Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรุงเทพ - ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ชุมนุมออกมาประท้วงอย่างเกรี้ยวกราดตามท้องถนนของอิหร่าน และการที่ผู้ชุนนุมในอิหร่านอ้างว่า พวกเขาถูกขโมย "ประชาธิปไตยที่แท้จริง" ไปนั้น ชวนให้นึกถึงภาพเหตุการณ์บางอย่างในเมืองไทยอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม มีกระแสนิยมอย่างหนึ่งในการเมืองต่างประเทศที่ค่อนข้างอันตราย คือเวลาที่มีนักการเมืองผู้กุมความรู้สึกของฝูงชน (demagogue) คนใดก็ตามชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงอย่างเทน้ำเทท่า พรรคฝ่ายค้านก็มักจะออกมาอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งเสมอ และในหลาย ๆ กรณีที่เกิดการทักท้วงโดยฝ่ายค้านเช่นนี้ จะทำให้เกิดการประท้วงตามท้องถนนขึ้น
 
จริง ๆ แล้วยังไม่ปรากฏ "สี" ที่ชัดเจนสำหรับการประท้วงในอิหร่าน แต่เวลาหนังสือพิมพ์จะพาดหัวข่าวซึ่งพยายามจำกัดความให้สั้นๆ จึงมีการใช้ "สีเขียว" ในการจำกัดความกลุ่มผู้ชุมนุมในอิหร่าน โดยเรื่องราวเกี่ยวกับการประท้วงตามท้องถนนที่ "อ้างประชาธิปไตย" ในตอนนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ตัวการประท้วงเองกลับกลายเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยมากกว่าตัวผู้นำที่พวกเขาต่อต้านด้วยซ้ำ
 
ชัยชนะของ วลาดิเมียร์ ปูติน ในการเลือกตั้งของรัสเซียก็ทำให้นักวิจารณ์และสื่อต่างประเทศพากันต่อต้าน โดยหาว่า ปูตินพยายามทำให้รัสเซียกลับไปเป็นอาณาจักรรัสเซียแบบสมัยพระเจ้าซาร์ (Czar) อีกครั้ง ฮูโก ซาเวช ผู้ชนะการเลือกตั้งในเวเนซุเอลลาก็ถูกต่างประเทศวิพากษ์เนื่องมากจากนโยบายประชานิยมของเขาและนโยบายต่อต้านอเมริกันในแบบของประเทศละตินอเมริกา
 
มาร์ค ราวาโลมานานา ก็เป็นอีกคนที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศมาดากัสกา ต่อมาเขาถูกมองว่า เป็นผู้ที่คดโกงชาติโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจในต่างประเทศ จนกระทั่งถูกทำรัฐประหารโดยกองทัพในที่สุด
 
อีกกรณีหนึ่งคือในจอร์เจีย เอดวาด ชีวาดนาดเซ ประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2008 ถูกขับไล่จากการ "การปฏิวัติกุหลาบ" (rose revolution) ในปี 2003 โดยมิคเซอิล ซาคอาชวิลี ซึ่งกลายมาเป็นประธานาธิบดีของจอร์เจียคนปัจจุบัน มิคเซอิล ถูกวิจารณ์อยู่เนืองๆ ว่าเขาเป็นหุ่นเชิดของทางการสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO) ซึ่งมีนักการเมืองฝ่ายค้านของรัสเซียคอยหนุนอยู่
ในส่วนของประเทศไทย ก็เคยมีม็อบผู้โกรธเกรี้ยวบนท้องถนนดำเนินการชุมนุมมาเป็นเวลาสามปีครึ่งเพื่อท้าทายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย โดยเมื่อดูตามโครงสร้างแล้ว การประท้วงดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เทียบเคียงกันได้กับการประท้วงในอิหร่านช่วงนี้เลยทีเดียว อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ชนะการเลือกตั้งสองสมัยติดต่อกัน ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้ก่อตั้งเผด็จการแบบรัฐสภา จนต่อมาก็ถูกโค่นล้มโดยรัฐประหารปี 2006 (พ.ศ.2549)
 
