Skip to main content
sharethis

 

 
 
 
“ป๊ะหรน” หรือ นายปะหรน หมัดหลี
 
เมื่อเอ่ยถึง “ป๊ะหรน” หรือ นายปะหรน หมัดหลี ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ที่มีความสามารถในการผสมผสาน (สมรม) องค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตร ที่เรียกว่า เกษตรธาตุ 4 ประกอบด้วย ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม และธาตุไฟ
 
แม้วันนี้ป๊ะหรน ได้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา แต่ได้สร้างคุณูปการมากมายทิ้งไว้ จนลูกหลานไม่อาจไม่สานต่อเจตนารมณ์ไม่ได้
 
คำว่าเกษตรธาตุ 4 นี่เอง ที่ทำให้ป๊ะหรน มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ในด้านการเกษตรที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ แนวทางของป๊ะหรน ตอบโจทย์ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และยั่งยืนอย่างแท้จริง เช่น การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกัน เป็น
 
แนวทางดังกล่าว ถูกนำไปใช้ซ้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกลุ่มคนที่เข้ามาศึกษาดูงาน หรือเข้าอบรมต่างๆที่จัดขึ้นตั้งสมัยปะหรนยังอยู่
 
 
อภินันท์ หมัดหลี
 
หนึ่งในลูกหลานผู้สืบสานต่อคือ นายอภินันท์ หมัดหลี ลูกคนหนึ่งของป๊ะหรน
 
อภินันท์ เล่าถึงเรื่องราวของป๊ะหรนว่า ป๊ะหรน เริ่มต้นการทำสวนผลไม้บนพื้นที่ 10 ไร่ ในขณะที่ต้องรับผิดชอบดูแลลูกถึง 11 คน จึงต้องคิดหาวิธี เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวอย่างพอเพียงที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนา และถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน
 
ป๊ะหรน ได้ศึกษาการปลูกพืชผลที่ต่างชนิดกันมาไว้รวมกันในหลุมเดียว โดยค้นพบว่าต้นไม้ก็มีธาตุ ธรรมชาติเช่นเดียวกับธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ หากธาตุทั้งสี่ในร่างกายมนุษย์มีความสมดุลก็จะเจริญแข็งแรง ซึ่งต้นไม้ก็จะ มีลักษณะเช่นเดียวกัน
 
เมื่อค้นพบแล้ว จึงใช้ความรู้เรื่องธาตุ 4 มาเป็นหลักในการคัดเลือกพืชที่มีลักษณะเข้ากันได้มาปลูกได้ด้วยกันเพื่อให้ เกิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างไม้ต่างชนิด เมื่อไม้แต่ละชนิดไม่ทำลายกันเองก็ได้ดอกผลที่อุดมสมบูรณ์
 
วิธีการที่จะรู้ได้ว่าต้นไม้แต่ละชนิดมีธาตุประเภทใดมาก คือ นำส่วนใดส่วนหนึ่งของลำต้นมาเคี้ยว ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีรสมากกว่าหนึ่งรส เช่น ในการเคี้ยวครั้งแรกจะได้รสฝาด แต่เมื่อเคี้ยวไปสักพักจะออกรสหวานหรือจืด เป็นต้น สำหรับไม้ที่มีรสฝาดเท่ากับมีธาตุลม รสจืดจะเป็นธาตุน้ำ รสเผ็ดหรือร้อนจะเป็นธาตุไฟ เช่น ยางพาราจะมีธาตุไฟมาก และกล้วยจะมีธาตุน้ำมาก เป็นต้น
 
แน่นอนว่าต้นไม้แต่ละชนิดจะมีธาตุที่ต่างกัน บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า พืชทุกชนิดประกอบด้วยทั้งธาตุ 4 แต่จะมีไม่เท่ากัน และถ้ามีธาตุตรงกันข้ามกันก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะพืชแต่ละชนิดมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น พืชที่มีธาตุน้ำมากจะต้องปลูกร่วมกับพืชที่มีธาตุไฟมาก เพื่อให้เกิดดุลยภาพ และทำให้พืชแต่ละชนิดออกดอกออกผลเต็มที่
 
“เกษตรธาตุ 4” เป็นเกษตรธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพ ธรรมชาติ และผู้บริโภคอย่างยั่งนืน
 
