโยบายที่เหมาะสมสำหรับพืชรายชนิด

สืบเนื่องจาก พันธกรณีที่ประเทศไทยจะต้องลดภาษีและยกเลิกมาตรการโควต้าภาษี (Traiff Rate Quota :TRQ) สินค้าเกษตรภายใต้ AFTA จำนวน 23 รายการ ซึ่งมีสินค้าข้าวรวมอยู่ด้วย โดยในปี 2553 ให้ลดภาษีสินค้าทั้ง 23 รายการเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อวันที่ 30 เม.ย.50 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้มีมติให้ยกเลิกมาตรการโควต้าภาษีสินค้าข้าวภายใต้ AFTA ภายในไม่เกิน 1 ม.ค.53 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการโควต้าภาษีนำเข้าข้าวเพื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าว

เวทีในช่วงเช้านำเสนอประเด็น “การเปิดเสรีสินค้าเกษตรของไทย: เพื่อความรุ่งโรจน์ร่วมกัน หรือ สังเวยเหยื่อทางการค้า” ดำเนินรายการโดย ศจินทร์ ประชาสันต์

ผู้ค้าหวั่น “เปิดการค้าเสรี” ลดภาษีเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบตลาดค้า “ข้าว”

วัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการบริษัทนครหลวงค้าข้าว และนายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวถึงกระบวนการค้าข้าวว่า เริ่มต้นมาจากชาวนาไปถึงโรงสี มีคนกลางที่เป็นพ่อค้าข้าวเปลือกรับซื้อข้าวไปส่งโรงสี พอสีเป็นข้าวสาร กินเองครึ่งหนึ่ง ส่งออกครึ่งหนึ่ง ข้าวในประเทศก็จะกลายเป็นข้าวถุง ข้าวสาร ส่วนด้านส่งออกก็จะรับซื้อข้าวสารจากโรงสี โดยผู้ซื้อแบ่งเป็น 2 ส่วนคือราชการและเอกชน ในส่วนเอกชนนั้นสามารถซื้อข้าวได้อย่างเสรี แต่เมื่อไปขายต่างประเทศต้องไปเสียภาษีนำเข้าของประเทศนั้นๆ ซึ่งมีอัตราแตกต่างกันไป บางประเทศมีการกำหนดว่าจะนำเข้าได้เมื่อไหร่ รัฐจะเป็นคนควบคุม ว่าเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ โดยใคร นอกจากนั้นยังมีมาตรการกำแพงภาษีด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่น

วัลลภกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยส่งออกเยอะที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมาก็ยังอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าว โดยไปเป็นสมาชิกของ WTO ซึ่งไปผูกพัน คือการนำเข้าข้าวต้องเสียภาษี 52 เปอร์เซ็นต์ โดยมีโควตา 24,5000 ตัน ให้ภาษีเสียแค่ 20 เปอร์เซ็นต์

ในกรณี AFTA ประเทศไทยไปทำข้อผูกพันเอาไว้ว่าจะลดภาษีเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ในตั้งแต่ มกราคม 2553 ไม่จำกัดจำนวน ทั้งข้าวสารและข้าวเปลือก ซึ่งปกติตอนนี้ไทยมีการเก็บภาษีประเทศในอาเซียน แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ อยู่แล้ว บางประเทศก็ไม่เก็บเลย ทั้งนี้ การลดภาษีในปี 53 แต่ละประเทศก็มีการลดภาษีไม่เท่ากัน แล้วแต่ความสมัครใจ แต่สำหรับประเทศไทยลดเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ เพราะเชื่อมั่นเรื่องข้าวว่ามีความเข้มแข็ง