ถ้าให้กล่าวตามหลักประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว เพียงเพราะว่าผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เป็นที่พอใจของเสียงส่วนน้อยที่มีอำนาจ ก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงส่วนน้อยเหล่านี้จะมีความชอบธรรมหรือมีสิทธิ์ถอดถอนพวกเขาด้วยลักษณะเหมือนเป็นอำนาจพิเศษ มันจึงทำให้ต้องหันมามองฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเเท้จริง ซึ่งเราจะหันกล้องมาส่องภาพประเทศที่เกิดวิกฤติประชาธิปไตยล่าสุดคือ อิหร่าน
การจะตัดสินว่าอิหร่านมีประชาธิปไตยจริงหรือไม่นั้น อาจต้องขึ้นอยู่กับว่าในเชิงโครงสร้างแล้ว มีกลไกที่จะท้าทายสถาบันที่นำโดยผู้นำสูงสุดคือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี อยู่หรือไม่ ชาวอิหร่านออกไปเลือกตั้งทุกๆ สี่ปีเพื่อเลือกประธานาธิบดีและสมาชิกสภา 290 รายของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตามผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือเป็นประธานาธิบดี จะต้องผ่านการตรวจสอบโดยสมาชิกสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ทั้ง 12 คน ซึ่งเป็นสถาบันศาสนาที่คอยตัดสินว่า ใครจะเป็นผู้ลงสมัครได้หรือไม่ด้วย
 
กลุ่มสภาผู้พิทักษ์ของอิหร่านประกอบด้วยผู้ที่จงรักภักดีต่อผู้นำสูงสุด โดยผู้นำสุงสุดจะทำการคัดเลือกสมาชิก 6 คนโดยตรง จากทั้งหมด 12 คน อีก 6 คนที่เหลือจะถูกคัดเลือกโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีการกลั่นกรองตัวเลือกมาจากคณะตุลาการก่อนหน้านี้แล้ว และคณะตุลาการเองก็ได้รับคัดเลือกจากตัวผู้นำสูงสุด ผลก็คือ ตัวสภาผู้พิทักษ์ที่มีบทบาทในการตัดสินผลการเลือกตั้งนั้นขึ้นตรงกับตัวผู้นำสูงสุดด้วย
 
สภาผู้พิทักษ์ที่มีอำนาจการยับยั้งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งยังมีอำนาจการตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้งเช่นนี้ มีบางส่วนที่ชวนให้นึกถึงสถานการณ์ในไทยเหมือนกัน เอาอย่างง่าย ๆ คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยถูกตั้งมาจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วย กลุ่มผู้พิพากษา ได้แก่ ประธานศาลสามคน สองคนที่เหลือถูกเลือกมาจากกลุ่มผู้พิพากษา อีกสองคนมาจากนักการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
 
เป็นกระบวนการที่มีคณะตุลาการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ถึงห้าต่อสอง โดยในที่สุดแล้วกระบวนการนี้จะไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรงเเละตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเลยเเต่กลับสามารถทำงานได้โดยอยู่เหนือผู้นำในระบอบประชาธิปไตยเเบบเลือกตั้งนิยม นับได้ว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้งที่มีโครงสร้างไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์เเบบ โดยมีการครอบงำจากสถาบันกฏหมายที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม ดังนั้นบทบาทของคณะตุลาการในไทย จึงคล้ายกับภาพสะท้อนของสถาผู้พิทักษ์ของอิหร่านในหลายๆ ทาง
 
อย่างไรก็ตาม สภาผู้พิทักษ์ของอิหร่านก็ไม่ได้เป็นสถาบันที่ไร้ความเป็นประชาธิปไตยเลยเสียทีเดียว สิ่งที่ไร้ความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ คือตัวผู้นำสูงสุด หรือก็คือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้ที่มีอำนาจในการคัดเลือกประธานตุลาการ เขาเป็นเจ้าของโทรทัศน์และเครือข่ายวิทยุของรัฐ เป็นผู้นำกองทัพ และเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในนโยบายกลาโหมและต่างประเทศในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด
 