“ทำอะไรให้ทำแบบคนจน อย่าทำเหมือนคนรวย” เป็นคำที่ป๊ะหรนได้ทิ้งไว้ให้กับลูกหลานก่อนที่จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
 
 
เกษตรธาตุ 4 หรือที่รู้จักกันว่า การปลูกพืชยืนต้นประเภทไม้ผล 3 ชนิดในหลุมเดียวกัน นำร่องโดยการปลูกกล้วยก่อน เมื่อพืชยืนต้นทั้ง 3 ชนิดโตขึ้น มันจะช่วยกันยึดต้นไว้ ไม่ให้ล้มง่าย เมื่อมีลมแรง หรือช่วยในการค้ำยัน ไม่ทำให้ดินถูกชะล้างได้ง่าย
 
ข้อสังเกตสำหรับการปลูกพืชอย่างนี้คือ ระยะห่างระหว่างช่วงกิ่งที่ให้ดอกผลหรือระยะเวลาการออดดอกผล ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ประการ คือ
 
1. ความต่างระดับของพืช ในหลุมหนึ่งจะปลูกไม้ผลหลักของสวนลงไป 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลางสาด มังคุด ไม้เมื่อโตเต็มที่แล้วทุเรียนจะอยู่สูงสุด ถัดมา คือ ลางสาด และมังคุดตามลำดับ
 
2. การให้ดอกผลของพืช ไม้ผลทั่วไปออกผล 2 ลักษณะ ลักษณะแรกจะให้ผลบริเวณปลายกิ่ง อาทิ มังคุด เงาะ สะตอ บางชนิดให้ผลบริเวณลำต้นหรือกิ่ง อาทิ ทุเรียน จำปาดะ ลางสาด การนำไม้ผลในลักษณะแรกมาปลูกรวมกันต้องจัดระยะให้เหมาะสม โดยต้องไม่ให้ทรงพุ่มของไม้แต่ละชนิดอยู่ติดหรือซ้อนกัน ส่วนไม้ที่ให้ผลบริเวณลำต้นหรือกิ่งสามารถปลูกต้นติดกันได้
 
วิธีคิดอย่างนี้เป็นการประหยัดพื้นที่ ประหยัดงบประมาณ และต้องการปลูกหลายอย่างในหลุมเดียวกัน ไม่ต้องลงทุนมากเพราะจะมีการปลูกด้วยเมล็ด และไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพราะพืชแต่ละชนิดจะเกื้อกูลกันอย่างมีความสมดุล
 
ซึ่งวิธีการเหล่านี้ช่วยในเรื่องของรายได้ เพราะจะมีกินตลอดทั้งปี ครบทุกฤดูกาล ที่มีไม้ยืนต้นเป็นต้นหลัก และมีพืชล้มลุก เช่น พริก ข้าวโพด มันขี้หนู ฯลฯ
 
อย่างที่ป๊ะหรนได้สั่งสอนไว้แล้วว่า “ปุ๋ยอยู่ที่จอบและพร้า” นี่คือสิ่งที่ต้องคิดต่อว่าจะต้องทำอย่างไรให้มีกินทั้งปี
 
จากองค์ความรู้ของป๊ะหรนทำให้มีผู้สนใจเดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ประชาชนจากทั่วประเทศ และมีสื่อที่สนใจ มาขอเรียนรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอโดยมีรูปแบบ การสอนและการกำหนดองค์ความรู้ทั้งการบรรยาย สัมมนาและจัดการอบรม ให้กับผู้ที่สนใจเรียนรู้เข้าศึกษา ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะนำไปผยแพร่สิ่งนี้ต่อ
 
แม้วันนี้ป๊ะหรนจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่คำสอนและวิธีการเกษตรธาตุ 4 ยังคงอยู่กับลูกหลานที่เดินตามทางตามคำสอนของป๊ะหรนและเผยแพร่ ความรู้ต่อๆ กันอย่างแพร่หลาย ทั้งจังหวัดสงขลาและบุคคลที่เข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่องจนเป็เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธาตุ 4 ในทุกวันนี้
 
การทำเกษตรในรูปแบบของป๊ะหรนต้องใช้เวลาในการศึกษาและต้องคอยดูและเอาใจใส่พืชที่ปลูก โดยคนที่สนใจจะทำเกษตรธาตุ 4 ต้องเป็นคิดต่อตลอดเวลา ต้องสามารถเข้าใจและเจาะลึกในส่วนที่ต้องการรู้ให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นคืออะไร
 