ส่วนข้อกังวลต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวว่า 1.เมื่อมีข้าวจากเพื่อนบ้านโดยที่ไม่สามารถแยกได้ว่ามากไหน อาจเกิดการปลอมปน ทำให้คุณภาพข้าวของเราต่ำลง 2.ในแง่การค้าเมื่อข้าวของไทยแพง ผู้ซื้อก็ต้องไปนำเข้าข้าวจากประเทศที่ถูกกว่า พ่อค้าในประเทศก็อาจนำเข้าข้าวแล้วส่งออก เนื่องจากต้นทุนข้าวของเพื่อนบ้านถูกกว่า ซึ่งในส่วนนี้จะกระทบต่อเรื่องราคาข้าว 3.อาจมีการนำเข้าข้าวเพื่อสวมสิทธิมารับจำนำ อย่างไรก็ตามคิดว่ารัฐเองก็พยายามวางมาตรการเพื่อตรวจสอบข้าวที่นำเข้าอย่างเข้มข้น รวมทั้งควบคุมปริมาณที่จะนำเข้า

วัลลภ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อลดภาษีเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ แม้จะส่งออกมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะดีขึ้นเสมอไป เพราะในโครงสร้างของสินค้าเกษตรตัวนั้นๆ เกษตรกรต่อรองได้ขนาดไหน อันที่จริงภาวะตลาดมีส่วนมาก ในช่วงปี 51 ตั้งแต่กลางปี เรียกว่าเป็นภาวะของผู้ขาย ซึ่งมีความสามารถในการต่อรองราคา แล้วก็มีช่วงที่เป็นผู้ขายมีอำนาจต่อรอง

ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือ ต้องดูทั้งระบบไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามรัฐบาลที่เข้ามาขณะนั้น ต้องมองไกลกว่าที่ผ่านมา ต้องสื่อสารกันระหว่างคนที่อยู่ในวงจรนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออก เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ว่ามีพืชตัวไหนที่เป็นตัวเลือก เป็นความต้องการของตลาด ตลาดก็ได้สินค้าที่ต้องการ

ลดภาษีสินค้าเกษตร กระทบผลผลิตมัน อ้อย ข้าวโพด ล้นตลาด ปัญหาที่ต้องเร่งหาทางออก

ดร.ธนพร ศรียากูร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน การส่งออกข้าวไทยถือเป็นผู้ส่งออกหลัก ส่วนพืชเกษตรตัวอื่นไทยก็เป็นขาใหญ่ อีกทั้งยังไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ข้าวโพดปีนี้เป็นปีแรกที่ผลิตล้น ซึ่งล้นจริงหรือล้นเทียมไม่ทราบ จากแต่ก่อนมีการผลิตพอดีพอใช้ อยู่ดีๆ ก็เพิ่มพรวดขึ้น ดังนั้นราคาจาก 8.5 บาท ก็ลดลง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือตัวเลขที่กระทรวงเกษตรฯ ประเมินกับในตลาดต่างกันมาก ส่วนนโยบายของรัฐในการจัดการกับสถานการณที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีปัญหาในเชิงการเมือง ที่ผ่านมากระทรวงพานิชรู้สึกห่วงกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงได้ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งอาจจะน้อยไป คาดว่าอาจเปิดเพิ่มได้อีก เพราะต่อไปภาษีจะลดลงเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็คงไม่ได้

ดร.ธนพร กล่าวต่อมาว่า ในส่วนมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เมื่อมีการผลิตจนล้นตลาดแล้วจะมีการดำเนินการอย่างไร จะมีการประกันราคา หรือรับจำนำ ควรต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจน หรืออาจต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาซึ่งมาจากนโยบายที่มุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งออกมากไป

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มการแก้ปัญหาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาว่า การจำนำยังเป็นไปไม่ได้แต่อาจใช้รูปแบบอื่นมาช่วย ส่วนการประกันราคานั้นเพิ่งเริ่มต้น โดยทำได้กับข้าวหอมมะลิเพราะความเสี่ยงต่ำ ปริมาณที่ประกันก็ไม่เกิน 200,000 ตัน และทำในพื้นที่อีสานใต้เท่านั้น ส่วนมันสำปะหลังรับประกันราคาที่ 1.70 สตางค์ แต่อย่าเพิ่งขุดตอนนี้ สำหรับข้าวโพดไม่รับประกันราคาอ้างอิงเพราะข้าวโพดค่อนข้างมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