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านหลายคนมองว่า ผู้นำสูงสุดของอิหร่านมีอำนาจมากพอๆ กับกษัตริย์ในสมัยก่อนหรือผู้นำเผด็จการในสมัยนี้ มันเป็นเพราะสถานะของคาเมนีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ทำให้ในทุกวันนี้มีความเห็นจำนวนมากระบุว่า อิหร่านต้องมีการปฏิวัติโดยประชาชนอีกครั้ง ซึ่งจะตรงกันข้ามกับการปฏิวัติในปี 1979 ที่มีความเป็นศาสนาอยู่
 
แต่ก็เป็นที่น่าสนใจในสายตาของผู้สนับสนุนการเลือกตั้งว่า ตัวโครงสร้างอำนาจสูงสุดของอิหร่านที่เป็นเทวนิยมอิสลามดูมีความเป็นประชาธิปไตยในแง่ของการเลือกตั้ง มากกว่าหลายประเทศเสียอีก ขณะที่สถานะของผู้นำสูงสุดอิหร่านถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลักว่า เป็นเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยตัวคาเมนีเองใช้เวลากว่าทศวรรษในการเลื่อนตำแหน่งตัวเองขึ้นมาในฐานะปราชญ์ด้านศาสนา จากการที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาในสายตาของเพื่อนและผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งอยู่ ทำให้เขาได้รับตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพล
 
คาเมนีดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี 8 ปี ภายใต้ผู้นำสูงสุดในสมัยนั้นคือ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติในปี 1979 คาเมนีได้พิสูจน์ฝีมือการเป็นผู้นำ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาและศรัทธาตนในคำสอนขององค์อัลเลาะห์ ก่อนที่เขาจะได้เป็นผู้นำสูงสุด คาเมนีก็ต้องได้รับการพิจารณาคุณสมบัติจากกลุ่มสภาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ทั้ง 86 คน ซึ่งสภาผู้เชี่ยวชาญที่มีอำนาจในการถอดถอนผู้นำสูงสุดนี้มาจากมุดจาฮิด หรือก็คืออิหม่าม (ปราชญ์อิสลาม) ทั้ง 86 คน ซึ่งกลุ่มอิหม่ามนี้จะได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนทั่วไปทุก ๆ 8 ปี โดยหากมองกลุ่มสภาผู้เชี่ยวชาญแสดงบทบาททางการเมืองในแง่ของการเป็นผู้แทน พวกเขาก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่สามารถตรวจสอบ "อำนาจไม่จำกัด" ของอยาตอลเลาะห์ คาเมนี ได้
 
ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วกลุ่มสภาผู้เชี่ยวชาญไม่เคยใช้อำนาจในการตรวจสอบหรือท้าทายการตัดสินใจของผู้นำสูงสุดเลย (แต่ช่วงเวลาที่พวกเขาประชุมกันในรอบสองปี ไม่เคยมีการรายงานเนื้อหาออกมาเลย จึงเป็นเรื่องที่ยังต้องถกเถียงกันอยู่) ในทางเทคนิคแล้ว สถาบันการเมืองของอิหร่าน มีความเป็นประชาธิปไตยในแง่ของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอยู่เหมือนกัน ซึ่งมันได้สะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมซึ่งถูกดัดแปลงให้เข้ากับศาสนาและวัฒนธรรม
 
โดยนอกจากนี้สภาผู้เชี่ยวชาญของอิหร่านยังมีหน้าที่เสนอแนะ ถอดถอน และคัดเลือกผู้นำสูงสุด ในกรณีที่ผู้นำสูงสุดเสียชีวิต ลาออก หรือถูกถอดถอน กลุ่มอิหม่ามที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนยังมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ด้วย
 
ในรัฐธรรมนูญของอิหร่านระบุว่า "เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำขาดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หรือสูญเสียคุณสมบัติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นที่ทราบว่าเขาไม่ได้มีคุณสมบัติแต่แรกแล้ว เขาจะถูกถอดถอน" ดังนั้นเราจึงสามารถโต้แย้งได้ว่า การสืบทอดอำนาจของผู้นำสูงสุดของอิหร่านยังมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบอบเผด็จการและระบอบกษัตริย์โดยทั่วไป
 