หลังจากการที่เครือข่ายเกิดขึ้นมาแล้วได้มีการทำการศึกษาร่วมกันใน 9 องค์ประกอบพร้อมกับมีผู้ที่รู้ในเรื่องต่างๆ ทั้ง 9 เรื่อง นั้นคือ
 
1.นายอภินันท์ หมัดหลี เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องปุ๋ยหมัก 2.มีนายจำรัส เพ็ชรมาส ให้ความรู้เรื่องจักสานที่ทำจากหวาย ไม่ไผ่ ฯลฯ 3.นางดารานี หมัดหลีก ให้ควมรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น หัวไพร เป็นแชมพุ สบู่เป็นต้น 4.นายสัน เส็นละ ให้ความรู้เรื่องเกษตร 4 ย. ที่เน้นความยั่งยืนต่อดิน ป่าต้นน้ำ ผลผลิตที่ได้จากธรรมชาติ และชีวิต โดยการลด ละ เลิกสารเคมี 5.นางหนูสิน เพ็ชรหมาด ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงและจับผึ้งอย่างถูกวิธี 6.นายชอบ ทวีมาศ ให้ความรู้เรื่องหมอชาวบ้าน 7.นายสกูลชัย แซ่หวัง ให้ความรู้เรื่องพฤกษาศาสตร์ชุมชน 8.นายหมีด บินอะหลี ให้ความเรื่องป่าชุมชน และ9.นายไข นวลแก้ว ให้ความรู้เรื่องการออมทรัพย์และสวัสดิการ
 
เมื่อมีผู้ที่สนใจในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2550 จึงได้มีการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจจึงเกิดหลักสูตรวิธีธรรมชาติเกษตรธาตุ 4 ซึ่งผู้ที่สนใจร่วมเข้าอบรมทั่วทั้งภาคใต้ประมาณ 273 คน ต่อมาใน่วงปี 2551 มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 500 คน จนในที่สุดก็มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธาตุ 4
 
หลังจากนั้นได้มีการเผยเพร่ความรู้สู่เยาวชนโดยการฝึกสภาเยาวชนคนต้นน้ำเขาพระ จากการให้ความรู้ขององค์ประกอบทางการเกษตรทั้ง 9 เรื่อง ให้ได้สืบสานต่อในทุกๆ เรื่อง และขณะนี้ไดนำความรู้นี้เข้าสู่โรงเรียนบ้างแล้ว เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
 
งบประมาณในการจัดการอบรมและเป็นค่าใช้จ่ายได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่างๆ เช่น สำนักเลขากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สาธาณสุขจังหวัดสงขลา แผนงานสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (UNDP) และโครงการนำร่องอีกหลายโครงการ
 
เกษตรธาตุ 4 ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลเขาพระอย่างมาก แต่คนทั่วไปไม่ได้รับถึงเรื่องราวของชุมชนนี้เพียงเรื่องเกษตรธาตุ 4 เท่านั้น แต่สิ่งที่ชุมชนนี้ยังต้องเผชิญ ก็คือ โครงการพัฒนาขนาดยักษ์ 2 โครงการ คือ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลำแชง และอ่างเก็บน้ำคลองลำขัน ที่รัฐบาลพยายามผลักดันมาตลอด
 
โดยทั้ง 2 โครงการ เริ่มเกิดขึ้นมาพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ขณะนี้ถึงขั้นสำรวจและออกแบไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยมาตลอด
 
อภินันท์ บอกว่า “เราคงไม่ไปชุมนุมประท้วงปิดถนนแบบที่คนทำ และคงไม่บอกตรงๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่จะบอกว่าสิ่งที่เราอยู่ตอนนี้ มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เราต้องการ และเราก็เผยแพร่แนวคิดนี้ไปในกลุ่มชาวบ้าน แล้วคนก็จะรู้เองว่า เราต้องการอะไร”
 
ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่า แนวคิดดี วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติจะอยู่ได้นานแค่ไหน เมื่อวันหนึ่งเขาต้องเผชิญกับโครงการยักษ์ใหญ่ กินพื้นที่ทั้งหุบเขา อย่างซึ่งๆ หน้ามาถึง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net