ดร.ธนพร กล่าวด้วยว่า เมื่อลดภาษีเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ทางออกที่ดีที่สุดคือสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เกษตรกรต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และจะแก้ไขปัญหาอย่างรวมศูนย์ไม่ได้แล้ว เพราะกลไกของรัฐยังไม่ใช่คำตอบที่จะหวังได้ อีกทั้งมาตรการการทำงานของรัฐที่มีมาช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่ภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็ง ต้องมีมาตรการของประชาชน แต่จะออกแบบกลไกอย่างไร กระทรวงพานิชพร้อมจะให้ความสนับสนุน อีกทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันโดยหลักเกณฑ์หลายอย่างก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพานิช

“ปัญหาพืชเกษตรในบ้านเรา มันเป็นเรื่องความยากจนด้วยโครงสร้างทำได้มากแค่ไหนก็ยังจน ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมกันผลักดันแก้ไขเรื่องสินค้าเกษตรกันต่อไป” ดร.ธนพร กล่าว

ต่อคำถามถึงสิ่งที่กระทรงพานิชย์จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 5 เดือนนี้ ดร.ธนพร กล่าวว่า จะมีการกำหนดผู้นำเข้า กำหนดคุณภาพ เป็นมาตรการที่รับกำหนดไว้อยู่ก่อนแล้ว ส่วนเรื่องสภาเกษตร ส่วนที่สำคัญคือฝ่ายเลขาฯ กระบวนการหาคนมาเป็นผู้แทน อย่าให้มันหลวมเหมือนกองทุนฟื้นฟู

เกษตรกร เสนอการแก้ไขปัญหาต้องพัฒนาระบบเกษตรทั้งระบบ

ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในเรื่องการรับจำนำและการประกันราคา ล้วนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นพืชเกษตรชนิดไหนก็ตาม นอกจากนี้การเมืองไทยไม่เคยคิดอะไรใหม่ คิดแค่ว่าอะไรที่จะเข้ามานั่งในเวทีการเมือง เป็นเครื่องมือของนักการเมือง เกษตรกรก็ตกเป็นเครื่องมือ

ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอยุทธศาสตร์จากภาคเอกชน โดยรวบรวมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ผลิต เกษตรกรทั้งหมด การตลาดภายใน ทั้งพ่อค้า โรงสี ไปจนถึงผู้ส่งออก อย่างไรก็ตามทั้งที่พยายามหาต้นตอเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข แต่รัฐกลับไม่ยอมแก้ เพราะกลัวว่าเกษตรกรอยู่ดีกินดีแล้วจะมีอำนาจในการต่อรอง

ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าการแก้ไขปัญหาต้องพัฒนาระบบเกษตรทั้งระบบ โดยยกตัวอย่างที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเกษตรกรสามารถคุมระบบทั้งระบบได้ รัฐบาลต้องดำเนินงานตามแนวทางที่เกษตรกรวางแผนและคิดขึ้น เพื่อความมั่นคงของเกษตรกร นอกจากนั้นยังมีการสต็อกข้าวเพื่อวางแผนรับมือกับการส่งออก

ทั้งนี้ ข้อดีของการประกันข้าวที่ชาวนาได้ คือ ไม่ต้องสี ทุ่นราคาขนส่ง ค่าเช่าโกดังเก็บ แต่โครงการรับจำนำข้าวเจ้าในภาคกลางเริ่มปวดหัวเมื่อเอาการประกันเข้ามารวม มีการเอาเงินออกมาใช้ก่อนในจำนวนที่ไม่กระทบตลาด ซึ่งอันที่จริงระบบนั้นดี หากคนที่เข้ามาดูแลไม่หวังผลประโยชน์

นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของเกษตรกรต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า พื้นที่ภาคอีสานคงเป็นที่นำร่องเรื่องการประกันข้าว แต่พื้นที่ที่เป็นชลประทานที่ข้าวมีจำนวนข้าวมากจะมารับประกันได้ทุกเม็ดไหม คงไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรับจำนำกันไปก่อน แล้วค่อยพัฒนาระบบต่อไป แต่ถ้าพัฒนาไม่ทันอีกสองปีข้างหน้าจะทำอย่างไร อีกทั้ง AFTA ที่มาถึงแล้ว สิ่งเหล่านี้รัฐรู้อยู่แล้วรู้มานานแต่ชาวนาไม่เคยรู้