ขณะที่เราอาจบอกว่าวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของอิหร่านนั้นทำให้เกิดประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ระบอบศาสนเทวนิยม แต่ในราชอาณาจักรไทย หรือบางประเทศในยุโรปนั้น กลับไม่มีแนวทางเชิงวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์เช่นนี้เลย เส้นแบ่งระหว่างศาสนากับรัฐนั้นชัดเจนในประเทศไทย และคำสอนทางพุทธศาสนาเองก็ไม่ได้สนับสนุนหรือกำหนดให้ต้องมีการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองหรือกฏหมายที่ยึดติดอย่างเคร่งครัดตามคำสอนของศาสนาจนถึงขั้นที่ประเทศนั้นถูกปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่เสรี เช่นในสาธารณรัฐอิสลามมีกฏหมายชาเรียเลย
 
แม้กระทั่งหากเทียบกับสถาบันกษัตริย์ในยุโรปแล้ว ที่เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับศาสนาก็ยังไม่ชัดเจนเท่าหากมองจากประวัติศาสตร์ ในตอนนี้ไม่มีรัฐที่ปกครองด้วยศาสนกษัตริย์เเบบเต็มที่อย่างในลักษณะของอดีตอยู่บนทวีปนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าระบอบนี้จะยังคงดำรงอยู่ในโลก แต่สภาพที่มีอำนาจกึ่งเดียวนี้ก็ถูกเก็บซ่อนไว้แนบเนียน
 
เมื่อเทียบกันแล้วกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลของอิหร่านที่เป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยอาศัยบทบาทของสภาผู้เชี่ยวชาญนั้น แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยที่มีมากกว่า แม้ว่าจะมีการใช้หลักศาสนาอิสลามในกฏหมายและการดำเนินการต่าง ๆ ก็ตาม ถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของอิหร่านจะถือเป็นจุดด้อยเอามากๆ รวมถึงการที่มีการให้การสนับสนุนการก่อการร้ายจากรัฐบาล แต่การเปลี่ยนผ่านเป็นระบอบประชาธิปไตยของอิหร่านนับตั้งแต่การปฏิวัติปี 1979 จนถึงบัดนี้ เป็นไปอย่างสันติและเป็นระเบียบเรียบร้อย
 
กระนั้นแล้ว มีร์ ฮอสเซน มูวซาวี ผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก็ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในอิหร่าน มีความแน่ใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การประท้วงตามท้องถนนในกรุงเตหะรานเพื่อเรียกร้องให้ผลการเลือกตั้งที่อาห์มาดิเนจาดชนะเป็นโมฆะนั้น ได้สะท้อนให้เห็นความไม่พอใจต่อผู้นำสูงสุดอย่างคาเมนี รวมถึงระบอบการปกครองของเขาแฝงอยู่ด้วย
 
แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัดว่าผู้ประท้วงในอิหร่านต้องการเพียงแค่เปลี่ยนตัวประธานาธิบดี หรือต้องการการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งหมดของประเทศด้วยกันแน่ หากเป็นอย่างหลังล่ะก็ จะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามากทีเดียวในการรื้อถอนหรือเบี่ยงเบนอำนาจทางการเมืองของสถาบันศาสนาทั้งหมด หนุ่มสาวที่ประท้วงอยู่ตามท้องถนนในกรุงเตหะรานตอนนี้ควรจะถามตนเองว่า อาห์มาดิเนจาดสมควรจะเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ หรือพวกเขาพร้อมหรือยังกับการถอดถอนบทบาททั้งหมดของสถาบันศาสนา
 