“ถ้าเปิด AFTA ขึ้นมาใครจะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพ อย่างไร จะนำเข้าทางไหน อะไรบ้าง” ประสิทธิ์กล่าวถึงสงสัยของเกษตรกรต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน นอกจากนี้แสดงความวิตกกังวลถึงความอ่อนไหวของสินค้าเกษตร และราคาผลผลิตที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอาจถูกกว่าผลผลิตในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์ กล่าวถึงข้อเสนอหากมีการเปิด AFTA ว่า ควรมีกรรมการเข้าไปควบคุม ตั้งเป็นระบบเอกชนและจัดสรรกำไรให้เกษตรกร ที่ผ่านมาภาษีข้าวพันกว่าล้านที่เก็บไปไม่เคยเอากลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรเลย ทั้งที่เงินดังกล่าวน่าจะนำมาพัฒนาระบบเกษตรกรให้เข้มแข็ง

แจงข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ทำความเดือดร้อนต่อเกษตรกรทั้งไทยและเพื่อนบ้าน

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า เรื่อง AFTA ที่จะมีขึ้นในอีก 5 เดือนข้างหน้านั้น มีความต้องการคือจะลดภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละประเทศก็สามารถสงวนได้ แต่ไทยสงวนน้อยมาก โดยมีการสงวนไว้ประมาณ 16 รายการ เช่น พวกพืชน้ำมันอย่างปาล์ม เพราะไทยมีขีดจำกัดเรื่องต้นทุนมาก ทำให้ความสามารถในการแข็งขันต่ำ และพวกไม้อ่อนไหวต่างๆ ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยลดภาษีลงมาที่ 5เปอร์เซ็นต์ และจะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยที่ไทยจะลงก่อนประเทศอื่นๆ [1] อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะลดภาษีมาที่ 0 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะชะลอการปรับลดอัตราภาษีก็คือต้องจัดหมวดให้เป็นสินค้าสงวน อ่อนไหวได้

ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรแน่เพราะเป็นการเปิดเสรีกับประเทศที่ผลผลิตเหมือนๆ กัน โดยแต่ละประเทศก็มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับไทยทั้งนั้น ในขณะที่เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากระบบการผลิตของไทย ที่รอไม่ได้ต้องผลิตมาในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง จากต้นทุนที่สูง 39 เปอร์เซ็นต์ เป็นพวกเคมีเกษตร ความเสี่ยงเรื่องสภาพอากาศ ความเสี่ยงจากปริมาณผลผลิตในตลาดที่เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน และจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเป็นภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ เพราะสินค้าเกษตรจะเข้ามาได้สะดวกมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ข้าวโพดเข้ามามากและจะกระทบมากแน่นอน ส่วนอ้อยก็เป็นคนไทยเองที่ไปลงทุนปลูกในเพื่อบ้านตั้งใจว่าจะไปขาย EU จะไปได้จริงไหม หรือว่าจะมายุ่งอยู่ในอาเซียน มันก็ไม่ต่างกัน แล้วรัฐบาลจะประกันราคากันได้อีกนานแค่ไหน

“เราจะชะลอได้ไหมไม่ให้เข้ามา พี่น้องเกษตรกรต้องลุกขึ้นมาชี้ แรงผลักก็คือประโยชน์มันอยู่ตรงไหน ถ้าเราชี้ได้เราก็สามารถชะลอมันได้ คนที่ได้ประโยชน์เป็นใครหาให้เจอ แล้วชั่งว่าเราจะแลกผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรกับคนกลุ่มเล็กๆ ไหม” กิ่งกรกล่าว

ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวด้วยว่า ปัญหาอีกส่วนคือ การที่จะปรับปรุงระบบการผลิตของเราที่เป็นอยู่ได้อย่างไร จากปัญหาที่มีทั้งต้นทุนสูง เรื่องหนี้สิน การทำสต็อกไม่มี ราคาต่ำ รัฐบาลต้องอุ้ม และการคอรัปชั่น ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืนแน่นอน แล้วจะปฏิรูปกันอย่างไร

“พี่น้องต้องลุกขึ้นมาชี้ว่าเราจะปฏิรูประบบที่รากจริงๆ เรื่องหนี้สิน แล้วพืชเศรษฐกิจสำคัญเราจะเอายังไง การที่รัฐบาลต้องแทรกแซง ประกันราคา น่าจะไม่ใช่ทางออกในระยะยาว” กิ่งกรแสดงความคิดเห็น

กิ่งกรกล่าวด้วยว่า ในเบื้องต้นไทยไม่จำเป็นต้องลดภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำได้หลายทาง เพราะถ้าเปิดแบบนั้น เท่ากับรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อธุกิจข้ามชาติ และเพิ่มความเสี่ยงให้เกษตรกรซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย เกษตรในประเทศเพื่อบ้านด้วย ทั้งลาว เขมร มันไปทำลายการทำมาหากินของพี่น้อง ต้องหยุด ส่วนที่เปิดไปแล้วก็ต้องหาทางจัดการต่อไป แล้วต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขตัดสินใจได้จริง

ทางแก้ที่ทำได้คือ การปลดแอกหนี้สินจะทำให้เกษตรกร ลดการค้าที่ไม่เป็นธรรมในประเทศ ให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ในกลไกการค้า นอกจากนี้เกษตรกรต้องตั้งองค์กรที่สามารถทำมาหากินเองได้

ในส่วนร่าง พ.ร.บ.การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 ซึ่งมีการจัดทำร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน กิ่งกรกล่าวว่าแม้ถูกโยนทิ้ง แต่ถึงอย่างไรในเรื่องดังกล่าวก็ต้องสู้กันต่อไป

 

00000


[1]ตารางเปรียบเทียบอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ AFTA ของกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ปี
อัตราภาษีนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA
หน่วยงานนำเข้าข้าว
ของภาครัฐ
ก่อน 1ม.ค.53
หลัง 1 ม.ค. 53
1.ไทย
5%
0%
 
2.บรูไน
0%
0%
 
3.สิงโปร์
0%
0%
 
4.มาเลเซีย
40%
20%
BERNAS
5.อินโดนีเซีย
30% (WTO)
30%(WTO)
BULOG
6.ฟิลิปปินส์
50%
N/A
NFA
7.กัมพูชา
5%
5%
 
8.ลาว
5%
5%
 
9.พม่า
5%
5%
 
10.เวียดนาม
30%
20%(ข้าวหอมมะลิ)
 
5%
5%(ข้าวหอมมะลิ)
 

00000

สรุปเวที “จับตาเปิดเสรีสินค้าเกษตร อนาคตเกษตรกรกับนโยบายรัฐที่ต้องถามหา”
วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2552

1. ผลกระทบจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

1.1ลดการปกป้องเกษตรกร ข้อสังเกตโครงสร้างและกลไกเรื่องการลดกำแพงภาษี 0% ทันทีในปีหน้าของรัฐบาลไทย ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญยังชะลอการลดภาษีเป็น 0 % เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
1.2 คุณภาพผลผลิต การเตรียมความพร้อม เช่น มาตรการกีดกันนอกจากระบบศุลกากร การควบคุมผู้นำเข้า การตรวจสอบคุณภาพผลผลิต และการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ยังไม่สามารถการันตีและน่ากังวล
1.3 ระบบการเยียวยาที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง การเปิดเสรีทางการค้าไทย-จีน ไม่ได้แก้ที่ต้นตอและทั้งระบบ
1.4 เกษตรกรรายย่อยไม่พร้อมจะแข็งขัน สินค้าเกษตรกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คล้ายคลึงกัน ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรกรประเทศไทยสูงกว่า แต่ผลิตภาพต่อไร่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
1.5 คุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย อาฟต้าเป็นเงื่อนไขซ้ำเติมของปัญหาในภาคเกษตรกรรม ขณะที่เกษตรกรไทยที่ยังวนเวียนอยู่กับปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร ไร้ที่ดินทำกิน หนี้สินและราคาผลผลิตตกต่ำ
1.6 รัฐบาลเป็นพ่อค้ารายใหญ่ จากโครงการรับจำนำ ซื้อแพง-ขายถูก ซึ่งสามารถกำหนดราคาต่อผู้ซื้อ
1.7 ปัญหาเรื่องการวางแผนการผลิต ข้อมูลการผลิตพืชเศรษฐกิจจากหน่วยงานรัฐไม่ตรงกับความจริง
1.8 การขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมจากเกษตรกร เวทีประชาพิจารณ์ของกระทรวงพาณิชย์จำนวน 6 ครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาดังกล่าว