ก่อนที่พวกเขาจะตอบว่า "ใช่" พวกเขาควรคิดไตร่ตรองถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มาจากการประท้วงบนท้องถนนเสียก่อน และคิดดูว่าเมื่อการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างไร้ระเบียบแล้ว อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มหาอำนาจจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงและบงการได้ มันมีเหตุผลเชิงโครงสร้างที่ว่า เหตุใดอิรักในตอนนี้ถึงกลายเป็นอาณานิคมยุคใหม่ของอเมริกา และทำไมอิหร่านในตอนนี้ยังคงสามารถดำรงอยู่ด้วยพลังอำนาจและเอกราชของตนเองอยู่ได้ ภายใต้บรรยากาศแบบไม่เป็นมิตรโดยรอบและยังมีข้อพิพาทเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อีกต่างหาก
 
ตราบใดที่ประชาชนยังต้องการนับถือศาสนา และอิสลามยังคงเป็นศาสนาแห่งรัฐของอิหร่าน ตราบนั้นบทบาทของอยาตอลเลาะห์ก็จะยังคงได้รับการเคารพและทรงอิทธิพลต่อไป แล้วเรื่องนี้จะเอามาเทียบกับอำนาจต่างๆที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในไทยได้หรือไม่? คำตอบสำหรับเเต่ละบุคคลคงจะเเตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามอาจมีบางส่วนที่เห็นว่าสำนึก "ความเป็นไทย" ถูกโฆษณาชวนเชื่อผ่านระบบการหล่อหลอมที่ถูกครอบงำโดยรัฐเเละฐานรากปัญญาชนอนุรักษ์นิยม ซึ่งคอยฝังหัวคนส่วนใหญ่ตั้งเเต่เด็ก ทำให้เกิดการบ่มเพาะสร้างอคติต่อนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงกินแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม คำถามที่สำคัญก็คือว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในไทยนี้ที่ถูกชี้นำโดยอำนาจผ่านตัวแทนนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมจริงๆที่สมควรดำรงค์ไว้ หรือเป็นแค่จินตนาการ?
 
นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยและอิหร่านต่างกัน การพัฒนาประชาธิปไตยยาวนานในประเทศไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 (พ.ศ.2475) จะสำเร็จไปไม่ได้เลย หากไม่มีการสนับสนุนจากเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องราวความขัดแย้งจากการประท้วงบนท้องถนนของไทย รวมถึงผู้ที่รับรู้ข่าวสารด้วยวิจารณญาณ ก็จะทราบดีกว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยยังคงขาดแคลน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วความขาดแคลนประชาธิปไตยนี้จะถูกซ่อนไว้ และถูกทำให้สับสนโดยสื่อของรัฐและสื่อเอกชนที่สนใจแต่ผลกำไรของตนเอง
 
การประท้วงบนท้องถนนในอิหร่านพิสูจน์ว่า จุดยืนของคาเมนีไม่ใช่สิ่งที่แตะต้องไม่ได้ หากเขาใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่นการบงการผลการเลือกตั้งแล้วล่ะก็ สภาผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาก็มีอำนาจในการถอดถอนเขาได้ อาจจะเรียกได้ว่า อิหร่านมีการตรวจสอบและถ่วงดุลที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ในตัวเอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิหร่านต่อไปในอนาคตอาจมีบางส่วนที่เป็นประโยชน์ที่จะนำมาศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในไทย สิ่งที่สำคัญในเวลานี้คือ การที่เราต้องจินตนาการข้ามผ่านความขัดแย้งที่น่าเจ็บปวด โดยที่จะต้องอาศัยการคิดที่ไม่ยึดติดกรอบเดิม หรือมองปรากฏการณ์อย่างผิวเผิน ผลจากการวิเคราะห์เรื่องราวความขัดแย้งเป็นสิ่งที่คนไทยควรยอมรับไว้ให้ได้ ไม่ว่าคำตอบจะออกมาเป็นแบบใดก็ตาม
 
 

 
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน
.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล เป็นนักวิเคราะห์ข่าวในรายการ "Newsline" ทางช่อง 11 เเละรายการ "NNT News Bulletin" ทาง http://thainews.prd.go.th/en เเละ เป็นนักวิจารณ์ข่าวต่างประเทศในรายการ "TNN World News"ของช่องข่าว TNN ที่เป็นช่องข่าวเคเบิลทีวีนำเสนอ 24 ชั่วโมงทาง TrueVisions
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net