2. เสนอทางเลือก และการรับมือต่อเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

2.1 ชะลอการเปิดเสรี 0 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆ ทาง และจัดกลุ่มรายการสินค้าอ่อนไหว
2.2 สร้างกระบวนการสื่อสารของผู้ผลิตคนที่อยู่ในวงจรข้าวและพืช วางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับตลาด
2.3 ทบทวนทิศทางการปลูกพืชเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทปัจจุบัน (วิกฤติโลกร้อน การเปิดเสรีและพลังงาน)
2.4 แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำทั้งระบบในระยะยาว มุ่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตและวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันพืชรายตัว
2.5 เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นองค์กรเพื่อเพิ่มพลังในการต่อรอง และวางแผนการผลิตพัฒนาและรักษาคุณภาพให้สอดคล้อง เชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทาน โดยสร้างความร่วมมือร่วมกับภาครัฐ
2.6 หน่วยงานรัฐต้องพัฒนาฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
2.7 ปฏิรูประบบเกษตรกรรมทั้งระบบ เน้นสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร

3.วิเคราะห์พืช ข้าว และ ข้าวโพด /ทางเลือกในระยะสั้นและระยะยาว

ข้าว
ข้าวโพด
ปัญหาด้านการผลิต
1.คุณภาพผลผลิต และต้นทุนสูง
2.ขาดมาตรการในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิต
ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร
ปัญหาด้านการค้า การตลาด
1.โครงการรับจำนำไม่ทั่วถึง ชาวนาจนไมได้ประโยชน์
2.ความรู้ ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างตลาดและกลไกราคาที่ขาดตอนของชาวบ้าน
ปัญหาด้านการผลิต
1.คุณภาพผลผลิต ต้นทุนสูง หนี้สิน
2.การขยายตัวของพืชเศรษฐกิจสร้างแรงกดดันต่อทรัพยากรเสื่อมโทรม มีดินเลื่อนและถล่ม (น่าน)
 
ปัญหาด้านการค้า การตลาด
1.ราคาผลผลิตตกต่ำทุกสินค้า
2.โครงสร้างตลาดผูกขาด ส่งผลต่อกลไกราคา
3.ผลจากนโยบายข้อตกลง ACMECS ทำให้ข้าวโพดราคาถูกทะลักเข้ามา ปัญหาการสวมสิทธิ์จากพ่อค้า
ข้อเสนอ
1.รักษาคุณภาพผลผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้า
2.แก้ที่ต้นตอโครงสร้างการค้าและตลาดมากกว่าปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการรับจำนำและประกัน
 
ข้อเสนอ
1.พัฒนาคุณภาพผลผลิตและวางแผนการผลิต
2.การจัดการทรัพยากร เช่นโฉนดชุมชน
3.การรวมกลุ่มเกษตรกร
4.การแปรรูปผลผลิตเองตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก สรุปเวทีและข้อเสนอเชิงหลักการ

โดย แก้วตา ธัมอิน
นักวิจัยมูลนิธิชีววิถี

และ สุมนมาลย์ สิงหะ
เจ้าหน้าที่ประสานงานวิจัยและรณรงค์มูลนิธิชีวิตไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท